Super Jumbo A380
Super Jumbo A380 เหิรฟ้าอีกครั้ง
จากสถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลก จำนวนผู้โดยสารสำหรับการบินไปยังส่วนต่างๆ ทั่วโลกลดลง จนทำให้การใช้เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ลำตัว 2 ชั้นที่บรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 450-500 ที่นั่ง ไม่มีความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย หลายสายการบินจำต้องหยุดให้บริการกับเจ้ายักษ์ใหญ่นี้ เช่น สายการบิน Emirates ที่มีเครื่องบินรุ่นนี้ในฝูงบินมากที่สุดในโลกกว่า 120 ลำ ก็ต้องจอดเครื่องบินนี้เรียงรายในสนามบินกลางทะเลทรายดูไบ ผลกระทบนี้ลามไปถึงการยุติการผลิตเครื่องบินรุ่น A380 นี้ของบริษัท Airbus (อ่านข่าวเดิม)
ที่สนามบินซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เครื่องบิน Airbus A380 ของสายการบิน Emirates ได้ปรากฏตัวขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเมื่อวันอังคาร (22 มิถุนายน) ที่ผ่านมา โดยปกติแล้วเที่ยวบิน EK414 จะให้บริการโดยเครื่องบินแบบ Boeing 777-300ER แต่เครื่องบิน Airbus A380-800 ถูกแทนที่ในเที่ยวบินนี้ออกมาจากดูไบด้วยเหตุใด?
เที่ยวบินแรกของ Airbus A380 ที่ซิดนีย์
เมื่อตามเว็บไซต์ติดตามเที่ยวบิน FlightRadar24.com เครื่องบิน A380-800 ของสายการบิน Emirates ลำหมายเลขทะเบียน A6-EOM ได้ออกเดินทางจากสนามบินดูไบ (DXB) เวลา 02:27 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคาร เที่ยวบิน EK414 ใช้เวลาทำการบิน 13 ชั่วโมงครึ่ง จึงลงจอดที่สนามบินซิดนีย์ (SYD) เวลา 21:54 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันเดียวกัน หลังจากนั้นอีก 24 ชั่วโมง A6-EOM เที่ยวบิน EK416 ก็จะบินออกจากซิดนีย์ (SYD) เวลา 21:10 น. ตามเวลาท้องถิ่นในเย็นวันพุธ เดินทางกลับถึงสนามบินดูไบ (DXB) ในเวลา 05:20 น. ตามเวลาท้องถิ่นในเช้าวันพฤหัสบดี
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนที่การเดินทางทางอากาศจะตกต่ำ สายการบิน Emirates เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการทางอากาศรายใหญ่ที่สนามบินซิดนีย์ (SYD) สนามบินนี้เป็น 1 ใน 5 สนามบินของออสเตรเลียที่สายการบินต่างๆ ให้บริการวันละหลายร้อยเที่ยวบิน ปกติ Emirates จะให้บริการ 4 เที่ยวบินต่อวันไปยังซิดนีย์ ซึ่งอาจมีบริการด้วย A380 ด้วยสองเที่ยวบิน
Emirates ได้ยุติเที่ยวบิน A380 สู่ซิดนีย์ในปี 2020 หลังจากที่สายการบินตัดสินใจจอดเครื่องบินรุ่นนี้บางส่วน เพราะจำนวนผู้โดยสารน้อยลงไม่ถึงครึ่ง แล้วหันไปใช้ Boeing 777s แทน ก่อนที่จะระงับเที่ยวบินส่วนใหญ่มาออสเตรเลีย มีรายงานว่า Emirates ส่ง Airbus A380 ไปยังซิดนีย์เที่ยวสุดท้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเที่ยวบินพิเศษที่บรรทุกนักกีฬาคริกเก็ตชาวออสเตรเลียและอินเดียกลับประเทศ
แม้ว่าในช่วงนี้ จะมีการจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่อนุญาตให้เข้ามาในประเทศออสเตรเลียอย่างเข้มงวด แต่ก็มีสาเหตุหลายประการที่ Emirates ส่ง Airbus A380 ไปยังซิดนีย์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แน่นอนหนึ่งในสาเหตุน่าจะมาจากจำนวนผู้โดยสารที่มากจนเต็มลำนั่นเอง
สัปดาห์ก่อนหน้านั้น Emirates ได้นำเจ้า Super Jumbo Airbus A380 กลับมาทำการบินอีกครั้ง โดยทางสายการบิน Emirates ที่มีฐานการบินอยู่ในดูไบ ได้วางแผนที่จะบินด้วยเครื่องบิน A380 จำนวน 30 ลำในช่วงซัมเมอร์นี้ ตามที่ทางสายการบินระบุ เครื่องบินขนาดใหญ่จะทำการบินไปยังเมืองต่างๆ ใน อเมริกาเหนือ ยุโรป และตะวันออกกลาง แต่เมืองเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เครื่องบิน A380 มีกำหนดจะบินไปคือ กวางโจว ในประเทศจีน
ในปีที่ผ่านมา สายการบิน Emirates ยังใช้เครื่องบินแบบ A380 จำนวนหนึ่งทำการบินอยู่บนน่านฟ้า การทำเช่นนั้นมีวัตถุประสงค์สองประการคือ ยังมีเส้นทางบางเส้นทางที่ความต้องการยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง และการบรรทุกสินค้าที่มีปริมาณมากพอ ทำให้เครื่องบิน A380 ยังคุ้มค่าอยู่ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ จำเป็นที่ต้องทำให้นักบินและลูกเรือได้รับการรับรองตามกฎของ FAA และรักษาชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำไว้อยู่
เครื่องบิน Airbus A380 มีการผลิตและส่งมอบไป 184 ลำ ใน 13 สายการบินทั่วโลก ผู้ให้บริการด้วยเครื่องบินแบบ A380 รายอื่นๆ ส่วนใหญ่มีฝูงบินขนาดเล็กไม่กี่ลำ สามารถที่จะปลดระวาง A380 ไปใช้เครื่องบินแบบอื่นแทนได้ แต่สำหรับสายการบิน Emirates มีฝูงบินแบบ A380 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมากถึง 120 ลำ การที่จะปลดระวางเครื่องบิน A380 จึงไม่เคยเป็นทางเลือกของบริษัทเลย และมี 1 ลำเลขทะเบียน A6-EVO เพิ่งจะได้รับมอบเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2021 ยังเหลืออีก 3 ลำสุดท้าย (หมายเลขทะเบียน A6-EVQ, A6-EVR, A6-EVS) ที่จะส่งมอบภายในปี 2022 นั่นหมายถึงโปรเจกต์ยักษ์ A380 จะปิดตัวลงอย่างสมบูรณ์
การรักษาสภาพความพร้อมบินของเครื่องบินทุกลำในฝูงบิน จึงมีความจำเป็น เมื่อความต้องการการเดินทางในอากาศกลับมาปกติ หมายถึง ทั้งนักบิน-ลูกเรือจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทำเที่ยวบินเสมอ การแสวงหาโอกาสในการนำเครื่องกลับมาใช้งานเป็นบางส่วน สลับกันไปจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง Emirates กล่าวว่า จะยังคงใช้ Super Jumbo A380 อีกต่อไปจนถึงปี 2030 ค่อยพิจารณาอีกที
A6-EVO arrives in Frankfurt on its first revenue flight. Photo: Tom Boon – Simple Flying
ที่มา : Simple Flying