Flight Attendant Q&A
หลายคำถามจากคนอยากมีอาชีพแอร์-สจ๊วต
ความฝันของวัยหนุ่มสาว
อาชีพลูกเรือ (Cabin Crew) หรือ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Flight Attendant) ในปัจจุบันนี้ มักเป็นอาชีพที่วัยหนุ่มสาวหลายคนใฝ่ฝัน อยากเป็นนางฟ้าสาวสวย (air hostess : แอร์โฮสเทส) เทวดาหนุ่มหล่อ (steward : สจ๊วต) เพราะร่ำลือกันว่า มีรายได้ดี ได้ท่องเที่ยวไปในต่างแดนฟรีๆ ได้พบปะกับผู้คนมากมาย สัมผัสกับอารยธรรมในดินแดนต่างๆ พบสถานที่ใหม่ๆ ไม่จำเจกับงานที่ต้องเข้าแปดโมงเช้า เลิกสี่โมงเย็นอีกต่อไป แต่… ก็มีคำถามมากมายว่า กว่าจะเป็นลูกเรือ (Cabin Crew) ได้นั้น ต้องเตรียมตัวอย่างไร มีคุณสมบัติอะไรบ้างที่ขาดไม่ได้เลย ต้องร่ำเรียนมาทางสายไหนจึงจะเหมาะสม และอีกมากมายคำถามที่จะนำมาบอกกันในวันนี้
คุณสมบัติหลักๆ คือ อายุต้องอยู่ระหว่าง 21 – 26 ปี (ไม่เกิน มีบางสายการบินรับถึงอายุ 30 แต่น้อย) ความสูงหญิงต้องไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร ชายต้องเกิน 170 เซนติเมตรขึ้นไป รูปร่างสมส่วน (ความสูง/น้ำหนัก) หน้าตาดียิ้มแย้มแจ่มใส (ความสวยนี่มันวัดกันไม่ได้ วัดยาก เอาเป็นว่า ขอให้สะอาดสะอ้านทั้งร่างกายและจิตใจก็แล้วกัน) และที่สำคัญมากเลยคือ ความสามารถทางภาษาอังกฤษ และ/หรือภาษาอื่นๆ ภาษาที่สาม (ที่สายการบินต้องการเป็นพิเศษ)
รู้หรือยังว่า ก่อนที่จะก้าวเข้ามาเป็นลูกเรือได้นั้น จะต้องผ่านการทดสอบมากมายหลายขั้นตอน เช่น
- เมื่อเริ่มการสมัคร ต้องเตรียมเอกสาร Resume หรือ CV และรูปถ่ายต่างๆ ตามที่สายการบินกำหนด ซึ่งถือเป็นรอบ Pre-Screen ตั้งแต่การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และเอื้อมมือแตะความสูงในระยะที่กำหนด แล้วไปยื่นเอกสาร (ตอนนี้กรรมการจะเริ่มดูและสังเกตบุคลิกภาพ อาจมีการทักทายหรือไม่ก็ได้ แต่เราควรจะทักทายด้วยความยิ้มแย้มก่อน) ถ้าเป็นที่พอใจของกรรมการก็จะถูกประกาศรายชื่อ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์ (ซึ่งมีทั้งแบบกลุ่ม แบบเดี๋ยว เพื่อคัดออก) ไปสู่การทดสอบข้อเขียน ว่ายน้ำ และตรวจสุขภาพร่างกาย
- ถ้าผ่านการคัดเลือกแล้ว ก็ยังต้องพบกับ “มหกรรมสุดหิน” ในการฝึกที่เข้มข้น ทั้งความรู้เรื่องเครื่องบินแบบต่างๆ ที่สายการบินนั้นเลือกใช้ ความปลอดภัยบนเครื่องบิน การปฐมพยาบาล การบริการบนเครื่อง มีคู่มือในการปฏิบัติงานให้อ่านศึกษาเล่มโต (ภาษาอังกฤษ) ใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน เป็นลูกเรือฝึกหัดทำการบินที่ไม่เป็นเวลา ทั้งเช้า สาย บ่าย เย็น ดึกดื่นเที่ยงคืน ทำเอาเวลานาฬิกาชีวิตปรับตัวแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว
แค่ 2 ข้อด้านบนนี้ ก็ทำให้เห็นแล้วว่า จะเข้าไปเป็นลูกเรือได้นั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะครับ ที่บอกว่า “แค่ยิ้มสวย เสิร์ฟกาแฟขำๆ แล้วก็จบนะจ๊ะ” นั้นไม่จริงหรอก แต่ถ้าใครอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วยังไม่ถอดใจ ยังมุ่งมั่นอยากจะทำอาชีพนี้ ต้องรู้เอาไว้ว่า ด่านที่โหดและหินที่สุด กลับเป็นรอบดูตัว Pre-Screen ในข้อแรกซะงั้น! เพราะตกรอบได้เร็วมาก! ตามชื่อรอบ เขาแค่ดูเราผ่านๆ จากเอกสาร ประวัติ และบุคลิกภาพ บางทีแค่เข้าไปยื่นเอกสาร ยิ้มให้กรรมการ จบขั้นตอน! (ยังไม่ทันได้พูดอะไรด้วยซ้ำ) ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากในรอบนี้คือ ประวัติใน Resume/CV ต้องดูน่าสนใจ บุคลิกต้องสะดุดตาดึงดูดใจ รวมทั้งคะแนน TOEIC ต้องดีด้วย! (เพราะถ้าคะแนน TOEIC ดี กรรมการก็พอคาดหวังได้ว่า ภาษาอังกฤษเราน่าจะใช้ได้ มีโอกาสให้เข้ารอบไปลุ้นกันต่อ)
เรื่องคะแนน TOEIC นั้นสำคัญมากครับ แต่ละสายการบินจะกำหนดขั้นต่ำไว้ไม่เท่ากัน (เริ่มจาก 500 ขึ้นไปจนถึงประมาณ 700) เราจึงควรมีไว้เป็นทุนอย่างน้อยสัก 750 ขึ้นไปครับ เพราะอะไร? ก็เพราะว่าในการสมัครที่มีผู้คนนับพันๆ คน แต่รับเข้าเป็นลูกเรือแค่หลักสิบหรือหลักร้อย ต่างก็สามารถแต่งตัวมาประชันขันแข่งให้สวย/หล่อได้ดั่งใจ แต่ความรู้ด้านภาษานี่มันไม่ง่ายที่จะทำให้ได้ตัวเลขดีๆ ถ้าคุณไม่มีความรู้จริง ใช่ไหมครับ
