airbus_boeing_plane_03

Boeing is halting production 737 MAX.

หลังจากโศกนาฎกรรมเครื่องบิน Boeing 737 MAX 2 ลำของสายการบิน Lion Air และ Ethiopian Airlines  ตกในระยะห่างกันไม่ถึงหกเดือน มีผู้เสียชีวิตรวม 346 ราย องค์การกำกับการบินในหลายประเทศก็สั่งระงับไม่ให้สายการบินในชาติตน ทำการบินด้วยเครื่องแบบดังกล่าว และห้ามสายการบินใดๆ ใช้เครื่องโบอิ้ง 737 บินผ่านน่านฟ้าของตนด้วย และในที่สุดองค์การที่ทำหน้าที่กำกับความปลอดภัยในการบินของสหรัฐอเมริกา (FAA) ก็สั่งระงับการบินด้วย Boeing 737 Max ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา (ข่าวเดิมอ่านที่นี่)

เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทาง Boeing ได้ประกาศยุติสายการผลิตเครื่องบินรุ่น Boeing 737 MAX ในเดือนมกราคม 2020 นี้ จากสาเหตุที่ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ของสหรัฐฯ ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ขึ้นบินได้ภายในปีนี้ หลังจากพยายามทดสอบแก้ไข ส่งข้อมูลกันไป-มาแล้วหลายครั้ง จนถึงถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการคาดการณ์ที่แน่ชัดว่าเครื่อง 737 Max จะได้กลับมาบินอีกเมื่อไหร่

หลังอุบัติเหตุเกิดขึ้น บริษัทยังเดินหน้าการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 MAX อยู่ โดยกำลังการผลิตอยู่ที่ 40 ลำต่อเดือน จากกำลังการผลิตเต็มที่ถึง 52 ลำ โดยเครื่องบินรุ่นนี้บริษัทหวังว่า จะเป็นรุ่นที่สร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัท เนื่องจากอัตราการสั่งเครื่องบินรุ่นนี้นั้นล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 4,500 คำสั่งซื้อ โดยตอนนี้มีเครื่องรุ่น 737 Max ในสต็อกของบริษัทรอส่งมอบจอดเต็มลานจอดเครื่องบิน และลามออกไปจนถึงลานจอดรถพนักงานมากถึง 400 เครื่อง

การหยุดสายการผลิตนี้ ทำให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมการบินของสหรัฐฯ กระทบไปถึงผู้ผลิตต้นน้ำ ที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินอีกทอดหนึ่ง คาดว่าจะกระทบบริษัทประมาณ 600 บริษัท ส่งผลกระทบกับแรงงาน 12,000 คนในโรงงานโบอิ้งเอง แม้บริษัทยังไม่ประกาศเลย์ออฟพนักงาน และยืนยันว่า จะส่งคนงานไปทำงานไลน์การผลิตใกล้เคียง แต่จะเป็นที่ไหนก็ยังไม่ชัดเจนนัก

ดังนั้น สต็อกเครื่องรุ่น 737 Max ถึง 400 ลำของ Boeing ก็ยังคงต้องค้างอยู่ในโกดังต่อไป เพราะไม่สามารถส่งมอบลูกค้า และรับชำระเงินได้ โดยมีหลายสายการบินที่ประกาศก่อนหน้านี้แล้วว่า จะขอยกเลิกคำสั่งซื้อ 737 Max ไปก่อน จนถึงอย่างน้อยในเดือนมีนาคม-เมษายน 2020 สายการบินที่ขอยกเลิกดังกล่าว เช่น American Airlines, United Airlines, Southwest, FlyAdeal, Fly Dubai, IndiGo,  Garuda Indonesia, รวมทั้งสายการบินในจีนอีกหลายสาย ในจำนวนนี้หันไปซื้อเครื่องบินจากคู่แข่งคือ บริษัท Airbus แทนโดยเฉพาะดาวรุ่งอย่าง Airbus A320 NEO และ A321 NEO

