General Safety
ความปลอดภัยในการเดินทางบนเครื่องบิน
ผ่านไปอีกหนึ่งสัปดาห์สำหรับการฝึกที่เข้มข้นที่ Emirates Aviation College ครับ
ในสัปดาห์นี้ เราเริ่มต้นสัปดาห์กันด้วยการสอบ ซึ่งเป็นการสอบเรื่อง General Safety ซึ่งก็ได้แก่ เรื่องการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้บนเครื่องบินของเรา ตามที่เรียนแล้วก็ฝึกฝนมาในอาทิตย์ที่ผ่านมานั่นเองครับ การสอบก็แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นแบบปรนัย ส่วนที่สองก็เป็นส่วนของแบบอัตนัย ซึ่งอัตนัยเนี่ย ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนให้ถูกต้องตาม Emergency Manual ทุกประการ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ให้ได้ใจความตาม Manual ก็จะดีมากครับ
Airbus A330-300
หลังจากนั้นเราก็จะมาเริ่มเรียนเครื่องบินของแอร์บัสกันครับ สำหรับสายการบินของเรามีเครื่องบินแอร์บัสทั้งหมดสามรุ่นด้วยกันครับ คือ A330-200 ซึ่งส่วนมากใช้บินในเขตภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงอินเดียครับ แต่บางครั้งเมื่อเวลาที่บริษัทมีเปิดเล้นทางบินใหม่ๆ เครื่อง A330 นี่หล่ะครับ ที่จะได้ไปประเดิมเมืองจุดหมายปลายทางนั้นก่อน เนื่องด้วยมีความจุน้อย ก็เลยได้ส่งไปลองของก่อนใครเพื่อนครับ ถ้าได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น บริษัทก็จะส่งเครื่องรุ่นใหญ่ที่มีความจุมากกว่าไปทดแทนครับ
Airbus A340-300
รุ่นต่อมาคือ A340-300 รุ่นนี้ใช้บินระยะไกล ข้ามทวีป
และรุ่นสุดท้ายในกลุ่มนี้ก็คือ A340-500 ซึ่งรุ่นนี้สามารถทำการบินได้ในระยะไกลถึงไกลมาก (Ultra Long Range) เครื่องแบบนี้การบินไทยเราก็มีเหมือนกันครับ
เครื่องบินทั้งสามรุ่นนี้ ถึงแม้จะมาจากบริษัทผู้ผลิตเดียวกัน แต่อุปกรณ์ความปลอดภัยนั้นก็มีต่างๆ กันไป ซับซ้อนมากน้อยต่างกันด้วย
รวมถึงระบบที่นั่งภายในเครื่องก็มีรูปแบบที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ก็ต้องจดจำและเรียนรู้ให้ได้ว่า เครื่องแต่ละแบบนั้น อุปกรณ์ฉุกเฉินซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง ยกตัวอย่างเช่น A340-300 สายการบินเราซื้อต่อมาจากสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ก็จะมีลักษณะพิเศษติดมาบางอย่างที่ไม่เหมือนกันกับระบบทั่วๆไป และโดยเฉพาะ A340-500 ที่ต้องใช้บินในพิสัยไกลพิเศษ ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า CRC (Crew Rest Compartment) หรือง่ายๆ ก็คือ ที่นอนของลูกเรือครับ เพราะในระยะที่ทำการบินกว่า 12 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จำเป็นที่จะต้องให้ลูกเรือได้พักผ่อนในระหว่างเที่ยวบินด้วยครับ
