สมรภูมิอากาศยานกำลังจะเริ่ม

คยเขียนบทความเกี่ยวกับเครื่องบินโดยสาร การแข่งขันทางการค้าที่ดุเดือดของบริษัทผู้ผลิต ในการพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ออกมาให้บริการแก่สายการบินต่างๆ ซึ่งก็มี 2 เจ้าหลักอย่าง Boeing และ Airbus ช่วงชิงความได้เปรียบกันอยู่บนสมรภูมินี้ (อ่านเรื่องเดิม) ในช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 ฝ่าย Boeing เริ่มเพลี้ยงพล้ำเสียหายหนักจากการที่เครื่องบินรุ่นขายดี Boeing 737-Max เกิดปัญหาจากการเกิดอุบัติเหตุตกในลักษณะคล้ายกัน จนถูกสั่งห้ามบินผ่านน่านฟ้าทั่วโลก (อ่านเรื่องเดิม) พอดีกับความซบเซาของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจากสถานการณ์ไวรัสระบาด ข่าวนี้ก็เลยซาๆ กันไป

แต่ก็ใช่ว่าจะมีเพียงผู้ผลิต 2 รายนี้เท่านั้นที่ทำเครื่องบินโดยสารออกมาขาย ยังมีผู้ผลิตรายเล็กๆ เจ้าอื่นพร้อมจะเข้าร่วมการแข่งขันด้วย โดยเฉพาะจากทางฝั่งตะวันออกอย่างรัสเซียกับจีน ก็มีการพัฒนาเครื่องบินโดยสารออกมาใช้งาน โดยเน้นที่เครื่องบินโดยสารขนาดปานกลาง จำนวนที่นั่งระหว่าง 80-200 ที่นั่งเพื่อใช้ในภูมิภาคเป็นหลัก ความสำเร็จจากบริษัทจีนในเครื่องบินโดยสารรุ่นแรกคือ COMAC ARJ21 ขนาด 90 ที่นั่ง สำหรับใช้บริการภายในประเทศเชื่อมต่อระหว่างเมืองที่มีสนามบินขนาดเล็ก คุ้มค่า คุ้มทุน ในการดำเนินการมากกว่าเครื่องบินโดยสารลำตัวแคบอย่าง Boeing 737 และ Airbus A320 ที่ครองตลาดอยู่

แน่นอนว่า เครื่องบินแบบ Boeing 737 และ Airbus A320 ครองตลาดส่วนใหญ่ในโลกนี้ ด้วยการจัดที่นั่งได้ระหว่าง 100-200 ที่นั่ง ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจากรัสเซีย Irkut ขอลงสนามด้วย กับการพัฒนาเครื่องบินโดยสารลำตัวแคบรุ่น MC-21 ขึ้นมาแข่งขัน ทางด้านจีนโดย COMAC ก็ส่งเครื่องบินโดยสารรุ่น C919 มาลงสนามเช่นกัน (แต่ต้องชงักเพราะเรื่องเครื่องยนต์ที่ออกแบบไว้เดิมคือใช้ เครื่องของ Pratt & Whitney แต่อเมริกาทำสงครามทางการค้าไม่ยอมขายให้ สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) ทั้งสองค่ายจากรัสเซียและจีนจึงต้องจับมือกัน เร่งพัฒนาเครื่องยนต์ของตนเองอยู่คือ เครื่องยนต์ตระกูล PD-14 ถ้าสำเร็จก็เชื่อว่า ตลาดเครื่องบินโดยสารคงจะคึกคักไม่น้อยจากตัวเลือกใหม่นี้ ที่ราคาน่าจะย่อมเยากว่า ยอดขายไม่น่าห่วง เพราะเอาแค่ตลาดเครื่องบินโดยสารภายในจีนอย่างเดียว ก็มีมากมหาศาลไม่น้อยแล้ว เมื่อรวมกับรัสเซียและประเทศพันธมิตรเข้าไปอีกจึงเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมาก

ปัจจุบัน COMAC C919 หันใช้เครื่องยนต์ของเครื่องบินจาก CFM International ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง GE กับ Safran Aircraft Engines (ซึ่ง GE ก็เป็นผู้จัดหาระบบบำรุงรักษาและบันทึกข้อมูลการบินบนเครื่องบิน ที่ร่วมทุนกับ Aviation Industry Corp. ของจีน) เลยมีช่องทางสั่งนำเข้าเครื่องยนต์ได้

COMAC C919 พร้อมรับรองในปลายปี 2021

จากรายงานของสำนักข่าว South China Morning Post หัวหน้าผู้ออกแบบเครื่องบินลำตัวแคบของ COMAC นาย Wu Guanghui กล่าวว่า “เขาคาดว่าเครื่องบิน COMAC C919 จะได้รับการรับรองภายในปีนี้ เครื่องบิน C919 ซึ่งออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับ Boeing 737 MAX และ Airbus A320neo ถูกกำหนดให้เสร็จสิ้นการทดสอบเที่ยวบิน และได้รับการอนุมัติความสมควรเดินอากาศภายในสิ้นปี 2564 ตอนนี้ China Eastern Airlines ได้เตรียมรับ C919 จำนวน 5 ลำแรก (สำหรับยอดรวมการสั่งซื้อทั้งหมดที่ยังไม่เปิดเผย) โดยทางสายการบินตั้งใจที่จะนำไปใช้ในฐานปฏิบัติการที่ สนามบินผู่ตง ของเซี่ยงไฮ้ โดยจะให้บริการในเส้นทางไปยังปักกิ่ง กวางโจว เซินเจิน และหวู่ฮั่น”

ช่วงแรกของการบินทดสอบมีความล่าช้า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ ฐานที่ตั้งในการทดสอบ COMAC C919 คือสนามบินนานาชาติ Shanghai Pudong ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดในประเทศจีน บริษัทจึงตัดสินใจย้ายเครื่องบินทดสอบลำแรกในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ไปยังสนามบิน Yanliang ในมณฑลซีอาน เมืองทางตะวันตกของจีน ซึ่งสะดวกกว่าในการขึ้นบินทดสอบ เพราะถ้าดูความสำเร็จของทั้ง Boeing และ Airbus ต่างก็มีสนามบินใช้เพื่อทดสอบเครื่องบินที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ร่วมอยู่ในสนามบินพาณิชย์แต่อย่างใด

c919

C919 finish flight testing in 2021. Photo: Getty Images

การรับรองการใช้เครื่องบิน Boeing 737 MAX ยังคงพิจารณาในจีน

เนื่องจาก การรับรองการเดินอากาศเครื่องบินพาณิชย์ที่ผลิตขึ้นเองของจีนใกล้เข้ามา อนาคตอันใกล้ของเครื่องบินคู่แข่งอย่าง Boeing 737 MAX จะยังคงอยู่ในตลาดจีนไหม เพราะหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศอื่นๆ ได้ยกเลิกการห้าม Boeing 737 MAX บินเข้าน่านฟ้ากันแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางการจีนยังคงไม่เต็มใจที่จะอนุญาตให้ Boeing 737 MAX ดังกล่าวกลับมาให้บริการอีกครั้ง (ก็คู่แข่งล่ะนะ สงครามทางการค้าที่ส่งผลให้เห็นจริงๆ ในปัจจุบัน)

ถ้าดูจากการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ เพื่อสนับสนุนโครงการ C919 ของตัวเองหรือไม่ ก็อดที่จะพูดไม่ได้ เพราะสายการบินของจีนหลายเจ้า ต่างก็ยื่นเรื่องชะลอการส่งมอบเครื่องบินทั้งจากแอร์บัสและโบอิ้ง ด้วยเหตุผลสถานการณ์การบินยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด แต่ไม่ใช่จาก COMAC แน่นอน