คำถามที่พบบ่อยๆ
คราวนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญๆ ที่มีการสอบถามมา ได้หาคำตอบมารวบรวมไว้ให้แล้วครับ
Q 1: ถ้าจะสมัครเป็นแอร์โฮสเทส สจ๊วต ควรมีคะแนน TOEIC เท่าไหร่ดี
A 1: ควรให้มีคะแนน TOEIC อย่างต่ำ 750 ครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายการบินแต่ละบริษัทจะกำหนด เช่น ทางฝั่งของสายการบินจีนจะอยู่ที่ 500 – 550 สายการบินของไทยและในกลุ่มเอเชียจะประมาณ 600 – 650 ถ้าแถบตะวันออกกลางจะประมาณ 700+ บางสายการบินอาจไม่กำหนดเป็นตัวเลขไว้แต่ใช้คำว่า Fluent in English แทน หรือบ้างก็ใช้ Communication Skills – Advanced หรือ English Language skills – Advanced ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้าคุณมีคะแนนยิ่งสูงยิ่งได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากอาชีพนี้ ยังไงก็หนีไม่พ้นต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว (ถึงแม้ว่าบางสายการบินจะเน้นภาษาที่ 3 อื่นๆ มากก็ตาม แต่หลักๆ ยังไงก็ต้อง Speak English ที่เป็น International Language อยู่ดีนะ และอย่าได้เชื่อเว็บไซต์ไทยบางแห่งที่บอกว่า “ไม่ต้องใช้คะแนน TOIEC ในการสมัคร” เพราะยังไงคุณก็ต้อง Fluent in English อยู่ดีจริงม๊ะ)
Q 2: ถ้าไม่มีผลสอบ TOEIC แต่มีผลสอบ TOEFL หรือ IELTS อยู่แล้ว ใช้แทนกันได้ไหม
A 2: บางสายการบินยินดีรับผลคะแนนสอบวัดระดับทางภาษาอังกฤษแบบสากล ประเภทอื่นๆ เช่น TOEFL หรือ IELTS โดยทั้ง 2 การสอบอย่างหลังนี้ เป็นการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษในเชิงวิชาการ เพื่อไปศึกษาต่อขั้นสูงมากกว่าที่จะวัดผลไปเพื่อการทำงาน ความยากง่าย และจุดประสงค์ในการวัดผลค่อนข้างต่างกัน และที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบต่างกันมากๆ การสอบ TOEIC ผู้สอบต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสอบครั้งละ 1,500 บาท แต่ในการสอบ TOEFL ต้องจ่ายค่าสมัครสอบ 180 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าบริการ 30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ IELTS จะต้องจ่ายเงินค่าสอบประมาณ 6,900 บาทต่อครั้ง ใครอยากสอบแบบไหน จ่ายแบบไหน เลือกกันเอาเองเลย
สำหรับสายการบินไทย (TG) ยังมีการรับผลและจัดทดสอบ THAI-TEP (Thai Test of English Proficiency) เพื่อเข้าเป็นลูกเรือของการบินไทยด้วย การสมัครสอบทำได้ทางออนไลน์ และมีค่าสมัครสอบ 700 บาท คลิกที่ลิงก์ข้างบนได้เลย
Q 3: สามารถสมัครสอบ TOIEC ได้ที่ไหนบ้าง
A 3: ศูนย์สอบ TOEIC จะเปิดสอบในทุกวันจันทร์-เสาร์ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์สอบในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ (ทางสถาบันยังมีบริการจัดสอบนอกสถานที่ สำหรับหน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษา ถ้ามีจำนวนมากพอตามที่กำหนด กรุณาติดต่อกับ TOIEC โดยตรง) ตามที่อยู่ดังต่อไปนี้
ศูนย์ TOEIC ประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ที่ตั้ง : เลขที่ 54 อาคาร Bangkok Business Building (BB Building) ห้อง Suite 1905-1908 ถนนอโศก (สุขุมวิท 21) เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 0-2260-7061, 0-2260-7189, 0-2260-7535, 0-2259-8840, 0-2664-3131-2
โทรสาร : 0-2664-3122
E-mail : information@toeic.co.th
สำนักงานเขตภาคเหนือ ที่ตั้ง : เลขที่ 4/6 อาคารนวรัฐ ชั้น 3 ถนนแก้วนวรัฐ ซอย 3 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000
โทรศัพท์ : 0-5324-8208, 0-5330-6600
โทรสาร : 0-5324-8202
E-mail : toeicnorthern@toeic.co.th
Website : www.toeic.co.th
Q 4: อายุไม่ครบ 20 ปี แต่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว สามารถสมัครได้หรือเปล่า?
