JAL_01

JAL จากหนี้สิน 7 แสนล้าน พลิกตัวฟื้นมาทำกำไร.

ทความนี้อยากจะสื่อถึง “ปัญหาขาดทุนและความล้มเหลวของสายการบินแห่งชาติ” บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจใหญ่ของไทยที่ขาดทุนตลอดมาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อาการที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เริ่มเข้าขั้นต้องเตรียมเข้าห้อง ICU กันอีกไม่ช้าไม่นานแน่นอน เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมไหนๆ ก็ล้วนเห็นแต่มุมมองที่เลวร้าย อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของการบริหารจัดการที่ไม่เพียงแค่แก้ไม่ตกเท่านั้น หากยังจะเลวร้ายในอันตราเร่งสูงเสียด้วย

แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คำพยากรณ์ของใครหลายๆ คนที่บอกว่า “หากปล่อยให้ความเลวร้ายเช่นนี้ดำเนินไป จะทำให้การบินไทยตกอยู่ในสภาพเดียวกับสายการบิน JAL หรือเจแปนแอร์ไลน์ ของญี่ปุ่นเมื่อ 8  ปีก่อน ที่ถึงขั้นประกาศล้มละลาย” มาเป็นตัวอย่าง แต่เรา (รัฐบาลไทย) จะสามารถทำการพลิกฟื้นเจ้าจำปีดอกนี้ได้เหมือนกับ JAL ได้หรือไม่? ใครจะมาเป็นอัศวินม้าขาวมากอบกู้กิจการในครั้งนี้

JAL (Japan Airlines) เคยเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น เช่นเดียวกันกับ บริษัท การบินไทย จำกัด ในอดีตครั้งหนึ่ง JAL เคยได้ชื่อว่า “เป็นสายการบินเอเชียใหญ่ที่สุดในด้านรายได้” แต่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 มีปัญหาขาดทุนเรื้อรัง จนหมดความสามารถในการชำระหนี้สินเงินกู้ และตราสารหนี้ที่ล้นพ้นตัวกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินใหญ่ 3 รายหลักของญี่ปุ่น จนต้องยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง ขอเข้าโครงการฟื้นฟูกิจการ ปรับโครงสร้างหนี้ และถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ภายใต้คำแนะนำของกองทุนฟื้นฟูกิจการ

หลังจากการเจรจาที่ยืดเยื้อ จนถึงขั้นหยุดดำเนินกิจการไปนานถึง 2 ปี JAL ก็แปลงฐานะจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชนที่เป็นเอกชนเต็มตัว ด้วยเงื่อนไขฟื้นฟูกิจการหลายประการคือ ตัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม (ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจอื่น) ให้เหลือ 0% เพื่อรับเงินเพิ่มทุนใหม่ 3 แสนล้านเยน และล้างหนี้ 7.3 แสนล้านเยน ได้อย่างไรกัน

รัฐบาลญี่ปุ่น จึงได้ส่งเทียบไปเชิญ นายคาซูโอ อินาโมริ (Mr. Kazuo Inamori) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก “Kyocera Corporation” ให้เขามาช่วยเหลือ เสียสละ มาเป็นผู้นำในการฟื้นฟู JAL แม้เขาจะมีข้อด้อยว่า บุรุษผู้นี้มิเคยอยู่ในสังเวียนธุรกิจการบินมาก่อนเลย ทุกคนต่างกังขา แล้วเขาจะทำงานยากๆ หินมากๆ งานนี้ได้จริงเหรอ?

