crew_uniform

บันทึกจากคนไกลบ้าน

ลังจากที่เขียนเรื่องราวชักชวนให้น้องๆ มาทำอาชีพบนฟากฟ้ามาหลายบทความ ซึ่งอาชีพที่ว่านี้ บรรดาหนุ่มสาวยุคใหม่ดูจะแสวงหา อยากเป็น อยากทำกันมากมายพอดู เพราะเมื่อไปส่งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือแม้แต่ตนเองจะเดินทางไปต่างประเทศแล้วได้เห็น บรรดาหนุ่มสาวหลายชาติ หลายภาษา แต่งตัวในยูนิฟอร์มเท่ห์ๆ เดินลากกระเป๋าพูดคุยหยอกล้อกันมาเป็นหมู่คณะนั้น ดูช่างมีความสุข ร่าเริง สวย หล่อกันเหลือเกิน เกิดอิจฉาตาร้อนว่า แหม! ช่างเป็นอาชีพที่แสนวิเศษ ได้บินไปมาประเทศนั้น ประเทศนี้ในทุกๆ วัน ได้เที่ยว ได้ช็อปปิ้ง โอ๊ว! ช่างน่าอิจฉาเสียจริง อยากเป็นอย่างนี้จริงๆ


ความสวย มาดเท่ห์ แต่งตัวดูดีมีเสน่ห์ ที่ทำให้หลายคนอยากมีอาชีพนี้

ฉากหน้าดีอย่างนี้แหละครับ พวกเราถูกฝึกฝนมาให้ต้องยิ้มแย้มแจ่มใจ ต้อนรับผู้โดยสาร ที่เบื้องหน้าต้องฉาบฉายด้วยรอยยิ้ม แต่เบื้องหลังบางคนกลับมีภาวะเศร้าซึม ไม่ได้มีความสุขอย่างที่เห็นหรอกครับ หลายคนเป็นภาวะซึมเศร้า (Depression) หรือที่รู้จักกันว่าโรคซึมเศร้า ถึงกับทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ก็มี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันมีหลายสาเหตุครับ

ก่อนที่จะได้เข้าสู่สายอาชีพนี้ ไม่ว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส สจ๊วต นั้นมันยากพอดูกับการแข่งขัน แล้วก็เชื่อด้วยว่า ผู้หญิง – ผู้ชายหลายคน ฝันที่อยากจะเป็นนางฟ้า สจ๊วต ของสายการบินภายในประเทศ (ที่น่าจะเข้าง่าย ทำงานง่าย แต่ไม่เป็นความจริงเลย) สายการบินในเอเชีย สายการบินในประเทศตะวันออกกลาง และอาจจะเป็นสายการบินในแถบยุโรปหรืออเมริกา (ที่น่าจะยากและลำบากกว่าหลายเท่า) หลายคนทำทุกอย่าง ทั้งฝึกฝนด้านภาษา การบำรุงรักษาผิวพรรณ เลือกเสื้อผ้า ดูแลใบหน้า ทรงผม เพื่อให้ได้มาซึ่งอาชีพนี้ ไม่ว่าจะยากเย็ญแสนเข็ญแค่ไหนก็ตาม ลงสนามทดสอบแข่งขันผ่านมาเป็น 10 สนาม 20 สนาม หรือบางคนมากกว่า 50 สนามก็มี จนสุดท้ายบางคนก็ต้องเสียน้ำตาจนเลิกล้มความตั้งใจในที่สุด


ไปสนามบินสุวรรณภูมิ แถวเคาท์เตอร์เช็คอินสายการบินต่างๆ ก็จะพบเห็นแบบนี้

มีคำถามต่อมาว่า ทำไมอาชีพนี้ถึงดึงดูดสาวๆ หนุ่มๆ จำนวนมาก (ทั้งไทยและเทศ) ให้ทุ่มเทกันจัง ก็ด้วยภาพลักษณ์ของงานอาชีพนี้แล้ว บางคนอาจจะเคยติดตามเพื่อน หรือใครหลายๆ คนที่ทำอาชีพนี้ ได้เห็นเขาได้บินไปเที่ยวนู้นนี่บ่อยๆ จนคนภายนอกอาจจะคิดว่า หูย!! ชีวิตดี้ดี แล้วดีจริงเหรอ!! จนสุดท้ายเด็กคนนึงที่ฝันอยากจะเป็นนางฟ้า เทวดา ก็อิ่มอกอิ่มใจ ได้ผ่านการสัมภาษณ์.. แข่งขันกับคนนับพัน และได้ทำในสิ่งที่ต้องการ จุดที่เรียกว่า จุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่างของชีวิต

