Airbus-A380

Airbus will stop making the A380.

เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักและถูกเรียกว่า “Jumbo Jet” คือเครื่องบินแบบ Boeing 747 ของ บริษัท Boeing’s Commercial Airplane (สหรัฐอเมริกา) ขึ้นบินทดสอบครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เริ่มใช้บินเชิงพาณิชย์ครั้งแรก 22 มกราคม พ.ศ. 2513 โดย PAN-AM  เป็นเครื่องบินเจ๊ตโดยสารลำตัวกว้าง พิสัยบินไกล ขนาด 4 เครื่องยนต์ ใช้นักบิน 3 นาย อัตราผู้โดยสารสูงสุด 500 ที่นั่ง สายการบินหลักๆ ที่ใช้เครื่องรุ่นนี้มากสุดคือ British Airways, Lutfhunsa,  Korean Air และอื่นๆ รวมทั้งสายการบินไทยของเรา นับตั้งแต่ปี 2512-2561 ได้ทำการส่งมอบให้กับสายการบินต่างๆ จำนวน 1,546 ลำ (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2561) Boeing 747 มีอยู่หลายรุ่นตามการพัฒนาเรื่องเครื่องยนต์ ขนาดลำตัว จำนวนผู้โดยสารและน้ำหนักบรรทุก เช่น 747-100, 747-200, 747-300, 747-400

เมื่อปี 2548 ก็มีเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่กว่า Boeing 747 ที่ถูกเรียกว่า “Super Jumbo Jet” นั่นคือ เครื่องบินแบบ Airbus A380 เป็นเครื่องบินห้องโดยสารกว้าง 2 ชั้นขนาดใหญ่ ซึ่งผลิตโดย Airbus (บริษัทร่วมทุนของประเทศในยุโรป โดยมี ฝรั่งเศส เยอรมัน เสปน ถือหุ้นหลัก) เป็นเครื่องบินแบบ 4 เครื่องยนต์ลำตัวกว้าง มี 2 ชั้น สามารถบรรทุกผู้โดยสารที่ให้ความสะดวกสบายได้สูงสุดมากถึง 500 คน หรือได้ถึง 800 คน (ถ้าวางที่นั่งแบบชั้นประหยัด Economy ตามแบบเครื่องบินพาณิชย์ปกติ) เครื่องบินรุ่นนี้ได้ผ่านข้อกำหนดการทดสอบการบินเที่ยวแรก ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2548 โดยบินขึ้นจาก เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส และได้ส่งมอบให้กับ Singapore Airlines เป็นสายการบินแรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550 (ปัจจุบัน SIG มี A380 ในฝูงบินจำนวน 19 ลำ)

แต่แล้วก็มีข่าวช็อกโลกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท Airbus ก็ได้แถลงข่าวว่า จะหยุดทำการสร้างเครื่องบิน A380 เครื่องบิน Super Jumbo Jet ที่มีชื่อเสียงนี้เสียแล้ว ซึ่งครั้งหนึ่ง Airbus เคยสัญญาว่า “จะปฏิวัติการเดินทางทางอากาศเชิงพาณิชย์” แต่ก็ไม่สำเร็จดังหวัง

Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติยุโรปกล่าวว่า “บริษัท จะหยุดส่งมอบเครื่องบินแบบ A380 ในปี 2564 หลังจากลูกค้ารายสำคัญ อย่าง สายการบิน Emirates สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ประกาศยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A380 เพิ่มเติม” ข้อมูลล่าสุด Emirates เป็นลูกค้าหลักที่ใช้ A380 มีเครื่องบินรุ่นนี้ฝูงใหญ่สุดในโลกจำนวน 108 เครื่อง และรอการส่งมอบอีก 54 เครื่อง (อ้างอิงจาก Our Fleet A380 ภายหลังลดคำสั่งซื้อลงเหลือเพียง 14 ลำ ที่เหลือเปลี่ยนเป็นรุ่น A350 แทน)

“มันเป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวด” คำกล่าวของ Tom Enders ซึ่งเป็น CEO ของ Airbus ระหว่างการประชุมทางโทรศัพท์กับนักวิเคราะห์ “เราได้ทุ่มเทความพยายามอย่างมาก ด้วยทรัพยากรจำนวนมาก และเสียเหงื่อไปมากในเครื่องบินลำนี้ แต่เห็นได้ชัดว่าเราต้องยอมรับความเป็นจริง” เขากล่าวเสริมต่อว่า “ด้วยการตัดสินใจของเอมิเรตส์ที่จะลดคำสั่งซื้อ A380 ลง ทำให้งานในมือของเรานั้นไม่มีต้นทุนเพียงพอ สำหรับการผลิตได้อีกต่อไป” การตัดสินใจดังกล่าวมีผลต่อพนักงานของเรามากถึง 3,500 ตำแหน่ง ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้เรา จากโรงงานผลิตในสี่ประเทศของยุโรปที่สำคัญ ในช่วงสามปีถัดไป (ดังภาพล่างนี้)

 

เครื่องบิน Airbus A380 ได้รับการพัฒนาโดยใช้งบเพื่อการวิจัยมากถึง 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเริ่มขึ้นบินสู่ท้องฟ้าเมื่อ 14 ปีก่อน ด้วยการประเมินว่า สายการบินใหญ่ๆ มีความต้องการเครื่องบินที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึงเที่ยวละ 800 คน เพื่อขนส่งผู้โดยสารไป-มาระหว่างสนามบินหลักๆ ทั่วโลก แต่ด้วยภาวะที่ราคาน้ำมันผันผวน กระทบต่อค่าโดยสาร ที่มีการแข่งขันสูงในแต่ละสายการบินโดยตรง ทำให้มีความต้องการขนาดเครื่องบินที่เล็กลง ใช้เครื่องยนต์ 2 เครื่องยนต์ที่ประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า

