การทำ CPR

บริการทางการแพทย์

ย่างที่เขียนไปเมื่อครั้งที่แล้วว่า คราวนี้เราจะต้องผันตัวเองมาเป็น “คุณหมอ คุณพยาบาล” กันชั่วคราว ในคลาส เรียนเรื่อง Group Medical Training (GMT) ซึ่งก็คือ การฝึกการช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นครับ

สำนักงานบริการทางการแพทย์ MedLink

ศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์ภาคพื้นดิน MedLink

ก่อนอื่น ก็ต้องขอขอบคุณสายการบินของเราที่กรุณาทุ่มทุนสร้าง ลงทุนมหาศาลไปกับ “ระบบการช่วยเหลือทางการแพทย์ สำหรับผู้โดยสารเครื่องบิน” ที่เรียกว่า MedLink จริงๆ ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมากมายครับ แค่ จ่ายเงินไปปีละหลายล้านดอลล่าร์ เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์บนเครื่องบินกับศูนย์ MedLink แห่งนี้ครับ โดย MedLink จะมีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญประจำการอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้คำแนะนำ และคำอนุญาต ในการให้การช่วยเหลือผู้ป่วย ขณะที่อากาศยานกำลังทำการบินอยู่นั่นเองครับ… นั่นทำให้แอร์โฮสเทสและสจ๊วตอย่างเราๆ เบาใจขึ้นเยอะ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่เราเรียนก็จะเกี่ยวข้องกับ อาการป่วยทั่วๆ ไป ที่พบได้บนเครื่อง ซึ่งถ้าร้ายแรงเกินเยียวยาแล้วหล่ะก็ MedLink นี่แหละครับที่จะช่วยเราได้

เราเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการเรียน CPR ซึ่งก็คือ “การปั้มหัวใจ ผายปอด” อะไรทำนองนี้ที่เรารู้จักกัน เพื่อนในกลุ่มหลายคน ก็เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลมาบ้างแล้ว ก็สบายไป ส่วนคนที่ไม่เคยเลย ก็ไม่น่าจะยากมากครับ แล้วก็ดูมีประโยชน์มากทีเดียว

การทำ CPR

การฝึกฝนการช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR

พูดถึง CPR แล้ว เราก็มีกฎปฏิบัติอยู่บางประการครับ นั่นคือ ถ้ามีผู้โดยสารหยุดหายใจ กระบวนการ CPR จะเริ่มต้นทันที และจะทำไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 45 นาทีเท่านั้นครับ หลังจากได้รับคำอนุญาตจาก MedLink แล้ว เราก็จะหยุดให้การช่วยเหลือ และดำเนินการจัดการกับผู้โดยสารที่เราไม่สามารถช่วยเหลือได้นั้นต่อไป เมื่อถึงปลายทาง หรือถ้านักบินตัดสินใจ Divert คือ นำเครื่องลงจอดฉุกเฉิน ยังสนามบินที่ไม่ใช่สนามบินปลายทาง เราก็จะทำการช่วยเหลือต่อไป จนกว่าจะลงจอด และส่งผู้โดยสารให้กับเจ้าหน้าที่การแพทย์ภาคพื้นดินดูแลต่อไป

คำถามที่ตามมา และกลายเป็นข้อถกเถียงกันในห้องเรียนอยู่พักนึงก็คือ ทำไมไม่ตัดสินใจ Divert ทุกกรณีหากมีผู้โดยสารป่วยหนักมากขนาดนั้น คำตอบคือ เหตุผลทางด้านเม็ดเงินนั่นเองครับ การหันหัวเครื่องบินไปยังจุดหมายที่ไม่ใช่ปลายทาง สายการบินจะต้องสูญเสียรายได้ และเกิดค่าใช้จ่ายตามมาอย่างต่ำประมาณ 5 แสนดอลล่าร์ ซึ่งบางครั้งก็จะมากกว่านั้น โดยเฉพาะในการบินเส้นทาง Ultra Long Range แต่ก็อย่างว่าครับ มันก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมด้วยในส่วนหนึ่ง ต่างคนต่างจิตใจก็แล้วกันครับ เอาเป็นว่าปัญหานี้ คุณกัปตันจะเป็นผู้ตัดสินใจครับ ลูกเรือก็จะทำหน้าที่ช่วยผู้โดยสารให้ดีที่สุดก็แล้วกันครับ