การเริ่มต้นก้าวที่ 1

เอาล่ะ ถ้าคุณได้ทำงานในสายการบินภายในประเทศ ที่ทำงานประจำอยู่ในแผ่นดินแม่ บินไปมาภายในประเทศ หรือแค่ประเทศใกล้เคียงรอบไทยเราไม่ไกลนัก ก็คงไม่ต่างจากที่คุณออกจากบ้านเกิดในต่างจังหวัด มาเล่าเรียนในเมืองใหญ่ เมืองหลวง หรือคนอยู่ กทม. ไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด มาอยู่ประจำที่หอพัก สังคมรอบข้างก็คนชาติเดียวกัน ทักทายกันได้สนิทใจ เหงาๆ คิดถึงบ้านก็กลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัว หรือครอบครัวมาเยี่ยมเราได้ง่ายๆ

แต่พอได้ไปทำงานสายการบินต่างชาติ ต่างแดนที่ต้องประจำในต่างประเทศ แรกๆ ก็อาจคิดว่า เฮ้ย! เราเคยอยู่หอพักไม่ได้กลับบ้าน 3 เดือน 6 เดือน ยังไม่เป็นไรเลยต้องอยู่ได้ซิ มันไม่ง่ายอย่างนั้นสิ… ยกตัวอย่างผู้เขียนเองเกิดและโตในต่างจังหวัด (อุบลราชธานี) มาเรียนต่อในกรุงเทพฯ อยู่หอพักคนเดียว แรกๆ พ่อ-แม่มาเยี่ยมเกือบทุกอาทิตย์ ไม่รู้ว่าใครคิดถึงใคร ต่อมาก็ห่างออกไปเป็นเดือนละครั้ง สองหรือสามเดือนครั้ง เราก็ไม่เหงานะ

แต่พอจบปริญญาตรีได้ไม่ถึงเดือน ได้งานทำ และต้องไปอยู่ไกลถึง นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่แม่เราเองก็คงไม่เคยรู้ว่า ประเทศนี้มันอยู่ที่ไหนของโลก ตอนมาส่งลูกที่สนามบินก็น้ำตาร่วง พร่ำแต่บอกลูกว่า ‘ให้ดูแลตัวเอง’ ตัวเราก็ได้แต่ปลอบแม่ว่า “ไม่ต้องเป็นห่วงลูกหรอก ดูแลตัวเองได้” มันตื่นเต้นที่จะได้ไปอยู่ต่างประเทศจนลืมอะไรไปหมดจริงๆ ณ เวลานั้น


มองผ่านหน้าต่างแมนชั่นที่พักออกไปเห็นแต่ทะเลทรายเวิ้งว้างไกลสุดสายตา

พอมาอยู่ดูไบได้แค่ 2 สัปดาห์ เริ่มต้นการฝึกเรียนรู้การทำงานในสายอาชีพ กลับถึงที่พักทีไร มันก็โหยหวนนึกถึงแต่บ้านเกิด นึกถึงพ่อ-แม่ พี่สาว ญาติพี่น้อง เพราะมาที่นี่แม้จะมีลูกเรือไทยก็จริง แต่เขาก็ไม่ได้ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่เดียวกัน แต่จับแยกตึก แยกชั้นในอาคารที่พัก เพื่อให้พวกเราได้อยู่ร่วมกับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ให้รู้จักและทำงานเป็นทีมนั่นเอง ผมได้อยู่กับ Room mate ลูกเรือรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อนปีหนึ่ง เป็นชาวอินเดีย ซึ่งเมื่อแม่เขามาเยี่ยมก็จะทำอาหารอินเดีย ซึ่งกลิ่นอบอวลในห้องรับแขก/ครัว (ห้องกลาง ที่ใช้ร่วมกัน) ให้ลูกได้ทานซึ่งเป็นความรักของแม่ พี่เขาก็อัธยาศัยดีนะ มาขอโทษขอโพยที่มีอาหารส่งกลิ่นแรงๆ เตะจมูกเรา เราก็บอกไม่เป็นไรตามสบาย (เดี๋ยวพ่อกับแม่ฉันมาเยี่ยมเมื่อไหร่ แล้วทำส้มตำใส่ปลาร้าบ้าง แกจะรู้สึกหิวแน่ๆ เลย 🙂 😀 😛 )