A 4: ไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าเรียนจบปริญญาตรีตามที่เขากำหนดแล้ว แต่อายุไม่ถึงก็ต้องรอจนกว่าอายุจะถึงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่รับสมัครคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะแสดงถึงการบรรลุนิติภาวะ และการมีความสามารถรับผิดชอบในระดับหนึ่ง การพิจารณารับสมัครนั้น คุณสมบัติเบื้องต้นของการสมัครต้องพิจารณาประกอบกัน ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งก็ถูกตัดสิทธิ์ แต่ในสายการบินต่างประเทศบางสายก็รับคุณวุฒิแค่มัธยมปลายเท่านั้นก็มี ขอให้มีอายุ 20 ปีขึ้นไปไม่เกิน 26 ปี (คงเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมทำงานได้หลายปีตามอายุสัญญาการจ้างงาน แต่ก็มีบางสายการบินรับที่อายุ 18 ปีแต่ก็จำกัดแค่คนเชื้อชาตินั้นๆ และบินในสายการบินในประเทศเท่านั้น)
เพิ่มเติม สำหรับเรื่อง “การผ่านการเกณฑ์ทหาร” ของชายไทยนั้น ใช้สำหรับสมัครเป็นลูกเรือกับสายการบินในประเทศไทยเท่านั้น สายการบินต่างชาติไม่มีระบุในข้อนี้ การกลับมาเกณฑ์ทหารคงต้องลางานมา และเสี่ยงดวงเอาว่าจะจับได้ใบดำหรือใบแดง (ตัวผมเองก็ลางานมาคัดเลือก วัด/ตรวจร่างกายได้ดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง แต่… จับได้ใบดำ เย้ๆๆ กลับไปทำงานต่อ)
Q 5: ไม่เคยเรียนทางด้านธุรกิจการบิน หรือเรียนคอร์สเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นลูกเรือมาก่อน จะมีโอกาสได้ทำงานไหม
A 5: ต้องได้สิ เพราะไม่ได้มีการบังคับว่า จะต้องผ่านการเรียนคอร์สในสถาบันก่อนถึงจะมีโอกาสสมัครและได้งาน แต่การเข้าเรียนในสถาบันต่างๆ นั้นถือว่าเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม และช่วยเสริมความมั่นใจก่อนการสมัครจริง คนที่เรียนมาอาจจะได้เปรียบกว่าตรงที่รู้ว่า ต้องแต่งตัวเพื่อการรับสมัครอย่างไร ควรตอบสัมภาษณ์อย่างไร เขาอาจจะชินกับการผ่านการจำลองสถานการณ์มากกว่า แต่โอกาสที่จะได้งานทำนั้น ผลตัดสินจะอยู่ที่ความสามารถ ความมั่นใจ และบุคลิกภาพที่เราจะสามารถนำเสนอต่อกรรมการคัดเลือกต่างหาก แต่เรื่องการเรียนในสถาบัน มีบางคนผ่านการคัดเลือกแล้วก็มีมาเรียนเพิ่มเติมความรู้ด้วย ถึงแม้ว่าจะต้องฝึกอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว เรียนรู้ไว้ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะอาชีพนี้แม้จะมีทริปยุโรปสุดหรู ทริปอเมริกาสุดเริ่ด หรืออาจต้องพบการลงจอดฉุกเฉินในที่ต่างๆ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น การฝึกฝนเรียนรู้จึงจำเป็นมากๆ
เพื่อนร่วมงานคนไทย ที่อยู่สายการบินในตะวันออกกลางหลายๆ คนที่ผมรู้จัก ก็ไม่ได้เรียนมาทางด้านการบินเลย ส่วนใหญ่จะเรียนด้านมนุษย์ศาสตร์ (ภาษา) อักษรศาสตร์ การบัญชี-ธุรกิจ หรือสาขาที่มีภาคอินเตอร์ (ใช้ภาษาต่างประเทศระหว่างเรียน) ที่สำคัญคือ ทุกคนจะมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษดีมาก มีทักษะภาษาที่สามอย่าง ภาษาญี่ปุ่น เกาหลี จีน เป็นต้น มีการแซวเล่นๆ ว่า คนที่เรียนทางด้านสายการบินในไทย ส่วนใหญ่จะได้งานทางด้านบริการภาคพื้น (Ground Services) มากกว่า เช่น ช่างซ่อมบำรุง ฝ่ายอำนวยความสะดวกในสนามบิน หรือไม่ก็ไปต่อสายนักบินกันเลย ต้องมีทุนหนาพอควร เพราะค่าเรียนเป็นนักบินนั้นแพงหลัก 2-3 ล้านบาท (ส่วนตัวผมเองก็จบมาทางสายรัฐศาสตร์การต่างประเทศ (IR Chula) มา แต่เคยไปฝึกงานระยะสั้นๆ ที่ การบินไทย ลองย้อนไปอ่านบล็อกตอนแรกๆ ดูครับ)
Q 6: มีคำนำหน้าว่า “นาง” สามารถสมัครเป็นแอร์โฮสเทสได้ไหม?
A 6: เท่าที่อ่านในประกาศรับสมัครของทุกสายการบิน จะระบุไว้เลยว่า “มีสถานภาพโสด” ก่อนการสมัครตำแหน่งนี้ ดังนั้น ถ้ามีสถานะสมรสตามกฎหมาย เปลี่ยนคำนำหน้านามไปแล้วย่อมสมัครไม่ได้แน่นอน แต่เมื่อทำงานไปแล้วระยะหนึ่งมีการแต่งงานก็ทำได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรม การทำงานนั่นเอง ทั้งนี้ต้องดูรายละเอียดข้อกำหนดของแต่ละบริษัทอีกทีว่า ในสัญญาจ้างครั้งแรกกำหนดไว้อย่างไรบ้าง (บางบริษัทในระยะสัญญาแรก 3 ปี ห้ามแต่งงานก็มี)
Q 7 : “หน้าตาไม่สวย ไม่หล่อ” สมัครเป็นลูกเรือได้หรือเปล่า?
A 7: การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน “ความสวย” หรือ “ความหล่อ” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เรามีความโดดเด่น หากเดินเข้าไปสมัคร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “ความสวย ความหล่อ” แต่เพียงอย่างเดียวจะสามารถการันตีทำให้เราได้รับการคัดเลือกได้ไม่ แต่ยังต้องประกอบไปด้วยส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น บุคลิกภาพที่สง่างาม มีจิตใจที่ชอบงานบริการ หรือเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ร่าเริงแจ่มใส มีไหวพริบปฏิภาณที่ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถฝ่าฟันด่านการทดสอบต่างๆ ไปได้มากกว่า มีหลายคนที่ดูแล้วก็ไม่ได้สวยหรือหล่อแบบดารา แต่ถ้ามองดูโดยภาพรวมที่เขาเดินมาทางเรานั้น ช่างดูเท่ห์ สมาร์ท สง่า โดดเด่น เป็นมิตร นั่นก็ทำให้กรรมการสะดุดตาแล้ว เน้นย้ำว่า ขอให้สวยหล่อทั้งร่างกายและจิตใจก็แล้วกัน
Q 8 : ถ้า “ว่ายน้ำ” ไม่เป็น สมัครเป็นแอร์ฯ – สจ๊วตได้หรือเปล่า?
