JAL Life’s
ชีวิตแอร์ญี่ปุ่น JAL
วันนี้ขอสวัสดีปีใหม่ 2562 ด้วยเรื่องราว Lifestyle ชีวิตแอร์สาวสายการบินญี่ปุ่น JAL (Japan Airlines) โดย คุณจ๋า (อดีตแอร์ JAL) จะมาเล่าประสบการณ์ในการสมัครเข้าเป็นลูกเรือของ JAL และการทำงานกับสายการบินนี้นานถึง 3 ปีเศษๆ (2013-2016) สำหรับน้องๆ ที่สนใจในการทำงานอาชีพลูกเรือ เป็น แอร์โฮสเตส ก็อ่านกันได้เพื่อเป็นประสบการณ์ก่อนไปล่าฝันกัน
ประสบการณ์กับสายการบิน JAL
วันนี้ “จ๋า” จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตการเป็นแอร์ Japan Airlines หรือที่เรียกชื่อย่อว่า JAL ให้ฟังกันค่ะ สำหรับคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสายการบินนี้มาก่อน หรือกำลังลังเลว่า จะสมัครดีมั้ย? หวังว่า บทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพิจารณาเข้าสมัครงานกันนะคะ
เรื่องราวที่จะเล่านี้ เป็นเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงของตัวจ๋าเอง ซึ่งในมุมมองของแอร์ JAL คนอื่นๆ อาจจะดีกว่าหรือแย่กว่ามุมมองของจ๋าก็เป็นได้ แต่จ๋าจะพยายามเล่าให้ฟังแบบเป็นกลางมากที่สุดค่ะ
จ๋าเข้าทำงานอยู่ที่สายการบินแจแปนแอร์ไลน์ JAL ตั้งแต่ 31 พฤษภาคม 2013 และออกจากงานอย่างเป็นทางการวันที่ 26 ตุลาคม 2016 ค่ะ รวมแล้วเป็นเวลา 3 ปีกว่า และนี่คือชีวิตแอร์ JAL จากประสบการณ์ตรงของจ๋าเองค่ะ
ติดตามจ๋าได้ทาง Facebook : Ja is so fly
ช่วงเทรน
สมัยก่อน บริษัท JAL จะมีออฟฟิศอยู่ที่สีลมค่ะ ซึ่งช่วงแรกที่จ๋าเทรน จ๋าได้เทรนที่ออฟฟิศที่สีลมประมาณสามเดือน ก่อนที่จะไปเทรนต่อที่ญี่ปุ่นอีกสามสัปดาห์ค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ JAL ไม่มีออฟฟิศที่สีลมแล้วค่ะ มีแต่ออฟฟิศที่สนามบินสุวรรณภูมิ ฉะนั้น รุ่นหลังจากนี้ จ๋าก็ไม่แน่ใจว่าจะได้เทรนด้านภาษาญี่ปุ่นที่ไทยก่อน หรือต้องไปเทรนที่ญี่ปุ่นอย่างเดียวนะคะ
การเทรนนิ่งนอกจากเรื่องภาษาญี่ปุ่น ก็จะมีเทรนความรู้ต่างๆ เหมือนสายการบินทั่วไปเลยค่ะ Safety, Service, First Aid มีครบตามมาตรฐานค่ะ ช่วงแรกจะเรียนแบบเน้นทฤษฎีก่อน หลังจากนั้นก็จะมีปฏิบัติค่ะ
ช่วงเทรนเป็นช่วงที่ค่อนข้างเหนื่อย เพราะเวลาค่อนข้างกระชั้นชิด แถมพวกเราจะมีสอบแทบทุกวันเลยค่ะ เรียนวันนี้วันรุ่งขึ้นสอบ สอบเสร็จเรียนบทถัดไป ทุกคนพูดเป็นเสียงตรงกันว่า หนักกว่าเรียนมหา’ลัยอีกค่ะ
ภาษาญี่ปุ่น
มีคนถามกันเข้ามาเยอะมากว่า “ถ้าไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นสามารถสมัครได้มั้ย” คำตอบคือ “สมัครได้ค่ะ” ตอนสมัครไม่จำเป็นต้องได้ภาษาญี่ปุ่น แต่เมื่อใดที่คุณก้าวเข้ามาแล้ว คุณต้องได้ภาษาญี่ปุ่นค่ะ 555+
คนที่ได้ภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาแล้วจะค่อนข้างใช้ชีวิตง่ายกว่า เพราะการเทรนภาษาญี่ปุ่นของที่นี่เป็นไปอย่างรวดเร็ว พื้นฐานภาษาญี่ปุ่นง่ายๆ ที่จ๋าเคยเรียนที่มหา’ลัยเป็นเวลาสามเทอม จบไปอย่างรวดเร็วภายในสองอาทิตย์เมื่อเทรนกับ JAL
