Boeing-737

Boeing 737 Max Crisis.

จะเรียกว่า “สภาวะวิกฤติ” หรือ “วิบากกรรม” ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารรายใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา The Boeing Company ที่ประสบปัญหาวิบากกรรมโบอิ้ง กรณีเครื่องบินโดยสารรุ่น 737 MAX 8 ตกถึงสองลำในเวลาห่างกันไม่ถึง 6 เดือน โดยลำแรกเป็นของสายการบิน Lion Air ตกในทะเลชวาขณะทำการบินขึ้นไม่นาน มีผู้โดยสารและลูกเรือจำนวน 189 คน และล่าสุดสายการบิน Ethiopian Airline ก็ตกอีกเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา หลังขึ้นบินเพียง 6 นาที มีผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตยกลำ 157 คน ทั้งที่เครื่องบินรุ่นนี้ผลิตและเปิดตัวเมื่อปี 2016 และทั้งสองบริษัทก็เพิ่งจะนำเข้ามาประจำการไม่นานนัก

แม้ว่าบริษัทอย่าง Boeing จะยืนยันว่าเครื่องบินรุ่น 737 MAX ปลอดภัยตามมาตรฐาน แต่ความเชื่อมั่นที่สายการบินทั่วโลกนั้นไม่ได้มองเหมือนกับ Boeing แต่อย่างใดและสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนราคาแสนแพง ทำให้เกิดความกังวลจากหน่วยงานกำกับดูแลการบินของหลายๆ ประเทศในเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น ประเทศจีน (ที่มีเครื่องรุ่นนี้อยู่ในหลายสายการบินมากถึง 65 ลำ) สิงคโปร์ แคนาดา ออสเตรเลีย สวีเดน รวมถึงไทย (ในไทยไม่มีสายการบินใดใช้เครื่องรุ่นนี้) ด้วย แต่ขณะเดียวกันสายการบินหลายๆ ประเทศที่มีเครื่องบิน Boeing 737 Max ก็ป้องกันตัวเองด้วยการสั่งห้ามไม่ให้นำเครื่องบินรุ่นนี้ขึ้นบิน หรือไม่อนุญาตให้บินผ่านน่านฟ้าของตน (จำนวนเครื่องที่มีในสายการบินต่างๆ อยู่ในภาพถัดไป)

รวมไปถึงล่าสุด หน่วยงานกำกับดูแลทางด้านการบินของสหรัฐอเมริกา คือ FAA (Federal Aviation Administration)  ได้ประกาศให้สายการบินที่ใช้เครื่องบินรุ่นนี้ห้ามขึ้นบิน เป็นประเทศท้ายๆ ของโลก (คงทนแรงกดดันจากนานาชาติไม่ไหว และจากการที่ผู้โดยสารจำนวนมากในอเมริกาปฏิเสธการเดินทางกับเครื่องบินรุ่นนี้ ที่มีสายการบินใหญ่ๆ ทั้ง Soutwest Airlines, American Airlines) โดย FAA ได้รายงานว่า ได้รับรายงานล่าสุดว่าสาเหตุที่เครื่องบินโดยสารของ Ethiopian Airlines ตกนั้นเป็นกรณีใหม่

สายการบินเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ส ระบุว่า ได้นำเครื่องบิน 737 max 8 ทั้ง 34 ลำของทางสายการบินออกจากตารางบินแล้วในทันที

737 คือท่อน้ำเลี้ยงของโบอิ้ง

Sheila Kahyaoglu นักวิเคราะห์จาก Jefferies ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า เครื่องบินรุ่น 737 ของ Boeing คิดเป็น 25% ของรายได้รวม ซึ่งถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ รวมไปถึงเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดของบริษัทอีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมา Boeing ได้ส่งมอบเครื่องบินรุ่น 737 ไปแล้วกว่า 580 ลำ ซึ่งรวมรุ่น MAX ที่ส่งมอบไปแล้ว 256 ลำ

ขณะเดียวกันยอดสั่งจองล่วงหน้าที่เหลือกว่า 4,636 ลำ ในตอนนี้ที่ประมาณมูลค่าได้กว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนี้กำลังอยู่ในความเสี่ยงอย่างยิ่งเพราะว่า สายการบินต่างๆ เริ่มที่จะเกิดความลังเลใจ รวมไปถึงตัดสินใจที่จะยกเลิกการสั่งซื้อเสียด้วยซ้ำ