A 8: สำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น สามารถสมัครเป็นลูกเรือได้ เพราะบางสายการบินไม่ได้ระบุว่า เขาต้องการคนที่ว่ายน้ำได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อบินอยู่บนฟากฟ้าเหนือพื้นดิน เราก็จะต้องบินผ่านส่วนที่เป็นพื้นดินและพื้นน้ำ หากมีความจำเป็นต้องร่อนลงฉุกเฉิน เราก็คงไม่สามารถลงได้เพียงบนพื้นดินเท่านั้น ดังนั้นเราก็ควรที่จะทำความคุ้นเคยกับการว่ายน้ำ หรือลงน้ำกันบ้าง เพราะเมื่อเราผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นพนักงานต้อนรับแล้ว ช่วงที่ต้องฝึกอบรมด้านความปลอดภัย ทุกคนก็ต้องลงน้ำเพื่อช่วยเหลือตัวเองขึ้นบนแพยางให้ได้อยู่ดี เป็นอย่างนี้แล้วใครที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือเป็นโรคกลัวน้ำสุดๆ ขอแนะนำให้ไปทำความคุ้มเคยก่อนมาสมัครก็จะเป็นการดีกว่า เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะผ่านขั้นตอนคัดเลือกอื่นๆ มาแล้ว แต่ถ้าเทรนนิ่งไม่ผ่านการช่วยเหลือบนแพยางก็จบเห่กันพอดี
คุณสมบัติเบื้องต้นที่ควรมี หญิง สามารถว่ายน้ำได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 50 เมตร โดยต้องว่ายท่าฟรีสไตล์ได้ด้วย ชาย สามารถว่ายน้ำได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 100 เมตร โดยต้องว่ายท่าฟรีสไตล์ได้ด้วย ทั้งนี้ต้องไม่มีเครื่องช่วยพยุงร่างกาย เช่น ชูชีพ ห่วงยาง ด้วยนะ
Q 9 : สามารถทำ “สีผม” ได้ไหม
A 9: ทำสีผมในที่นี้ต้องถามก่อนว่า “ทำสีผมสีอะไร ส้ม แดง ชมพู เขียว ทอง สีจัดจ้านทั้งหลายแหล่ก็ไม่ควร” แต่ถ้าทำสีแบบสีธรรมชาติก็ได้แน่นอน อย่าลืมว่า เรื่องภาพลักษณ์ภายนอกเป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับการคัดเลือกเข้าทำงานในอาชีพนี้ด้วย ต้องดูดีตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมก็ต้องทำให้เป็นทรง ผู้หญิงผมยาวก็ควรรวบผมติดเน็ต ถ้าใครเป็นผู้หญิงตัดผมสั้นมา มาดมั่นใจก็ไม่มีปัญหา ขอให้เซตผมให้เรียบร้อย ไม่ทำสี ไม่ไฮไลต์เป็นอันว่าใช้ได้ ส่วนผู้ชายก็ผมสั้นเข้าว่า ไม่ใช่ว่า ซอยผมทรงรากไทรก็ไม่เหมาะสม อย่างการบินไทยก็ไม่ควรเซตผมแบบ wet look ด้วย
ดังนั้นเรื่อง “ผม” จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญด้วย เพราะเรื่องผมก็นับเป็นเรื่องของการให้คะแนน look ภายนอก ถึงแม้ว่าในบางสายการบิน จะอนุญาตให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ทำผมทรงไหนก็ได้ แต่เห็นได้ว่า ไม่มีใครทำสีผมแบบประเภทสีสันจี๊ดจ๊าด ส่วนผมก็เซตกันเป็นทรงอย่างเรียบร้อย เพราะฉะนั้นตอนสมัครก็ควรดูดีในทุกกะเบียดนิ้ว ในขั้นตอนการฝึกอบรมก็จะมีคอร์สสอนการแต่งตัว แต่งหน้าอย่างไรให้ดูดีสำหรับลูกเรือทั้งชาย-หญิงด้วย
Q 10: มี “แผลเป็นที่แขน” สมัครแอร์ฯ ได้ไหม
A 10: ไม่ได้มีการห้ามไว้นี่ว่า “มีแผลเป็นที่แขน” แล้วห้ามสมัคร แต่ถ้าเป็นแผลเป็นที่ปูดโปนชัดเจนนอกร่มผ้าก็คงจะไม่ผ่าน เพราะตรงส่วนแขนเป็นจุดที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่ถ้ามีแผลเป็นเล็กน้อย แล้วรองพื้นเอาอยู่ก็น่าจะใช้ได้ ควรจะดูดีทั้งหมด เนื่องจากผู้โดยสารเองก็คงคาดหวังที่จะเห็น พนักงานต้อนรับที่ดูดีทั้งภายนอกและภายใน แต่ถ้าหมายถึง รอยสัก (Tattoo) ที่มองเห็นนอกร่มผ้านี่ น่าจะไม่ผ่านการคัดเลือกแน่นอน รวมทั้งการเจาะใบหูใส่หวงใหญ่ๆ หลายๆ อัน (ที่ไม่ใช่ตุ้มหูปกติ) การเจาะริมฝีปาก ฝังหมุดเหล็ก ก็เช่นกัน
Q 11: ควรเตรียมตัวเรื่องอะไรบ้าง ก่อนการสมัครเข้าเป็นลูกเรือ
A 11: การเตรียมตัวเบื้องต้นที่ทุกคนควรจะเตรียมตัวอย่างแน่นอนเลย ก็คือ เสื้อผ้า หน้าผม บุคลิกภาพ และภาษา ในเชิงวิชาการเรื่องของภาษาก็ต้องเตรียมสอบ TOEIC ที่ดีควรได้ 750 คะแนนขึ้นไป การสอบข้อเขียน การสัมภาษณ์ต้องฝึกพูดให้ชัดเจนทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่แล้วมั่นใจที่สุด และเลือกที่สุภาพ เครื่องแต่งกายของแต่ละสายการบินกำหนดให้แต่งกายแตกต่างกันไป (ต้องศึกษารายละเอียดให้ดีในเว็บไซต์การรับสมัครของสายการบินนั้นๆ)