คุณๆ จะเชื่อมั้ยครับ ถ้าจะ บอกว่า… “เพียงแค่ปีเดียว JAL พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร จากที่เคยล้มละลายเพียงแค่ไม่ถึงสองปี ได้รับรางวัลเป็น “สายการบินที่ตรงเวลาที่สุดของโลก” (2012) เพียงแค่ไม่ถึงสามปี บริษัทก็กลับเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง”

มันเป็นไปแล้วล่ะ มันกลายเป็นเรื่องจริงไม่อิงนิยาย จนทำให้ JAL กลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลก ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หรือสถาบันด้านเศรษฐกิจที่ไหนๆ ต้องพากันสนใจมาศึกษาถึงความสำเร็จของท่านประธานคาซูโอ ที่เข้ามาคืนชีพให้ JAL นั้น ด้วยวัย 78 ปี อายุขนาดนี้สำหรับคนทั่วไปแล้ว คือ “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่คนรุ่นหลังอาจไม่เห็นหัวแล้ว หรือบางคนก็อาจจะปล่อยวาง ใส่เกียร์ว่าง ขอใช้ชีวิตอย่างสบายๆ ไม่ต้องเอาตัวเองมาเสี่ยงกับความท้าทายอะไรอีก

ตามประวัติ ประธานคาซูโอ ท่านเป็นทั้งนักคิด นักเขียน นักพูด รวมถึงเป็นนักบวช ท่านมีปรัชญาในการบริหารงานที่น่าศึกษามากๆ วันแรกที่ท่านเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของ JAL นั้น ท่านเปิดใจบอกกับพนักงานไปตรงๆ ว่า “ผมเกลียด JAL มาก และไม่ใช้บริการ JAL มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว”

ท่านยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า “พนักงาน JAL ทำหน้าที่ตามหนังสือคู่มือเท่านั้น แต่ไม่ได้มีจิตใจในการให้บริการอันอบอุ่น แก่ผู้โดยสารที่เกิดจากหัวใจ” (ฟังแล้วคุ้นๆ คล้ายๆ แอร์สายการบินไหนบ้างนะ)

แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารสายการบินมาก่อน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา ท่านบอกว่า ปรัชญาในการบริหารที่ท่านใช้ได้เสมอก็คือ องค์กรไม่จำเป็นต้องมีเอกสาร ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอน หรือพิธีรีตองอะไรมากมาย “ขอเพียงให้ฝ่ายบริหารตระหนักในปรัชญาเดียวกัน และตรงกันว่าหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ก็คือ การสร้างความสุขกาย สุขใจ ให้เกิดขึ้นกับพนักงานเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ที่เหลือก็คือสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นตามมาเอง”

สิ่งที่ท่านประธานคาซูโอ อินาโมริ (Mr. Kazuo Inamori) พบหลังจากเข้ามารับตำแหน่ง 6 เดือน คือ “ผู้บริหารและพนักงาน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน องค์กรขาดข้อมูล ที่สะท้อนผลประกอบการที่เป็นปัจจุบัน ความรับผิดชอบของพนักงานก็ไม่ค่อยชัด เกิดภาวะโยนงานกันไปมา”

รวมทั้ง ความไม่ใส่ใจอย่างแท้จริงของผู้บริหารระดับสูง ที่จะพลิกฟื้นองค์กรอย่างจริงจัง ส่วนมากจะเข้ามาบริหารเพื่อหวังแต่ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องซะมากกว่า ถือว่าเป็นองค์กรที่อุ้ยอ้าย ไร้สมรรถภาพ ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ขาดความรับผิดชอบ แถมท่านยังเจออีกว่า มีข้าราชการเก่าๆ หลายคนที่ใช้เส้นสาย ลาออกจากราชการก่อนกำหนด (Eariler retire) เพื่อรับเงินชดเชยก้อนโตๆ แล้วก็เบียดตัวเองเข้ามาเป็นผู้บริหาร JAL ในอัตราเงินเดือนสูงลิ่ว พร้อมด้วยเบี้ยเลี้ยงประชุมเยอะๆ (นี่ก็ฟังคุ้นๆ อีกแล้วว่าเหมือนประเทศไหนนะ)

ว่าแล้วประธานคาซูโอ ก็ลงมือบริหารเริ่มจัดการความเปลี่ยนแปลงทันที! โดยท่านกำหนดให้ ผู้บริหารระดับสูงสุดของ JAL 50 คน ต้องเข้า “โครงการอบรมผู้นำ” สัปดาห์ละ 4 ครั้ง รวมเวลาอบรม 17 ครั้ง เพื่อให้ตระหนักว่า “ผู้นำที่ดีนั้นเป็นเช่นใด” งานนี้ ท่านเองทุ่มเต็มที่มาเป็นผู้ร่วมบรรยายด้วยถึง 6 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเขาว่า “ผู้นำที่ดีจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องข้อมูลทางการเงิน มีบุคลิกภาพที่ดี มีความลุ่มหลงในงานที่ทำ และความทุ่มเท เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

