Commercial Aircraft
มารู้จักผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารพาณิชย์กัน
ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องบินโดยสารที่ให้บริการในเชิงพาณิชย์ในโลกนี้ ดูเหมือนชื่อของ Boeing กับ Airbus จะเป็นเจ้าตลาดยอดนิยม นำมาใช้งานในสายการบินประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้ผลิตรายอื่นๆ อีกรายหลายที่ผลิตเครื่องบินโดยสารออกจำหน่าย เพียงแต่ยอดการผลิตและจำหน่ายสู้กับเจ้าใหญ่ 2 รายนี้ไม่ได้ และขนาดของตัวเครื่องบินก็ดูเหมาะสมกับการบินเส้นทางภายในประเทศ มากกว่าใช้กับการบินในเส้นทางไกลๆ ข้ามทวีป วันนี้ก็เลยเอาเรื่องราวผู้ผลิตเครื่องบินมาเล่าสู่กันฟัง ประดับความรู้กันหน่อยครับ
The Boeing Company
บริษัท โบอิ้ง เป็น บริษัทข้ามชาติอเมริกัน ที่ออกแบบผลิตและจำหน่ายทั้ง เครื่องบินโดยสาร เครื่องบินทางการทหาร จรวด ดาวเทียม อุปกรณ์ขับเคลื่อน และขีปนาวุธ ออกไปทั่วโลก บริษัท โบอิ้ง เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก จากรายได้ในปี 2560 และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยมูลค่าหุ้นโบอิ้งในตลาดทุน Dow Jones
โบอิ้งก่อตั้งโดย William Boeing เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน บริษัทโบอิ้งในปัจจุบันเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการของ Boeing เข้ากับ McDonnell Douglas (ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินในอเมริกาอีกราย) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1997 โดยอดีตประธานโบอิ้ง Philip M. Condit ยังคงดำรงตำแหน่งประธานและ CEO ของ Boeing ใหม่ ในขณะที่ Harry Stonecipher อดีต CEO ของ McDonnell Douglas เป็นประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ บริษัทโบอิ้ง ที่ควบรวมกันใหม่
บริษัท โบอิ้ง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ บริษัทได้แบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วนหลัก : ฝ่ายเครื่องบินพาณิชย์โบอิ้ง (Boeing Commercial Airplanes) และฝ่ายยุทโธปกรณ์โบอิ้ง (Integrated Defense Systems) ซึ่งดูแลเรื่องการผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศและอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร
ในปี 2560 โบอิ้งมียอดขาย 93.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับที่ 24 ในนิตยสารฟอร์จูน “Fortune 500” (2018) อันดับที่ 64 ในรายการ “Fortune Global 500” (2018) และติดอันดับที่ 19 จาก “บริษัท ที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดในโลก” (2018)
บริษัทโบอิ้งของสหรัฐฯ มีแนวความคิดว่า “ผู้โดยสารไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองใหญ่ โบอิ้งคาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะมีเป้าหมายการเดินทางเฉพาะจุด (Point to Point) จำนวนผู้โดยสารแต่ละจุดจึงไม่มากนัก แต่คุณค่าของเวลามีค่ามากขึ้น ดังนั้นการเดินทางจะต้องใช้เวลาสั้นลง โบอิ้งจึงคิดสร้างเครื่องบินที่บินได้เร็วขึ้นและไกลขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องจำนวนที่นั่งมากนัก”
คู่ปรับในตลาดกลางโดยเฉพาะสายการบิน Low Cost คือ Boeing 737max และ Airbus A320
