COVID-19 Disruption All World.

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบทางการเงินในภาวะฉุกเฉินของธุรกิจสายการบินต่างๆ ทั่วโลกว่า ในสถานการณ์การระบาดไปทั่วโลกของ “ไวรัสโคโรนา (COVID-19)” ทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศทั่วโลกปั่นป่วน เริ่มมองเห็นการสูญเสียรายได้ทั่วโลกในปี 2020 สำหรับธุรกิจการรับส่งผู้โดยสารอาจมีมากถึง 113 พันล้านดอลลาร์ และส่งผลกระทบไปยังธุรกิจอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ธุรกิจการขนส่งอื่นๆ ทั้งทางบกและทางน้ำที่เกี่ยวเนื่องกัน (ภาพหัวเรื่องไม่ใช่งาน Air Show นะครับ)

แม้แต่ยักษ์ยังยืนเหงาไร้เงาผู้คนในสนามบินสุวรรณภูมิ

สายการบินทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหาการยกเลิกการเดินทาง และจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง จนต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินไป และเริ่มเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการสั่งปิดสนามบินต่างๆ ในหลายประเทศที่มีการระบาดมากยิ่งขึ้น เริ่มจากประเทศจีนก่อนเป็นลำดับแรก (เมืองวู่ฮั่น) และกระทบเป็นลูกโซ่เรื่อยๆ มาสู่ประเทศอื่นๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกา ตะวันออกกลาง ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีเครื่องบินที่ยังคงบินบนท้องฟ้าในการรับส่งผู้โดยสารเหลือน้อยมากๆ ไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ ที่ยังเหลืออยู่ก็จะเป็นเครื่องบินรับ-ส่งสินค้า (Air Cargo) เสียส่วนใหญ่ ที่ยังคงบินรับส่งพัสดุภัณฑ์ทางด้านอาหาร เวชภัณฑ์ทางการแพทย์เท่านั้น (ท่านสามารถจะดูปริมาณความหนาแน่นของการบินบนโลกได้แบบ Real time ไดที่ Flightradar24 คลิกเลย)

สถานการณ์ที่ต้องจอดเครื่องบินเต็มลานจอดจากการระบาดของโควิด-19

ในประเทศไทยในวันนี้ (7 เมษายน) ที่เขียนบทความก็ยังเหลือเพียงสายการบิน นกแอร์ และไทยเวียตเจ็ต ที่ยังคงทำการบินอยู่ (แต่ลดเที่ยวบินลง) สายการบินอื่นๆ ทั้ง ไทยไลออ้อนแอร์ (ยกธงขาวไปก่อน) ตามด้วย แอร์เอชีย การบินไทย บางกอกแอร์เวยส์ ไทยสมายล์ ต่างก็ประกาศหยุดบินตามๆ กันมา นี่ไม่ใช่สถานการ์เลวร้ายเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นไปทั่วโลก มีสายการบินประกาศหยุดบินนับร้อยสายการบิน ที่น่าเห็นใจอย่าง Cathay Pacific ที่โดนพิษการประท้วงในฮ่องกงมายาวนานกว่าครึ่งปี พอมาเจอโควิดเข้าก็ประกาศให้พนักงานลาพักไม่รับเงินเดือนได้ 3 เดือนเลยทีเดียว ส่วน ฮ่องกง แอร์ไลน์ บริษัทลูก (สายการบินต้นทุนต่ำ) ของคาเธ่ย์ ถึงกับสั่งปิดพักงานกันเลยเนื่องจากเส้นทางบินในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มีผลกระทบมาก