หลังจากนั้น ท่านก็ฝึกอบรมผู้บริหารในระดับถัดไปจนครบ 200 คน ท่านประธานคาซูโอ ให้ความเป็นกันเองกับทุกคน ให้พนักงานทุกระดับขอเข้าพบได้โดยตรง เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของพนักงาน

นอกจากนั้น ท่านก็ยังพยายามลดต้นทุน และปลุกจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรของ บริษัทด้วยการติดป้ายราคา สิ่งของและเครื่องใช้ชนิดต่างๆ ไม่ว่าของนั้นจะดูมีค่าเล็กน้อยในสายคนทั่วไปมากแค่ไหน อย่างเช่น บนกล่องบรรจุกระดาษถ่ายเอกสารก็ติดป้ายว่า กระดาษแต่ละแผ่น มันราคาเท่าไหร่? ในห้องน้ำก็มีติดป้ายไว้ว่า ทิชชูหนึ่งม้วน ต้นทุนมันมากน้อยแค่ไหน?

ซ้ำตัวท่านเองยังทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ในการใช้ชีวิตอย่างสมถะ จะบินไปไหนมาไหนก็ยังนั่งไปในชั้นประหยัดอีกด้วย (ท่านทำดีจริงๆ ข้อนี้ประทับใจเลย ท่านไม่ได้ดีแต่พูด ไม่ยักกะเหมือนพวกคนใหญ่คนโต ในรัฐบาลไทยบางคนเนอะ เช่าเหมาลำ กินไข่ปลาคาร์เวีย สบายๆ ไม่ต้องจ่ายสักบาท)

ทั้งหมดนี้ ท่านเข้ามาทำงานหนัก แต่ไม่ได้รับเงินเดือน ไม่รับผลประโยชน์ใดๆ ขอเข้ามาทำหน้าที่อันหนักอึ้งนี้ เพื่อชดใช้ทดแทนบุญคุณแผ่นดิน เพียงอย่างเดียว!!! (ท่านประกาศต่อหน้าสาธารณชนก่อนเข้ารับตำแหน่งแล้ว)

รู้แล้วซึ้งใจมากๆ… จนอยาก ขอกราบงามๆ ด้วยความชื่นชมและศรัทธาในความดี กับการมีใจมารับใช้ชาติของท่านเลยครับ (อดคิดไม่ได้เลยว่า ทำไม๊ ทำไม การบินไทย ไม่มีอะไรอย่างงี้บ้าง?)

ใครรู้เรื่องนี้แล้วจะรู้ว่า นอกเหนือจากปรัชญาในการทำงาน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ใจ” แค่คิดว่า “แก่” ก็คงไม่กล้ารับงานหรือความท้าทายอะไรใหม่ แค่คิดว่า “ยาก” คนทั่วไปก็คงรีบปฏิเสธ

ท่านประธานคาซูโอ ไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้เลย ท่านเป็นตัวอย่างเดินได้ เป็นบทพิสูจน์ที่ยังมีลมหายใจ และสอนคนทั้งหลายให้ได้รู้ว่า อย่าลดทอนใจคุณด้วยตัวคุณเอง คนอื่นอาจจะลดทอนใจคุณได้แต่คนที่จะซ้ำเติมให้เจ็บปวดยิ่งขึ้น หรือคนที่จะเดินหน้าไปให้ถึงฝั่งฝัน มันก็คือ “ตัวคุณเอง” นั่นแหละ ตัวและใจของคุณเท่านั้น จึงสำคัญที่สุด!

