por_A380_lounge

เรื่องของคลาสหรือระดับชั้นบนเครื่องบิน

มีคำถามว่า ซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินเห็นมีระบุคลาส (Class) ต่างๆ ในตั๋ว สายการบินเขาแบ่งระดับชั้นการบริการอย่างไร แม้แต่ในสายการบินโลว์คอส (Low Cost) ในประเทศยังมีคลาสอีก เรื่องนี้คงต้องตอบยาวนิดหนึ่งนะครับ

ชั้นที่นั่งบนเครื่องบินนั้น สามารถแบ่งระดับชั้นความสะดวกสบายที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องมีการเลือกระดับความต้องการของผู้โดยสารก่อนเดินทางทุกครั้ง สำหรับตั๋วเครื่องบินนั้น เขาจะเขียนไว้เลยว่า ตั๋วของท่านเป็นตั๋วชั้นไหน ตรงช่อง CLASS พิมพ์ตัวอักษรย่อชัดเจน เช่น P, J, Y เป็นต้น โดยทั่วไป สายการบินจะมีการจัดชั้นที่นั่งบนเครื่องบินออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

 

ตั๋วโดยสารสายการบินไทยชั้นหนึ่ง (Royal First Class)

  1. ชั้นหนึ่ง (First class) หรือเรียกย่อว่า P class เป็น ชั้นที่มีบริการพิเศษสุด มีที่นั่งกว้างมากและสามารถปรับเอนได้ ที่นั่งส่วนใหญ่อยู่หลังห้องนักบิน เป็นเพราะพื้นที่บริเวณนี้ค่อนข้างกว้างและเป็นส่วนตัว ไม่มีผู้โดยสารชั้นอื่นเดินผ่าน ที่นั่งส่วนนี้จึงสะดวกสบาย เงียบ และไม่พลุกพล่าน มีอาหารชนิดพิเศษ เหล้า ไวน์ อาจมีแชมเปญบริการฟรี ภาชนะที่ใช้ทำเป็นพิเศษจากไชนาแวร์ของญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีสิ่งบันเทิงอีกมากมายให้บริการ อีกทั้งสามารถนำสัมภาระติดตัวได้มาก โดยปกติจะนำติดตัวได้ไม่เกิน 40 กิโลกรัมต่อคน ผู้โดยสารระดับชั้นหนึ่งจะเสียค่าโดยสารแพงกว่าระดับชั้นอื่นๆ สายการบินจะเลือกใช้รหัสในการออกตั๋ว ดังนี้คือ
    R ใช้ในเครื่องบินประเภทความเร็วเหนือเสียง หรือ Supersonic
    P (First Class Premium) ชั้นหนึ่งบริการพิเศษ
    F (First Class) ชั้นหนึ่ง
    A (First Class Discounted) ชั้นหนึ่งราคาพิเศษ (โปรโมชั่น)

  1. ชั้นธุรกิจ (Business class) หรือเรียกย่อว่า J class เป็น ชั้นที่มีการบริการพิเศษรองลงมาจากชั้นหนึ่ง มีอาหารพิเศษรองจากชั้นหนึ่ง และอีกหลากหลายอย่างที่รองลงมาจากชั้นหนึ่ง แต่มีเครื่องดื่มคล้ายยกับชั้นหนึ่ง บริการฟรี ถ้วยชามที่ใช้มักมาจากประเทศจีน หรืออินเดีย ที่นั่งชั้นธุรกิจ โดยทั่วไปอยู่ต่อจากที่นั่งชั้นหนึ่ง และอยู่ด้านหน้าของที่นั่งชั้นประหยัด อีกทั้งสามารถนำสัมภาระติดตัวได้มาก โดยปกติจะให้สัมภาระติดตัวไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อคน ผู้โดยสารระดับชั้นธุรกิจจะเสียค่าโดยสารปานกลาง สายการบินจะเลือกใช้รหัสในการออกตั๋ว ดังนี้คือ
    J (Business Class Premium) ชั้นธุรกิจบริการพิเศษ
    C (Business Class) ชั้นธุรกิจ
    D (Businees Class Discounted) ชั้นธุรกิจราคาพิเศษ
    I (Business Class Discounted) ชั้นธุรกิจราคาพิเศษ
    Z (Businees Class discounted) ชั้นธุรกิจราคาพิเศษ (D, I, Z มีเงื่อนไขแตกต่างกัน เช่น เลื่อนวันเดินทางได้หรือไม่ อายุตั๋วกี่วัน เปลี่ยนชื่อผู้โดยสารได้ไหม เป็นต้น)

