ThaiAirways

ฤดูกาลการบิน (Season)

วันนี้ เราจะได้เห็นแต่ละสายการบินได้กำหนดตารางบิน ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ใหม่ เรียกกันว่า “ตารางบินฤดูหนาว” ว่าแต่ฤดูการบินมีกี่ฤดู เหมือนกันกับฤดูกาลต่างๆ ในบ้านเราไหม เช่น ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว แต่… เอ๊ะ! ในบางภูมิภาคเขาก็มีกันหลายฤดูนะต่างจากบ้านเรา อย่างในโซนที่เป็นเขตหนาว เขตอบอุ่น และแถบขั้วโลก ก็มี ฤดูใบ้ไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และ ฤดูหนาว และการแบ่งฤดูการบินมีที่มาต่างกันอย่างไร มีมาตรฐานกำหนดบ้างไหม วันนี้เรามาเรียนรู้ร่วมกัน

หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินการเรียก “ตารางบินฤดูร้อน” และ “ตารางบินฤดูหนาว” กันมาบ้าง เราลองไปทำความรู้จักกันเพิ่มเติมว่า ทำไมต้องมีการแบ่งตารางบินออกเป็นช่วงๆ ในแต่ละปี อย่างวันนี้วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2565 เป็นอีกวันที่มีความสำคัญในรอบปี คือ เป็นวันแรกของ “ตารางบินฤดูหนาว” ที่จะเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกปี ไปสิ้นสุดที่วันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคมในปีหน้า แล้วมันมีผลกับผู้โดยสารอย่างไร?

ทำความรู้จักฤดูกาลการบิน

สำหรับประเทศไทย มีการบัญญัติศัพท์อย่างเป็นทางการไว้คือ “ฤดูกาลการบิน” โดยมีระบุอยู่ใน ระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรรเวลาการเข้าออกสนามบินของอากาศยาน ไว้ว่า “ฤดูกาลการบิน” (Season) หมายความว่า ช่วงเวลาในการกำหนดตารางการบิน ซึ่งแบ่งออกเป็น ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ซึ่งสอดคล้องกับการแบ่งตารางบินออกเป็น “Summer” และ “Winter” ที่กำหนดโดย สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International air transport association – IATA) ใน Worldwide Airport Slot Guidelines (WASG) สรุปได้ว่า

  • ตารางบินฤดูร้อน (Summer Schedule) : เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ไปจนถึงวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคม รวมระยะเวลา 30 สัปดาห์ ใช้ตัวอักษร “S” ในการกำกับ เช่น S22 หมายถึง ตารางบินฤดูร้อนปี 2022
  • ตารางบินฤดูหนาว (Winter Schedule) : เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ไปจนถึงวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ในปีถัดไป รวมระยะเวลา 22 สัปดาห์ ใช้ตัวอักษร “W” ในการกำกับ เช่น W22/23 หมายถึง ตารางบินฤดูหนาวปี 2022/2023

ในบางกรณี อาจจะเห็นตัวอักษร NS หรือ NW ซึ่งก็มีความหมายเดียวกัน แต่จะเพิ่มคำว่า Northern Summer และ Northern Winter เข้ามากำกับไว้ว่า เป็นช่วงเวลาฤดูร้อนและฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับฤดูกาลของซีกโลกใต้นั่นเอง

ทำไมต้องแบ่งตารางบินออกเป็นช่วง?

วัตถุประสงค์หลักของการแบ่งตารางบิน คือ ประโยชน์ในด้านการ “จัดสรรเวลาบิน” หรือ Slot ซึ่งจะมีการจัดสรรและเปลี่ยนแปลงหลักๆ 2 ครั้งต่อปี กล่าวคือ การที่สายการบินจะทำการบินเที่ยวบินใดเที่ยวบินหนึ่งนั้น มีหลายปัจจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะขีดความสามารถในการรองรับเครื่องบิน ของท่าอากาศยานต้นทาง และท่าอากาศยานปลายทาง ดังนั้น จึงต้องมีการ “จัดสรรเวลาบิน” (จัดการจราจรของแต่ละสนามบินในการขึ้นลง แต่ละช่วงวัน เวลา) ให้ลงตัว ก่อนที่จะสามารถประกาศตารางบินออกสู่สาธารณะ