ตารางแสดงเครื่องบินรุ่น 737 max 8 ของสายการบินต่างๆ เฉพาะที่มีมากกว่า 3 ลำขึ้นไป

สายการบินต่างๆ ก็เสียงแตก

ถ้าหากไม่นับว่ากรณีของสายการบิน Lion Air ที่ตกไปในทะเลชวาเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว โดยตัวแทนของ Boeing กล่าวว่า Lion Air ดูแลรักษาเครื่องบินได้ไม่เหมาะสม จนทำให้ CEO ของ Lion Air ถึงกับควันออกหู และกล่าวว่า “สายการบินอาจยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินทั้งหมดจาก Boeing” รวมไปถึงข่าวลือที่ว่า สายการบินการูด้าจากอินโดนีเซียเริ่มสนใจเครื่องบินจาก Airbus

ล่าสุดทางสายการบินการูดาอินโดนีเซีย ส่งจดหมายถึง บริษัทโบอิ้ง ขอยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบิน Boeing 737 max 8 จำนวน 49 ลำ โดยโฆษกของสายการบินการูดา อิคห์ซัน โรซาน กล่าวว่า การตัดสินใจของการูดาอินโดนีเซีย มีขึ้นเพราะผู้โดยสารในอินโดนีเซียหมดความเชื่อถือ และไร้ความเชื่อมั่นในการโดยสาร ด้วยเครื่องบินรุ่นดังกล่าว

นอกจากนี้ ทางสายการบินการูดาอินโดนีเซีย ยกเลิกการใช้เครื่องบิน Boeing 737 max 8 ซึ่งมีเพียง 1 ลำที่นำมาใช้บินเชิงพาณิชย์ ก็เตรียมที่จะเปลี่ยนเป็นเครื่องบินรุ่นอื่นของโบอิ้งแทน

ยังมีสายการบินอื่นๆ ที่กำลังอาจยกเลิกคำสั่งซื้อ หรือเปลี่ยนรุ่น ไม่ว่าจะเป็น

  • Utair จากรัสเซีย ขอให้ Boeing การันตีความปลอดภัย ก่อนที่จะรับส่งเครื่องบิน
  • Garuda จากอินโดนีเซีย เตรียมที่จะยกเลิกคำสั่งซื้อ 50 ลำ (รายงานจาก Reuters)
  • Kenya Airways เตรียมเปลี่ยนจากรุ่น 737 MAX เปลี่ยนเป็น 737-800 หรือ 737-900 แทน

ขณะเดียวกันสายการบินอื่นที่กำลังติดตามดูในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น VietJet จากประเทศเวียดนาม กำลังจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจยกเลิกดีลที่สั่งซื้อไปกว่า 200 ลำ รวมไปถึง FlyAdeal จากประเทศซาอุดิอาระเบียที่ก่อนหน้านี้ได้เปลี่ยนใจจาก Airbus ก็กำลังติดตามดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน

แต่ก็ยังมีสายการบินที่ยืนยันว่า จะรับเครื่องบินรุ่นนี้ เช่น Virgin Australia ที่ยังยืนยันว่าพร้อมรับเครื่องบินรุ่น 737 MAX 8 กว่า 30 ลำ เข้าในฝูงบิน

ราคาที่ต้องจ่ายแพง

แม้ว่าบริษัทโบอิ้งจะออกมายืนยันว่าเจ้า 737 MAX ทุกรุ่นจะมีความปลอดภัยสูง แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นที่ได้กล่าวไปข้างต้นที่สวนทางกับสิ่งที่บริษัทยืนยันคือ ความมั่นใจที่ส่งผลไปถึงกับราคาหุ้นของบริษัท โดยมูลค่าตลาดของบริษัทหายไปแล้วกว่า 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท

ล่าสุด Boeing ต้องชะลอการส่งมอบเครื่องบินรุ่น 737 MAX ทั้งหมดแล้ว หลังจากที่ได้รับข้อมูลใหม่จาก FAA เกี่ยวกับเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบิน Ethiopian ตก ซึ่งขั้นร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เครื่องบินรุ่นนี้ อาจต้องได้รับการตรวจสอบด้านความปลอดภัย และรวมไปถึงบริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติมมหาศาลอีกด้วย

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ของ Barclays วิเคราะห์ว่า กรณีเลวร้ายที่สุด บริษัทจะได้รับผลกระทบในเรื่องของกระแสเงินสดประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไม่เพียงแค่นั้น แต่การที่ Boeing ชะลอการส่งมอบ อาจกระทบกับสายการผลิต ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับเหล่า Suppiler ที่มีสต็อคอะไหล่จำนวนมาก จากการเร่งสั่งผลิตในช่วงปีที่ผ่านมาที่ต้องรอท่าทีของ Boeing อีกรอบด้วยว่าจะเอายังไงต่อไป รวมทั้งมีข่าวว่า บางสายการบินจะทำการฟ้องร้องโบอิ้ง ต่อความเสียหายที่เครื่องไม่สามารถให้บริการได้จากความบกพร่องของผู้ผลิต เช่น Fly Dubai และสายการบินในจีนอีกหลายสาย

