Boeing 747 closing era of Jumbo Jets.
Boeing quietly pulls plug on the 747, closing era of jumbo jets.
Boeing 747 เป็นอดีตเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่ Airbus จะผลิตยักษ์ใหญ่รุ่น A380 ออกมาแข่งขันในตลาดเครื่องบินโดยสาร เครื่องบิน Boeing 747 ไม่มีเครื่องต้นแบบมาก่อน ทำการสร้างและส่งมอบขึ้นบินเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1966 โดยสายการบิน Pan Am (Pan American World Airways) สหรัฐอเมริกา เป็นสายการบินแรกที่นำมาให้บริการในเส้นทางนิวยอร์ก-ลอนดอน เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1970
Boeing Company ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อาจต้องปิดสายการผลิตเครื่องบินโดยสารแบบจัมโบ้เจ็ต Boeing 747 ของตัวเองลง หลังจากที่ไม่สามารถหายอดสั่งซื้อเพิ่มได้ เพราะความต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ลดลง และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาแพงกว่าเดิม
ทางโบอิ้งประกาศเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมในปีที่ผ่านมาว่า หากไม่มียอดการสั่งซื้อเพิ่มเติมเข้ามาอย่างเพียงพอ อาจทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลง เพื่อลดความเสี่ยงซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญให้ต้องปิดสายการผลิตของ 747 ลง โดยโบอิ้งปฏิเสธที่จะเพิ่มกำลังการผลิตโบอิ้ง 747 จากเดิม 1 ลำต่อเดือนไปจนถึงสิ้นปี 2019 หลังจากที่คงกำลังการผลิตไว้ตั้งแต่เดือน กันยายน ปี 2015 นับเป็นข่าวร้าย แม้ว่าในวันนี้จะยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการจากโบอิ้ง ที่จะเลิกผลิต “Jumbo Jet 747” ลง หลังครองน่านฟ้ามากว่าครึ่งศตวรรษสำหรับการเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง แบบ 4 เครื่องยนต์
Boeing 747 Lufthansa
สำหรับรุ่นล่าสุดของโบอิ้ง 747 คือ Boeing 747-8 ที่มีการใช้งานในสายการบิน Cathay Pacific, Lufthansa, Air China และอีกหลายๆ สายการบิน ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ ของเครื่องบินโดยสารแบบ 2 ชั้น ที่เริ่มบินครั้งแรกเมื่อปี 1969 ทำให้ก้าวสู่ยุคใหม่ของการเดินทางทางอากาศ ที่มีจำนวนผู้โดยสารมากๆ ในคราวเดียว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ที่ชื่นชอบในเจ้ายักษ์ใหญ่ 747 หัวโหนกที่มี 2 ชั้นที่ยิ่งใหญ่มาเนิ่นนาน มีความเสียใจที่จะไม่ได้เห็นมันอีก พอๆ กับแฟนของคู่แข่ง Airbus A380 ที่ตะลึงกับข่าวการหยุดผลิตยักษ์ใหญ่จากโรงงานในตูลูส ฝรั่งเศส เช่นเดียวกัน
แม้ว่าความนิยมและชื่นชอบของนักเดินทางที่มีต่อเครื่องบิน Boeing 747 และ Airbus A380 จะยังคงมีอยู่ ด้วยความสะดวกสบายกับความกว้างขวาง มีที่นั่งขนาดใหญ่ แต่สำหรับสายการบินต่างๆ แล้ว ในการบินระยะทางไกลๆ การใช้เครื่องบินขนาดที่เล็กลงกว่า และใช้เครื่องยนต์ยุคใหม่ 2 เครื่องยนต์ จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า และยิ่งมาพบกับสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้อายุของเจ้านกยักษ์นับวันถอยหลังเร็วยิ่งขึ้น เพราะหาลูกค้าสั่งซื้อไม่ได้ ที่เคยสั่งซื้อไว้ก็เปลี่ยนใจขอแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องที่มีขนาดเล็กลง
Airbus A380 and Boeing 747 British Airways
Sash Tusa นักวิเคราะห์จาก Agency Partners กล่าวว่า “มันหมดยุคของเครื่องบินขนาดใหญ่แล้ว จำนวนเส้นทางที่เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารจำนวนมากๆ ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ”
“ราชินีแห่งท้องฟ้า : Queen of the Skies“ ของ Boeing เปิดตัวครั้งแรกในปี 1970 เป็นการวางเดิมพันครั้งใหญ่ของโบอิ้ง มันเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ มีรูปร่างเอกลักษณ์พิเศษ มีโหนกใหญ่ในส่วนหัว ที่มีบันไดวนขึ้นไปยังเลานจ์ชั้นบนสุดหรูหรา นอกจากนี้ ยังมีรุ่นที่ออกแบบสำหรับการบรรทุกสินค้า (Cargo) ด้วยการมีจมูกบานพับที่เปิดออกเพื่อโหลดสินค้าทุกอย่างเข้าไป ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมัน Boeing 747 ผลิตมาต่อเนื่องด้วยยอดการสั่งซื้อ 1,571 ลำ ในช่วงหลายทศวรรษ – ก่อนที่จะมีเครื่องรุ่นน้องในบรรดาเครื่องบินเจ็ตลำตัวกว้าง Boeing 777x ในยุคหลังๆ