เรื่องราวของท่านประธานคาซูโอ อินาโมริ (Mr. Kazuo Inamori) เป็นเพียงอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าประทับใจ จนต้องแบ่งปันว่า ทั้งอายุ ทั้งประสบการณ์ตรง ไม่ใช่ข้อจำกัด หากเรา “มีใจและมีไฟ” ที่จะทำอะไรให้สำเร็จ

ณ จุดนี้ ก็ขอนำเอาแนวคิดปรัชญาของ ท่านประธานคาซูโอ อินาโมริ ที่เคยกล่าวไว้ในที่ต่างๆ เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะพอมองเห็นอุปนิสัยและหลักคิดของท่านได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้

  • คนที่ประสบความสำเร็จ กับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ แตกต่างกันแค่เส้นยาแดงผ่าแปด
  • คนที่ไม่สำเร็จใช่ว่าจะขาดความเร่าร้อนมุ่งมั่น แต่สิ่งที่แตกต่างอยู่ที่ความอึดและอดทนต่างหาก
  • คนที่ล้มเหลวนั้น เมื่อพบกับอุปสรรคเข้า ก็จะคิดหาข้อแก้ตัวดีๆ เพื่อที่จะเลิกล้มความพยายามไป
  • ผลลัพธ์ในวันนี้ เป็นผลจากความพยายามในอดีต ส่วนอนาคตนั้น กำหนดด้วยความพยายามในปัจจุบัน
  • Passion + Action = Success สมการง่ายๆ ของความสำเร็จ คือการลงมือทำ ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ
  • “คนที่แพ้ หรือเพลี่ยงพล้ำ ไม่ใช่คนที่ล้มเหลว…แต่คนที่ล้มเหลว คือคนที่ล้มเลิกต่างหาก”

หากคนอายุเกือบ 80 ยังทำได้! ก็ขอให้หนุ่มสาวทั้งหลายจงมุ่งมั่นทำตามความฝัน และบรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าระหว่างทางจะต้องลำบากมากมายแค่ไหน ก็สู้กันต่อไปนะครับ !

กระบวนการฟื้นฟูชนิด “หักดิบ” ที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติธุรกิจนี้ ยังเน้นเพิ่มเติมอีกว่า จะต้องกำหนดแผนธุรกิจหลักสำคัญ คือ ลดต้นทุนอย่างเคร่งครัด 2 แนวทางหลักคือ

  1. ลดจำนวนและขายทิ้งเครื่องบินขนาดใหญ่ที่กินน้ำมันมากลง และตัดเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไรทิ้งไป
  2. เลิกจารีตจ้างงานตลอดชีวิตของญี่ปุ่น เป็นการลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่จากยอดรวมก่อนล้มละลาย 4.7 หมื่นคน เหลือแค่ 1.5 หมื่นคน ภายใน 5 ปี ภายในปี ค.ศ. 2015

แผนการลดต้นทุนดังกล่าวนี้ มุ่งหวังให้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อกำหนดให้ต้นทุนการบินของบริษัท ซึ่งวัดจากต้นทุนต่อจำนวนที่นั่งเมื่อถึงจุดคุ้มทุน (CASK– cost per available seat kilometer) จากเดิมก่อนล้มละลาย 13.8 เยน เหลือแค่ 11.4 เยนให้ได้

หลังจากการทำความสะอาดภายในเสร็จสิ้น JAL ก็มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ แล้วกลับเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นโตเกียว เริ่มต้นชีวิตครั้งที่สองอีกครั้ง เมื่อกลางปี 2555 ซึ่งปรากฏรายชื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มกองทุนทั้งใน และต่างประเทศ 10 กว่ากองทุน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 65% และนักลงทุนสถาบันอีก 15%

หุ้นเพิ่มทุนใหม่ที่นำออกมาขายจำนวน 8.5 พันล้านหุ้น เพื่อให้ได้เงินทุนใหม่ 6.63 แสนล้านเยน ถูกนำเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป ทำให้ JAL กลับกลายมาเป็นสายการบินที่มีมาร์เก็ตแค็ปอันดับสองของเอเชีย รองลงมาจาก สิงคโปร์แอร์ไลน์

