aeroflot_cabin_crew_02

คำถามที่พบประจำ… นำมาสรุปอีกทีนะครับ

วามจริงก็เขียนบล็อกนี้ขึ้น จากประสบการณ์ของตัวเอง และแรงบันดาลใจที่อยากให้มาทำอาชีพนี้ ไว้ครบทุกขั้นตอนแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามเดิมๆ ทุกครั้งให้ต้องตอบ อาจเป็นเพราะว่าไม่อยากอ่านยาวๆ หลายตอน อยากอ่านทีเดียวจบเลย งั้นก็ตกลงตามนั้นครับ สำหรับน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่ในชั้น ม.ปลาย หรือมหาวิทยาลัย แล้วอยากเตรียมตัวไว้ก่อน หรือคนที่ทำงานอยู่แล้ว แต่อยากเปลี่ยนสายงานมาเป็นแอร์-สจ๊วตบ้าง ต้องเริ่มจากตรงไหนดี??

เริ่มจากไหนดีน๊า… ก็ต้องบอกว่า “มาเริ่มจากตัวเองก่อน สำรวจตัวเองว่า มีคุณสมบัติเบื้องต้นดังต่อไปนี้ หรือไม่??”

ความสูงและสัดส่วน

ข้อนี้สำคัญมาก ต้องมีความสูง 156 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ความสูงที่แนะนำคือ สุภาพสตรีต้องสูง 160 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะกว่า 80% ของสายการบินทั่วโลกที่เปิดรับ ส่วนสูง 160 เป็นมาตรฐาน น้ำหนักต้องได้สัดส่วนกับส่วนสูง คือ ส่วนสูงลบด้วย 110 บวกลบซัก 5 กิโลกรัม กำลังพอเหมาะ (เขาเรียก ดัชนีมวลกาย BMI) ค่า BMI ควรอยู่ที่ประมาณ 18.5 – 22.9 สำหรับคนไทย ยกเว้นบางสายการบินที่กำหนดช่วงน้ำหนักมาเป๊ะๆ นะ (อันนั้นค่อยว่ากัน) รูปร่างสมส่วนนะดีที่สุด

สำหรับคนที่มีความสูงเกินกว่า 165 เซนติเมตรขึ้นไป ก็ยินดีด้วยครับ คุณสามารถสมัครได้ทุกสายการบินแบบครอบจักรวาล สำหรับสุภาพบุรุษสายการบินส่วนมากจะรับที่ 170 เซนติเมตรขึ้นไป มีบางสายรับน้อยกว่านั้น แต่ก็ไม่ต่ำกว่า 165 เซนติเมตร สำหรับคุณผู้หญิงนั้น บางสายการบินไม่ได้กำหนดส่วนสูงไว้ แต่กำหนดให้ต้องเอื้อมแตะให้ถึงที่ระยะ 208 – 212 เซนติเมตร (เขย่งจิกเท้าแบบบัลเลย์ได้ ความสูงนี้คือระยะสูงสุดของตู้เก็บสัมภาระเหนือศรีษะที่นั่งผู้โดยสารครับ ถ้าได้ขึ้นเครื่องก็ลองยกฝาปิดขึ้นดูทำได้สะดวกไหม? ต้องเขย่งเท้าบ้างไหม?) สำหรับท่านที่ความสูงไม่ถึง 160 ก็คงต้องรอสมัครเฉพาะสายการบินที่กำหนดให้เอื้อมแตะถึงแบบนี้ ไปลองหัดเอื้อมแตะดูว่าพอจะ OK ไหม?