Airbus Group
แอร์บัสกรุ๊ป เป็นบริษัทผลิตอากาศยานและระบบป้องกันประเทศของยุโรป เดิมก่อตั้งในชื่อ EADS (European Aeronautic Defence and Space Company N.V. – EADS ) เมื่อปี ค.ศ. 2000 จากการควบรวมกิจการของ DaimlerChrysler Aerospace AG (DASA) จากเยอรมนี กับ Aérospatiale-Matra จากฝรั่งเศส และ Construcciones Aeronáuticas SA (CASA) จากสเปน ทำการพัฒนาและจำหน่ายอากาศยานทางการทหาร เครื่องบินพาณิชย์ ระบบสื่อสาร ขีปนาวุธ จรวด และดาวเทียม มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม สคิปโฮล-ริจก์ ใกล้ท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
การก่อตั้ง EADS เกิดจากแรงกดดัน เนื่องจากการรวมตัวของบริษัทผู้ผลิตอากาศยานทางการทหารของสหรัฐ คือ Lockheed Corporation และ Martin Marietta เป็นบริษัท Lockheed Martin ในปี 1995 ตามด้วยการควบรวมกิจการของ Boeing กับ McDonnell Douglas ในปี 1997
บริษัทย่อยในกลุ่มของ EADS บางส่วน ได้แก่
- Airbus เป็นการร่วมทุนระหว่าง EADS (80%) กับ BAE (20%)
- ATR ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ ไอพ่นใบพัด รุ่น ATR-42 และ ATR-72
- Dassault Aviation ผู้ผลิตเครื่องบินรบ ดัซโซลท์ ราฟาเอล
- Euro Fighter ผู้ผลิตเครื่องบินรบ ยูโรไฟต์เตอร์ ไทฟูน
- EuroCopter ผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์
- Aerial Space ผู้ผลิตจรวดขนส่งให้กับ องค์การอวกาศยุโรป
- EADS Astrium ผู้ผลิตยานอวกาศ
แอร์บัส (Airbus) โรงงานผลิตและประกอบเครื่องบินของแอร์บัสกรุ๊ป มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส โรงงานนี้รับผิดชอบในสายงานผลิตเครื่องบินพลเรือน โดยชิ้นส่วนต่างๆ ที่นำมาประกอบเครื่องบินในโรงงานนี้ ถูกผลิตจากฐานการผลิตย่อยกว่า 16 แห่งในฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน จีน สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา โรงงานนี้มีลูกจ้างทั้งหมด 73,958 คน
โรงงานแห่งนี้ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2513 โดยใช้ชื่อว่า Airbus Industrie จากร่วมทุนโดยบริษัทเอกชนด้านการบินหลายๆ แห่งในยุโรป โดยหวังเป็นคู่แข่งกับบริษัทผลิตเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา อย่าง โบอิ้ง โดยเครื่องบินแบบแรกที่ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานนี้คือ Airbus A300 ซึ่งขึ้นบินทดสอบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 และถือเป็นเครื่องบินที่มีทางเดินผู้โดยสารสองทาง และเป็นเครื่องบินเครื่องยนต์แฝดชนิดแรกของโลก
เครื่องบินแบบ Airbus A300 แบบแรกของ Airbus
บริษัทแอร์บัส มีแนวคิดในการสร้างเครื่องบินต่างจากโบอิ้ง โดยมองว่า “ในอนาคตการเดินทางจะถูกจำกัดด้วยปัจจัยการจราจรทางอากาศ อันได้แก่ ช่วงเวลาการใช้สนามบิน เส้นทางบิน ทำให้รองรับเที่ยวบินได้ในจำนวนจำกัด ดังนั้นในแต่ละเที่ยวบินจึงต้องสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้คราวละมากๆ และผู้โดยสารมักเดินทางจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองใหญ่ (Hub To Hub) ดังนั้น แอร์บัสจึงสร้างเครื่องบินรุ่นใหม่ที่บรรจุคนได้มาก” อันเป็นแนวคิดในการสร้างเครื่องบินแบบ Airbus A380 นั่นเอง