นอกเหนือจากการลดต้นทุนแล้ว มาตรการเสริมเพื่อแข่งขันได้คือ วางยุทธศาสตร์การตลาดสร้างรายได้จากสายการบินประจำ บวกกับสายการบินโลว์คอสต์ แบบ “รบหลายทาง” เช่นการร่วมทุนกับแควนตัสของออสเตรเลีย สร้างสายการบินต้นทุนต่ำ JetStar Japan เพื่อแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำของ ANA คู่ปรับสำคัญเพื่อนร่วมชาติ และจับมือสร้างพันธมิตรกับสายการบินทั่วโลก (กลุ่ม The World) เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางการตลาดระหว่างกัน

สัมฤทธิ์ผลของการดำเนินการของ JAL ปรากฏอยู่ในราคาหุ้นที่ตลาดโตเกียว ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า จากราคาไอพีโอ 3,790 เยนที่มีพี/อี 5 เท่า เพราะอันเดอร์ไรเตอร์แสดงท่าทีลังเล และไม่แน่ใจว่าอนาคตจะสดใสหรือไม่ มาถึงราคาปิดตลาดวันแรกที่ 3,830 เยน จนปิดตลาดล่าสุดในวันถัดมาที่ระดับเหนือ 5,450 เยน สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นใจอนาคตของ JAL กำลังกลับคืนมา แต่นั่นยังไม่พอ เพราะผู้บริหารของบริษัทก็ยังเดินหน้าประกาศอีกว่า จะต้องลดพนักงานลงไปอีก 19,133 ตำแหน่ง เพื่อที่ว่าภายใน อีก 2015 จะมีพนักงานเหลือเพียงแค่ 1.5 หมื่นคนให้ได้ตามเงื่อนไขในช่วงฟื้นฟูกิจการ

วินัยและเข็มมุ่งที่แน่วแน่ของ JAL ดังกล่าว เป็นความเจ็บปวดในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างเลี่ยงไม่พ้น แต่กรณีศึกษาเช่นนี้ หากนำมาใช้กับ “การบินไทย” จะต้องเจ็บปวดยิ่งกว่า เพราะกฎกติกาที่เก่าคร่ำคร่า ซึ่งยึดถือกันมาภายใต้กฎหมายรัฐวิสาหกิจเมื่อ 50 ปีก่อน ยังถูกนำมาใช้อ้างครั้งแล้วครั้งเล่าจากหลายฝ่ายที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนแปลงใน “การบินไทย”เพื่อให้อยู่รอดในแนวทาง CASK ที่เคร่งครัด ทำนองเดียวกับ JAL นั้นอาจจะหมายถึงความอลหม่านอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ซึ่งมีคำถามตามมาว่า ใครจะหาญกล้าทำสิ่งดังกล่าว โดยไม่ถูกข้อหาว่า “ทำลายสมบัติชาติ” ดังที่ “ผู้บริหารเครือ ปตท.” ถูกกล่าวหากันเป็นประจำมานานหลายปีแล้ว

ฤาว่า เราจะศึกษากันเอาไว้อ้างโก้ๆ เพื่อรอวันที่ “การบินไทย” ล้มละลายไปเสียก่อน ก็อาจจะเป็นวัฒนธรรม “แบบไทยๆ” เพื่อให้ดู “เท่ แต่กินไม่ได้” ก็อาจจะไม่เลวเท่าใดนัก อย่างน้อยจะได้รู้ในอนาคตว่า มันเจ๊งเพราะอะไรกันแน่

อ่านเพิ่มเติม “Kasuo INAMORI ผู้พลิกฟื้นสายการบิน JAL”

Loading

About Post Author

2 thoughts on “JAL Turnaround

  1. มีสาระมากครับ มีอีกไหมครับ turn around แบบนี้

    1. อยากให้เกิดกับ TG ครับ แต่ใครจะเป็นอัศวินคนนั้น
      และรัฐบาลจะยอมยกเลิกถือหุ้น นำบริษัทเข้าสู่กระบวนการทางศาลตามกฎหมายล้มละลายหรือไม่
      รัฐบาลไทยต้องกล้าทำเหมือนสิงคโปร์ คือมีกองทุนเฉพาะเข้าไปลงทุน ไม่ต้องไปถือหุ้นให้เป็นรัฐวิสาหกิจ
      https://www.krumontree.com/crew/wing-of-change/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)