การศึกษา

โดยส่วนใหญ่แล้ว จะรับสมัครคนที่จบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรี (ทุกสาขา) แม้จะมีบางสายการบินจะบอกแค่ว่า จบการศึกษาระดับชั้น ม.ปลาย ก็รับ (เช่น สายการบินในแถบตะวันออกกลาง) แต่ปริญญาตรีคือ มาตรฐานทั่วไปของสายการบินส่วนมาก จบคณะอะไร สาขาอะไรก็ได้ ขอให้ได้ภาษาอังกฤษเจ๋งๆ หน่อยก็พอ ตอนเรียนก็ตั้งใจเรียนสิ่งที่ชอบไปเถอะ (ผมยังเรียนรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR@CU) มาเลย ตามใจบุพการีในตอนแรกเลย และมาพบว่านี่แหละใช่ตัวเองในตอนเรียนปีที่ 2 แล้ว แต่ก็ยังฝันกับอาชีพบนฟ้าเหมือนเดิม)

สถานภาพการสมรส

ต้องโสด !! (แต่ก็มีแฟนได้นะ) โสดในที่นี้คือโสดในด้านกฏหมาย (นิตินัย ยังไม่จดทะเบียนสมรส) ถ้าจะแต่งงานได้มั้ย ตอบว่าได้ แต่อย่าให้เขารู้ และอย่าพึ่งไปจดทะเบียนสมรส เอาไว้ให้ติดปีกได้ก่อน ค่อยไปจดทะเบียนตามกฎหมายก็ยังไม่สาย (แต่บางสายการบินจะระบุไว้ในสัญญาว่า ต้องทำงานกี่ปีถึงจะสมรสได้ก็มีนะ)

กรณีศึกษา เมื่อต้นเดือนกันยายน 2018 แอร์โฮสเตสของ สายการบิน China Eastern Airlines ถูกไล่ออกจากงาน หลังจากแฟนทำเซอร์ไพรซ์ขอแต่งงานบนเครื่องบิน ที่เธอกำลังปฏิบัติงานอยู่ ควรศึกษาระเบียบปฏิบัติของแต่ละสายการบินให้ดีนะครับ น่าเห็นใจจริงๆ 😡

ความสวยหน้าตา/ผิวพรรณ

หน้าตาสวย/หล่อ ผิวพรรณ มีความสำคัญ แต่ใช่ว่าคนไม่สวยจะเป็นแอร์ไม่ได้ ความสวย คือ ส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดให้กรรมการประทับใจแค่นั้น ที่เหลือมาวัดกันที่ความสามารถ ปฏิภาณไหวพริบ และดวงเฮงของคุณ เราควรหมั่นดูแลรักษาหน้าตา ผิวขาวหรือดำก็ไม่สำคัญ แต่ต้องสะอาดสะอ้าน ไร้สิวฝ้าจุดด่างดำ (แล้วถ้ามีสิวตอนเปิดรับสมัครละคะ? แหม่ๆ ก็แต่งหน้ากลบด้วยเครื่องสำอางค์ให้มิดก็เท่านั้น)

ควรหัดแต่งหน้า ทาปาก ทำผม ให้ได้ด้วยตัวเอง นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หากว่าวันนึงเราได้เป็นแอร์ขึ้นมาจริงๆ จะได้ทำได้ด้วยตัวเอง บางทีเราอาจจะต้องแต่งหน้าทำผมให้ได้ภายในสิบนาที เพราะโดนเรียกให้ไปขึ้นบินกระทันหัน จากการรอบิน (Stand by) ซึ่งในหนึ่งปีจะมีอยู่หนึ่งเดือนที่ไม่มีตารางบินประจำ คอยเป็นทัพเสริมเมื่อมีคนขาด ลา ก็เป็นได้ (แม้เขาจะมีหลักสูตรการแต่งตัวให้ดูดี ในขั้นตอนการฝึกอบรมก่อนเข้าทำงานอยู่ก็ตาม) เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมโดนจัดเข้าโหมดสแตนด์บายทั้งเดือนเลย แต่ก็ได้บินไปยุโรป ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่นหลายเที่ยวอยู่