การทำ CPR

ฝึกหนักแล้ว ยังต้องผ่านการทดสอบอย่างโหดจากครูฝึกอีก

หลังจากเรียนและเถียงกันไปพักนึง ก็มาสู่การสอบภาคปฏิบัติเรื่อง CPR แน่นอนว่า น้ำตาหยดแรกก็มาให้เห็นแล้วครับ เพราะมีเพื่อนq บางคนสอบไม่ผ่านทั้งๆ ที่ทำได้หมด แต่ไปเจอคุณครูที่เข้มงวดหน่อย และก็ถามเยอะเกินไป คือ ถามมากเกินกว่าแบบประเมินให้มา ดังนั้นก็เป็นผลให้มีบางคนไม่ค่อยพอใจ และไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ครับ

หลังจากนั้นเราก็เรียนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในเกือบทุกอาการที่อาจเกิดขึ้นบนเครื่อง อย่างวิงเวียน ปวดหัว สำลัก น้ำร้อนลวก เป็นแผล กระดูกหัก เป็นต้น รวมถึงอาการที่รุนแรงกว่านั้นหน่อย อย่างเบาหวาน โรคหัวใจ ภูมิแพ้ เป็นต้นครับ ซึ่งก็จะนำมาสู่ส่วนที่ยากประการหนึ่งของการเรียน GMT นั่นคือ “ตัวยา” นั่นเองครับ ไม่ได้ยากตรงที่ยานั้นรักษาอะไร แต่ยากตรงที่ยานั้นมันอยู่ตรงไหนมากกว่าครับ

ชุดปฐมพยาบาลบนเครื่อง

ชุดปฐมพยาบาลบนเครื่อง

บนเครื่องบินเรามีชุดปฐมพยาบาลอยู่ด้วยกัน 4 แบบ แต่ละแบบก็มีจำนวนชุดต่างๆ กันไปครับ คราวนี้ก็ถึงเวลาวัดดวงกันแล้วว่า จะจำได้หรือไม่ว่ายาชื่อนี้ อยู่ในกล่องไหน อ่านถึงตรงนี้แล้ว อย่าเพิ่งตกใจไปครับว่า ถ้าเกิดป่วยบนเครื่องแล้ว ลูกเรือจะเอามาให้ถูกมั้ย ไม่ต้องห่วงครับ เพราะยังไงเรายังมี MedLink ที่จะคอยช่วยให้คำแนะนำ และคำอนุญาตในการให้ยากับผู้โดยสารด้วยครับ เพราะยาบางชนิดจำเป็นที่จะต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดครับ

สำหรับขั้นตอนในการปฐมพยาบาลก็คือ ลูกเรือจะพยายามดูแลผู้โดยสารที่ป่วยในเบื้องต้นก่อน รวมถึงเป็นผู้รวบรวมประวัติเบื้องต้นของผู้ป่วย หากอาการหนักขึ้น ก็จะทำการติดต่อ MedLink ทันทีและรายงานข้อมูลเบื้องต้นของผู้ป่วยให้ทราบ ระหว่างนั้น จะทำการประกาศหาผู้โดยสารที่เป็น “คุณหมอ” ตัวจริงมาช่วยทำการรักษา ก็ต้องบอกครับว่า คุณหมอนั้นก็ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงแล้วจะซวยเอา งานนี้สบายใจได้ครับ เพราะคุณหมอที่มาช่วยเรารักษาผ่านการอนุญาตของ MedLink แล้ว จะมีความคุ้มครองหรือประกันภัยให้ด้วยครับ จากนั้นคุณหมอตัวจริงก็จะเข้ามารับช่วงต่อ ผ่านคำแนะนำของ MedLink เช่น ให้ฉีดยาบางชนิดให้ผู้ป่วย เป็นต้นครับ และเมื่อเครื่องบินแตะพื้น ผู้ป่วยจะได้ออกไปเป็นท่านแรก และส่งถึงมือคุณหมออย่างปลอดภัยที่สุดครับ

ที่เราต้องเรียนเรื่องนี้ เพราะว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ปีละไม่ต่ำกว่าหกพันราย มีผู้เสียชีวิตกระทันหันบนอากาศยานปีละกว่าสิบชีวิต ดังนั้น First Response จึงเป็นหน้าที่ของลูกเรือที่จะต้องช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถครับ

นอกจาก MedLink แล้ว ในเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ เรายังมี Tempus ซึ่งก็คือ เครื่องวัดชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันและอื่นๆ สำหรับผู้โดยสารที่ป่วยบนเครื่องบิน ซึ่งสามารถส่งข้อมูลผู้ป่วยแบบ Real Time ไปยัง Medlink ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการติดต่อ ทำให้สามารถรักษาได้ทันท่วงทีครับ

เป็นคนไข้ให้เพื่อนรักษา

เป็นคนไข้แขนหักให้เพื่อนทำการฝึกปฐมพยาบาล

อันนี้ เป็นตอนแรกนะครับ แล้วเดี๋ยวมาดูว่าเราต้องทำอะไรกับ GMT อีก 😛

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)