เต็มลานจอดแทบไม่มีช่องว่างเพราะโดนโคขวิดเข้าให้

Qantas สายการบินใหญ่ประจำชาติของออสเตรเลีย ก็ประกาศหยุดทำการบินทุกเส้นทางทั้งในและนอกประเทศ จากการที่รัฐบาลออสเตรเลียห้ามคนของตนเดินทางออกนอกประเทศ และก็ไม่มีใครนึกถึงว่า สายการบินต้นทุนหนัก กระเป๋าตุงๆ ของเศรษฐีบ่อน้ำมันอย่าง Qatar, Etihad, Fly Dubai และ Emirates ก็ประกาศหยุดบินด้วย แม้ในภายหลัง Qatar จะประกาศกลับมาบินในบางเส้นทาง ที่ยังมีผู้โดยสารตกค้างอยู่บ้างก็ตาม ส่วนตัวผมและผองเพื่อนลูกเรือ/นักบินก็ถูกสั่งให้ Quarantine ในที่ตั้ง ณ นครดูไบ UAE เป็นเวลา 3 เดือน กลับเมืองไทยไม่ได้ แต่โชคดีหน่อยที่ท่านประธานบริษัท (CEO) ยังคงจ่ายเงินเดือนให้ทุกคนปกติ แต่ไม่มีเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ซึ่งเป็นรายได้ของพวกเราเกินครึ่ง (แต่ก็ยังให้ที่พัก ไฟฟ้า ประปาฟรีกับเราเหมือนเคย เว้นแต่อาหารและค่าอินเทอร์เน็ตที่จ่ายเอง)

Qantas ของออสเตรเลียยกเลิกบินเส้นทางทั้งในและต่างประเทศ

สัปดาห์แรกก็ชิวๆ ยิ้มร่าเดินเข้าฟิตเนส ทำอาหารกินกันในที่พักกับกลุ่มลูกเรือไทยสนุกสนาน แต่พอพ้น 7 วันไป ชักเริ่มจะหมดมุกในการคิดเมนูอาหารใหม่ๆ กันแล้ว ด้วยความจำกัดของวัตถุดิบด้วย (มีไม่เยอะแบบในตลาดเมืองไทย) หมูยอ ไส้กรอกอีสาน เส้นก๋วยจั๊บ พริกป่น กระเทียมเจียว ที่เคยบินกลับเมืองไทยไปตุนมา ก็เริ่มเหลือน้อยร่อยหรอ การขนส่งต่างๆ ในดูไบเริ่มถูกสั่งหยุดให้บริการ (รถไฟฟ้า รถโดยสาร) รวมทั้งมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด (ในตะวันออกกลางก็ระบาดนะครับ แต่ไม่หนักรุนแรงมากเหมือนที่อื่น) โดยรัฐก็ออกกฎคุมสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ศูนย์การค้า และมีเคอร์ฟิวตามมาด้วยในช่วงหลัง ทำให้เริ่มจะเซ็งๆ กว่าจะผ่านพ้น 3 เดือนได้บินอีกครั้งนี่จะไหวไหม คงต้องไหวแหละครับ เพราะต้องฟิตแอนเฟิร์มพร้อมบินเสมอนะครับ (เพราะมีการใช้บินเที่ยวพิเศษเช่าเหมาลำบ้างในช่วงนี้ ส่งผู้คนที่ตกค้างใน UAE กลับประเทศในแถบยุโรป ตอนนี้สนามบินดูไบปิดสำหรับเที่ยวบินโดยสารครับ)

ตารางคาดการณ์ความสูญเสียรายได้ของอุตสาหกรรมการบิน

หมายเหตุ: ตัวเลขการสูญเสียรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการทับซ้อนของบางตลาด เช่น รายได้จากประเทศจีนและเยอรมนีทั้งสองมีรายได้สำหรับตลาดจีน – เยอรมนี

พอพูดถึงกระทบทางด้านจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงแล้ว เราก็ยังมีข่าวดีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง แต่… เมื่อเราขึ้นบินกันไม่ได้ ความได้เปรียบด้านราคาน้ำมันจึงไม่ค่อยมีผลกับธุรกิจการขนส่ง เมื่อไม่มีการเคลื่อนที่เลย น้ำมันที่ลดราคาลงไปไหนไม่ได้ก็ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี (คุณพ่อที่บ้านผมกล่าวไว้ “น้ำมันถูกมากเติมแค่เต็มถังแล้วจบเลย มันลดลงมีผลน้อยมาก ก็ไปได้แค่ตลาดสดเท่านั้นไปเที่ยวไหนไม่ได้” เศร้า) ที่ได้เปรียบและได้กำไรในสถานการณ์นี้คือ Cargo รายใหญ่ๆ ทั้ง UPS, DHL และสายการบินขนส่งอื่นๆ (รวมทั้ง Emirates Cargo ของเราด้วย) เพราะค่าขนส่งราคาดีดขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถูกลง

ที่หลายๆ คนสอบถามถึงการรับสมัครลูกเรือ ช่วงนี้ก็ต้องบอกว่า “ทุกสายการบินพยายามรักษาคนเก่าเอาไว้ ด้วยการแบกภาระค่าใช้จ่ายไว้บางส่วน ด้วยวิธีการแตกต่างกัน เช่น ให้เงินเดือนแต่ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ลดเงินเดือนลง 10-50% มีการอนุญาตให้ลาพักได้ 30-45 วันโดยไม่รับเงินเดือน ที่มีภาระมากๆ ก็อาจถึงขั้นจ้างออกในคนที่เข้ามาทำงานไม่นาน จนกระทั่งปิดธุรกิจตัวเองไปเลยก็มี ไม่เว้นแม้แต่นักบินหรือกัปตันนะครับตกงานเหมือนกัน” ดังนั้นในระยะนี้ถ้าหางานอะไรได้ก็ทำไปก่อน เงินเดือนน้อยก็ดีกว่าไม่มีเงินครับ

อาชีพที่มีผลกระทบในช่วงนี้มากที่สุดคือ “ธุรกิจเรือสำราญ” ครับ คงจะได้ข่าวคราวการติดเชื้อโควิดบนเรือสำราญหลายลำ ที่มีธุรกิจเดินทางท่องเที่ยวในน่านน้ำแปซิฟิกเมื่อไม่นานมานี้ เพราะมีผู้คนจำนวนมากบนเรือในระดับ 2,500 – 5,000 คน เมื่อมีการแวะรับนักท่องเที่ยวในเขตระบาดของโลก (เช่นในข่าวก็จอดรับที่จีน ฮ่องกง) ขึ้นเรือ ก็ทำให้มีการแพร่ระบาดของโลกเป็นวงกว้างบนเรืออย่างรวดเร็ว จากคนเดียวเป็นนับร้อยได้เพียงไม่กี่วัน ลงจากเรือไม่ได้เพราะไม่มีประเทศไหนให้จอดแวะ ลองคิดดูว่า นักท่องเที่ยวบนเรือจะประสาทเสียเพียงใด กลัว วิตกกังวลยิ่งกว่าพวกเราที่อยู่บนบกเสียอีก

เมื่อก่อนธุรกิจเรือสำราญจะเป็นที่นิยมกันมากในแถบยุโรป และอเมริกา โดยเฉพาะทางตอนเหนือของยุโรป เช่น กลุ่มประเทศทางนอร์เวย์ สวีเดน แล้วล่องเรือจากฟากฝั่งยุโรปตอนบน ล่องลงไปทางแถบอเมริกาใต้ ต่อมากำลังซื้อของทางฝั่งเอเชียมีมากขึ้น (จากเศรษฐีใหม่ชาวจีน) ธุรกิจนี้จึงขยายตัวมาทางเอเชีย โดยมีการล่องเรือจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ ไปจนถึง ศรีลังกา เกาะมัลดีฟส์ พอเกิดโรคระบาดไวรัสโคโรนาเท่านั้นแหละ บริษัทเรือสำราญซึ่งส่วนใหญ่เป็นของบริษัทในอเมริกา และยุโรป จึงประกาศหยุดการเดินเรือสำราญทุกลำก่อนสายการบินจะประกาศหยุดบินกันเสียอีก

ธุรกิจที่เกิดอาการซวนเซตามมาก็คือ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยวต่างๆ ธุรกิจรับจองที่พัก ทริปเดินทาง ไกด์นำเที่ยว ล้วนแต่จำเป็นต้องประกาศปิดตัวตามๆ กันไปในทุกมุมโลก คงอีกนานกว่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาครับ ยังพยากรณ์ไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ “สงครามโรค” ในครั้งนี้จะยุติลง

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)