ใครอยากเป็นแอร์-สจ๊วต อย่าคิดสักลวดลาย (Tattoo) บนร่างกาย ตรงไหนก็ตามที่สามารถมองเห็นภายนอกร่มผ้า แล้วขอบเขตนอกร่มผ้าอยู่ตรงไหน? ก็ต้องบอกว่า ถ้าใส่ชุดว่ายน้ำแล้ว มองไม่เห็นรอยสักก็ OK แผลเป็นนอกร่มผ้า ถ้าเป็นแผลเป็นเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใหญ่ยาว จนน่าเกลียด เอาเครื่องสำอางกลบได้ ก็ไม่ต้องกังวลไป ตราบใดที่เอาเครื่องสำอางกลบมิด หรือมองเห็นจางๆ บางๆ ถือว่าโอเค สายตาสั้น/ยาว/เอียงไม่เป็นไร แก้ไขได้ด้วยคอนแทคเลนส์ แต่อย่าใส่แว่นตาหนาเตอะไปสมัคร

ฟัน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องดูแล อาชีพนี้เราขายรอยยิ้ม ต้องยิ้มสวย ฟันสะอาดเรียงสวย (ถ้าขาวจะดีมาก) กลิ่นปากไม่ควรมี ถ้าฟันเก ฟันเขทำยังไง ก็ควรไปแก้ไขก่อนการสมัคร (ดัดฟันสมัครได้มั้ย? ควรไปเอาเหล็กครอบฟันออกก่อน แล้วค่อยมาสมัคร) ใครอยากดัดฟันก็ดัดตอนที่ยังเรียนอยู่นี่แหละ พอเรียนจบแล้วจะได้พร้อมสมัครเลย

ภาษาอะไรสำคัญที่สุด

ภาษาสำคัญมากๆๆๆ ภาษาที่ต้องได้คือ ภาษาอังกฤษ และต้องมีผลการสอบ TOIEC ขั้นต่ำที่แนะนำคือ 600 คะแนนขึ้นไป ถ้าจะให้สมัครได้ครอบคลุมทุกสายคือ 700+ ขึ้นไป (ตอนนี้เห็นสายการบินหนึ่งรับต่ำสุดที่ 730+ นะครับ) แนะนำให้สอบทุกปี เพราะสายการบินบางสายจะรับผลการสอบ TOIEC ที่มีอายุปีเดียวเท่านั้น ไม่แนะนำให้ไปสอบตอนที่สายการบินนั้นๆ เปิดรับสมัคร เพราะคนจะสอบเยอะมาก กว่าจะรอผลการสอบออกอีกจะไม่ทันเอา ไปสอบเตรียมไว้ก่อนเลยดีกว่า พอเปิดแล้วยื่นได้ทันที ลำบากตอนนี้สบายตอนหลังนะครับ สู้ๆๆๆ

การทดสอบภาษาอังกฤษนี่จำเป็นไหม ต้องเป็น TOIEC เท่านั้นของ TOEFL, IELTS ได้ไหม? ได้ครับ แต่ส่วนใหญ่เขาประกาศรับ TOIEC ที่เป็นการทดสอบภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสารในการทำงานของคนต่างชาติ ไม่เน้นพวกศัพท์ทางวิชาการเหมือน TOEFL ที่มักจะนำไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และยังมีการทดสอบภาษาอังกฤษของ บริษัทการบินไทย ที่ชื่อ THAI-TEP อีกอันหนึ่ง ที่หลายสายการบินรับรองนะครับ ไปสมัครสอบกันได้ (ถ้าสมัครสายการบินไทย ไทยสมายล์ ผลสอบอันนี้มีผลเลยทีเดียว เขาว่ามา…) ในทั้งหมดนี้ผมว่า TOIEC ง่ายกว่าเพื่อนนะ