A Tribute to the Boeing 747 by Sam Chui
แม้จะมีคู่แข่งจากฝั่งยุโรปอย่าง Airbus A380 ที่สามารถเพิ่มความจุสำหรับนักเดินทางต่อเที่ยวได้มากถึง 853 คน ในปี 2005 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของการบินและอวกาศในยุโรป แต่เมื่อผ่านไปเพียง 2 ปีให้หลัง สายการบินต่างๆ ก็เริ่มเอนเอียงไปทางใช้เครื่องบินที่มีขนาดเล็กลง และประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่าเดิม
ซึ่งทาง Boeing คาดการณ์แนวโน้มได้อย่างถูกต้อง ด้วยการผลิตเครื่องบินแบบเครื่องยนต์คู่อย่าง Boeing 777 และ 787 Dreamliner ด้วยการออกแบบของ Joe Sutter วิศวกรผู้มีชื่อเสียงที่เป็นหัวหน้าโครงการ 747 ดั้งเดิม เป็นการวางแผนและพัฒนาเครื่องบินสี่เครื่องยนต์ที่มีราคาไม่แพงนัก เพื่อขโมยยอดขายจาก Airbus A380 จนทำให้ Airbus เองต้องแก้ลำด้วยโครงการ Airbus A350
แต่ด้วยเรื่องของราคาและงบประมาณทำให้ Boeing 747-8 ไม่ได้รับความนิยม ซึ่ง Richard Aboulafia นักวิเคราะห์จาก Teal Group กล่าวว่า Boeing ต้องขาดทุนประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ต่อเครื่อง ตั้งแต่ปี 2016 จนบริษัทต้องชะลอการผลิตเหลือเพียง 6 ลำต่อปี และเครื่องบินโดยสาร Boeing 747 ลำสุดท้ายที่ถูกสั่งซื้อในปี 2017 สำหรับเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (Air Force One)
Boeing 747 Air Force One (President Airplane)
แม้ว่า Boeing 747 จะลดบทบาทในการเป็นเครื่องบินโดยสารลงไป แต่สำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ของโบอิ้ง จะยังคงอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลาหลายสิบปีหลังจากหยุดการผลิต นั่นหมายความว่า Boeing 747 จะลดลงเพียงการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น
ซึ่งต่างจาก Airbus A380 จากการคาดการณ์ของ Richard Aboulafia บอกว่า “มันจะเป็นเครื่องบินโดยสารที่มีอายุสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ได้ เพราะผมคงต้องตกใจมากถ้ายังมี Airbus A380 ที่ให้บริการอยู่ในปี 2030″ แต่ทาง Airbus ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ “เราจะเห็นเครื่องบิน A380 บินต่อไปอีกเป็นเวลาหลายปี”
แต่จากการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ที่กำลังเร่งพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวให้หยุดยู่กับที่ นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจบอกว่า การเดินทางของผู้คนทั่วโลกคงไม่ฟื้นตัวจนกว่าจะถึงถึงปี 2022 สายการบินที่มีเครื่องบินแบบ B747 อยู่ในฝูงบิน กำลังทำการดัดแปลงจากเครื่องบินโดยสารไปเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า (Cargo) เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งในปัจจุบันนี้ประมาณ 91% ของเครื่องบินแบบ 747s และ 97% ของ A380s ได้จอดอยู่ไม่ได้ทำการบิน
Boeing 747 Qatar Cargo
สายการบิน Air France, Lufthansa และ Qatar Airways เป็น 3 สายการบินที่บอกว่า เครื่องบิน Airbus A380 ของพวกเขาอาจถูกปลดระวางการใช้งานอย่างถาวร หรือกำลังเตรียมพร้อมที่จะทำเช่นนั้น ในขณะที่ Airbus ยังคงมีเครื่องบินอีกเพียง 9 ลำเท่านั้น ที่ยังรอการส่งมอบ แต่หนึ่งใน 9 ลำนั้น ได้ถูกทำสีและตราของสายการบิน Emirates ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครื่องบินแบบ Airbus A380 รายใหญ่ที่สุด ซึ่งกำลังพิจารณาว่า “จะยกเลิกการสั่งซื้อ 5 รายการสุดท้ายหรือไม่” (ยอดสั่งซื้อบางส่วน เคยถูกเปลี่ยนป็น Airbus A350 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า บินได้ไกลกว่า และประหยัดเชื้อเพลิงกว่า)