จากความคิดว่า เราเคยอยู่หอพักคนเดียวมาตั้ง 6-7 ปีมาแล้ว แค่มาต่างบ้านต่างเมืองแค่นี้จะเป็นไรไป แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย ไม่ใช่เลยจริงๆ เราต้องมาอยู่ที่นี่เป็นปีๆ (หกเดือนแรกของการฝึกงาน เขาไม่ให้ลากลับบ้าน) ไกลบ้าน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลแค่ไหน ซื้อตั๋วกลับบ้านก็แพงหูฉีก (แม้จะมีส่วนลดในฐานะลูกเรือในกลุ่มเครือ Star Alliance ก็ตาม) เราจะต้องปรับตัวหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องที่อยู่ ไม่ใช่แค่ต้องปรับตัวให้กับสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่หลายอย่างมาก รวมถึงการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน คนละชาติ คนละภาษา มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่นี่ก็คือข้อหนึ่งที่สำคัญของอาชีพนี้ ที่ต้องปรับตัวและต้องยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการทำงานเป็นทีม

Homesick คิดถึงบ้าน

เมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจหรอกว่า Homesick หรือ การโหยหาความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเป็นเช่นไร” จนกระทั่งจากบ้านเกิดเมืองนอน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเผชิญโลกกว้าง เจอสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว กลางวันร้อนดั่งเตาอบมากกว่า 40 องศา กลางคืนกลับหนาวโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ มองผ่านหน้าต่างของชั้น 17 ของแมนชั่นออกไป เห็นแต่ทะเลทรายเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา ในศูนย์อาหารมีแต่กลิ่นเครื่องเทศแบบแขก หลับตาก็นึกถึงแต่ข้าวเหนียว ไก่ย่าง ส้มตำ ลาบขม ต้มแซบ จนน้ำลายสอ บางคนอาจจะบอกว่า เฮ้ย! สมัยนี้มันมี Facetime, Video call ติดต่อหากันได้จะเหงาอะไรนักหนา? ไม่หายคิดถึงหรอกครับ ยังไงการได้สัมผัสในอ้อมกอดของแม่ การลูบหัวปลอบประโลมของพ่อ มันก็อบอุ่นมากกว่าการคุยด้วยเสียง เห็นหน้ากันแต่สัมผัสไม่ได้


A380 ของ Emirates ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ลูกเรือไทยถ้าได้ DBX – BKK นี่ดีใจสุด

เมื่อการฝึกเสร็จสิ้น ได้ทำงานจริง บินจริงๆ ทุกต้นเดือนก็จะรอดูตารางบินออกมาว่า จะได้ไฟลท์ DBX – BKK (ดูไบ-สุวรรณภูมิ) เมื่อไหร่ ถ้ามีสักไฟลท์ในเดือนนั้นจะกระโดดโลดเต้น ยิ้มแย้มแจ่มใสที่สุด บอกพ่อกับแม่ลางานมารอลูกที่บ้านพักในกรุงเทพฯ กับพี่สาวทันที ในหัวก็จะมีรายการอาหารแซบๆ ที่ชอบ ที่คุณแม่ก็จะเตรียมไว้รอทุกที จนเมื่อเวลาผ่านไปการปรับตัวก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ดี ด้วยอาชีพของเราก็จำเป็นต้องเสียสละความสุขหลายอย่างไป เช่น ปีใหม่ก็ไม่ได้ไปเคาท์ดาวน์กับที่บ้าน เพราะช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ คือ เวลาทองของธุรกิจการบิน การเดินทางเฉลิมฉลอง ฤดูกาลทำเงินของบริษัท ที่เราลาไม่ได้ง่ายๆ (แมัทางสายการบินจะระบุว่า ช่วงปีใหม่ลาได้ 1 ครั้งในรอบ 4 ปี แต่นี่ทำงานมา 8 ปีแล้วไม่เคยลาช่วงนี้ได้สักครั้งเลย) การไปร่วมงานมงคลของเพื่อน ญาติพี่น้อง ก็จะลำบากพอดู ถ้าไม่เตรียมตัวรู้ข่าวล่วงหน้านาน ต้องจัดการแลกตารางบินกับเพื่อน ยื่นใบลาไว้ล่วงหน้านานนับเดือน