ภาษาที่สาม!! สำคัญมั้ย?? ขอบอกว่าสำคัญมากกกกก… ภาษาที่แนะนำในการสมัครสายการบินในประเทศ และในแถบเอเชีย คือ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอื่นได้มั้ย? ได้ เช่น ภาษาอารบิค ภาษาในแถบยุโรป สแกนดิเนเวียน หรือแม้แต่ภาษาประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง เวียดนาม พม่า มาเลย์ ฯลฯ ก็ยังมีประโยชน์ จริงๆ นะ ขอให้ได้ซักภาษาเถอะนอกจากภาษาอังกฤษ แต่ถ้าจะให้ดีควรมีใบรับรองผลด้วยนะว่า เราอยู่ในระดับใด (แล้วถ้าได้แต่ภาษาอังกฤษล่ะ ได้รึเปล่า?? ได้ครับ แต่โอกาสที่จะได้งานก็ลดหลั่นกันลงมา นอกจากจะมีส่วนอื่นมาทำให้กรรมการชอบเรา เห็นว่าเราเหนือกว่า)

สำหรับคนที่ไปสมัครสายการบินของเวียดนาม (VietJet, Bamboo) เกาหลี (Asiana, Korea) จีน (China, Hainan, Eastern, Southern etc.) ญี่ปุ่น (JAL, ANA) เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วไปเทรน จะมีคอร์สเรียนการสื่อสารภาษาท้องถิ่นของสายการบินนั้นๆ ด้วยนะ เพราะจำเป็นต้องพำนักในสถานีเบสของสายการบินในเมืองต่างๆ รวมทั้งต้องบินในเส้นทางภายในประเทศด้วย ไม่ได้บินอินเตอร์อย่างเดียว การเตรียมตัวศึกษาภาษาเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าย่อมดีกว่าครับ

นอกจากนั้น ภาษาไทย ก็จำเป็นมากสำหรับการสมัครสายการบินในประเทศ การออกเสียง ร ล ควบกล้ำ ให้ชัดเจน ใครพูดไม่ชัดไปฝึกฝนให้ดี (อย่าเอาแบบร้องเพลงสไตล์ “พี่แช้” นะ) สำคัญมากจริงๆ

ควรมีประสบการณ์ด้านใดเพิ่มเติม

ประสบการณ์ สำหรับน้องๆ ที่ยังเป็นนักศึกษา ถ้ามีโอกาสไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ โครงการแลกเปลี่ยน Work Travel อะไรก็ไปเถอะ พอจบมาจะเป็น Profile ที่ดีในการสมัครงานแน่นอน แต่ถ้าใครที่ไม่มีโอกาสได้ไป ก็ไม่ต้องจำเป็นต้องเสียเงินเสียทองอะไร ไปขอฝึกงานนี่แหละ หาฝึกงานด้านสายการบิน การโรงแรม การท่องเที่ยว สายงานบริการทุกอย่าง ไปฝึกงานเอาประสบการณ์ ได้พบเจอลูกค้า ได้พบเจอปัญหาตอนทำงาน เป็น Profile ที่ดีมากไม่แพ้กันสำหรับคนที่ทำงานแล้ว คนที่ทำงานสายงานบริการอยู่แล้ว เมื่อมาสมัครลูกเรือก็จะค่อนข้างได้เปรียบในเรื่อง “การแก้ปัญหา” กรรมการมักจะชอบ

อย่างผู้เขียนก็ผ่านการฝึกงานที่สายการบินไทย ในตอนเรียน ป.ตรี เคยทำงานด้านบริการที่ Swensens (พูดซะโก้ จริงๆ คือไปเป็นพนักงาน Part times แต่ก็ได้ไปเรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการ พบปะลูกค้าหลายรูปแบบ ขายไอศกรีมก็สำคัญนะเออ) เคยทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ ปิดภาคเรียนที่ TOIEC ก็เคยทำมาก่อน (บังเอิญได้คะแนนสอบดีพี่ๆ เขาให้โอกาสได้เรียนรู้งาน เป็นกรรมการดำเนินการสอบในต่างจังหวัด) ก็นับเป็น Profile ที่ใส่ใน Resume ได้