Airbus A380 มีราคาลำละประมาณ 20 พันล้านยูโร (23 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งสร้างผลกำไรเพียง 3 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2015 จากยอดขายเครื่องบินเพียง 251 ลำในช่วงที่ผ่านมา มีคำถามว่า ทำไม Airbus A380 จึงไม่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นเครื่องบินรับส่งสินค้าอย่าง Boeing 747 คำตอบคือ “A380 ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้ามาตั้งแต่ต้น วัสดุในการใช้ทำลำตัวเครื่องบินส่วนใหญ่เป็นแบบคอมโพสิต (Fiber Carbon) ที่มีน้ำหนักเบา เพื่อให้มีพื้นที่บรรจุเก้าอี้โดยสารได้มาก แต่คงไม่สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจากสินค้าได้มาก ทั้งที่มีลำตัวขนาดใหญ่ 2 ชั้นก็ตาม แตกต่างจาก B747 ที่มีอลูมิเนียมเป็นโครงสร้างหลักที่แขงแรงกว่า”
ในขณะที่ทางโบอิ้งได้เตรียมการมานานหลายปี เพื่อยุติการผลิต Boeing 747 และฝ่ายขายของโบอิ้งได้แสดงให้เห็นว่า มีความสนใจของลูกค้าในเครื่องบินแบบ Boeing 777x หากโมเดลดังกล่าวนี้เดินหน้าต่อไป ก็จะหนุนการขายเครื่องบินเครื่องยนต์คู่ที่ใหญ่ที่สุดในสายการผลิตของบริษัทได้
Boeing 747-8 UPS Air Cargo
ลางบอกเหตุว่า โบอิ้งจะยุติเครื่องบินแบบ 747 ซึ่งปรากฏออกมาในเอกสารทางการเงินเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า บริษัทจะยังคง “ประเมินความมีชีวิต (evaluate the viability)“ ของโครงการ ซึ่งเป็นถ้อยคำมาตรฐานที่ไม่เคยใช้มาก่อน ขณะนี้ ยังคงมีสายการผลิตสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าให่้กับ United Parcel Service Inc. (UPS) จำนวนประมาณ 15 ลำ แต่ด้วยความล่าช้าในการส่งมอบจึงทำให้เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน (มีอัตราการผลิตช้ามากเพียงปีละ 6 ลำเท่านั้น)
สำนักข่าว Bloomberg แจ้งว่ามีแหล่งข่าวภายในเผยว่า Boeing ตัดสินใจปิดสายการผลิตหลังเครื่องบิน Boeing 747 ลำสุดท้ายออกจากโรงงานในเอเวอเรตต์ รัฐวอชิงตัน ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันบริษัทมีออร์เดอร์เหลืออยู่ 15 ลำ เป็นเครื่องบินเวอร์ชันขนส่งสินค้า (Cargo) แบบ 747-8F ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครื่องบิน Boeing 747 ไม่ได้รับความนิยมและทยอยถูกปลดระวางออกจากฝูงบินเชิงพาณิชย์ของสายการบินทั่วโลก โดยปัจจุบันนี้ยังคงเหลือสายการบินเพียงไม่กี่แห่งที่ยังใช้งาน Boeing 747 อยู่ และส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าหรือคาร์โก
สำหรับ Boeing แล้ว โควิด-19 ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ซ้ำเติมแผลเก่า หลังมรสุมที่เผชิญระลอกก่อนยังไม่จางหาย จากอุบัติเหตุเครื่องบินสายการบิน Lion Air และ Ethiopian Airlines ที่ตกห่างกันเพียง 5 เดือน ในปี 2018 และ 2019 ซึ่งทำให้อนาคตของฝูงบิน Boeing 737 MAX ดับวูบลง ถูกสั่งให้หยุดบินมานานกว่า 1 ปีแล้ว และยังต้องรอการอนุมัติให้ขึ้นบินจากหน่วยงานการบินพลเรือนของสหรัฐฯ (FAA) และจากทั่วโลก ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน
มีหลายคนถามมาว่า “แล้วเครื่องบินรุ่นเก่าๆ ที่ปลดระวางเหล่านี้ไปอยู่ไหนกันหนอ นอกจากที่เอามาทำเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ อย่างในเมืองไทยบ้านเรา” คำตอบก็คือ ไปอยู่ที่ป่าช้าสนามบินเก่าๆ ของเอกชน เพื่อทำการถอดชิ้นส่วนบางชิ้นที่ยังใช้การได้ไปเป็นอะไหล่บ้าง นำไปรีไซเคิ้ลในวัสดุที่สามารถทำได้อย่างพวกทองแดง อลูมิเนียม ฯลฯ หรือนำไปใช้เป็นเฟอรฺ์นิเจอร์ตกแต่งสถานที่บ้าง นำไปทำเป็นฉาก (Mock up) สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่อาจใช้ได้หลายครั้งหรือบ้างก็ถูกทำลายด้วยระเบิดในการถ่ายทำ ดูในคลิปด้านล่างนี้ได้
B747 ของ Thai Airways ที่ฝรั่งยังทึ่งในการตกแต่งภายในที่แตกต่าง
การแยกชิ้นส่วนเครื่องบินเก่าไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