ความรักแท้แพ้ระยะทาง

ความรัก หลายคนคิดว่า ความรักกับอาชีพนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ด้วยสายอาชีพนี้มีคนเข้ามาคุย เข้ามาจีบตลอด ทำให้ไม่เหงา ง่อออๆๆ (ทำใจเหมือนสวย/หล่อมาก…) ขอยกตัวอย่างสัก 2 เคสที่ได้เห็นและเจอมากับตัวเอง (จากเพื่อนรักคนไทยที่สมัครมาทำงานพร้อมกันนี่แหละ)

เคสแรก แอร์ที่มีแฟนอยู่ก่อนแล้วที่เมืองไทยก่อนจะมาทำงานที่ดูไบ ความที่อยู่ห่างไกลกัน ความสัมพันธ์แบบไกลกัน บางครั้งความสัมพันธ์นี้ทำให้รู้ว่า เรารักกันมากแค่ไหน อดทนกันมากแค่ไหน ถึงจะทะเลาะกันบ่อยขึ้นเพราะความห่างไกลกัน เวลาที่ไม่ตรงกันในวาระต่างๆ มีเรื่องอุปสรรคเข้ามาตลอด ทั้งมีคนเข้ามาจีบทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง บ้างครั้งกลายเป็นความไม่เชื่อใจระหว่างคนทั้งสอง แต่อยากบอกเพื่อนๆ ว่า ยิ่งความห่างไกลกันมากแค่ไหนก็ต้องเชื่อใจกันมากขึ้น ซื่อสัตย์ต่อความรักนั้น จับมือกันให้แน่นๆ กาลเวลาพิสูจน์คนเป็นเรื่องจริงครับ สุดท้ายฝ่ายชายก็ไปมีรักใหม่แต่งงานไปก่อน แต่อย่างว่านั่นแหละ หล่อนเป็นคนสวย หล่อนจึงเสียใจไม่นาน ก็มีหนุ่มรูปหล่อ ฐานะดีมาจีบ สุดท้ายก็สมหวังแต่งงานกัน และลาออกจากการเป็นนางฟ้าหมวกแดงไป


อยากมีโมเมนต์นี้ กัปตันแอร์เอชียขอแต่งงานกับสาวแอร์สายการบินเดียวกัน

มาถึงเคสที่ 2 เคสนี้ปัญหาที่แตกต่างกันไปเลย แน่นอนหลายคนคิดใช่ไหมว่า เป็นแอร์แล้วได้เจอคนเยอะ มีคนเข้ามาหาเยอะไม่ค่อยจะเป็นปัญหาอะไรมากนัก คงได้พบเนื้อคู่ที่เหมาะสมในเร็ววัน เคสนี้หล่อนใช้ชีวิตสาวโสด สวย เชิดๆ ชิลๆ ด้วยแรงดึงดูดของอาชีพนี้ จึงมีหนุ่มเข้ามาต่อขบวนจีบแน่นอน ทั้งที่เป็นนักบินบ้าง ผู้โดยสารบ้าง มีเพื่อนลูกเรือด้วยกันบ้าง เพื่อนของเพื่อนบ้าง มีคนคุยไม่ขาดสายเลย แต่ใช่เลย “คนคุย” ไม่ใช่คนรู้ใจ ต้องเรียนรู้กันไป สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นอนมากกว่านี้ ถึงตอนนี้เธอก็ยังไม่ลงเอยกับใครเลย ก็รอดูกันต่อไป แต่ก็มีบางคู่นะที่ความรักสมหวังจนมดๆ อย่างเรารู้สึกอิจฉา ตาร้อนจัง เคยเขียนไว้ “ความรักของนางฟ้า”

ส่วน… สจ๊วต อย่างผมนั้น… ก็แห้วมาตลอดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ไม่เห็นเหมือนผลการสำรวจของ HSBC เลย

ผลสำรวจ “1 ใน 50 มีคนพบรักบนฟากฟ้า”