แต่ถ้าไม่ได้ทำด้านบริการล่ะ มีคนที่สมัครแอร์-สจ๊วต ที่จบทางด้านหมอ พยาบาล วิศวะ สถาปนิก นักกฎหมาย เยอะแยะไป พยายามดึงเอาประสบการณ์ที่ได้รับจากงานของตัวเองที่ร่ำเรียนมานี่แหละ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ว่าจะมาใช้อะไรในงานแอร์-สจ๊วตได้บ้าง เน้นด้านการทำงานแบบ Team work การแก้ไขปัญหา การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และที่สำคัญคือ ทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการ ช่วยได้ในเรื่องการตอบคำถาม พยายามคิดแง่บวกเข้าไว้เสมอ

การแต่งกายสำหรับการสมัคร

การแต่งกาย ในการเตรียมตัวสมัครนี่ถ้าใครมีงบน้อยๆ จะหยิบยืมเพื่อน หรือซื้อสูทสำเร็จรูปราคาถูกก็ได้ แต่ผมอยากแนะนำให้ตัดใส่เองมากกว่า จะได้สูทเข้ารูปพอดีตัว ลงทุนครั้งเดียว ใส่สมัครได้หลายงาน หาแบบสวยๆ ที่ถูกใจเรา ให้ดูแบบที่เป็นทางการหน่อยนะครับ ไม่ควรจะเป็นแบบแฟนซีจ๋ามากเกินไป หาสูทที่สวยเหมาะกับเรา เสริมบุคลิกภาพให้เราดูดี (ประสบการณ์ครั้งแรกที่ไปสมัครกาตาร์ที่สิงคโปร์ ซื้อสูทสำเร็จไปถ่ายรูปและสมัคร นำมาเทียบกับตอนตัดสูทใหม่เองเพื่อไปสมัครเอมิเรตส์ แล้วเห็นต่างชัดเจนเลยครับเป็นคนละคนเลย มิน่าถึงไม่เข้าตากรรมการที่กาตาร์)

สำหรับผู้ชาย ใส่สูทผูกไทด์ เซ็ททรงผมให้ดูดี ผมไม่ยาวรุงรัง ไม่เซ็ทแหลมเป็นหนามทุเรียน เล็บตัดให้สั้น สะอาด ใส่ถุงเท้าสีล้วนแบบสุภาพ (ไม่เอาชมพูแปร๊ดนะ อันนั้นเอาไว้ใส่ที่บ้านตัวเองเถอะ) รองเท้าหนังสีดำ ขัดให้มันวาวหน่อย (ไม่เอาหัวแหลมๆ แบบพระอินทร์นะเออ)

สำหรับคุณผู้หญิง ควรเก็บผมให้เรียบร้อย ไม่รุงรัง มีหลายทรงสวยๆ เยอะแยะ ติดกิ๊ฟสีดำเนียนๆ อย่ามีดอกดวงใหญ่เบ้อเร่อนะ ลองหัดทำดู แต่งหน้าให้เหมาะกับสายการบินที่จะไปสมัคร ทาเล็บสีล้วนสุภาพ ให้สวยควรเป็นสีเดียวกันกับลิปที่ทาปาก (ดูตัวอย่างจากลูกเรือสายการบินนั้นๆ ก็ได้เป็นแนวทาง)

แต่งหน้าให้เหมาะกับตัวเอง ไม่ต้องไปตามกระแส เค้าบอกแดงก็แดงตาม ถ้าแดงแล้วสวยก็ทาไป ตุ้มหูแนะนำตุ้มหูมุกขนาดกลมๆ เล็กๆ ติดหู ใช้ได้ครอบจักรวาลใส่ไปสมัครได้ทุกสายการบิน ควรใส่ถุงน่อง (สีที่แนะนำคือ สีเนื้อ) รองเท้าคัทชูมีส้นแบบสุภาพ กระเป๋าที่เข้ากับชุด และที่สำคัญทั้งผู้ชาย และผู้หญิง ควรใส่นาฬิกา (แบบสุภาพ) ไปด้วยนะ เอาไว้ดูเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ (บางคนบอกดูในโทรศัพท์ก็ได้ ไม่เหมาะครับ กรรมการเขาจะไม่คิดว่าคุณดูเวลานะสิ เสียคะแนนไปเยอะเชียว)