การแบ่งตารางบินออกเป็นช่วง ยังส่งผลให้ทั้งสายการบินและสนามบิน สามารถคาดการณ์ความต้องการเดินทางที่มักมีไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา และวางแผนตารางบินให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้โดยสารในช่วงนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็นรองอื่นๆ เช่น ทิศทางลมในแต่ละฤดูกาล หรือเวลาออมแสง (Daylight saving time) ที่ทำให้สายการบินต้องปรับตารางบินให้เหมาะสมอีกด้วย

Daylight Saving Time คืออะไร

การจัดสรรเวลาการบิน

การจัดสรรเวลาการบิน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินงานของสายการบิน และสนามบิน เนื่องจากสายการบินไม่สามารถจะประกาศตารางบินออกไปได้ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำการบินเข้าออกสนามบินระดับสาม โดย สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ  (IATA) แบ่งสนามบินเป็นแต่ละระดับ  ดังนี้

  • สนามบินระดับหนึ่ง (level 1 : Non-Coordinated/Non-Facilitated) คือ สนามบินที่มีขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้งานตลอดเวลา ในประเทศไทย เช่น สนามบินอุบลราชธานี สนามบินอุดรธานี
  • สนามบินระดับสอง (level 2 : Facilitated) คือ สนามบินที่มีโอกาสที่จะเกิดความคับคั่งของการจราจรได้ในบางช่วงเวลาของวัน สัปดาห์ หรือฤดูกาลการบิน ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยวิธีการปรับตารางการบิน โดยความเห็นร่วมกันระหว่างสายการบิน กับหน่วยอำนวยความสะดวกจัดเวลาการบิน ในประเทศไทย เช่น สนามบินเชียงราย สนามบินหาดใหญ่
  • สนามบินระดับสาม (level 3 : Coordinated) คือ สนามบินที่มีโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอในการรองรับหรือ สนามบินที่หน่วยงานของรัฐกำหนดเงื่อนไขไว้ จนทำให้สนามบินนั้น ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการใช้สนามบินได้ทุกเที่ยวบิน จะตองได้รับการจัดสรรเวลาจาก “หน่วยประสานจัดสรรเวลาการบิน” (Slot Coordinator) กอนทำการบินมายังสนามบินระดับ 3 ในประเทศไทย เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต

สำหรับการจัดสรรเวลาการบิน จะมีการจัด “การประชุมเจรจาการจัดสรรเวลาการบิน” (Slot Conference) ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นโดย สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อการประสานงานจัดสรรเวลาการบินให้แก่สายการบิน ที่มีแผนทำการบินเข้าออกสนามบินระดับสอง และสนามบินระดับสาม ซึ่งจัดขึ้นสองครั้งต่อปี ภายใต้ “ปฏิทินการจัดสรรเวลาการบิน” (Calendar) หรือปฏิทินการจัดสรรเวลาการบิน โดยจะจัดขึ้นล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน และสอดคล้องกับการแบ่งตารางบินออกเป็น “ฤดูร้อน” และ “ฤดูหนาว” นั่นเอง

ทั้งนี้ สายการบินสามารถขอจัดสรรเวลาการบินได้ทั้งแบบ “ฤดูกาลการบินเดียวกัน” (Equivalent Seasons) เช่น ทำการบินฤดูกาลการบินฤดูร้อนปีนี้ และฤดูร้อนปีหน้า หรือ “ฤดูกาลการบินต่อเนื่องกัน” (Consecutive Seasons) เช่น ทำการบินฤดูกาลการบินฤดูร้อนปีนี้ ต่อเนื่องไปยังฤดูหนาว สำหรับหน่วยงานที่กำกับดูแลการจัดสรรเวลาการบินในประเทศไทย คือ กลุ่มจัดสรรเวลาการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