    1. ชั้นประหยัด (Economy class) หรือเรียกย่อว่า Y class เป็นชั้นที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ นิยมใช้บริการกัน ที่นั่งชั้นประหยัด โดยทั่วไปเริ่มตั้งแต่ส่วนกลางของเครื่องบิน (ส่วนปีก) จนถึงส่วนท้าย (หางเครื่องบิน) จำนวนที่นั่งมีมากที่สุด ตัวเก้าอี้นั่งไม่สามารถจะปรับนอนราบได้ มีบริการอาหารและเครื่องดื่มธรรมดา ฟรี! ภาชนะที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเมลามีน อีกทั้งสามารถนำสัมภาระติดตัวได้น้อย โดยปกติจะนำติดตัวไปได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัม ผู้โดยสารชั้นประหยัดจะเสียค่าโดยสารต่ำสุด ซึ่งสายการบินจะเลือกใช้รหัสดังนี้ ในการออกตั๋วโดยสาร ดังนี้คือ
ตั๋วโดยสารชั้นประหยัดแต่ระบุ Class
W (Economy Class Premium) ชั้นประหยัดบริการพิเศษ
S (Economy Class) ชั้นประหยัด
Y (Economy Class) ชั้นประหยัด
B (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
II (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
K (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
L (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
M (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
T (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
Q (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
V (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
X (Economy Class Discounted) ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
ที่นั่งชั้นประหยัดบน A380 ก็ไม่แคบนะ นั่งสบาย

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นชั้นประหยัดเหมือนกัน แต่อาจต่างกันที่ “Booking Class” (Economy: Y, B, M, H, Q, X, N, V, W, T, K, S) ในเครื่องบินเดียวกัน เช่น W Class การบินไทย เที่ยวบินภายในประเทศ เป็นราคาโปรโมชั่นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการเดินทางได้, Q Class การบินไทย เที่ยวบินภายในประเทศ เป็นราคาสำหรับเยาวชน เปลี่ยนแปลงวันเดินทางได้ เที่ยวบินได้ และในแต่ละ Booking Class มีจำนวนที่นั่งจำกัด ดังนั้น การตัดสินใจซื้อตั๋วก่อน ท่านจะได้ที่นั่งในราคาที่ถูกกว่า ส่วนที่แตกต่างของ Booking Class คือ ราคาและเงื่อนไข นั่นเอง (ต้องดูรายละเอียดจากหน้าเว็บไซต์การจองของแต่ละสายการบินว่ากำหนดอย่างไร แต่ละสายการบินอาจมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน)

การทำงานของลูกเรือ (แอร์ สจ๊วต) ก็เช่นเดียวกัน จะมีการแบ่งระดับชั้นการทำงานออกเป็น 5 ระดับ (พื้นฐาน บางสายการบินอาจจะแยกซอยยิบย่อยได้อีก ในตำแหน่งที่เป็นผู้ควบคุมจัดการ) ดังนี้