ศักยภาพทางการตลาดมหาศาล

แม้ว่าในปี 2020 อาจมีการสะดุดหยุดลงในอุตสาหกรรมการบินของจีน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ตลาดการบินเชิงพาณิชย์ของจีนคาดว่า จะเติบโตอย่างมากในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ตามข้อมูลของ Aerotime Hub ในปี 1978 มีผู้โดยสารเพียง 2 ล้านคนที่ใช้บริการเครื่องบินในประเทศจีน แต่เมื่อสำรวจในปี 2019 จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็นถึง 660 ล้านคน

The Comac C919, China’s first large passenger jet, takes off from Pudong International Airport in Shanghai on November 10, 2017. (Photo credit should read STR/AFP via Getty Images)

Boeing เคยนำเสนอแนวโน้มตลาดการค้าสำหรับปี 2020 ถึงปี 2039 คาดว่า สายการบินของจีนจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่มูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยกำลังการผลิตเครื่องบินอย่าง C919 และ C929 ซึ่งเป็นแบบลำตัวกว้างของ COMAC ที่อาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ Boeing 787 ที่รออยู่ข้างหน้า ผู้ผลิตรายใดจะได้รับผลตอบแทนสูงสุด จากจำนวนประชากรของจีนเกือบ 1.4 พันล้านคน ที่จะใช้บริการเครื่องบินในวันข้างหน้าเราคงได้เห็นกัน

COMAC C919 จะแข่งขันกับ Airbus A320neo ได้หรือไม่?

เมื่อต้นปี 2021 เครื่องบิน Airbus A320neo ประสบผลสำเร็จ ด้วยการใช้เวลาเพียงห้าปีในการให้บริการเชิงพาณิชย์ นับตั้งแต่ สายการบิน Lufthansa เปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2016 Lufthansa เป็นผู้บุกเบิกการให้บริการในตลาดระยะใกล้ถึงระยะกลางทางฝั่งยุโรป อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปทางทิศตะวันออก เครื่องบินลำตัวแคบตัวใหม่ก็ถูกส่งให้เข้าร่วมสนามการต่อสู้ด้วย C919 ของ COMAC ซึ่งได้รับการออกแบบมา เพื่อรองรับตลาดที่คล้ายคลึงกันกับ Airbus A320neo และ Boeing 737 MAX แต่มันจะเป็นคู่แข่งได้จริงหรือ?

เปรียบเทียบ COMAC C919 และ Airbus A320neo

COMAC C919 ได้รับการขนานนามว่า “เป็นอนาคตของการบินของจีน” อย่างไรก็ตาม ตลาดการบินระยะใกล้ถึงระยะกลางที่ C919 ต้องการเข้าไปร่วมนั้น มีเจ้า Airbus A320neo เป็นผู้ครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน (ส่วน Boeing 737 MAX ถูกแช่แข็งอยู่หลายปี และความเชื่อมั่นยังไม่กลับมา) มาดูข้อมูลจำเพาะของ Airbus A320neo เปรียบเทียบกับ COMAC C919 เป็นอย่างไร? (ตัวเลขตัวหน้าเป็นของ C919 ก่อน ตามด้วย A320neo)

  • ความยาวลำตัว38.9 เมตร เทียบกับ 37.57 เมตร
  • ปีกกว้าง – ทั้งคู่เท่ากัน 35.8 เมตร
  • ความสูง11.95 เมตร เทียบกับ 11.76 เมตร
  • ความจุผู้โดยสาร158 คน ทียบกับ 150-180 คน (จัดแบบ 2 ชั้น Business/Economy Class)
  • พิสัยการบิน4,075-5,555 กม. (2,200-3,000 NM) เทียบกับ 6,300 กม. (3,400 NM)