หลังจากเทรนเสร็จมาบินจริง บทสนทนาบนเครื่องบิน 80% จะเป็นภาษาญี่ปุ่นค่ะ เพราะขนาดเวลากัปตันบรี๊ฟ (ชี้แจงก่อนทำการบินทุกเที่ยวบิน) กัปตันยังบรี๊ฟเป็นภาษาญี่ปุ่นเลย แอร์คนญี่ปุ่นแทบทุกคนก็จะพูดภาษาญี่ปุ่นกับเราค่ะ ต่อให้เราฟังเค้าไม่รู้เรื่อง เราก็ควรจะพยายามฟังเค้าให้รู้เรื่อง เอ๊ะ! ยังไง 555+ (ญี่ปุ่นของแท้จะไม่ค่อยพูดภาษาอื่นเลยเมื่ออยู่ในกลุ่มเขาเอง)
อ่อ! สายการบินนี้ มีค่าภาษาญี่ปุ่น (เงินเพิ่มพิเศษ) ให้กับคนที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ด้วยนะคะ พูดง่ายๆ คือ สมมติเราทำงานเท่าๆ กันกับเพื่อน แต่ถ้าเพื่อนมีความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่น เพื่อนก็จะได้เงินเดือนมากกว่าเรานั่นเอง
เพื่อน
ที่ JAL เวลาเปิดรับสมัครลูกเรือเข้ามาเทรน จะมีการแบ่งเป็นรุ่นๆ ปกติจะรับรุ่นละ 40 คน แต่มีรุ่นล่าสุด (รุ่น 115) ที่รับมาเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น
และเพื่อนในรุ่นเดียวกันกับเรานี่แหละค่ะ ที่จะเป็นเพื่อนที่เราสนิทที่สุดในบริษัท เพราะพวกเราจะผ่านการเทรนที่แสนยากไปด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน ช่วงเทรนนี่เผลอๆ ได้เจอหน้าเพื่อนในรุ่นบ่อยกว่าคนที่บ้านอีกนะคะ
หลังจากเทรนเสร็จ พอมาบินจริง ถึงต่างคนจะต่างแยกไปบิน แต่เมื่อได้พักที่หอพักแถวนาริตะ (ซึ่งพักบ่อยมาก) พวกเราก็มักจะนัดกันกินข้าว และอัพเดทชีวิตกันและกันอยู่เสมอ
ส่วนตัวจ๋าคิดว่า อยู่ที่ JAL แล้วไม่เหงา ก็เพราะว่ามีเพื่อนๆ อยู่เยอะเนี่ยแหละค่ะ
ที่พัก
ปกติแอร์คนไทย จะได้ base ที่ไทยค่ะ ก็คือได้อยู่บ้านที่ประเทศไทยนั่นเอง แต่เวลาไปบินญี่ปุ่น ถ้าแลนด์นาริตะหรือฮาเนดะ จะได้พักที่ที่พักแถวๆ นาริตะ
ที่พักนี้ มีชื่อว่า JAZ@HOME หรือที่พวกเรารู้จักกันในนาม สำนักนกกระเรียนแดงนาริต๊ะ แบบที่พวกเราชอบเช็คอินตาม Facebook นั่นแหละค่ะ มันคือหอของพวกเราเอง
แถวๆ หอ ก็จะมีเซเว่น มีห้างเล็กๆ และมีร้านอาหารต่างๆ เรียกได้ว่ามาอยู่ก็ไม่อดตายแน่นอนค่ะ
ส่วนในกรณีไปพักที่เมืองอื่นๆ ของญี่ปุ่น หรือ พักประเทศอื่นๆ เราก็จะได้เข้าพักตามโรงแรมทั่วไปเลยค่ะ
ทุกที่ที่เราไปพัก ไม่ว่าจะที่หอ หรือ ตามโรงแรมต่างๆ เราจะได้พักห้องละคนค่ะ ซึ่งส่วนตัวจ๋าชอบนะ มีความเป็นส่วนตัวดี ไม่ต้องมาลุ้นด้วย ว่าจะโดนนอนกับใคร
อาหาร
เวลาอยู่หอ แถวหอก็จะมีร้านซูชิหมุน ร้านชาบู ร้านเกาหลี ร้านอิตาเลี่ยน หรือจะเป็นฟู้ดคอร์ดง่ายๆ ในห้างแถวหอ
ถ้าใครที่บินมาแล้วเหนื่อย ขี้เกียจออกไปกินอาหารข้างนอก ทุกเย็นจะมีร้านอาหารไทย ชื่อร้าน “แก้วใจ” ทำอาหารกล่องมาขายอยู่ใต้ล้อบบี้ที่หอ รสชาติก็ไทยแท้เลยค่ะ กล่องละ 550 เยน เมนูอาหารก็มีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ สุกี้แห้ง ยำวุ้นเส้น ไปจนถึงขนมจีนแกงเขียวหวานเลยค่ะ