“รัก” ครั้งหน้าอาจเกิดบนท้องฟ้า 30,000 ฟุต ผลสำรวจเผยว่า “ผู้โดยสาร 1 ใน 50 คน ได้แฟนจากการนั่งเครื่องบิน การเดินทางมักพาให้เราพบเจอผู้คนใหม่ๆ อยู่เสมอ” เช่นเดียวกับบนเครื่องบิน ถ้าหากโชคดีเจอเพื่อนร่วมทางที่เป็นมิตร หลายๆ คนก็คงอยากสานความสัมพันธ์ต่อ เพื่อกลายเป็นเพื่อนใหม่ หรือบางครั้งก็อาจพัฒนากลายเป็นคนรักไปเลยก็มีเช่นกัน

การสำรวจที่จัดทำโดย ธนาคาร HSBC ซึ่งสอบถามประสบการณ์ของผู้โดยสารเครื่องบินจำนวน 2,150 คนจาก 141 ประเทศทั่วโลก ค้นพบว่า “มีผู้โดยสารเป็นอัตราส่วน 1 ใน 50 ที่ตอบว่า ตัวเองได้คนรักใหม่จากการเดินทางด้วยเครื่องบิน นอกจากได้ค้นพบความรักแบบแฟน ยังมีผู้โดยสารอัตราส่วน 1 ใน 7 ที่บอกว่า การนั่งเครื่องบินช่วยให้พวกเขาค้นพบเพื่อนใหม่ที่สานต่อความสัมพันธ์มิตรภาพในระยะยาว” (คือผลสุดท้ายอาจไม่ใช่แฟน แต่เป็นความสัมพันธ์แบบอื่นๆ ที่มีมิตรภาพต่อกัน)


ลองทักทายดูนะครับ เผื่อจะได้มิตรภาพดีๆ กลับมา

ทั้งนี้ทั้งนั้น จากสถิติที่เกิดขึ้นมันก็สามารถสะท้อนได้ว่า อัตราส่วนหรือความเป็นไปได้ที่จะได้เจอเพื่อนสนิท หรือได้แฟนจากการนั่งเครื่องบินนั้น มันก็ค่อนยากกันอยู่พอสมควร แต่ถึงอย่างนั้น มันก็น่าลองเปิดโอกาสคุยกับผู้คนใหม่ๆ อยู่เหมือนกันเนอะ ถ้าไม่โชคร้ายเจอเพื่อนร่วมทางนิสัยแย่ๆ กันไปเสียก่อน

#ผู้โดยสารจ๋า มาทางนี้ แอร์และสจ๊วตยังโสดมีเยอะจ้า มาทางนี้ เรื่องนี้ได้มาจาก ที่มา

สุขภาพร่างกาย

เรื่องสุขภาพร่างกายนี่เป็นของคู่กันกับอาชีพนี้เลยแหละครับ มีหลายคนนอนเดี้ยงดูดาวบนเตียงเลย อาการต่างๆ ก็มีมาให้เห็น ทั้งปวดหลัง ปวดหัว น้ำมูกไหล เจ็บหู หน้ามืด ตาเบลอ นอนไม่หลับ มือโดนเตาอบบ้าง (ในครัว อุ่นอาหารบนเครื่อง) หรือโดนน้ำร้อนลวกมือจากการชงชา กาแฟบ้าง บางทีก็ไม่รู้ว่าไปโดนอะไรมา มีแผลที่มือโดยไม่รู้ตัว (น่าจะเกิดจากขอบ Stainless คมๆ ในรถคาร์ทเข็นอาหาร) สารพัดเลยครับ ยิ่งกว่าออกไปรบเสียอีก..

ทำไมถึงมีอาการแบบนี้ได้ เพราะการที่เราทำงานแตกต่างจากคนอื่น ที่การทำงานบนพื้นดิน เมื่อเราขึ้นไปในที่สูงมีความกดอากาศมากเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้เรามีอาการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แล้วทำไมต้องปวดหลัง? งานพวกเราชาวแอร์-สจ๊วต จะเป็นโรคปวดหลังเรื้อรังกันมาก เนื่องจากบ้างครั้งต้องช่วยยกกระเป๋าใบใหญ่ น้ำหนักมาก ช่วยผู้โดยสารยกขึ้นบนกล่องเก็บสัมภาระเหนือที่นั่ง (ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ แต่มันเป็นน้ำใจ) เปิด-ปิดที่เก็บสัมภาระเหนือที่นั่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะบินเครื่องใหญ่ๆ ที่มีผู้โดยสารมากๆ เจ็บปวดรวดร้าวกันมากเลยจ้า