ข่าวประกาศการหยุดการผลิต 737 Max นั้นส่งผลให้ราคาหุ้น Boeing ร่วงลงทันที 4.3% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และลงต่อเนื่องอีก 2% ในช่วงเช้าวันอังคาร รวมเป็นมูลค่าเกือบ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่หายไปจากมาร์เก็ตแคปของบริษัทภายในเวลา 2 วันเท่านั้น นั่นยังไม่นับความสูญเสียที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกค้า ที่ได้สั่งเครื่องรุ่นนี้ไปแล้ว แต่ขึ้นบินไม่ได้เป็นระยะเวลานกว่า 8 เดือนที่ผ่านมา อีกมากมายหลายสายการบินทั่วโลก ขาลงครั้งนี้ไม่เฉพาะรุ่น 737 MAX เท่านั้น ปัญหาการผลิตและส่งมอบไม่ทันของ Boeing 787 ก็เช่นเดียวกัน ทำให้หลายสายการบินเปลี่ยนใจจนทำให้ Airbus ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับยอดสั่งซื้อของ A350 ที่เพิ่มขึ้นไปด้วย

ข่าวที่ไม่ได้กรองมากับปัญหานี้ สำนักข่าว Bloomberg ตามเกาะประเด็นเรื่องซอฟต์แวร์ของ Boeing 737 Max โดยอ้างข้อมูลจากอดีตพนักงาน Boeing ว่า ซอฟต์แวร์ของ 737 Max พัฒนาโดยพนักงานเอาต์ซอร์สราคาถูก เนื่องจากปลดพนักงานที่มีประสบการณ์ออกไป เพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทลง

แหล่งข่าวของ Bloomberg คือ Mark Rabin อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ของ Boeing ที่เคยอยู่ในทีมทดสอบ 737 Max และถูกปลดออกในปี 2015 ที่ระบุว่า Boeing จ้างบริษัทอินเดียชื่อ HCL Technologies มาพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ ซึ่ง HCL ก็นำตัวนักศึกษาอินเดียจบใหม่จำนวนหนึ่ง มานั่งทำงานในออฟฟิศใกล้ๆ กับสนามบิน Boeing Field ในซีแอทเทิล Rabin ให้ความเห็นว่าโค้ดของ HCL มีคุณภาพด้อยกว่าโค้ดที่ทีมซอฟต์แวร์ของ Boeing เขียนกันเอง และมีข้อผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง ต้องแก้ไขกันไปมาหลายรอบเพื่อให้โค้ดทำงานได้ถูกต้อง


Dennis A. Muilenburg ซีอีโอโบอิ้งกำลังนั่งเที่ยวบินสาธิตแพตช์ใหม่ ภาพโดย Boeing

Bloomberg ให้ข้อมูลรวมๆ ว่า Boeing และบริษัทคู่สัญญาที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ให้ นิยมใช้พนักงานเอาต์ซอร์สจากต่างประเทศ (เช่น อินเดีย) โดยพนักงานเหล่านี้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินน้อย ส่วนค่าแรงก็อาจถูกเพียงแค่ 9 ดอลลาร์ (ประมาณ 280 บาท) ต่อชั่วโมงเท่านั้น แม้ต่อมา Boring จะปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้จ้างมาทำส่วนนี้แล้วก็ตาม โดยระบุว่า Boeing มีบริษัทคู่สัญญาอยู่ทั่วโลก ส่วน HCL ก็ออกแถลงการณ์ว่า รับงานจาก Boeing จริง แต่ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาของ 737 Max ก็ฟังหูไว้หูนะครับ

ที่มา : CNN, BBC, CNBC, Bloomberg

ข่าวล่าสุด!

บริษัท โบอิ้ง ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศปลด นายเดนนิส มุยเลนเบิร์ก ออกจากตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารแล้ว เมื่อ 23 ธันวาคม 2562 และประกาศชื่อ นายเดวิด คาลฮูน ประธานบอร์ดบริหารให้มารับตำแหน่งแทนตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของบริษัท

นายมุยเลนเบิร์กเผชิญกับเสียงเรียกร้องอย่างหนักให้ลาออก จากปัญหาในวิธีที่บริษัทโบอิ้งภายใต้การนำของเขาใช้เพื่อรับมือเหตุ เครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ ตก 2 ครั้งจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งการตรวจสอบในเวลาต่อมาชี้ว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวมีความขัดข้องในเรื่องซอฟต์แวร์ เป็นสาเหตุให้เครื่องตก ทำให้ 737 แม็กซ์ ถูกห้ามบินมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562

“คณะกรรมการบริหารตัดสินใจว่า การเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้บริษัทก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่บริษัททำงานเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับผู้ตรวจสอบ, ลูกค้า และผู้ถือหุ้นทุกคน” โบอิ้ง ระบุในแถลงการณ์

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)