สำหรับผู้ชาย สายการบินบางแห่งให้ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นกับผูกเนกไท แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะแต่งยังไงดี ให้ยึดตามแบบสากลนิยมเข้าไว้ คือ ใส่สูทสีเข้าชุด หรือใส่เสื้อเชิ้ต ผูกเนกไท บวกกับรองเท้าหนังสีดำก็เรียบร้อยแล้ว (ระวังอย่าสวมรองเท้าหัวแหลม ปลายงอนแฟชั่นเด็ดขาด) สำหรับผู้หญิงก็รองเท้าส้นสูง 2 นิ้วขึ้นไปเป็นดี มีเสื้อสูทแขนสั้นสวมทับเสื่อเชิ้ตด้านใน หรืออาจจะเป็นเสื้อไหมพรมบางๆ คอเต่า สีเข้ากันกับสูท กระโปรงประมาณเข่า จะผูกผ้าพันคอก็ได้ให้ดูตามความเหมาะสมของสายการบิน (เช่น สมัครเข้า JAL ผูกผ้าพันคอก็ OK น่ะ) ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลิกภาพ ต้องฝึกยืนให้ดูดีมีสง่า มั่นใจ ถ้านั่งสัมภาษณ์แล้วนั่งได้หลังตรงจะดีมาก
ควรศึกษาเรื่อง “การเขียนประวัติส่วนตัวเพื่อการสมัครงาน Resume หรือ CV” ให้ดี ให้มีความละเอียดชัดเจน กระชับ น่าสนใจ ให้ข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล์ที่สามารถติดต่อได้จริง สะดวกที่สุด มีสีสันพองาม พิมพ์ด้วยเลเซอร์สีจะดีที่สุด (เพราะเคยเห็นคนที่ใช้เครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก Ink Jet ไปสมัคร แล้วกรรมการทำน้ำหกใส่สีเลอะเทอะ จนอ่านข้อมูลไม่ได้มาแล้ว) เตรียมไว้หลายๆ ชุดเมื่อตอนไปสมัคร รวมทั้งรูปถ่ายควรเขียนชื่อ-สกุล เบอร์โทรศัพท์ไว้ด้านหลัง เย็บติดกับเรซูเม่ด้วยที่เย็บกระดาษ (อย่าใช้ลวดเสียบเพราะอาจหลุดหายได้)
Q 12: ได้ยินมาว่า นอกจากการยื่นใบสมัครออนไลน์แล้ว ยังมีการ Walk-in คืออะไร และต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง?
A 12: ความจริงแล้ววิธีการสมัครเป็นลูกเรือมี 3 แบบ ด้วยกัน คือ การสมัคร Online, Walk-in และสมัครทางไปรษณีย์
- การสมัคร Online ถือว่าสะดวกที่สุด และสายการบินส่วนใหญ่ก็เปิดรับสมัครผ่านการออนไลน์แล้ว เพียงแค่กรอกข้อมูลตามขั้นตอนที่กำหนด แล้วแนบไฟล์รูปหรือเอกสารที่แจ้งไว้ ควรจะใช้ e-mail address ที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องได้อีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อการติดต่อกลับ เพราะสายการบินจะส่ง e-mail หรือจดหมายตอบกลับมา (คำแนะนำที่สำคัญมาก อีเมลที่ใช้ควรเป็นทางการ คือ เป็นชื่อจริงของเรา หรือนามสกุลของเรา หรือประกอบด้วยทั้งสองส่วน อีเมลที่เป็นชื่อเล่น ฉายาในกลุ่มเพื่อนขำๆ ไม่ควรนำมาใช้ในการสมัครงานเด็ดขาด คุณอาจตกรอบการคัดเลือกไปแบบขำๆ ด้วยนะสิ) อย่าลืมว่า เมื่อกรอกแล้วต้องพิมพ์เอกสารใบสมัครออกมาไว้ด้วย (หรือเซฟเป็นไฟล์แบบ PDF ไว้ด้วย) และควรจำหมายเลขผู้สมัครของตัวเองให้ได้
- Walk-in ต้องเตรียมเอกสารทุกสิ่งอย่างให้ครบถ้วนตามที่สายการบินนั้นกำหนด แล้วนำไปตามสถานที่ วัน และเวลาที่ประกาศไว้ พร้อมกับการแต่งกายให้เต็มที่ เรียบร้อยแบบสากลนิยม ส่วนใหญ่แล้ววันที่เปิดให้ Walk-in จะจัดขึ้นตามโรงแรมใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ (หรือในเมืองใหญ่ๆ) ควรไปแต่เช้าๆ เป็นดีที่สุดเพราะผู้คนจะมากันเยอะมาก พยายามให้ไปอยู่ในที่นั่งด้านหน้าลำดับต้นๆ ดีที่สุด
- สมัครทางไปรษณีย์ ส่งเอกสารที่กำหนดไปตามที่อยู่ ที่สายการบินประกาศไว้ หรือบางสายการบินจะมีบริษัทตัวแทนเป็นผู้ดำเนินการรับสมัคร เอกสารที่ใช้อย่างน้อยก็ต้องเตรียม ผลการทดสอบ TOEIC สำเนาทะเบียนบ้าน Transcript สำเนาวุฒิการศึกษา/ปริญญาบัตร สำเนาบัตรประชาชน เป็นต้น แล้วจะได้รับการตอบกลับทางโทรศัพท์ หรือทางจดหมายจากสายการบินให้ไปทำการคัดเลือก ณ สถานที่ที่กำหนดไว้
Q 13: ที่เขาบอกว่ามีการทำ Group Discussion เราควรจะเตรียมตัวยังไงดี
A 13: ขั้นตอนในการคัดเลือกลูกเรือจะประกอบไปด้วย การสอบข้อเขียน การทดสอบความถนัด Aptitude Test หรือสอบจิตวิทยทางบุคลิกภาพ การสัมภาษณ์เดี่ยว และการสัมภาษณ์กลุ่ม ซึ่งการสัมภาษณ์กลุ่มก็มีในรูปแบบการอภิปรายในหัวข้อที่กรรมการเตรียมไว้ อาจจะเป็นเรื่องทั่วไป หรือเรื่องสถานการณ์ที่ตั้งไว้ ให้ผู้ร่วมกลุ่มช่วยกันแก้ไขปัญหา การเตรียมตัวก็ลองสมมุติสถานการณ์ดู หรือลองตั้งหัวข้อ พยายามคิดว่าจะตอบอย่างไร ฝึกการแสดงความคิดเห็น พยายามฝึกการวิเคราะห์และวิจารณ์ เพราะระหว่างการอภิปรายกลุ่ม จะมีคณะกรรมการคอยดูและให้คะแนนด้วย ควรแสดงออกอย่างพอดี ถ้าน้อยเกินไป หรือเด่นซะจนโอเวอร์ ไม่ปล่อยให้คนอื่นได้พูดบ้าง ก็มีสิทธิ์ถูกตัดคะแนนได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น กำหนดสถานะการณ์ว่า “ในกลุ่มของเรา 10 คนทางบริษัทต้องการเพียง 5 คนเท่านั้น สมควรจะให้ใครเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกโดยไม่มีเราในกลุ่ม 5 คนนี้” ต้องแสดงเหตุผลให้กรรมการเห็น ว่าทำไมถึงเป็น 5 คนนั้น แต่ไม่มีเราอยู่ในกลุ่ม ลองเอาไปคิดดูนะครับว่า จะต้องลุกอภิปรายให้เหตุผลอย่างไร
