sleep_seat

การเลือกที่นั่งโดยสารบนเครื่องบิน

กรณีดราม่า สายการบินไทย เที่ยวบิน TG971 ซูริค-สุวรรณภูมิ ทำให้อยากเขียนเรื่อง “การเลือกที่นั่งบนเครื่องบินโดยสาร” นี้ขึ้นมา แต่ไม่ขอก้าวล่วงในเรื่องใครผิด – ถูกในเรื่องนั้นนะครับ ให้ทางบริษัทการบินไทย เขาดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ่น และแถลงผลออกมาดีกว่า แต่ขออธิบายคร่าวๆ ถึงความเป็นเป็นมา – เป็นไปในกรณีนี้สักนิดหนึ่งครับ

ฐมเหตุมาจากการใช้เครื่องบิน 2 แบบ (ที่แตกต่างกันทางกายภาพ) ในการให้บริการในเส้นทางนี้ครับ โดยปรกติเส้นทาง สุวรรณภูมิ-ซูริค-สุวรรณภูมิ จะใช้เครื่องบินแบบ Boeing B777-300ER ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ แบบชั้นเดียว บินได้ในระยะไกล มีการจัดที่นั่งแบบ 2 Class คือ Business กับ Economy แต่ในชั้น Economy จะมีการจัดชั้น Premium Economy ด้วยซึ่งจะกว้างขวาง ปรับเอนได้มากกว่าปรกติอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเส้นทางนี้จะจองตั๋วได้แค่ 2 Class ดังกล่าวนี้เท่านั้น ไม่มีชั้น First Class แต่อย่างใด

แต่ตามข่าวที่มีดราม่านั้นเป็นที่นั่งชั้น First Class ครับ อ้าวมันมาจากไหน มาจากการที่เครื่องบิน B77-300ER ที่ใช้ในการเดินทางเที่ยวไป มีปัญหาบินกลับไม่ได้ในวันนั้น ทางการบินไทยจึงนำเครื่อง Boeing B747-400 มาบินแทน เคริ่องบินแบบ B747 จะเป็นแบบสองชั้น (บน-ล่าง ชั้นบนอยู่ตรงส่วนหัวโหนกๆ นั่นเอง) และมีที่นั่ง 3 Class คือมีทั้ง First, Business, Economy ทำให้ผู้โดยสารที่จอง Business Class ใน B777-300ER สามารถอัพเกรดขึ้นมานั่งใน First Class ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแต่อย่างใด มันก็ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าไม่มีนักบินของ B777-300ER อีก 4 ท่านที่ต้องเดินทางกลับมาด้วยในเที่ยวบินนั้น (ซึ่งตามระเบียบบริษัทแล้ว นักบินที่เดินทางกลับโดยไม่ได้ทำหน้าที่บินในเครื่องนั้น เรียกว่า Deadhead Pilot จะต้องได้นั่งบนที่นั่ง First Class เพื่อการพักผ่อนได้ดีที่สุด สามารถกลับมาบินได้ทันทีเมื่อถึงต้นทาง)

Deadhead หรือ Passive crew หมายถึง นักบินและ/หรือพนักงานต้อนรับที่เดินทางไปด้วยบนเที่ยวบิน โดยไม่ได้ทำหน้าที่ในระหว่างไฟลท์ แต่เดินทางไปเพื่อทำหน้าที่หลังจากไฟลท์หรือเดินทางกลับบ้าน”

ปัญหานี้มันเกิดขึ้นที่ ฝ่ายบริการภาคพื้นที่สนามบินซูริคไม่ได้กันที่นั่งไว้ให้นักบิน และได้ออกบัตรโดยสารให้ผู้โดยสารอัพเกรดไปชั้นหนึ่งจนเต็มแล้ว ทำให้ที่นั่งของนักบินไม่มีดังกล่าว และคงจะทราบกันดีว่า นิสัยคนไทยเรื่องพวกพ้องสำคัญกว่าอื่นใด นักบินที่ทำหน้าที่บินเครื่อง B747 ในวันนั้น ได้พยายามต่อรองกับทางภาคพื้น ให้เปลี่ยนที่นั่งผู้โดยสารให้มีที่นั่งว่าง สำหรับนักบินทั้งสี่ให้ได้ก่อนจึงจะขึ้นบิน จึงทำให้เกิดการล่าช้าของเที่ยวบินดังกล่าว มีบางท่านถามมาว่า ทำไมไม่ให้นักบินทั้งสี่คนนั้นขับเครื่อง B747 มากรุงเทพฯ เลยล่ะ ก็ต้องตอบว่า ใบอนุญาตการบิน (License) จะเป็นเฉพาะแบบเลยครับ เช่น ได้ใบอนุญาต B777 มาก็บินแบบนี้ได้แบบเดียว จะไปบินรุ่นอื่นไม่ได้ครับ นี่ขนาดเป็นยี่ห้อเดียวกันนะ ไม่ได้ข้ามยี่ห้อจาก Boeing ไป Airbus เลยด้วยซ้ำ ก็รอผลการแถลงของบริษัทการบินไทยอีกทีนะครับ