บริษัท ได้ส่งมอบเคื่องบิน A380 ไปแล้ว 234 ลำจนถึงปัจจุบัน ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของ 1,200 ลำที่ทาง Airbus ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะจำหน่ายได้ ในตอนเปิดตัวเครื่องบินสองชั้นลำนี้เป็นครั้งแรก ธุรกิจการบินได้เปลี่ยนความสนใจของพวกเขาไปยังเครื่องบินขนาดเล็ก ที่ประหยัดน้ำมันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ผู้โดยสารทั่วโลกชอบที่จะบินบนเครื่องบินที่ยิ่งใหญ่นี้ ดังนั้นการประกาศยุติการผลิตในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากสำหรับเราและชุมชน A380 ทั่วโลก” Enders กล่าวในแถลงการณ์ “แต่พึงระลึกไว้ว่า A380 จะยังคงเดินทางไปบนท้องฟ้าเป็นเวลานานหลายปี และแน่นอนว่า แอร์บัสจะยังคงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ A380 อย่างเต็มที่”

หุ้นในแอร์บัส (EADSF) พุ่งขึ้น 5% ในวันนั้น หลังจากรายงานผลประกอบการปี 2018 และข่าว A380 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้าเป็น 3.1 พันล้านยูโร (3.5 พันล้านดอลลาร์) ยอดขายพุ่งขึ้นเป็น 63.7 พันล้านยูโร (71.7 พันล้านดอลลาร์) บริษัท แอร์บัส กล่าวว่า หวังที่จะส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์จำนวน 880 ถึง 890 ลำในระหว่างปี 2562 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ไว้ ส่วนคู่แข่งคือโบอิ้ง (BA) กล่าวในเดือนมกราคมว่า จะสร้างเครื่องบินได้มากถึง 905 ลำในปีนี้ โดยโบอิ้งยังคงผลิตเครื่องบินเจ็ตจัมโบ้ 747 แต่การผลิตชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีเครื่องบิน Boeing 747 เพียง 6 ลำที่ถูกส่งมอบในปี 2561

จบตำนาน Airbus A380

สายการบิน Emirates ได้มีคำสั่งซื้อ A380 เมื่อต้นปีที่แล้วโดยการสั่งซื้อเครื่องบิน A380 เพิ่ม 54 ลำ (ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า Emirates จะยุติการสั่งซื้อ A380 หันไปซื้อเครื่อง Boeing 787 Dreamliner แทน) และในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จากการการติดตามข่าวสายการบินอื่นๆ เช่น Qantus (QABSY) ของออสเตรเลีย ก็มีการยกเลิกคำสั่งซื้อ A380 เช่นกัน แล้วหันไปสั่งซื้อ A350 แทนเพื่อใช้ในเส้นทางบินซิดนีย์-ลอนดอน ที่ใช้เวลาบินนานกว่า 20 ชั่วโมง (ปัจจุบัน Qantus มี A380 อยู่ 12 ลำ)

สายการ Emirates ก็เช่นกัน ได้เปลี่ยนใจลดยอดการสั่งซื้อลง เหลือเพียง 14 ลำ แล้วไปซื้อเครื่องบินขนาดเล็กกว่าในรุ่น A350 เช่นเดียวกัน (เปลี่ยนคำสั่งซื้อ A380 บางส่วนไปเป็นเครื่องเล็กกว่าในวงเงินเท่าเดิม) สาเหตุสำคัญที่ Emirates ตัดสินใจซื้อ Airbus A350 ทดแทนเนื่องจากราคาที่ถูกกว่า และความสามารถของเครื่องยนต์ ที่ทำให้บินได้ไกลมากขึ้นกว่าเดิมในปัจจุบัน นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ The Independent ยังได้วิเคราะห์ว่า อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะสายการผลิตเครื่องบินรุ่น A380 ที่ผลิตได้ช้ากว่ารุ่นอื่นๆ เช่น A330 และ A350 ทำให้สายการบินยักษ์ใหญ่รายนี้ยกเลิกคำสั่งซื้อดังกล่าว (ลองดูสารคดีด้านล่างจะเข้าใจว่าทำไม A380 ถึงผลิตได้ช้ามาก)

“ในขณะที่เรารู้สึกผิดหวังที่ต้องยกเลิกคำสั่งซื้อของเรา และเศร้าที่แผนงานของเราไม่สามารถยั่งยืนได้ แต่เรายอมรับว่านี่เป็นความจริงของสถานการณ์ในปัจจุบัน” Sheikh Ahmed bin Saeed Al Maktoum ประธานของ Emirates กล่าวในแถลงการณ์การเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อ “A380 จะยังคงเป็นเสาหลักของกองทัพเรือของเราในทศวรรษ 2030”

นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจหลายสำนักมองว่า ถ้า Airbus ปิดโครงการผลิต A380 ลงไป อาจเป็นผลดีกับ Airbus ด้วยซ้ำ เนื่องจากบริษัทจะสามารถประหยัดเงินได้มากถึง 300 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งคุ้มค่ากว่าที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป แม้ว่าสายการบิน Emirates เลิกสนใจในเครื่องบิน A380 แล้วก็ตาม แต่มีความเป็นไปได้สูงที่สายการบินอย่าง British Airways สนใจสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้จำนวนมากแทน Emirates แต่ผู้บริหารของสายการบิน British Airways ได้กล่าวว่า Airbus ต้องขายเจ้ายักษ์ใหญ่นี้ให้ในราคาพิเศษเท่านั้น

Airbus A380 ของการบินไทย 1 ใน 6 ลำในฝูงบิน


The Rise and Fall of the A380

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)