คราวนี้มาดูผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่พยายามจะแทรกเขาไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ของฝูงบินพาณิชย์ในตลาดโลกดูบ้างว่า มีรายใดที่จะมีโอกาสเติบโต ช่วงชิงเค้กก้อนโตในตลาดการบินโลกได้
Bombardier
เครื่องบิน Bombardier C-Series ของ SWISS Air
Bombardier เป็นผู้ผลิตเครื่องบินที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแคนาดา และเป็นอีกแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องบินที่เก่าแก่ของโลกทีเดียว แต่ที่เราไม่ค่อยได้ยินกัน เพราะแบรนด์นี้จะถูกใช้กับสายการบินท้องถิ่นในแคนาดามากกว่า ซึ่งตอนนี้ทางแบรนด์ก็ตัดสินใจออกมาทำตลาดนอกประเทศแล้ว ผ่านเครื่องบิน Bombardier ตระกูล C (C-Series) พร้อมกับเคลมประสิทธิภาพทั้งเรื่องเครื่องยนต์ อัตราสิ้นเปลือง และดีไซน์ที่ดีกว่า Boeing 737 กับ Airbus A320 แล้ว
เครื่องบิน Bombardier CS300 ของ Korean Air
สำหรับเครื่องบิน C-Series จะมี 2 รุ่นคือ CS100 ขนาด 133 ที่นั่ง และ CS300 ขนาด 160 ที่นั่ง ใช้เครื่องยนต์แบบเทอร์โบ PW1500G ข้างละหนึ่งเครื่อง และสายการบินที่ใช้เครื่องบินรุ่นรุ่นนี้เป็นรายแรกคือ SWISS Air เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 และตอนนี้ก็มีถึง 300 สายการบินที่เตรียมสั่งซื้อเครื่องบิน Bombardier C-Series แล้ว เช่น Korean Air
Embraer
Embraer เป็นผู้ผลิตเครื่องบินจากประเทศบราซิล ก่อนหน้านี้เน้นขายเครื่องบินให้กับสายการบินท้องถิ่นเช่นเดียวกัน Bombardier แต่ตอนนี้ก็เริ่มออกมาทำตลาดกับสายการบินประเทศอื่นๆ แล้ว ผ่านการใช้เครื่องบินตระกูล E-Jet ซึ่งตอนนี้มาถึงรุ่นที่ 2 หรือ E2 โดยเครื่องบินรุ่นนี้มีขนาดเล็กกว่า A319Neo ของ Airbus และ 737Max7 ของ Boeing เล็กน้อย
เครื่องบิน Embraer E195-E2 ของ Delta Air
ส่วนเครื่องบินรุ่น E2 นั้นประกอบด้วย 3 รุ่นย่อยคือ E175-E2 ที่มี 88 ที่นั่ง, E190-E2 ที่มี 106 ที่นั่ง และ E195-E2 ที่มี 132 ที่นั่ง และใช้เครื่องยนต์แบบเทอร์โบของ Pratt & Whitney’s โดยเครื่องบินรุ่น E2 นั้นได้ทำตลาดตั้งแต่ปี 2561 และตอนนี้ก็มีสายการบินให้ความสนใจกว่า 270 ลำแล้ว เช่น Delta Air ของอเมริกา
Mitsubishi Regional Jet (MRJ)
อีกหนึ่งแบรนด์หนึ่งที่น่าจับตามองจากฝั่งเอเซียคือ Mitsubishi Regional Jet (MRJ) ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบินจากประเทศญี่ปุ่น มีอายุมากกว่า 50 ปี และตอนนี้ก็ทำตลาดรุ่น MRJ70 ที่มี 80 ที่นั่ง กับ MRJ90 ที่มี 92 ที่นั่ง ดังนั้นด้วยขนาดที่เล็ก จึงเหมาะสมกับการใช้บินภายในประเทศเท่านั้น และเครื่องบินขนาดเล็กแบบนี้ทาง Boeing กับ Airbus ยังไม่เน้นทำการตลาดมากนัก
เครื่องบิน MRJ90 ของสายการบิน ANA
โดยตัว MRJ ทั้งสองรุ่นจะใช้เครื่องยนต์เทอร์โบของ Pratt & Whitney’s และเข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2561 ที่สำคัญตอนนี้มีออร์เดอร์สั่งเครื่องบินทั้งสองรุ่นนี้กว่า 220 ลำจากทั่วโลก
COMAC