หลังจากนั้น พอเรียนได้สองวัน ก็ต้องมาสอบอีกครั้งนึง เป็นการสอบความรู้เฉพาะของกลุ่มแอร์บัส ก็จะเกี่ยวกับเรื่อง ระบบสื่อสารภายในเครื่องบิน อุปกรณ์ฉุกเฉิน เป็นต้นครับ เป็นการสรุปยอดความรู้เกี่ยวกับเครื่องบินในกลุ่มแอร์บัสทั้งหมด
ต่อมาก็เรียนเครื่องบินของโบอิ้งกันบ้างครับ สำหรับโบอิ้งเป็นเครื่องบินสัญชาติอเมริกัน สายการบินเรามีอยู่ด้วยกันสองรุ่นใหญ่ คือ B777-200 แบ่งเป็น B777-200 และ B777-200LR
Boeing B77-200LR
อีกรุ่นคือ B777-300 แบ่งเป็น B777-300 และ B777-300ER
Boeing B777-300ER
สำหรับ B777-300ER นี่มีความสามารถมากเลยครับ เพราะสามารถบินเชื่อมจุดหมายปลายทางใดๆ ในโลกนี้ก็ได้ เพราะบินได้ในระยะไกลมากเป็นพิเศษ อันได้แก่ เส้นทาง Dubai – Los Angeles, Houston, San Francisco, Christchurch, Auckland เป็นต้นครับ ชั่วโมงบินไปยังเมืองเหล่านี้ก็กินเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมงครับ
พอต้องมาเรียนโบอิ้ง ความรู้ทั้งหมดก็มีอันต้องสับสนกันแล้วหล่ะ เพราะว่า ระบบความปลอดภัยในเครื่องบินของโบอิ้ง แตกต่างจากแอร์บัสโดยสิ้นเชิง เรียกว่า ไม่ให้มีการครหาได้ว่าใครลอกใคร ประตูก็มีวิธีเปิดและปิดแบบใหม่ มีชื่อเรียกส่วนประกอบต่างๆ กันไป อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ใช้ก็อยู่ในที่ต่างๆ กันด้วยครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยความสามารถในการจดจำกันเป็นพิเศษ
ลูกเรือกำลังให้บริการเครื่องดื่มบนเครื่อง
และแล้วก็ต้องมาสอบกันแล้วหล่ะครับ ทั้งการสอบเปิดประตูในภาคปฏิบัติ และการสอบในภาคทฤษฎี เล่นเอาปวดสมองกันไปเลย
วันสุดท้ายของการเรียน SEP ก็จะเป็นการแนะนำเรื่อง Briefing ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลลูกเรือก่อนขึ้นบิน เกี่ยวกับจำนวนผู้โดยสาร หรือข้อปฏิบัติอื่นๆ ส่วนที่ต้องมาอยู่กับการเรียน SEP นั่นก็เพราะว่า ในระหว่างที่มีการ Briefing ก็จะมีการถามคำถามเกี่ยวกับ SEP ด้วยหรือเรียกว่า Safety Talk ซึ่งถ้าลูกเรือคนไหนตอบไม่ได้แล้วหล่ะก็ อาจจะมีสิทธิ์ off load กลับไปนอนที่บ้าน พร้อมกับปัญหาอีกร้อยแปดที่ต้องเผชิญกับบริษัทครับ เพราะฉะนั้นลูกเรือจึงต้องทบทวนข้อมูลความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลาครับ
สรุปว่า SEP ก็เป็นสิ่งที่เหล่าลูกเรือจะต้องจำและปฏิบัติให้ได้ครับ ทุกๆ ปี เราจะต้องมาเข้ารับการทดสอบเรื่อง SEP นี้ด้วย เพราะฉะนั้นความรู้ที่เรียนมาก็ต้องห้ามลืม และทบทวนอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารนั่นเองครับ
เสร็จสิ้นจากการเรียน SEP แล้ว ในสัปดาห์หน้าก็จะเป็นเรื่อง GMT หรือ Group Medical Training ที่จะเปลี่ยนพวกเราจากพนักงานต้อนรับธรรมดา มาเป็นคุณหมอกันชั่วคราวครับ^^
ปล. ขอบคุณภาพจาก www.airliners.net และเจ้าของภาพทุกท่านครับ