เวลาไปพักตามโรงแรมต่างๆ พวกเราก็มักหาของกินเด็ดๆ ของแต่ละสถานที่กินกันค่ะ ถ้าใครขี้เกียจหน่อย ก็สั่งรูมเซอร์วิสเอา ซึ่งปกติพวกเราเป็นแอร์จะได้ส่วนลดอยู่แล้วค่ะ
เพื่อนร่วมงาน
ที่นี่นอกจากจะมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชาวญี่ปุ่นและชาวไทย ก็ยังมีชาวไต้หวัน สิงคโปร์ อังกฤษ ฯลฯ อีกด้วยค่ะ เห็นมีหลายชาติแบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว เวลาไปบิน เราจะได้บินแค่กับคนญี่ปุ่น และคนไทยด้วยกันค่ะ
พนักงานต้อนรับเพศชายของที่ JAL นั้น ก็มีบ้าง แต่ถือว่ามีจำนวนน้อยๆ มากๆ ส่วนพนักงานต้อนรับเพศชายที่เป็นคนไทยนั้น ถึงตอนนี้ ยังไม่มีเลยสักคนค่ะ ถ้าคุณผู้ชายได้เข้ามา ก็คงจะได้เป็นรุ่นบุกเบิก 555+
ธรรมเนียมในองค์กร
สังคม JAL ถือเป็นสังคมที่มีระบบ Seniority สูงมาก ใครที่ไม่ชิน เข้ามาแล้วอาจจะอึดอัดค่ะ
ระบบ Seniority ที่ว่าคืออะไร? ระบบ Seniority ที่ว่า คือระบบที่รุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่ รุ่นพี่ต้องดูแลรุ่นน้อง ซึ่งเป็นระบบที่ทุกคนในบริษัทเข้าใจตรงกัน
ยกตัวอย่าง เช่น เวลาไปบิน ถ้าเราเป็น Junior เราจะต้องไปฝากเนื้อฝากตัวกับรุ่นพี่คนไทยที่ Senior ที่สุด หรือที่เรียกว่า ‘พี่หัวขบวน’ ทุกครั้ง ถ้าไม่เจอตัว ก็ต้องไปสืบหาเลขห้องพักของรุ่นพี่คนนั้นมา สืบยังไง? ก็ไปถามฟร้อนนั่นเอง555+ แล้วก็เขียนใบ Yoroshiku (ใบฝากเนื้อฝากตัว) ไปสอดใต้ประตูห้องของรุ่นพี่คนนั้น เพื่อที่รุ่นพี่จะได้รับรู้ว่าเรากำลังจะไปบินด้วยในวันถัดไป
อีกเรื่องคือ เวลาเราจะขึ้นรถไปบิน ถ้าเราเด็กสุด (คำว่าเด็กสุด ไม่ใช่อายุน้อยสุด แต่หมายถึง เข้าทำงานหลังสุด) เราต้องยืนรอ ให้รุ่นพี่ขึ้นไปนั่งบนรถก่อน ส่วนเราก็รอจนคนขับรถแบกกระเป๋าของเรา และของรุ่นพี่ขึ้นรถจนหมด เราถึงจะขึ้นรถได้
ที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จริงๆ ยังมีรายละเอียดอีกเยอะมาก
อ่อ แล้วที่นี่จะให้เกียรติกัปตันมากๆ เวลานั่งรถไปสนามบิน หรือนั่งรถกลับโรงแรม ถ้ากัปตันนั่งอยู่บนรถคันเดียวกัน เราจะต้องให้กัปตันนั่งด้านหน้า ส่วนบรรดาแอร์ทั้งหลายจะนั่งกันด้านหลัง และถ้ามีเบาะมากพอ และมีสองที่นั่งติดกัน มักจะให้กัปตันนั่งคนเดียวสองที่นั่งเสมอค่ะ
อย่างที่บอกค่ะ คนที่ไม่ชินอาจจะอึดอัด เพราะที่นี่มีธรรมเนียมปฏิบัติเยอะมาก
แต่ข้อดีของการมีรุ่นพี่คือ เวลาเราไปบิน อยู่ห่างบ้าน รุ่นพี่ที่ดีดีจะคอยช่วยดูแลเรา คอยสอนเรา คอยเป็นที่ปรึกษา และช่วยแก้ปัญหาให้เราในเรื่องต่างๆ ค่ะ
เครื่องบิน
เครื่องบินที่พวกเราได้รับการเทรนและใช้ทำงานกัน คือ เครื่องบินแบบ BOEING 767, 777 และ 787 (Dream Liner) ค่ะ แต่ละเครื่องก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ทั้งกลไกเปิดประตู เบาะที่นั่ง อุปกรณ์เพื่อความบันเทิง ตำแหน่งของห้องครัว ห้องสุขา