การเตรียมเอกสาร/ภาพถ่าย

ก่อนวันที่จะไปสมัคร นั่งทำ Check list เอกสารที่จะเอาไปสมัคร เอกสารที่สายการบินต้องการ เอาไปทั้งตัวจริงและสำเนา (ควรพกสำเนาเพิ่มไปให้เกินจำนวนด้วย เผื่อเหลือ เผื่อขาด เผื่อหาย) รูปถ่ายทุกรูปควรเขียนชื่อ-สกุล เบอร์โทรศัพท์ไว้ด้วย (เผือหลุดออกจากเอกสาร Resume จะได้รู้ว่าเป็นของใคร) พกปากกา ดินสอ กาว คลิปหนีบ และปากกาลบคำผิดไปด้วยนะจ้ะ ยามจำเป็นจะได้หยิบมาใช้ได้ทันการ (ในกระเป๋าถือผู้หญิง หรือซองเอกสารคุณผู้ชาย)

รูปถ่าย หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ รูปแบบเต็มตัว (full length photo) และรูปถ่ายขนาด Passport size นั่นคือ รูปถ่ายสองนิ้วสมัครงานนะครับ ไม่ใช่รูปใหญ่ยักษ์เท่าพาสปอร์ตนะเออ และมีรูปถ่ายแบบ Casual half-length photo คือภาพถ่ายแต่งกายแบบลำลอง ยิ้มแย้มได้เต็มที่ ถ่ายคนเดียวครึ่งตัวหรือเต็มตัว ตอนนี้มีหลายร้านที่รับถ่ายรูปสมัครแอร์-สจ๊วตเป็นการเฉพาะ (หาใน Google ได้ไม่ยาก) ผมจะไม่แนะนำร้านไหนเป็นพิเศษ แต่อยากให้พิจารณาตัดสินใจด้วยตัวเอง ดูจากผลงานร้านต่างๆ ว่าเราชอบแบบไหน ราคาเป็นยังไง ได้ไฟล์รูปรึเปล่า เอาไปอัดเพิ่มได้มั้ย ต้องเสียเงินอะไรเพิ่มพิเศษรึเปล่า ถ้าไม่ได้ไฟล์แต่ถ่ายออกมาสวยมาก ก็เอาภาพไปแสกนไว้ สำหรับสมัครออนไลน์แทนก็ได้

เลือกร้านที่ถ่ายเราสวยที่สุด อย่าเลือกร้านที่ถูกที่สุด ถ่ายรูปครั้งเดียวให้สวยๆ ไปเลยจะได้ใช้ได้ตลอด เพราะบางครั้งกรรมการก็คัดเลือกจากการดูแค่รูป ส่วนตัวจริงค่อยมาว่ากันอีกที ควรมีพี่ มีเพื่อนที่สนิทไปด้วย คอยตรวจสอบจัดแจงการแต่งตัวให้เราดูดี ช่วยเลือกรูปว่าจะสั่งอัดภาพไหนดี