สุขภาพของแอร์ สจ๊วตนั้น ถ้าไม่ออกกำลังบ่อยๆ รักษาสุขภาพให้ดีก็เดี้ยงได้ครับ

และบางครั้งก็ได้บินข้ามคืน (ทำไฟลท์ตาแดงแบบไป-กลับ) แน่นอนล่ะ ตาเบลอมากเลย ไปตอนหัวค่ำแล้วกลับมาเช้าอีกวัน พอถึงเวลานอนก็มักจะนอนไม่หลับ ถ้าได้บินข้ามทวีป ข้ามเขตโซนเวลา ก็จะเบลอเรื่องเวลา ปรับตัวไม่ได้ เวลานอนก็หลับยาก อย่าได้ถามแอร์ว่า “วันนี้วันอะไร” เราจะจำเป็นวันที่จ้า ไม่รู้วันนี้เป็นวันจันทร์ อังคาร พุธ… บลาๆ อะไร เราจำไม่ได้ มีคำถามว่า บินยังไงให้สุขภาพดีล่ะ พี่แอร์คนที่ผ่านงานมานานๆ บอกว่า “ให้ดื่มน้ำเยอะๆ เพราะขึ้นไปทำงานบนที่สูงแล้ว เราจะสูญเสียน้ำหลายลิตรมาก ต้องดื่มน้ำทดแทนให้เยอะๆ” อย่าบินเก็บตังค์เพลิน เพื่อไปใช้ในตอนป่วยกันนะจ๊ะ

ความเหงาเท่าแม่ไก่

ทำไมเราถึงเหงาแบบนี้นะ… เหงาสิจ้ะ ยิ่งเวลาเราอยู่ต่างแดนไกลๆ เป็นเวลานานๆ เข้าแล้ว เหงาสุด เคว้งสุดๆ ยิ่งเวลาเพื่อนที่สนิทกันไปบินส่วนเราหยุดพัก แล้วอีก 3 – 4 วันเพื่อนกลับมา ส่วนเราก็ดันต้องไปบินต่อสวนทางกัน ไม่ได้เจอกัน มันก็จะเหงาๆ หน่อย ไม่ได้เมาส์มอย ทานอาหารไทยที่โปรดๆ ด้วยกัน ก็เหมือนกับว่า ตอนกลางคืนช่วงดึกเขานอน ส่วนตอนเช้าเรามาถึงก็หลับไหล!! เป็นแอร์ต่างแดนก็ต้องทนเหงา นั่งเล่นไถโทรศัพท์ และนอนดู Youtube กันต่อไป (ในที่พักเขาไม่ให้มี TV ดูนะจ๊ะ เขาให้พักผ่อน ดังนั้นที่ช่วยคลายเหงาได้ก็ SmartPhone, Tablet นี่แหละ)


เบื้องหลังรอยยิ้มนี้ อาจจะมีอาการซึมเศร้าซ่อนอยู่ก็ได้นะ

แต่พอมาถึงช่วงเวลาการทำงาน แน่นอน… เราเป็นสจ๊วต เป็นแอร์ ความปลอดภัยสำคัญเป็นอย่างมาก เราทุกคนไม่เคยลืมข้อนี้เลย การทำให้ผู้โดยสารสบายใจในทุกเที่ยวบิน เราจะต้องลืมความเหงาตัวเท่าแม่ไก่ ทำตัวให้สดชื่น เหมือนเราต้องใส่หน้ากากยิ้มไว้ตลอดเวลา ยิ้มกันจนโบท็อกค้างกันข้างหนึ่งไปเลย จะเหนื่อยแค่ไหน ก็ต้องบอกว่า “ไหว ว ว ว ๆ ๆ ๆ” จะหดหู่มาจากเรื่องอะไรก็ต้องยิ้ม ยิ้มแบบห้ามโชว์สีหน้าที่ร้องไห้ภายในใจออกมาเลย ทั้งๆ ที่ภายในใจแอร์คนนั้นอาจจะเครียดอยู่ อาจจะกังวลอยู่ แต่ห้ามร้องไห้มีน้ำตาออกมาให้เห็นนะจ้ะ ถ้าจะร้องต้องไปร้องกันในห้องน้ำให้พอใจ ปาดน้ำตาแล้วเดินออกมา แล้วยิ้มสวยๆ บริการสวยๆ เยี่ยงนางงามกันต่อไป หรือมีเรื่องไม่สบายใจอีก ก็ขอแนะนำให้ไปล้างห้องน้ำอีกครั้งนะครับ… 😀

แล้วยังอยากเป็นเทวดา-นางฟ้ากันอยู่ไหม?