กระทบกับผู้โดยสารอย่างไร

แม้วัตถุประสงค์หลักของการแบ่งฤดูกาลการบิน รวมถึงการจัดสรรเวลาการบิน จะเป็นในด้านการปฏิบัติงานของสายการบิน และสนามบิน แต่สำหรับผู้โดยสารเอง การรู้ข้อมูลนี้ไว้ ก็นับว่าเป็นประโยชน์กับการวางแผนการเดินทาง อาทิ

  • สายการบินมักประกาศตารางบินล่วงหน้า 1-2 ฤดูกาลการบิน จะสังเกตได้ว่า วันที่สามารถจองบัตรโดยสารได้ไกลออกไปที่สุด มักจะเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลการบิน (ปลายมีนาคม และปลายตุลาคม) ยกเว้นสายการบินต้นทุนต่ำบางสายที่มักประกาศตารางบินล่วงหน้า 3-4 ฤดูกาลการบิน ทำให้เราสามารถ “จองข้ามปี” ได้นั่นเอง
  • ตารางบินมักจะมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเปลี่ยนฤดูกาลการบิน ทั้งการเพิ่มลดเที่ยวบิน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงเวลาเดินทาง
  • สายการบินมักเริ่มทำการบินเส้นทางใหม่ๆ ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลการบิน ซึ่งการเปิดเส้นทางใหม่ช่วงแรก มักมีราคาบัตรโดยสารที่ดึงดูดให้ผู้โดยสารลองใช้บริการเสมอ

สำหรับประเทศไทยเรา ตามปรกติแล้ว ตารางบินฤดูหนาว นั้นเป็นช่วงเวลาที่การบินและการเดินทางคึกคัก หรือที่เรียกกันว่าเป็นช่วง High Season เพราะว่า จะมีการเดินทางจากนักเดินทางที่อยู่ในเขตอบอุ่น (Temperate climate) ทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชียเหนือ และเอเชียกลาง ฯลฯ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนในแถบบ้านเรา เพื่อหนีความหนาวเย็น มาสัมผัสอากาศสบายๆ แสงแดดอุ่นๆ อากาศดีๆ มีฝนตกไม่มาก🏖

หรือนักท่องเที่ยวจากแถบบ้านเราเองก็จะเดินทางไปท่องเที่ยว เพื่อสัมผัสความอากาศหนาว ไปเจอหิมะ ไปเล่นสกีกันในแถบญี่ปุ่น เกาหลี ทำให้ปรกติแล้วความถี่ของเที่ยวบินในตารางบินฤดูหนาว ที่เข้าออกประเทศไทย (รวมถึงความถี่ของเที่ยวบินในประเทศเอง) จะเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงฤดูร้อน และฤดูหนาวปีนี้ 2022/2023 เป็นฤดูหนาวแรกในรอบกว่า 2 ปี ที่ข้อจำกัดด้านการเดินทางเข้าประเทศไทย และกฎเกณฑ์ต่างๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นั้นถูกยกเลิกไปหมดสิ้นแล้ว จึงเป็นช่วง High Season ที่กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง

ถึงแม้อาจจะมีบางพื้นที่ หรือบางดินแดนที่ยังมีข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เข้มงวด ทำให้ปริมาณนักเดินทางยังออกเดินทางมาไม่สะดวก เช่น จีน ฮ่องกง หรือบางพื้นที่ ที่ปรกติแล้วเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับช่วงฤดูหนาว แต่ด้วยสถานการณ์สงครามและการตอบโต้จากนานาชาติ ทำให้อาจมีความขลุกขลักไม่ราบรื่นจากการเดินทาง เช่น รัสเซีย ยูเครน

ก็ได้แต่หวังว่า Winter Schedule ปีนี้ ไฟลท์บินจะกลับมาคึกคัก เราจะได้มองเห็นความถี่ เห็นเครื่องบินที่สีสันหลากหลาย หางเครื่องบินมากลวดลายจากสายการบินสารพัด บินเข้า-ออกขึ้นลงที่สนามบินต่างๆ ทั่วไทยกันอย่างหนาแน่นกันอีกครั้ง✈️

อ้างอิงจาก

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)