การว่ายน้ำและสุขภาพร่างกาย

การว่ายน้ำ แอร์-สจ๊วตบางสายการบินไม่ได้ระบุว่า ต้องว่ายน้ำได้ แต่บางสายการบินก็ต้องการคนว่ายน้ำเป็น (เพราะในการบินนั้นจะอยู่เหนือทั้งพื้นดินและพื้นน้ำ เมื่อมีเหตุฉุกเฉินขึ้นมา นอกจากจะช่วยตัวเองให้รอดแล้วยังต้องช่วยเหลือผู้โดยสารด้วย) เคยมีบางคนสอบแอร์ได้ ผ่านการสัมภาษณ์ไฟนอลเรียบร้อย แต่ต้องไปไม่ถึงฝันที่ด่านว่ายน้ำ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น อย่าให้การว่ายน้ำเป็นจุดอ่อนของเรา ไปฝึกว่ายให้เป็นกันอย่างน้อย 50 เมตรสำหรับผู้หญิง และ 100 เมตรสำหรับผู้ชาย (โดยไม่มีเครื่องช่วยพยุง) ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เมื่อก่อนว่ายไม่ถึง 50 เมตรก็หอบแล้ว แต่ด้วยแรงฮึดตอนนี้ว่ายน้ำ 500 เมตรก็ยังไหว แค่อยากจะบอกว่า มนุษย์เราตั้งใจทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น

สุดท้ายคือ สุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ เลือดจางก็หายาบำรุงซะ ใครยังไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอ-บี ก็ไปฉีดกันไว้เราไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนเจออะไรบ้าง ก็แนะนำให้ไปฉีดที่ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย จะได้สมุดเล่มเหลืองรับรอง บางสายการบินถ้าเป็นลูกเรือเค้าแล้ว ต้องไปฉีดวัคซีนตามกำหนด และต้องมีสมุดบันทึกรับรอง ไปฉีดกันไว้ก่อนไม่เสียหาย เพราะบางโรคเป็นแล้ว ไม่สามารถเป็นแอร์สจ๊วตได้เลย

ฟันควรได้รับการดูแล ขัดให้ขาวแวววาว ดูดี ดูแลตัวเองให้ดีๆ นี่คือด่านสุดท้ายของการคัดเลือกแล้วถ้ามีคุณสมบัติดังที่กล่าวมา ก็สามารถสมัครได้ทุกสายการบินที่จะเปิดรับแน่นอน

อายุนั้นก็สำคัญนะ

ข้อจำกัดที่ยังไงก็ไม่สามารถแก้ไขได้ แม้จะมีความสามารถมากมายขนาดไหนคือ “อายุ” เพราะถึงแม้จะสวย หุ่นดี เก่ง พูดได้ตั้งสิบภาษา แต่อายุเกินที่สายการบินนั้นเปิดรับก็หมดสิทธิ์ทันทีนะครับ อาชีพนี้อายุเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสุภาพสตรีอายุการทำงานในสายอาชีพนี้มักจะไม่ยืนยาวนัก รีบสมัครทำก่อนจะสายเกินไป

โดยทั่วไปสายการบินต่างๆ จะรับพนักงานใหม่ที่เป็นวัยรุ่น หนุ่ม-สาวที่กำลังมีไฟ เพิ่งจะสำเร็จการศึกษาใหม่ๆ ช่วงอายุส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ระหว่างอายุ 21 – 28 ปี แม้จะมีบางสายการบินที่รับต่ำกว่านั้นเช่นรับ 18 ปี แต่มักจะเป็นคนของประเทศที่สายการบินนั้นตั้งอยู่ และทำการบินเฉพาะภายในประเทศนั้นๆ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายแรงงานในประเทศนั้นด้วย ถ้าเป็นสายการบินอินเตอร์บินไปทุกทวีปจะกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 21 ปี) ส่วนอายุที่เกินจาก 28 ปีจะมีบ้าง บางสายการบินรับ เช่น ทางเวียดนามรับไม่เกิน 30 ปี หรือสายการบินในอเมริกา ส่วนที่เราเห็นประกาศรับอายุมากกว่า 28 ปีขึ้นไปนั้น จะเป็นการรับสมัครลูกเรือที่มีประสบการณ์ผ่านงานลูกเรือ (Ex-Crew) มาแล้ว เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าลูกเรือ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสเข้ามาในเวลาที่เราสามารถจะสมัครได้ อย่าลังเล อย่าคิดว่าไม่พร้อม TOIEC ไม่มี ภาษาไม่ได้ รูปยังไม่ได้ถ่าย สูทยังไม่ได้ตัด พาสปอร์ตยังไม่ได้ทำ… โอกาสผ่านมาแล้วผ่านไป อย่าคิดว่าเดี๋ยวก็เปิดรับอีก ยกตัวอย่างการบินไทย ปิดรับไปสองสามปีเต็มๆ ตอนนี้ก็ยังไม่ประกาศรับอีกเลย ไม่แน่ว่ากว่าจะเปิดรับอีกครั้งนั้น อายุเราอาจจะเกินกว่าที่จะสมัครได้แล้ว จะมาบอก “รู้อย่างนี้…” ก็ไม่ทันเสียแล้ว