การเลือกที่นั่งโดยสารบนเครื่องบิน

มาคุยกันเรื่อง “เลือกที่นั่งโดยสารบนเครื่องบิน” กันดีกว่า เป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม หรือไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควรกับการเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน เพราะคิดเอาเองว่านั่งตรงไหนก็เหมือนกันน่า หรือบางคนก็เลือกที่นั่งเอาแค่ริมทางเดิน หรือ ริมหน้าต่าง โดยไม่ได้สนใจหรอกว่า แท้จริงแล้ว เราควรนั่งตรงไหนกันแน่? บอกได้เลยว่า มันมีผลต่อความสะดวกสบายในการเดินทางมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินระยะสั้นหรือยาวแค่ไหน และไม่ว่าจะเดินทางด้วยชั้นโดยสารแบบไหนก็ตาม โดยเฉพาะ Economy Class นี่บอกได้เลยว่า ความสบายของแต่ละที่นั่งในเครื่องบินลำเดียวกันนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก (ทั้งๆ ที่จ่ายเท่ากันนั่นแหละ)

ทำไมต้องเลือกที่นั่งก่อนเดินทาง?

  • รู้หรือไม่ว่า บนเครื่องบินลำเดียวกัน ชั้นโดยสาร Economy เหมือนกัน อาจมีพื้นที่วางขา (leg room / seat pitch) ไม่เท่ากัน แล้วเราจะไปนั่งที่แคบทำไม ในเมื่อเราเลือกได้ฟรี?
  • รู้หรือไม่ว่า ที่นั่งบางที่ ปรับเอนได้น้อยกว่าที่นั่งอื่นๆ?
  • รู้หรือไม่ว่า ที่นั่งบางที่ ถึงจะเลือกติดหน้าต่างแล้ว แต่มันไม่มีหน้าต่างให้มองเห็นอะไรเลย (ฮ่าๆๆ จริงๆ)
  • รู้หรือไม่ว่า ที่นั่งบางที่ ต้องทนเสียงดังของรถเข็นและอุปกรณ์ ขณะที่ลูกเรือกำลังเตรียมอาหาร/เครื่องดื่มจะเสิร์ฟให้ผู้โดยสาร
  • รู้หรือไม่ว่า ที่นั่งบางที่ อยู่หน้าห้องน้ำ และชอบมีคนมายืนรอเข้าห้องน้ำข้างๆ เราอยู่ตลอด แถมบางทีก็ต้องทนกลิ่นเหม็นจากห้องน้ำในขณะเปิด-ปิดประตูเข้า-ออกด้วย (และบางทีก็มีเสียงและกลิ่นของลมที่ทนอดกลั้นอยู่ข้างๆ คุณด้วยนะ)

แล้วทำไมเราถึงจะไม่เลือกล่ะครับ ในเมื่อเราเลือกได้เองนี่นา ก่อนที่จะไปเลือกที่นั่งมีสิ่งสำคัญ 3 อย่างที่เราต้องรู้เกี่ยวกับการเดินทางของเราครับ

