thomas_cook_06

ปิดตำนาน 178 ปี Thomas Cook

ข่าวดังในวงการธุรกิจการท่องเที่ยวของโลก เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา เมื่อบริษัทท่องเที่ยวเก่าแก่ของโลกสัญชาติอังกฤษ “Thomas Cook” ได้ปิดตัวลงอย่างกระทันหัน ลอยแพนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษกว่า 150,000 คน ทำให้ติดค้างในต่างแดน และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ อีกกว่า 600,000 คน ที่อยู่ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกถูกลอยแพติดค้างในต่างแดนด้วย

Thomas Cook

“โทมัส คุก” ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1841 (พ.ศ. 2384) ดำเนินธุรกิจด้านท่องเที่ยวมายาวนานกว่า 178 ปี ก่อตั้งโดย Thomas Cook ช่างทำตู้เฟอร์นิเจอร์ แต่หันมาเริ่มกิจการบริษัทการท่องเที่ยว ด้วยการเดินทางโดยรถไฟระหว่างเมืองในประเทศอังกฤษ ต่อมาก็เริ่มจัดทริปต่างประเทศ โดยเป็นผู้ดำเนินการรายแรก ที่พานักท่องเที่ยวชาวอังกฤษไปเที่ยวยุโรปในปี 1855 ไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 1866 และเดินทางรอบโลกในปี 1872 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บุกเบิกการใช้ใบเงินฝาก (circular note) และกลายเป็นเช็คเดินทางในเวลาต่อมา

บริษัทสามารถผ่านความยากลำบาก ฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงสงครามโลกมาได้ทั้ง 2 ครั้ง โดยหลังสงครามโลก “โทมัส คุก” ได้เริ่มเป็นผู้บุกเบิกการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ของยุโรปเป็นรายแรก ก่อนที่จะเริ่มขยายแพ็คเกจท่องเที่ยวออกไปครอบคลุมภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

นอกเหนือจากธุรกิจทัวร์ท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศแล้ว Thomas Cook Group ยังขยายไลน์ธุรกิจไปอีกหลายแขนง เช่น ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และสายการบิน โดยมีลูกค้ากว่า 19 ล้านคนทั่วโลกใน 16 ประเทศ ในตอนนี้มีลูกค้าของบริษัท อยู่ในระหว่างเดินทางในต่างประเทศกว่า 600,000 คน ทำให้รัฐบาลอังกฤษ และบริษัทประกันด้านการท่องเที่ยวต้องเร่งมือทำงานร่วมกัน เพื่อทยอยนำนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษกลับประเทศ

ตลาดออนไลน์รุกคืบ ธุรกิจปรับตัวไม่ทัน

Thomas Cook ต้องแบกภาระหนี้สินถึง 1,700 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 64,800 ล้านบาท จากผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัท ติดต่อกันหลายปี อันเป็นผลมาจากตลาดการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ (Brexit การแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป คือสาเหตุหนึ่ง เมื่อก่อนคนอังกฤษเดินทางท่องเที่ยวได้สบาย เพราะค่าเงินแข็งแกร่ง แต่บัดนี้ การประกาศแยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรป ทำให้สถานะทางการเงินและเศรษฐกืจไม่ดีดังเดิม) และการมาของธุรกิจออนไลน์ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยตรง บริษัทอื่นๆ บริหารด้วยการให้ลูกค้าสั่งจองทางออนไลน์มากขึ้น แต่ Thomas Cook เองกลับมีสำนักงานตัวแทน ที่เป็นหน้าร้านในอังกฤษมากกว่า 500 แห่ง ทำให้ต้นทุนจัดการสูงกว่า และการทำตลาดล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน 3-6 เดือน เมื่อมาเผชิญกับการลดลงของค่าเงินปอนด์อย่างต่อเนื่อง ทำให้การขาดทุนสะสมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านภูมิอากาศที่เกิดจากคลื่นความร้อน ที่แผ่ปกคลุมหลายประเทศในยุโรป ส่งผลทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากมีการยกเลิกการสำรองการท่องเที่ยวอย่างฉับพลัน ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้นับร้อยล้านปอนด์ทันที และแม้จะมีความพยายามปรับโครงสร้างองค์กรมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถนำพาให้พ้นวิกฤติทางการเงินนี้ไปได้

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา Thomas Cook เปิดเผยว่า ต้องการเงิน 200 ล้านปอนด์ (7,602 ล้านบาท) เพิ่มเติมจากข้อตกลงช่วยเหลือมูลค่า 900 ล้านปอนด์ (34,210 ล้านบาท) เมื่อเดือนที่แล้ว หาไม่แล้วบริษัทจะประสบกับภาวะล้มละลาย และอาจทำให้ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวหลายหมื่นคน ต้องติดค้างในต่างประเทศ และอาจจะต้องมีการอพยพชาวอังกฤษกลับประเทศ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

เมื่อ 2 ปีก่อน ก็ได้เกิดการล้มละลายของ สายการบิน Monarch ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องดำเนินการฉุกเฉิน เพื่อนำผู้โดยสารที่ติดค้าง 110,000 รายเดินทางถึงจุดหมาย และเสียงบประมาณไปถึงประมาณ 60 ล้านปอนด์จากการจ้างเครื่องบินในการช่วยเหลือดังกล่าว

ด้านสมาคมพนักงานเงินเดือนขนส่ง หรือ TSSA ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานบริษัท Thomas Cook ได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือบริษัทแห่งนี้ โดย มานูเอล คอร์เทส เลขาธิการของ TSSA กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัติตามความจำเป็น และช่วยรักษารากฐานที่สำคัญในเศรษฐกิจของอังกฤษ และตำแหน่งงานหลายพันตำแหน่ง พร้อมย้ำว่า บริษัทต้องได้รับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ พนักงานหลายพันคนอาจตกงาน เนื่องจาก บริษัท Thomas Cook มีพนักงานประมาณ 22,000 คนทั่วโลก รวมถึงอีก 9,000 คนในสหราชอาณาจักรเอง