  1. ลูกเรือให้บริการชั้นประหยัด (Economy Class) จะเป็นลูกเรือที่รับเข้ามาทำงานใหม่ หลังจากผ่านการฝึกตามมาตรฐานที่โรงเรียนการบินของแต่ละบริษัทแล้ว ก็จะได้รับสัญญาจ้างเข้าทำงานในระดับชั้นนี้ อย่างน้อย 1-2 ปี การทำงานจะเป็นทีมใหญ่ บริการผู้โดยสารบนเครื่อง ที่มีจำนวนมากที่สุดในเครื่อง จนถึงขั้นที่ต้องบอกว่ามือเป็นระวิง (ลูกเรือไทยจะใช้คำว่า “เซิ้ง” เพราะต้องเร็วและไม่ผิดพลาด ลองนึกถึงเส้นทางบินสั้นๆ ใช้เวลาบินสัก 2-3 ชั่วโมง แต่ต้องเสิร์ฟอาหารตามคอร์สทั้งออเดิร์ฟ อาหารหลัก เครื่องดื่ม สำหรับผู้โดยสาร 200-300 คนด้วยลูกเรือเพียง 6-8 คน ต้องให้เสร็จทั้งเสิร์ฟและเก็บภาชนะก่อนเครื่องจะแลนดิ้ง จะโกลาหลขนาดไหน) มีผลการประเมินการทำงานในระดับดีเยี่ยม (จากรุ่นพี่ ผู้ควบคุมเที่ยวบิน ผู้โดยสาร) ผ่านการสอบคัดเลือกได้ก็จะเข้ารับการอบรมเพื่อเป็นลูกเรือในชั้นถัดไป
  2. ลูกเรือให้บริการชั้นธุรกิจ (Business Class) เป็นลูกเรือที่ผ่านการทำงานมาได้ระยะหนึ่งในชั้นประหยัด ผ่านเกณฑ์การประเมิน และสอบคัดเลือกจากบริษัท เพื่อเข้ารับการอบรมการบริการที่มีความละเอียดมากกว่า ให้คุ้มกับราคาที่ผู้โดยสารจ่ายแพงกว่า เพราะการเสิร์ฟอาหารจะมีรายการมากกว่า เครื่องดื่มก็เลิศกว่า มีทั้งไวน์ชั้นดี วิสกี้ราคาแพง แต่จำนวนผู้โดยสารที่ต้องรับผิดชอบจะน้อยกว่าชั้นประหยัดมาก ลูกเรือในชั้นนี้จะมี 2-4 คนเท่านั้น
  3. ลูกเรือให้บริการชั้นหนึ่ง (First Class) เป็นลูกเรือที่ผ่านการประเมิน และการสอบผ่านมาจากชั้นธุรกิจ ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อยกระดับการบริการขึ้นมาอีกขั้น การทำงานอาจจะไม่ยุ่งเหมือนชั้นประหยัด ไม่ต้องเซิ้งเพราะผู้โดยสารมีน้อยไม่เกิน 30 ที่นั่ง (แล้วแต่การจัดการของสายการบิน บางสายอาจมีเพียง 10-20 ที่นั่งเท่านั้น เพราะใช้พื้นที่มากกว่า อุปกรณ์อำนวยความสะดวก สบายมากกว่า) การบริการในชั้นนี้พิถีพิถันสุดๆ ทำตามความต้องการของผู้โดยสารล้วนๆ ว่าจะนอนหรือจะตื่นมารับประทานอาหาร/เครื่องดื่มเวลาใด ไม่ต้องทำพร้อมกันทุกที่นั่ง งานสบายก็จริงแต่ไม่เป็นเวลาก็เหนื่อยเพราะพักผ่อนน้อยอยู่ดี แต่บางเที่ยวก็สบายสุดๆ เพราะมีผู้โดยสารแค่ 4-5 ที่นั่งเท่านั้น ลูกเรือชั้นนี้จะมีแค่สองคนเท่านั้น
  4. ลูกเรือระดับซีเนียร์ (Senior Crew) เป็นการสอบเลื่อนชั้นเพื่อทำงานเป็นผู้ดูแลลูกเรือทั้งหมด ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเที่ยวบินนั้น เช่น การจัดแบ่งหน้าที่ให้กับทีมในชั้นประหยัดว่า ใครจะเป็นผู้จัดเตรียมอาหาร คนที่ทำการเลื่อนรถบริการ (รถคาร์ท) และให้บริการ คนให้บริการด้านเครื่องดื่ม ผ้าร้อน/เย็น ในช่วงเวลาต่างๆ คอยประสานงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากการบริการของลูกเรือเอง หรือแก้ปัญหาความต้องการของผู้โดยสาร จบการปฏิบัติงานบนเครื่องยังต้องมาทำรายงานสรุปส่งให้บริษัทอีก (เริ่มยุ่งกับงานเอกสารมากขึ้น ซึ่งใน 3 ชั้นที่ผ่านมาไม่ต้องทำ) ผู้เขียน ณ เวลานี้ก็ทำงานในระดับชั้นนี้ (ขั้นทดลองงาน 6 เดือน ยังไม่ได้รับแต่งตั้ง)
  5. ลูกเรือระดับควบคุมการปฏิบัติงานประจำเที่ยวบิน (Purser) เป็นหน้าที่ใหญ่สุดของลูกเรือ ผู้ให้บริการในการกำกับการทำงานของเหล่าลูกเรือทุกชั้น รองลงมาจากกัปตัน เวลาเกิดเหตุการณ์ที่ลูกเรือแก้ไขได้ยาก ไม่กล้าตัดสินใจ หรือมีปัญหาเกิดขึ้นกับผู้โดยสาร แล้วลูกเรือแก้ปัญหาไม่ได้ เพอเซอร์มีหน้าที่ในการตัดสินใจในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในห้องโดยสารนั้น เช่น มีการลวนลามทางเพศทั้งต่อผู้โดยสารหรือลูกเรือ ผู้โดยสารเมามายทะเลาะวิวาท หรือผู้โดยสารมีอาการเจ็บป่วย ถ้าขั้นร้ายแรงยังจัดการปัญหาไม่ได้ต้องแจ้งกัปตัน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในเที่ยวบินนั้น ให้กัปตันตัดสินใจสั่งการต่อไป