Q 14: มีสายการบินไหนที่เปิดรับสมัคร “ลูกเรือที่เป็นชาวไทย” บ้าง
A 14: ข้อมูลล่าสุดในปี 2018 ที่มีประกาศ รับลูกเรือชาวไทย ก็มีอยู่หลายสายการบินด้วยกัน เริ่มต้นจากสายการบินภายในประเทศก่อนแล้วกัน สำหรับสายการบินในประเทศไทยที่รับสมัครลูกเรือไทย ได้แก่ สายการบินไทย นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ บางกอกแอร์เวย์ เป็นต้น
ส่วนสายการบินต่างประเทศที่เปิดรับเยอะมากครับ ได้แก่ Gulf Air, Emirates, Etihad, Finnair, Kenya Airways, Kuwait airways, Lufthansa, Qantas, Qatar, Royal Brunei Airlines, Royal Joranian, United Airline, Asiana Airlines, China Airines, Eva AIR, JAL, Jet Airway, Jetstar Internatiomal Airlines, Korean Air, Pakistan Internation Airliones, Sky Star Airways, Viet Jet
ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของสายการบินนั้นๆ แล้วมองหาหัวข้อลิงก์ที่ชื่อ Careers หรือ Joint with Us หรือ Work With Us ถ้ายังหาไม่พบให้หาคำว่า Site map เพื่อหาคำว่า Careers ก็จะพบรายละเอียดการรับสมัครพนักงานแผนกต่างๆ ซึ่งสายการบินต่างประเทศมีบ้างที่มาเปิดรับในไทย หรือในประเทศเพื่อนบ้านเรา ซึ่งการไปสมัครในต่างแดนก็จะมีค่าใช้จ่ายมากหน่อยต้องเตรียมในส่วนนี้ให้พร้อมด้วย
Q 15: สายการบินต้นทุนต่ำบางแห่งไม่มีบริการเสิร์ฟน้ำและอาหารบนเครื่อง แอร์โฮสเตสจะมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง
A 15: สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ทำงานกับสายการบินต้นทุนต่ำนั้น (Low Cost) มีหน้าที่ต้อนรับผู้โดยสาร ตั้งแต่ก้าวขึ้นบนเครื่อง แนะนำหมายเลขที่นั่ง จนกระทั่งเดินลงเครื่อง พร้อมทั้งให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร และดูแลผู้โดยสาร บนเครื่องให้เดินทางด้วยความปลอดภัย สาธิตการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ ในบางสายการบินก็จะมีการบริการขายอาหาร และเครื่องดื่ม แก่ผู้โดยสารระหว่างเดินทาง รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของสายการบินอีกด้วย
Q 16: มีความสามารถมากกว่า 3 ภาษา มีโอกาสได้เป็นลูกเรือมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า
A 16: ในบางสายการบินมีการแจ้งในการประกาศรับสมัครว่า “หากมีความรู้ภาษาที่ 3 จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ” นั่นก็หมายความว่า มีโอกาสมากกว่าแน่นอน และเรื่องของการรู้ภาษาที่ 3 จะมีโอกาสพิเศษกว่าก็ต่อเมื่อกรณีที่ผู้สมัครมีคุณสมบัติต่างๆ เท่ากันทุกประการ แต่อีกคนหนึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าในเรื่องของภาษาที่ 3 กรณีนั้นอาจจะถือว่าเป็นโอกาสที่ได้เปรียบมากกว่า ส่วนคนที่เข้าไปทำงานเป็นแอร์ฯ-สจ๊วดแล้ว จะมีการติดธงชาติบอกภาษา (เชื้อชาติของลูกเรือ) ที่ป้ายชื่อ ซึ่งจะบ่งบอกว่า คนๆ นั้นมีความรู้ภาษาใด และสามารถสื่อสารภาษาอะไรได้บ้าง ถ้าผ่านการทดสอบภาษาที่รู้เพิ่มเติมก็จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละสายการบิน)
ปัจจุบันนี้ ภาษาที่สามที่สายการบินมีความต้องการค่อนข้างมากคือ ภาษาจีน (แมนดาริน) ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ด้วยเหตุที่ว่า ธุรกิจการค้าขาย การเดินทางท่องเที่ยวในแถบนี้มีมากขึ้นนั่นเอง ควรจะมีการทดสอบเพื่อขอใบรับรองความรู้ในภาษาเหล่านี้ไว้ด้วยนะครับ
Q 17: ถ้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จะได้รับ “สวัสดิการ” อะไรบ้าง
A 17: นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับเป็นประจำแล้ว ลูกเรือจะได้รับค่าชั่วโมงบิน ค่าเบี้ยเลี้ยงระหว่างบิน ที่พักเมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างแดน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางและโบนัส การทำประกันชีวิต นี่ยังไม่รวมถึงค่าซักรีดยูนิฟอร์มที่มีให้นะครับ นอกจากนี้ยังได้ตั๋วเครื่องบินฟรี (ตามกำหนด) และสิทธิพิเศษต่างๆ กับสายการบิน พร้อมกันนี้สิทธิพิเศษตั๋วเครื่องบินที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย ซึ่งครอบครัวในที่นี้ หมายถึง พ่อ-แม่ พี่น้อง (ที่ได้กรอกรายชื่อไว้ในสัญญาจ้างครั้งแรก) อ่านเพิ่มเติมในตอนที่แล้ว “Basic Salary ได้เงินเดือนเท่าไหร่”