ได้รู้จักผู้ผลิตจากญี่ปุ่นกันแล้ว ลองมาดูฝั่งผู้ผลิตจากประเทศจีนกันบ้างกับแบรนด์ใหม่ COMAC หรือ Commercial Aircraft Corporation of China ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2551 โดยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตเครื่องบินต่างๆ มีโรงงานอยู่ที่ประเทศจีน ก่อนที่จะขยับสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องบินเอง เป้าหมายก็เพื่อการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ของโลก 2 เจ้าอย่าง Boeing กับ Airbus
เครื่องบิน COMAC ARJ21 ใช้ในสายการบินภายในประเทศจีน
โดยเป็นข่าวใหญ่มากในปี 2561 เมื่อ COMAC ส่งเครื่องบินแบบ Single-Aisle ออกมาหนึ่งรุ่นคือ ARJ21 ขนาด 90 ที่นั่ง เพื่อตอบโจทย์สายการบินในประเทศที่บินระยะสั้นถึงระยะกลาง ใช้เครื่องยนต์ General Electric รุ่น CF34-10A
เครื่องบิน COMAC C919 ขณะทำการบินทดสอบ
ต่อมาได้ร่วมมือกันกับผู้ผลิตในฝั่งรัสเซีย ในการใช้เทคโนโลยีด้านการบังคับควบคุมการบินจากรัสเซีย และสิทธิบัตรด้านโครงสร้างลำตัวบางส่วนได้มาจาก McDonnell Douglas ในเครื่องรุ่น MD80 มาสร้างเป็นเครื่องบินรุ่น C919 (ซึ่งบางส่วนเป็นการแปลงร่างโดยใช้เทคโนโลยีมาจาก Airbus A320) ออกมาบินทดสอบครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2561 และมีการคาดการณ์กันว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า สายการบินในจีนจะสั่งซื้อเครื่องบินมากกว่า 6,300 ลำ คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตเจ้าถิ่นด้วย
Sukhoi
ผู้ผลิตอากาศยานในรัสเซีย บริษัท JSC Sukhoi เป็นผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของรัสเซีย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเบโกวีฟ เขตปกครองเหนือ Okrug มอสโก และออกแบบเครื่องบินใช้งานด้านพลเรือนและทางการทหาร ก่อตั้งขึ้นโดย Pavel Sukhoi ในปี 1939 ในฐานะสำนักออกแบบ Sukhoi (OKB-51 คำนำหน้าสำนักงานออกแบบ SU) ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2549 รัฐบาลรัสเซียได้รวม Sukhoi กับ Mikoyan, Ilyushin, Irkut, Tupolev และ Yakovlev รวมกันเป็นบริษัทใหม่ชื่อว่า United Aircraft Corporation
เครื่องบินรบ SU Fighter รุ่น SU-35 ของกองทัพจีน
Sukhoi เชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องบินรบตระกูล SU Fighter ที่โด่งดังอย่าง SU-24, SU-35 ได้หันมาผลิตเครื่องบินโดยสารใช้ในประเทศรัสเซีย และกลุ่มประเทศพันธมิตร คือ เครื่องบินแบบ Sukhoi Superjet 100 หรือ SSJ100 เป็นเครื่องบินระดับภูมิภาคที่ออกแบบโดย Sukhoi ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท United Aircraft Corporation ด้วยการพัฒนาเริ่มต้นในปี 2000 ได้ทดสอบการบินเที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2008 และได้ขึ้นบินเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในวันที่ 21 เมษายน 2011
เครื่องบินโดยสารสายการบิน Aeroflot ของรัสเซียรุ่น SSJ100
Irkut
ผู้ผลิตแบรนด์ Irkut (ที่รวมอยู่ใน United Aircraft Corporation ของรัสเซีย) ที่เมื่อก่อนเน้นที่การเป็นผู้ผลิตเครื่องบินทางการทหารเช่นเดียวกับ Sukhoi ก็หันมาสู่การพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์บ้าง จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อนำเครื่องขึ้นบินทดสอบเมื่อ 28 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา คือ เครื่องบินแบบ Single-Aisle รุ่น MC-21 ประกอบด้วย 2 รุ่นย่อยคือ MC-21-200 ความจุ 165 ที่นั่ง และ MC-21-300 ความจุ 211 ที่นั่ง โดยมีเครื่องยนต์ของรัสเซีย กับสหรัฐอเมริกา (P&W) ให้เลือก