อ่อ แต่แอร์ที่นี่ไม่ต้องทำความสะอาดเครื่องบินหลังไฟลท์นะคะ (เผื่อใครไม่รู้ อิอิ)
ตารางบิน
บินออกจากไทยไปต่างประเทศจนกลับมาถึงไทยอีกรอบ เราเรียกว่า 1 แพทเทิร์นค่ะ ปกติแพทเทิร์นบินของแอร์ JAL จะอยู่ที่แพทเทิร์นละ 7 – 11 วันค่ะ กลับไทยมาก็มีวันหยุดสามวัน ไม่รวมวันแสตนบายด์
ไม่ว่าจะไปที่ไหน เราก็ต้องแวะพักที่ญี่ปุ่นก่อน อย่างน้อย 1 คืน อย่างเช่น แพทเทิร์น ฮาวาย-จาการ์ต้า เวลาไปบิน ก็จะเป็น กรุงเทพฯ – นาริตะ – ฮาวาย – นาริตะ – จาการ์ต้า – นาริตะ – กรุงเทพฯ
เงินเดือน
เงินเดือนที่นี่จะจ่ายเป็นสองบัญชี บัญชีแรกคือ โอนเข้าธนาคารที่ญี่ปุ่น ส่วนอีกบัญชี โอนเข้าธนาคารที่ไทย
ส่วนที่เป็น เพอร์เดี้ยม หรือ เงินค่ากินอยู่ในต่างประเทศขณะที่เราไม่ได้บิน จะโอนเข้าธนาคารที่ญี่ปุ่น ส่วนเงินนอกจากเพอร์เดี้ยม (Basic Salary + ค่าชั่วโมงบิน + ค่าภาษา + ค่าตำแหน่ง + ฯลฯ) จะโอนเข้าบัญชีที่ไทย
ส่วนตัวจ๋าทำงานมาสามปี ได้ภาษาญี่ปุ่นจากการสอบของบริษัทเทียบเท่าระดับ N3 (ระดับภาษาญี่ปุ่นมีตั้งแต่ N1 – N5 ระดับ N1 คือสูงสุด) เงินเดือนจ๋าจะอยู่ระหว่าง 55,000 – 72,000฿ ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงานค่ะ
พอจะได้ข้อมูลคร่าวๆ ที่ช่วยในการตัดสินใจกันบ้างแล้วนะคะ
ส่วนคำถามที่มีคนถามเข้ามา
1. ต้องใช้คะแนน TOEIC เท่าไหร่?
- รุ่นล่าสุดที่รับ เอาคะแนน TOIEC ที่ 650 ค่ะ ผลสอบไม่เกิน 1 ปี
2. น้ำหนัก-ส่วนสูง มีกำหนดมั้ย?
- น้ำหนักไม่มีกำหนดค่ะ ส่วนสูงที่รับมาตลอดคือ สูงอย่างน้อย 156 cm ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเอื้อมแตะให้ถึง 208 cm นะคะ เขย่งเท้าแบบบัลเลต์ได้ค่ะ
3. จำเป็นต้องได้สามภาษามั้ย?
- ไม่จำเป็นค่ะ ภาษาที่จำเป็นคือภาษาอังกฤษ เพราะต้องยื่นผลสอบ TOIEC ส่วนภาษาที่สาม ถ้าไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น บอกตามตรงว่าไม่มีผลเลยสำหรับสายการบินนี้ค่ะ
4. ภาษาญี่ปุ่นเทรนอะไรบ้าง?
- เทรนตั้งแต่ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นเลยค่ะ อะ อิ อุ เอะ โอะ ฯลฯ ทั้งตัวอักษรแบบคะตะกะนะและฮิรางานะ คำศัพท์พื้นฐานต่างๆ ประโยคพื้นฐานต่างๆ ตำราภาษาญี่ปุ่นสมัยที่จ๋าใช้เทรนคือ มินนะโนะนิฮงโกะ 2 เล่มแรกค่ะ นอกจากนี้ยังมีการฝึกสำเนียงภาษาญี่ปุ่น และฝึกการใช้ภาษาญี่ปุ่นบนเครื่องบิน ทั้งสำหรับตอนที่ทำการบริการบนเครื่องบิน และตอนที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินค่ะ
5. ส่วนสูงของผู้ชายรับเท่าไหร่?
- เนื่องจากยังไม่เคยมีประวัติรับสจ๊วตคนไทยมาก่อน จึงยังไม่มีข้อมูลนะคะ แต่เท่าที่ไปดูการเปิดรับสมัครของคนสิงคโปร์ ซึ่งรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง ก็เห็นเค้าเขียนรวมๆ กันว่า ต้องสูงอย่างน้อย 158 cm ค่ะ
Good Luck นะคะ 🙂 😛 😀