 

จำเป็นต้องไปเรียน/เข้าคอร์สเสริมก่อน ดีไหม?

เข้าคอร์สเตรียมแอร์สจ๊วตจำเป็นมั้ย? เห็นมีประกาศเชิญชวนเยอะแยะไปหมด ไม่จำเป็นเสมอไป ถ้าเรารู้จุดอ่อนของเรา และปรับปรุงแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียน อยากรู้สงสัยอะไรก็หาข้อมูลได้ บางคนหมดเป็นแสนเพื่ออยากจะติดปีก แต่ผมก็เข้าใจอารมณ์คนที่อยากจะเป็นมากๆ นะ เสียเท่าไหร่ก็ยอม การไปเรียนก็เหมือนมีคนมาคอยไกด์ คอยให้คำแนะนำ แก้ไขปรับปรุง ชี้จุดด้อย ดึงจุดเด่น อำนวยความสะดวกให้ ติดตามข่าวรับสมัครของสายการบินต่างๆ มาบอก ให้เตรียมตัว เตรียมเอกสารต่างๆ แต่สุดท้ายแล้ว คนที่จะต้องพยายามมากที่สุดก็คือ “ตัวเราเอง” ในห้องสอบสัมภาษณ์ก็มีแต่ตัวเราเองเท่านั้น ที่จะต้องตัดสินใจตอบคำถามด้วยสติ และความเชื่อมั่น

ผมก็ไม่ได้เรียนเสริม เข้าคอร์สอะไรมาก่อน อาศัยการอ่านการค้นคว้าหาข้อมูล เข้าไปสำรวจในทุกเว็บไซต์ของสายการบินที่เราสนใจ ดูว่า บริษัทเขามีแนวนโยบายอย่างไร เป้าหมายในการบริหารงานอย่างไร ต้องการลูกเรือแบบไหน มีเป้าสำหรับการบริการผู้โดยสารอย่างไร เพื่อที่เราจะได้ข้อมูลมาใช้ในการสอบสัมภาษณ์ ตอบให้ตรงใจกรรมการที่มาคัดเลือกมากที่สุด คู่แข่งของเราไม่ใช่หลักร้อย แต่เป็นหลักพัน หรือหลายพัน ไม่ได้มีแต่คนไทย แต่มีคนสมัครมาจากชาติอื่นๆ อีกมากมาย เราต้องสามารถสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ กับเพื่อนเหล่านี้ได้ ทำให้กรรมการเห็นให้ได้ว่า เรานั้นสามารถทำงานเป็นทีมกับเพื่อนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมได้ จึงจะชนะ ตอนไปร่วมกิจกรรมการสัมภาษณ์ต้องเป็นคนที่ Friendly มากๆ พยามยามคุยสื่อสารกับเพื่อนๆ ต่างชาติไว้ เพราะนอกจากจะอยู่ในความสนใจของกรรมการแล้ว ถ้าถึงตอนทำ Group Discussion เราจะได้มีเพื่อนช่วยกันทำกิจกรรมครับ

กับเพื่อนๆ ไทยทีม@เอมิเรตส์

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)