ผู้หญิงคนกลางชุดดำตำแหน่ง Purser ของสายการบินเอมิเรตส์

จริงๆ แล้ว บางสายการบินอาจจะมีตำแหน่งเพิ่มอีกหลายตำแหน่ง ในส่วนการจัดการ เช่น Inflight Manager (IM) ก็แล้วแต่การจัดการของแต่ละสายการบินครับ ขอเล่าหน้าที่ของซีเนียร์นิดหนึ่งนะครับ จากไฟลท์บินดูไบ-ญี่ปุ่น ที่ผ่านมา

เมื่อวานทำงานเหนื่อยมาก ลูกเรือ BC (Business Class) ป่วยหนักไปคน ระหว่างทำเซอร์วิส ได้ลูกเรือ FC (First Class) มาช่วยหนึ่งคน ตอนนั้นต้องตัดสินใจว่า จะให้ใครทำอะไรยังไง สุดท้ายเลยทำครัวเอง แล้วต้องแข่งกับเวลาเพราะใกล้เวลาส่งลูกเรือไปเบรคแล้ว ได้กลับมาทำครัวอีกครั้งสนุกดี นึกถึงตอนตัวเองเคยทำเมื่อสองปีที่แล้ว มันส์มาก แต่ใจก็ห่วงเพราะไม่ได้ออกไปในเคบิ้นเลย ซึ่งเป็นหน้าที่เรา สุดท้ายทุกคนช่วยกันดีมาก ลูกเรือ Eco (Economic Class) มาช่วยอีก

ขากลับมามีเคสป่วย ให้ออกซิเจน เดินไปแจ้งกัปตัน กลับมาเขียนรีพอร์ทสองใบ ระหว่างนั้นต้องตรวจทุกเคบิ้น เพราะเหลือเราคนเดียวอินชาร์จ และต้องมาเตรียมอาหารเช้า เสิร์ฟไปก็มีคนมาช่วยอีกเยอะแยะ เขียนรีพอร์ทเพิ่มอีกสี่ เพอร์เซอร์กลับมาไม่สบายอีก ไม่มีเสียง สื่อสารด้วยภาษาใบ้ ทำแทนเพอร์เกือบหมด ตบไฟลท์เดินไปขอบคุณลูกเรือทุกคน มีความดีงาม จริงๆ ไฟลท์ญี่ปุ่นถ้าเต็มก็ค่อนข้างยุ่ง แต่ถ้าทีมดี งานก็เสร็จลุล่วง ไม่ดราม่า

ทั้งหมดทั้งมวลคือ อยากมีซักคนเวลากลับมาบ้าน แล้วได้เล่าได้แชร์ให้ฟัง เพราะมันสนุก มันดราม่าเล็กๆ อยากเล่าให้ฟังว่า เออนี่แหละชีวิตแอร์ นี่แค่เริ่มต้น ถ้าเป็นเพอร์ในอนาคตคงมีเรื่องสนุกมาให้แก้ปัญหา ให้เล่าอีกเยอะ แต่ตอนนี้เอาให้ผ่านพูลก่อนละกัน…

สวัสดีครับ ขอบคุณที่ยังติดตามบล็อกนี้กันมาตลอด แม้จะไม่ค่อยได้อัพเดทนัก “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” นะครับ 🙂 😛 😀


กับพี่เพอร์เซอร์คนไทย(ใจดี)สายการบินเอมิเรตส์ครับ ที่คอยให้กำลังใจรุ่นน้องๆ ตัลลอด…

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)