จากข้อมูลเราเห็นแล้วว่า ขนาดของเครื่องบิน C919 และ A320neo ทั้งสองแบบมีความคล้ายคลึงกันมาก อย่างไรก็ตาม เครื่องบินแบบ A320neo สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่าถึง 22 คน ในรูปแบบที่กำหนดให้มี 2 คลาสเป็น ชั้นธุรกิจกับชั้นประหยัด ปัจจัยนี้มีประโยชน์สำหรับสายการบินในการลดต้นทุนการดำเนินงานของเครื่องบินเป็นรายที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่มากที่สุดคือ ขอบเขตพิสัยการบินของเครื่องบิน A320neo สามารถบินได้ไกลกว่าราว 2,000 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับ C919 มาตรฐาน แม้จะมีการออกแบบ COMAC รุ่นขยายช่วงพิสัยการบิน ก็ไม่สามารถเทียบเคียงกับ Airbus ได้ (สาเหตุหลักคือ ประสิทธิภาพเครื่องยนต์/เชื้อเพลิง) ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะแข่งขันกับ Airbus ในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการพิสัยการบินระหว่างประเทศ แต่ไม่ใช่ตลาดภายในจีน

COMAC C919 ได้รับการยกย่องจาก Airbus

แน่นอนว่า Airbus เป็นผู้ผลิตเครื่องบินที่เป็นที่ยอมรับมากกว่า COMAC โดยได้ผลิตเครื่องบินตระกูล A320 มาสองรุ่นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 โดยแท้จริงแล้ว เครื่องบินรุ่น A320ceo รุ่นดั้งเดิมก่อนปรับปรุงใหม่ เป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่ผลิตได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ตลอดกาล และกำลังจะส่งมอบถึง 10,000 ลำในเร็วๆ นี้

Guillaume Faury CEO ของ Airbus ได้กล่าวไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่า “มีความท้าทายมากมาย และคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า COMAC จะสามารถแข่งขันกับ Boeing และ Airbus ได้ในระดับใด แต่เราก็จริงจังกับพวกเขาและกำลังเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นอย่างรอบคอบ”

กรอบเวลาและอนาคตของ COMAC

เกี่ยวกับกรอบเวลาสำหรับโครงการ C919 ของ COMAC แล้ว ปี 2021 จะเป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับเครื่องบินลำนี้ มีรายงานเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ว่า C919 อยู่ในระหว่างการพิจารณาที่จะได้รับการรับรองสมควรการเดินอากาศในปีนี้ ปัจจุบันมีกำหนดส่งไปยังผู้ให้บริการในท้องถิ่น เช่น สายการบิน China Eastern และ China Express ซึ่งเรื่องนี้คงจะหาคู่แข่งยากอยู่สำหรับตลาดในประเทศจีน

โครงการ Made in China 2025 ซึ่งเปิดตัวโดยรัฐบาลจีนในปี 2558 ‘การบิน’ จะเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมหลักใหม่ ในการยกระดับเศรษฐกิจ ซึ่ง ICBC Financial Leasing Co. (บริษัทของรัฐบาลจีน) ที่เป็นบริษัทให้เช่าเครื่องบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ได้ให้สัญญาว่า จะซื้อ COMAC C919 จำนวน 100 ลำ เพื่อให้บริการเช่าแก่สายการบินต่างๆ ที่ต้องการลดต้นทุนในการดำเนินงานธุรกิจการบินพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับการยกย่องในสมรรถนะและศักดิ์ศรีเทียบเคียงกับ A320neo ให้ได้ COMAC จำเป็นจะต้องมองหาคำสั่งซื้อจากสายการบินในประเทศอื่นๆ ด้วย แม้ว่าตลาดในจีนจะมีขนาดใหญ่และมีกำไร แต่ก็ยากต่อการที่จะให้ทุกสายการบินในจีนหันมาใช้ ทั้งนี้เนื่องจาก สายการบินจีนหลายรายได้ให้บริการด้วยเครื่องบินแบบ A320neo อยู่แล้ว เช่น Air China มี A320neo ให้บริการอยู่ 32 ลำ และอีก 36 ลำอยู่ที่ China Southern ด้วย ดังนั้นเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่า COMAC จะทำได้สำเร็จเพียงไร

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)