คู่แข่งก็รอซ้ำเติม

นอกจากที่ความมั่นใจในความปลอดภัยของเครื่องบินรุ่น 737 MAX จะลดลงแล้ว อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าหลายๆ สายการบินเริ่มที่จะลังเลใจในการสั่งซื้อเครื่องบินจาก Boeing ล่วงหน้าแล้ว หลายๆ รายมีข่าวลือด้วยซ้ำว่าอาจยกเลิกการสั่งซื้อ เช่น Lion Air (คงโกรธมากที่ Boeing กล่าวหาว่าดูแลเครื่องไม่ดี จนทำให้เครื่องตก)

และนี่เป็นโอกาสอันดีของเครื่องบินโดยสารจากค่ายคู่แข่ง โดยเฉพาะจาก Airbus ที่ยอดสั่งซื้อรวมของเครื่องตระกูล Airbus A320 ล่าสุดนั้นเยอะกว่า Boeing ไปแล้ว ปัจจุบันกำลังการผลิตในตระกูล A320 ของบริษัทอยู่ที่ 63 ลำต่อเดือน มากกว่าที่ Boeing ผลิตรุ่น 737 MAX ซึ่งผลิตได้ 52 ลำต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสทองของผู้ผลิตเครื่องบินในประเทศจีนเจ้าใหม่อย่าง Comac ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบิน C919 (ขนาดเท่ากันกับ 737 max และ A320) อาจทำให้สายการบินในประเทศจีนซึ่งใช้เครื่องบิน Boeing 737 max 8 เปลี่ยนใจจาก Boeing มาสั่งเครื่องบินที่ผลิตในประเทศตนเองแทนอีกด้วย

MCAS สาเหตุที่ทำให้เครื่อง 737 max ตก

MCAS เป็นระบบช่วยบินอัตโนมัติ ระบบนี้เป็นของใหม่ของเครื่องบินตระกูล 737 max ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้เครื่องบินไม่เสียสภาพการทรงตัว (stalling) โดยระบบจะป้องกันไม่ให้หัวเครื่องบินชี้ทำมุมสูงเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียการควบคุมในการไต่ระดับเพดานบินได้

อย่างไรก็ตาม จากเอกสารตามระบบรายงานความปลอดภัยการบินสหรัฐฯ ซึ่งนักบินใช้ เพื่อเปิดเผยข้อมูลโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้รายงาน ดูเหมือนว่า ระบบดังกล่าวจะทำให้หัวเครื่องบินถูกกดลงจนดำดิ่งสู่พื้น

มีหลักฐานหลายอย่างเปิดเผยว่า นักบินหลายคนที่ทำการบินในช่วงเดือน พฤศจิกายน ปีที่แล้ว ได้แจ้งว่า ระบบทำการบินอัตโนมัติ (autopilot) กดจมูกเครื่องบินต่ำลง ทำให้ระบบเตือนภัยส่งเสียงเตือนว่า “อย่าลดระดับลง! อย่าลดระดับลง!” นักบินสหรัฐฯ 2 คน แจ้งเหตุ 2 เหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบต่อต้านการเสียสภาพการทรงตัวอัตโนมัติของ 737 max เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ทั้ง 2 กรณี นักบินจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงระบบ เพื่อไม่ให้เครื่องบินลดระดับลง หลังจากเหตุเครื่องบินไลอ้อนแอร์ตก โบอิ้งได้ออกประกาศว่า ต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความผิดพลาดในการอ่านค่าของอุปกรณ์ตรวจจับ ซึ่งส่งข้อมูลเกี่ยวกับการทำมุมของเครื่องบินขณะกำลังบินอยู่

แม้การสืบสวนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในเรื่องนี้ยังไม่เปิดเผยออกมา และยังไม่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนนัก แต่เว็บไซต์ CNBC ระบุว่า เครื่องบินทั้ง 2 ลำ ที่เป็นของสายการบินไลออน แอร์ ในอินโดนีเซีย และเอธิโอเปียน แอร์ ไม่ได้ติดตั้งระบบตรวจจับความบกพร่องของเซนเซอร์ควบคุมการบิน มาด้วย ซึ่งมีความสำคัญกับเครื่องบินอย่างมาก แต่ทาง Boeing กลับขายระบบความปลอดภัยเหล่านั้นเป็นตัวเลือกเสริม (Option) ของเครื่องบิน ซึ่งต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายแทน


The real reason Boeing’s new plane crashed twice

อยากให้ดู Youtube คลิปนี้ เพื่อให้มองภาพรวมว่า เกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 ที่ผลิตมานาน แล้วมาปรับปรุงใหม่เป็น 737 max เพราะคู่แข่งอย่างแอร์บัสได้พัฒนา A320 ใหม่ในชื่อ A320neo ที่มีความแรงแต่ประหยัดน้ำมันกว่า แต่จากการออกแบบของโบอิ้ง 737 เดิมนั้นมีความสูงจากพื้นน้อย เมื่อจะเพิ่มขนาดเครื่องยนต์ให้ใหญ่ขึ้นจึงมีปัญหาติดตั้งในตำแหน่งเดิมไม่ได้ ต้องออกแบบรูปทรงและเลื่อนตัวเครื่องยนต์ออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งทำให้ขาดความสมดุลย์ในการบินขึ้นของเครื่อง เพราะไม่อยากออกแบบใหม่ที่จะทำให้แข่นขันกับแอร์บัสไม่ทันการ (การออกแบบเครื่องบินใหม่นั่นหมายถึง ระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป และเงินลงทุนอีกมหาศาล รวมทั้งต้องรอการรับรองจาก FAA อีก)

Flydubai สายการบินตะวันออกกลางต้นทุนต่ำในเครือ Emirates ก็กำลังพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากทางโบอิ้ง หลังจากที่เครื่องบิน Boeing 737 max ถูกสั่งห้ามบินมานานนับเดือน โดยที่ Flydubai มีเครื่องบินรุ่นนี้ถึง 13 ลำ ที่จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินมากถึง 15 เที่ยวบินต่อวัน Ahmed bin Saeed Al Maktoum ประธานของ Flydubai กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องหยุดการบินของเครื่องเหล่านี้ แม้มันจะบินได้ แต่ก็ไม่มีใครยอมให้เราบินผ่านน่านฟ้าไปได้ เรากำลังพิจารณายกเลิกคำสั่งซื้อ 737 max 225 ลำ มูลค่ากว่า 27 พันล้านดอลล่าร์ เพื่อหันไปสั่งซื้อ A320neo จากทางแอร์บัสแทน”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา Virgin Australia ได้เลื่อนการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ออกไปจนถึงปี 2025 และเชื่อว่าจะใช้เวลามากถึงหกปี กว่าที่ประชาชนจะรู้สึกปลอดภัยบนเครื่องบินในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินตระกูล 737 MAX

Virgin Australia ได้มีกำหนดรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ลำแรกในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ อย่างไรก็ตามสายการบินได้เลื่อนการส่งมอบครั้งแรกออกไปจนถึงปี 2025 แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่รายสุดท้ายที่จะเลื่อนหรือยกเลิกคำสั่งซื้อ Boeing 737 max ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ในงาน Paris Air Show ที่จะจัดให้มีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ว่า จะเห็นยอดการสั่งซื้อ Airbus A320neo แซงหน้าเครื่องบินของโบอิ้งได้หรือไม่?

ที่มา : CNBC, BBC, NBC News, Bloomberg, Airways Mag

Update!

มีสารคดี Rogue Boeing 737 Max planes ‘with minds of their own’ จากรายการ 60 Minutes Australia ที่ทำสรุปได้ดีมาก ดูแล้วรู้สึกเศร้ามากเลยที่ Boeing ตัดสินใจแบบนี้ คือแม้แต่ตัวนักบินยังเพิ่งจะรู้ว่า มันมีระบบ MCAS อยู่บนเครื่องบินหลังเกิดเหตุการณ์เครื่องบิน Boeing 737 Max สายการบินเอธิโอเปียนตก

Liz Hayes investigates the disaster of Boeing’s 737 MAX jetliner. Why two supposedly state-of-the-art and safe planes crashed killing 346 people; why pilots now fear flying the 737 MAX; & whether Boeing could have averted the catastrophes.”

สารคดีได้ทำการจำลองว่า “นักบินจะรู้สึกอย่างไรกับระบบที่เกิด malfunction (ติดขัดมีปัญหา)” คือเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น Boeing ยังจะให้นักบินเปิดหนังสือคู่มือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ทั้งๆ ที่มีเวลาแก้ไขไม่มากเพราะเป็นช่วงที่นักบินเพิ่งจะทำการ takeoff ได้ไม่กี่นาที แถมยังเจอข้อผิดพลาดติดๆ กันเป็นระยะๆ ซึ่งในที่สุดเครื่องบินก็ตกจนได้ ไม่เคยมีการกล่าวถึงและได้รับการฝึกบนเครื่องบินจำลอง (Simulator) มาก่อนด้วย น่าเศร้าใจกับทุกชีวิตที่สูญเสียไปจริงๆ

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)