มาถึงบรรทัดนี้ รู้สึกเป็นยังไงกันบ้างครับ ยังยืนยันที่จะไปต่อ หรือหันหลังไปหาอาชีพอื่นทำ ชีวิตแอร์โฮสเตส – สจ๊วต ไม่สวย เริ่ด หรือไม่ perfect ดังที่ทุกๆ คนคิดกันนะครับ แต่ต้องแลกกับอะไรมาหลายๆ อย่างในชีวิต ทั้งสุขภาพ ความสุข และความรัก แต่ก็ไม่เสมอไปดอกนะ ถ้าคุณยอมรับและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ ดูแลตัวเอง และใส่ใจคนรอบๆข้างได้ เปลี่ยนความเครียดให้เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง และแก้ไขให้ได้


คิดให้ดีและรอบคอบก่อนที่จะมาทำอาชีพในสายนี้

ทำให้เราเข้าใจได้เลยครับว่า “ทำไม กรรมการถึงต้องเลือกสรรหาคนที่มี Positive Thinking ก็เพื่อนำมาใช้ในวันที่เรากำลังเข้าสู่สภาวะความเหงา จนกลายมาเป็นโรคซึมเศร้านี่เองแหละครับ แล้วเราจะป้องกันการโรคเหงา ซึมเศร้า (Depression) นี้ได้อย่างไร ก็ไปออกกำลังกายกันสิครับ สายการบินที่ผมทำเขาให้สวัสดิการทั้งที่พัก ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ในอาคารที่พักฟรีๆ เพื่อให้สุขภาพกายและจิตใจของเราแข็งแรง ถ้าจะฝึกสวดมนต์ นั่งสมาธิ เปลี่ยนทัศนคติในแง่บวก หรือแลกเปลี่ยนเรื่องราว พูดคุยกับเพื่อนสนิท ออกไปพักผ่อนในเมืองให้พบผู้คน สถานที่ต่างๆ บ้าง มีความสุขกับอาหารโปรดสักมื้อ จะทำให้มีความสุขกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ดีขึ้น

ทีมไทย (ลูกเรือไทยในต่างแดน) ก็มักจะนัดพบกันในที่พักของคนใดคนหนึ่ง ทำอาหารไทยรับประทานด้วยกัน โดยนำเครื่องปรุงบางอย่างมาจากเมืองไทย เมื่อได้มีไฟลท์บินกลับบ้านของแต่ละคน รวมทั้งพืชผักบางอย่างที่หาไม่ได้ที่นี่ (ดูไบ) มันเป็นความสุขที่ทำให้หายคิดถึงบ้านได้ (ที่ดูไบอนุญาตให้จำหน่ายอาหารพวกเนื้อ หมู ไก่ และพืชผักหลายอย่างได้ ไม่เคร่งเหมือนประเทศมุสลิมอื่นๆ ครับ มีมะละกอ พริก กระเทียม มะนาว มะเขือเทศจำหน่าย ขาดแต่น้ำปลาร้าที่เราต้องหอบหิ้วมาจากไทยครับ คุณป้าผมนี่ต้มสุก ปรุง แบบแซบ! บรรจุขวดแน่นหนาให้ มาใช้ปรุงส้มตำรสเด็ดบริการลูกเรือถึงดูไบกันเลยทีเดียว)

และสิ่งสำคัญคือ การปรับตัวจากโลกภายนอก การที่ได้เจอโลกกว้าง คือ การได้เรียนรู้ ทำให้เห็นว่า ชีวิตทุกชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีต่อตัวเรา ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก แค่เปลี่ยนความคิดในแง่ดี ทุกอย่างก็จะมีความสุขกับสิ่งรอบๆ ตัวแล้ว ถ้าคุณพร้อมก็เตรียมตัวกันได้ตามนี้เลยครับ…


คุณจะไม่เหงาถ้ามีเพื่อน (ลูกเรือคนไทย) ได้พบปะกันบ้างบางเวลา เมาส์มอย…

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)