เครื่องบิน Irkut รุ่น MC-21 ขณะทำการบินทดสอบ
ซึ่งปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น MC-21 แล้ว 175 ออร์เดอร์ และคู่แข่งของรุ่นนี้คือ Airbus รุ่น A320 เพราะมีขนาดที่ใกล้เคียงกันมากนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีความขัดแย้งกันของทางรัสเซียกับสหรัฐอเมริกา ในเรื่องเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ไอพ่น ทำให้ MC-21 ที่ตอนแรกนำเอาเครื่องยนต์เทอร์โบของ Pratt & Whitney’s ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกามาใช้ทดสอบ แต่ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ไม่อนุญาตให้ส่งออกไปยังรัสเซีย ทำให้ในปีนี้ไม่มีเครื่องบิน MC-21 ไปแสดงโชว์และเปิดการขายที่งาน Paris Air Show ทาง Irkut แจ้งว่า กำลังทดสอบกับเครื่องยนต์ไอพ่นของรัสเซียตัวใหม่ที่ผลิตเองอยู่ และคาดว่าจะนำมาขอการรับรองจากสหภาพยุโรปเพื่อจัดจำหน่ายในเร็วๆ นี้
ข้อสังเกต
สงครามทางการค้า ไม่ได้มีผลแต่กับวงการโทรศัพท์มือถือ ระหว่าง Huawei กับ Google เท่านั้น ในการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ทั้งของจีนและรัสเซียนั้น ต่างก็มีปัญหาคล้ายคลึงกันคือ โดยได้มีความขัดแย้งกับทางสหรัฐอเมริกาในเรื่อง การกีดกันทางการค้า ทำให้มีปัญหาในการเลือกใช้เครื่องยนต์ไอพ่นมากทีเดียว เพราะการผลิตเครื่องบินใหม่ทั้งสองรุ่นนั้นกลายเป็นคู่แข่งตรงๆ ของ Boeing 737max ในตลาดใหญ่กลุ่มเครื่องบินพืสัยกลาง และสายการบิน Low Cost ที่น่าจะเลือกใช้ (ถ้าคุณภาพและราคาทัดเทียมหรือถูกกว่า)
การพัฒนาเครื่องยนต์ขึ้นมาใหม่ให้มีกำลังทัดเทียมหรือดีกว่าของฝั่งอเมริกา (GE, RR, P&W) จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการทดสอบเครื่องบินครั้งแรกของ COMAC C919 และ Irkut MC-21 ทั้งสองแบบ ใช้เครื่องยนต์ของอเมริกันแต่ยืมมาจาก Airbus (C919 ในครั้งแรกนั้นใช้เครื่องยนต์ที่ปรับปรุงมาจากเครื่องของ Airbus A320neo ชื่อ LEAP-1C ส่วน MC-21 ใช้เครื่อง Pratt & Whitney รุ่น PW1100G ที่ใช้ใน Airbus A320neo เหมือนกัน) พอจะผลิตออกมาขายจริงเลยเกิดปัญหาขึ้น เพราะอเมริกาไม่ขายให้
การพัฒนาเครื่องยนต์ของ Irkut ตระกูล PD สำหรับใช้กับเครื่องบินของรัสเซียและพันธมิตร
ทางออกจึงอยู่ที่ทางรัสเซียและจีนต้องจับมือกัน ในการพัฒนาและผลิตเครื่องยนต์ใหม่ขึ้นมาเอง โดยทาง Irkut กำลังพัฒนาเครื่องตระกูล PD-14 อยู่ในขณะนี้ อ่านเพิ่มเติมคลิกเลย ถ้าสำเร็จก็เชื่อว่าตลาดเครื่องบินโดยสารคงจะคึกคักไม่น้อย เพราะเอาแค่ตลาดจีนอย่างเดียวก็ไม่น้อยแล้ว เมื่อรวมกับรัสเซียและประเทศพันธมิตรเข้าไปอีกจึงเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมาก
ตารางแสดงแบบเครื่องบินรุ่นต่างๆ ตามจำนวนที่นั่งของ Airbus และ Boeing
ส่วนตลาดบนที่มี 2 ยักษ์ใหญ่ Boeing กับ Airbus แข่งกันอยู่ก็น่าสนใจ ด้วยขนาดเครื่องบินตั้งแต่พิสัยการบินกลางไปจนถึงขนาดใหญ่พิสัยการบินไกลแบบข้ามทวีปเกินกว่า 12 ชั่วโมงก็ยังรุนแรงอยู่ต่อไป ธุรกิจล้านล้านเหรียญนี่น่าสนใจจริงครับ (ได้แต่มองบน…)