Q 18: จะสมัครเป็นลูกเรือสายการบินที่ไหนดี ระหว่าง สายการบินของเอเชีย กับ สายการบินต่างชาติ (ตะวันออกกลาง – ยุโรป – อเมริกา)
A 18: แล้วแต่ความต้องการของเรา แต่เราควรจะดูว่า เราเหมาะสมกับสายการบินไหน สายการบินในเอเชียกับสายการบินต่างชาติ มีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก คุณสมบัติและลักษณะการรับลูกเรือที่เขาต้องการ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ต้องการคนที่มีลักษณะ (เฉพาะ) แบบใด แต่สไตล์คนที่รับก็ต่างกันพอควร เช่น สายการบินเอเชียอาจจะชอบคนที่มีความอ่อนโยน นอบน้อม ยิ้มง่าย เป็นกันเอง ในขณะที่สายการบินอื่นๆ ชอบคนที่มีความมั่นใจสูง กล้าตัดสินใจ รับผิดชอบ เคยมีลูกเรือไทยโดนดุเลยก็มีเช่น เราทำผิดแล้วยังทำหน้ายิ้มอยู่อีก (555 สยามเมืองยิ้มเนาะ)
ส่วนข้อแนะนำอีกข้อหนึ่งคือ บางสายการบิน มีฐานการบิน (Base) หรือที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นลูกเรือต้องหอบกระเป๋าไปอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย เช่น สายการบิน Qatar จะต้องอยู่ประจำที่กาตาร์ ประเทศกาตาร์ สายการบิน Etihad อยู่ประจำที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนสายการบิน Emirates ลูกเรือจะต้องไปอยู่ประจำที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องความสะดวกสบาย เพราะเขาจัดที่พักลูกเรือไว้อย่างดี และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้ให้อย่างเพียบพร้อมแล้ว แค่ต้องคิดดูว่าตัวเราสามารถอยู่ห่างบ้านได้ไหม (ไม่เป็นโรคคิดถึงบ้าน Homesick) เท่านั้นล่ะ (ผมก็มาอยู่ดูไบเข้าปีที่ 9 แล้ว สบายดีครับ คิดถึงบ้านก็แว็บบินกลับไปชิวๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เที่ยวบิน DBX-BKK เดือนละหลายครั้งอยู่)
Q 19: ทำงานอาชีพนี้ ทางสายการบินมีการกำหนดวันหยุดให้เรา อย่างไรบ้าง?
A 19: ในขณะที่คนอื่นได้หยุดในช่วง Long Weekend เช่น ช่วงวันคริสมาสต์ วันปีใหม่ แต่คนที่ทำงานในอาชีพนี้ไม่ได้หยุดพัก ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น เพราะเป็นช่วงทำรายได้ให้กับสายการบิน (High Season) เที่ยวบินก็อาจจะเพิ่มขึ้น (ผมไม่ได้จุดพลุฉลองปีใหม่ร่วมกับครอบครัวมา 8 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่บริษัทเคยแจ้งว่า ให้สามารถลาหยุดช่วงปีใหม่ได้ 4 ปีต่อครั้ง เศร้า!) การทำงานสายการบินนี้ไม่มีวันหยุดที่แน่นอน ถ้าอยากทำงานตรงนี้ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า วันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์เราก็ต้องทำงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับตารางการบิน
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า “พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน” จะต้องบินทุกๆ วันทั้งเดือน เพราะมีการกำหนดชั่วโมงบินไว้ด้วย (ตามกฎนิรภัยการบิน ลูกเรือจะทำงานไม่เกินเดือนละ 100 ชั่วโมง นับอย่างไร? การนับชั่วโมงจะนับเมื่อเครื่อง Take-Off จากพื้นถึงเวลาที่ Landing ถึงท่าอากาศยานปลายทาง ไม่นับรวมเวลาที่เราไปรอก่อนที่สนามบิน) แถมวันหยุดไม่ได้บินก็มีเวลาพักเดินเล่นในต่างประเทศชิวๆ อีกต่างหาก (แรกๆ ก็ตื่นเต้นออกเที่ยวชมบ้านเมืองเขา นานเข้าก็งั้นๆ ผมมักจะนอนเอาแรงมากกว่าครับ ค่าครองชีพต่างประเทศก็แพง อาหารการกินก็นัดเพื่อนลูกเรือที่หยุดพักตรงกันมาทำอาหารไทยทาน และเมาส์มอยที่แฟลตที่พักเราดีกว่า)
การบินในระยะทางสั้นๆ (Turn Around) ใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงจะไม่ได้พักค้างคืน ถ้าเป็นการบินระยะไกลใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงจะได้หยุดพัก 24 ชั่วโมง เช่น ไฟลท์บินจาก ดูไบ (DBX) – กรุงเทพฯ (BKK) – ซิดนีย์ (SYD) – กรุงเทพฯ (BKK) – ดูไบ (DBX) การทำงานก็จะเริ่มบินจากดูไบ-กรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ได้หยุดพักที่กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง แล้วบินจากกรุงเทพฯ-ซิดนีย์ ใช้เวลา 8 ชั่วโมง ก็จะได้พักที่ซิดนีย์ 24 ชั่วโมง วันถัดมาบินจากซิดนีย์-กรุงเทพฯ 8 ชั่วโมง พักที่กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง แล้ววันถัดไปบินจากกรุงเทพฯ-ดูไบ อีกครั้ง 6 ชั่วโมง พักอีก 24 ชั่วโมง ก่อนจะไปทำงานในไฟลท์ถัดไป (ลองทบทวนดูว่า ไฟลท์ยาวนี้ผมทำงานบนเครื่องกี่ลำกันนะ….)
