Requirements of Airline Crew.
คุณสมบัติเบื้องต้นของอาชีพสจ๊วต แอร์โฮสเตส
มักจะมีคำถามเสมอว่า อยากมีอาชีพนี้บ้างต้องเตรียมตัวและมีคุณสมบัติอย่างไร นี่คือคำตอบนะครับ 🙂
แอร์โฮสเตส และ สจ๊วต เป็นอาชีพที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารบนเครื่องบิน ดังนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพทางด้านนี้ จึงควรมีคุณสมบัติต่างๆ เช่น มี บุคลิกดี ยิ้มง่าย ใจเย็น อ่อนหวาน และต้องมีเชาว์ไหวพริบ กล้าตัดสินใจกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ผู้หญิงควรมีความสูง 160 เซนติเมตรขึ้นไป ผู้ชายควรมีความสูง 165 เซนติเมตรขึ้นไป รูปร่างสมส่วน ไม่อ้วนไม่ผอมจนเกินไป สายตาใช้การได้ดี ต้องไม่สวมแว่น แต่ถ้าสายตาสั้นเล็กน้อย หาคอนแทคเลนส์ใส่ได้ ส่วนเรื่องหน้าตา เน้นที่หน้าตารับแขกมากกว่าความสวยงาม หรือสรุปง่ายๆ ควรเป็นดังนี้
คุณสมบัติของผู้สนใจสมัครตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
จำนวนอัตราที่ต้องการรับสมัคร ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และการกำหนดระยะเวลาการจ้างของพนักงาน ขึ้นกับนโยบายของบริษัท (ปกติจะมีสัญญาจ้าง 3 ปี รวมการเข้าฝึกเทรนนิ่งระยะแรก 6 เดือนด้วย) ส่วนข้อมูลคุณสมบัติเบื้องต้นที่มีการกำหนดที่ผ่านมามีดังต่อไปนี้
คุณสมบัติทั่วไป
ผู้สมัครหญิง
- สัญชาติไทย สถานภาพโสด
- อายุไม่เกิน 26 ปี
- ความสูงไม่น้อยกว่า 160 เซนติเมตร และน้ำหนักต้องได้สัดส่วนกับความสูง
- สามารถว่ายน้ำได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 50 เมตร โดยต้องว่ายท่าฟรีสไตล์ได้ด้วย
ผู้สมัครชาย
- สัญชาติไทย สถานภาพโสด ผ่านหรือได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ตามระเบียบของทางราชการแล้ว (สายการบินต่างประเทศไม่สนใจนักเรื่องการเกณฑ์ทหาร ถ้ามาเกณฑ์ติดรับใช้ชาติก็ต้องออกจากงาน)
- อายุไม่เกิน 28 ปี
- ความสูงไม่น้อยกว่า 165 เซนติเมตร และน้ำหนักต้องได้ส่วนกับความสูง
- สามารถว่ายน้ำได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 100 เมตร โดยต้องว่ายท่าฟรีสไตล์ได้ด้วย
คุณสมบัติอื่น
- วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ไม่จำกัดสาขา ผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศต้องมีหนังสือรับรองการเทียบวุฒิจากสำนักงาน คณะกรรมการการอุดมศึกษามาแสดงพร้อมกันด้วย (สายการบินต่างประเทศบางบริษัทขอให้คุณจบแค่ ม.ปลาย ก็พอแล้ว)
- ผ่านการทดสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษ Test of English for International Communication (TOEIC) 600 คะแนนขึ้นไป หรือ Test of English as a Foreign Language (TOEFL) 500 คะแนนขึ้นไป หรือ
- International English Language Testing System (IELTS) 5.5 คะแนนขึ้นไป ผลการทดสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษดังกล่าวต้องไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันที่ยื่นใบสมัคร
- มีความรู้ความสามารถในการพูด และเข้าใจภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และหากมีความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศอื่น นอกเหนือจากภาษาอังกฤษด้วย โดยเฉพาะภาษาจีน ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน ญี่ปุ่น และสเปน จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณา
- สุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่สวมแว่นสายตา (ใช้คอนแทคเลนส์ได้)
- มีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีความกระตือรือร้น เอาใจใส่ และรักงานบริการ
- มีบุคลิกภาพดีและเหมาะสมในการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
การทำงาน
การทำงานของแอร์โฮสเตสและสจ๊วตนั้น เป็นเวลาที่ไม่แน่นอน ไม่เลือกกลางวันหรือกลางคืน ขึ้นอยู่กับเที่ยวบินหรือสายการบินที่จะเดินทางว่า จะออกกี่โมง และในการเดินทางแต่ละครั้งทั้งสจ๊วต และแอร์โฮสเตส จะต้องกำหนดเวลาในการเดินทางไปสนามบินเผื่อไว้ทุกครั้ง โดยจะต้องเดินทางไปถึงสนามบินก่อนเครื่องบินออกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวและไม่ตกเครื่องบิน แอร์โฮสเตสและสจ๊วตจึงต้องเป็นผู้มีความรับผิดชอบอย่างสูง
การเตรียมตัว
ภาษาอังกฤษเป็นหลัก วุฒิการศึกษาจบ ม. 6 ทั้งสายวิทย์หรือศิลป์ แต่ 90% ของผู้สมัคร มักจบปริญญาตรีขึ้นไป อาจเพราะผู้ผ่านการศึกษาระดับนี้ มีประสบการณ์มากกว่า (ผู้เขียนก็ใช้วุฒิ ม. 6 ในการสมัคร เพราะตอนนั้นยังไม่ได้รับทรานสคริปต์และใบปริญญาบัตรเลย พอได้งานก็ไม่ได้มีโอกาสมาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมเพื่อนๆ ได้แต่ถ่ายภาพไว้ก่อนเท่านั้น)
การเตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติการบิน
การทำงานกับสายการบินนั้น สิ่งที่ต้องเคร่งครัดมากคือ เรื่องของเวลา ทุกสายการบินจะเน้นในเรื่องของความปลอดภัยทั้งต่อผู้โดยสาร ลูกเรือและตัวอากาศยาน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของพนักงานก่อนปฏิบัติการบิน เพื่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องมาถึงที่ศูนย์ลูกเรือ (Crew center) อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ก่อนเวลาเครื่องออก (Departure Time) ของเที่ยวบิน เพื่อมาฟังการสรุปข้อมูล (Briefing) เกี่ยวกับ ขั้นตอนฉุกเฉิน (Emergency) ขั้นตอนการบริการ รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการกำหนดหน้าที่การปฏิบัติงานของแต่ละคนอย่างชัดเจน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
อยากเป็นสจ๊วต เป็นแอร์ : เรซูเม่ ต้องเริ่ด (1)
อยากเป็นสจ๊วต เป็นแอร์ : รูปถ่ายต้องเป๊ะ (2)
อยากเป็นสจ๊วต เป็นแอร์ : ข้อมูลต้องพร้อม (3)
🙂 😀 😛 ปีใหม่นี้ขอให้มีความสุขทุกท่านนะครับ 🙂 😀 😛