บริษัท Fosun ของจีน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Thomas Cook ได้ตกลงกันเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะลงทุนเพิ่มมูลค่า 450 ล้านปอนด์ โดยได้รับสัดส่วนการถือหุ้น 75% ในแผนกปฏิบัติการท่องเที่ยวของ Thomas Cook และ 25% ในส่วนของปฏิบัติการงสายการบิน แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นมา จนชะตากรรมของบริษัทต้องพบจุดจบในวันนี้

ผลประกอบการย้อนหลังของ Thomas Cook มีรายได้ที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

  • ปี 2016 รายได้ 297,190 ล้านบาท กำไร 152 ล้านบาท
  • ปี 2017 รายได้ 342,700 ล้านบาท กำไร 381 ล้านบาท
  • ปี 2018 รายได้ 364,399 ล้านบาท ขาดทุน 6,198 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโต แต่ในปี 2018 กลับขาดทุนอย่างหนัก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการปรับนโยบายทางภาษีของรัฐบาลอังกฤษ ทำให้ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ มากกว่า 3 เท่า นอกจากนั้นยังมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเรื่องค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลงในช่วงปีที่ผ่านมา

นายปีเตอร์ แฟงค์เฮาเซอร์ CEO Thomas Cook ได้ออกมาขอโทษลูกค้าจำนวนนับล้านๆ คนทั่วโลก และพนักงานของบริษัทจำนวนหลายพันคน ตลอดจนซัพพลายเออร์และพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ให้การสนับสนุนบริษัทมาเป็นเวลายาวนานหลายปี เนื่องจาก Thomas Cook เลิกกิจการ ทุกเที่ยวบินของบริษัทที่ลูกค้าสำรองไว้ จะถูกยกเลิกแล้วในวันที่ 23 กันยายนนี้ และเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนมหาศาล จึงคาดว่า จะมีความวุ่นวายปั่นป่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหราชอาณาจักร (CAA) เปิดเผยว่า การเลิกกิจการนี้ ทำให้รัฐบาลอังกฤษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องประสานงานกัน เพื่อนำนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจำนวนกว่า 1.5 แสนคนกลับประเทศ เนื่องจากเที่ยวบินทั้งหมดของบริษัทท่องเที่ยวรายนี้ถูกยกเลิก จำเป็นต้องรอให้รัฐบาลอังกฤษประสานความช่วยเหลือเพื่อนำนักท่องเที่ยวกลับประเทศด้วยเที่ยวบินอื่นๆ

โดยแนวทางการเยียวยานั้น สำนักข่าว BBC รายงานว่า นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบางส่วน จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยการออกตั๋วโดยสารเครื่องบินให้ใหม่ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่จะมีบางส่วนที่ต้องใหันักท่องเที่ยวออกเองไปก่อน แล้วจะได้รับการชดเชยภายหลัง

ส่วนที่พัก โรงแรม และรีสอร์ทต่างๆ รัฐบาลอังกฤษจะติดต่อเพื่อชำระเงินค่าที่พักให้ ส่วนนักท่องเที่ยวคนใดที่ทำการจองแพคเกจทัวร์กับ Thomas Cook และยังไม่ได้เดินทางจะถูกยกเลิกทั้งหมด โดยการเยียวยาผลกระทบนี้จะใช้เวลาดำเนินการให้เร็วที่สุด

สื่อต่างประเทศระบุว่า การล้มละลายของบริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่อย่าง Thomas Cook อาจก่อให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ จากการที่เที่ยวบินถูกยกเลิก ยังมีนักท่องเที่ยวอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเคว้งคว้าง ไม่สามารถเช็คเอาท์ออกจากโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ที่เป็นทั้งของบริษัท และคู่ค้าของบริษัทได้ เนื่องจากบริษัทท่องเที่ยวที่ล้มกิจการไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระค่าที่พักให้กับทางโรงแรมนั่นเอง

นอกจากนี้ผลกระทบในระยะยาว ยังอาจลามไปถึงประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญๆ ของบริษัท เช่น สเปน ตุรกี ฯลฯ และอาจส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ รวมทั้งตัวแทนท่องเที่ยวรายย่อยๆ ในเครือข่ายที่อาจต้องปิดตัวตามนับร้อยราย (มีตัวแทนและซัพพลายเออร์หลายรายในไทยด้วยนะ)

นับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นว่า การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่นั้น ต้องติดตามพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป จากที่เคยมีกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆ 20-30 คนเดินทางท่องเที่ยว มีหัวหน้ากรุ๊ปทัวร์ถือธงนำหน้ากำลังเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เดินทางท่องเที่ยวได้ง่ายๆ ทั้งการจองเที่ยวบิน รถไฟ รถสาธารณะล่วงหน้า จองที่พักทั้งโรงแรม รีสอร์ต โฮมสเตย์ ผ่านมือถือและแอพพลิเคชั่นต่างๆ อย่างง่ายดาย ไม่จำเป็นต้องมีนายหน้าตัวแทน เคยเห็นคนที่ไปเที่ยวเมืองจีนโดยไม่มีไกด์และพูดภาษาจีนไม่ได้สักคำ ท่องเที่ยวโดยใช้แอพพลิเคชั่นแปลภาษาเป็นหลัก ก็สามารถทำได้อย่างสะดวกง่ายดายแล้ว โลกเปลี่ยนไปจริงๆ ครับ

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)