Q 20: รู้มาว่า “แอร์โฮสเทส-สจ๊วด” ทำงานเป็นลักษณะสัญญาจ้าง ปรกติแล้วจะจ้างกันระยะเวลากี่ปี
A 20: การจ้างงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ปรกติแล้วจะมีสัญญาจ้าง 3 ปี 5 ปี หรือ ปีต่อปี แล้วแต่ข้อตกลงของสายการบิน (สายการบิน Emirates สัญญาจ้าง 3 ปี) เมื่อครบกำหนดแล้วจะมีการพิจารณาการทำงาน เพื่อต่อสัญญาจ้างอีกครั้ง เพราะฉะนั้นในขณะที่ต้องปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบิน พนักงานจะถูกประเมินโดยหัวหน้าระดับสูงขึ้นไปด้วย รวมทั้งจากคอมเมนต์หรือข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะ อีเมลจากผู้โดยสารที่ส่งถึงสายการบินนั้นๆ เพื่อที่จะนำผลการประเมินเหล่านั้นมาพิจารณาการต่อสัญญาอีก ถ้ามีการลาออกก่อนกำหนดในสัญญา บางสายการบินก็ต้องจ่ายค่าปรับด้วยเช่นกัน เพราะถือว่าทางสายการบินได้ลงทุนในการจัดฝึกอบรมให้ลูกเรือไปมากพอสมควรแล้ว
โดยทั่วไป แอร์โฮสเทสจะมีอายุการทำงานสั้นกว่าสจ๊วต เนื่องจากบางคนแต่งงานออกไปมีครอบครัว อายุมากเกินไป (ตามข้อกำหนดของแต่ละสายการบิน) แต่หากมีความสามารถสูง ผลงานดีจนบริษัทเสียดายฝีมือที่มีอยู่ ทางบริษัทอาจปรับเปลี่ยนให้ไปทำงานในส่วนบริการภาคพื้นดิน (Ground Services) เช่น พนักงานต้อนรับในเลาจน์ที่สนามบิน เจ้าหน้าที่อื่นๆ ในสนามบินปลายทางอื่นๆ หรือไปเป็นครูฝึกในศูนย์อบรมลูกเรือ เป็นต้น แต่ก็มีคุณป้าอายุเกือบ 60 ปียังทำงานในสายการบินในอเมริกา มีบันทึกเป็นสถิติโลกมาแล้ว (เป็นมาตั้งแต่ยังสาวจนมีอายุมาก แต่ด้วยความที่ทำงานดีเป็นเลิศ ยังทุ่มเทให้กับการทำงานก็อยู่ได้เหมือนกัน ในสายการบินไทยดูเหมือนจะมีอายุเกิน 40 ก็มี)
กับเพื่อนๆ ลูกเรือหลายชาติหลายภาษาและหลายสีผิวด้วย สวยหล่อกันคนละแบบ
มีข้อสงสัย อยากจะสอบถามเพิ่มเติมก็บอกไว้ในส่วนคอมเมนต์ข้างล่างนะครับ รวมทั้งอยากให้นำเสนอเรื่องอะไรเป็นตอนต่อไปก็แจ้งกันมาได้ครับ จะพยายามอัพเดทให้เร็วที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวยครับ 🙂 😛
- รวมคำถามในการสัมภาษณ์ลูกเรือ อ่านที่นี่
- ประสบการณ์สมัครแอร์ในเวียดนาม อ่านที่นี่
- ประสบการณ์สมัครสาว Singapore Girl อ่านที่นี่
- ประสบการณ์สมัคร United Airlines อ่านที่นี่
- ชีวิตแอร์ Japan Airlines อ่านที่นี่
พี่ปอ.ผมอยากได้ Link ที่เป็นคำถามในการสัมภาษณ์กับคณะกรรมการที่พี่ปอ.เคยให้ข้อมูลไว้ผมหาไม่เจอครับ.เพื่อเอาไว้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวครับ…ส่วนตัวผมอ่อนภาษาแต่ก็จะพยายามเรียนเพื่อไปเป็นลูกเรือแบบพี่ปอน่ะครับ…ผมจะทิ้งเมลลืไว้ให้น่ะครับ.แล้วผมอยากติดต่อพี่ปอได้ช่องทางไหนบ้างนอกจากช่องทางของเวปนี้อ่ะครับ. IG , Facebook ก็ได้ครับ
Link : https://www.krumontree.com/crew/?p=940
การติดต่อผ่านช่องทางนี้ก็สะดวก เพราะอยู่ไม่ค่อยเป็นที่เป็นทาง ผ่าน FB ก็นานๆ แว็บไปทีครับ
https://www.facebook.com/por.porames