  • สายการบินที่เราเลือกเดินทางนั้น อนุญาตให้เราเลือกที่นั่งได้หรือไม่? สายการบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ สามารถให้เราเลือกที่นั่งได้เอง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ ซึ่งเกินกว่าครึ่งของผู้โดยสารปัจจุบันไม่ได้เลือกที่นั่งด้วยตัวเองเลย รู้แค่ว่าจองๆ ซื้อๆ ไป ตอนไปเช็คอินเค้าให้นั่งตรงไหนก็นั่ง หรือต่อให้ในหน้าเว็บมีผังที่นั่งให้เลือก ก็เลือกไปแบบไม่ได้สนใจอยู่ดี ว่าที่นั่งไหนถึงจะดีที่สุดในขณะที่บางสายการบิน ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเลือกที่นั่ง โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ เช่น Nok Air, Thai Air Asia, Thai Lion Air เป็นต้น หรือ บางสายการบิน ก็อนุญาตให้เลือกที่นั่งได้ฟรี แต่ต้องทำรายการก่อนที่จะเดินทางอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เช่น นกแอร์
  • หมายเลขเที่ยวบิน อันนี้ทุกคนน่าจะต้องทราบอยู่แล้วว่า เรากำลังจะเดินทางด้วยเที่ยวบินไหน ของสายการบินอะไร ก็ให้จดข้อมูลออกมาครับ เพราะเราจะต้องเอามาใช้กรอกหาที่นั่งดีๆ ในเว็บที่จะกล่าวถึงต่อไป
  • เดินทางด้วยกันกี่คน? เป็นปัจจัยต้นๆ ของการเลือกที่นั่งครับ เพราะเราก็ต้องอยากนั่งติดกับเพื่อน หรือครอบครัวของเราแน่ๆ ไม่ได้อยากไปนั่งติดกับใครก็ไม่รู้ ที่ต้องไปลุ้นอีกว่า นางจะตัวใหญ่ขนาดไหน หรือ นางจะมีกลิ่นตัวเหม็นแค่ไหน ซึ่งจำนวนคนที่เราจะเดินทางด้วย มีผลในการเลือกที่นั่งอย่างมากครับ เพราะผังที่นั่งของเครื่องบินในชั้น Economy ก็จะมีทั้งแบบ 2 ที่นั่ง, 3 ที่นั่ง หรือ 4 ที่นั่งติดกัน ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาดของเครื่องบินลำนั้นๆ ด้วย (ถ้าสายการบินในประเทศก็จะเป็นแบบลำตัวแคบ จัดที่นั่งเป็นแบบ 3-3 สองฝั่ง ถ้าสายการบินระหว่างประเทศจะเป็นแบบลำตัวกว้าง มีช่องทางเดิน 2 ช่อง การจัดที่นั่งก็มีทั้งแบบ 2-4-2 หรือ 3-3-3 หรือ 3-4-3 เป็นต้น แล้วแต่รุ่นหรือแบบเครื่องบิน)

และศัพท์ที่ควรรู้ก่อนไปเลือกที่นั่งอีก 2 คำ คือคำว่า Width และ Pitch ครับ

  • Seat Width คำว่า Width หรือที่แปลว่าความกว้าง ในที่นี้จะหมายถึงระยะห่าง จากขอบเบาะที่นั่งด้านหนึ่งไปถึงขอบเบาะอีกด้านหนึ่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว Width ของที่นั่งชั้นประหยัด (Economy Class) จะอยู่ที่ประมาณ 17″ – 18″ ถึงจะสามารถนั่งได้อย่างไม่อึดอัดครับ และ Seat Width ของที่นั่งในชั้นโดยสารเดียวกัน ในเครื่องบินลำเดียวกัน จะห่างเท่ากันเสมอ ไม่ว่าจะนั่งตรงไหนก็ตาม
  • Seat Pitch อีกหนึ่งคำที่ต้องรู้ และสำคัญมากๆ คือ Seat Pitch หรือว่าระยะห่างระหว่างขอบหลังสุดของเบาะที่นั่ง 2 แถวบนเครื่องบิน (เมื่อปรับเบาะขึ้นมาอยู่ในระดับตรง) ซึ่งเจ้า Seat Pitch นี่แหละครับ ที่แม้จะเดินทางในชั้นโดยสารเดียวกัน บนเครื่องบินลำเดียวกัน ก็อาจจะห่างไม่เท่ากันก็ได้ ด้วยข้อจำกัดของรูปร่างเครื่องบิน และความคุ้มค่าของสายการบินเอง ที่ต้องเพิ่มจำนวนที่นั่งเข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงอาจทำให้ที่นั่งบางแถวแคบกว่าแถวอื่น (โดยที่ผู้โดยสารไม่รู้ตัว และไม่เคยมีบอกในตั๋วโดยสาร) เราเลยอาจจะสงสัยว่า ทำไมบางครั้งก็รู้สึกว่ามันกว้าง บางทีก็รู้สึกว่ามันแคบ ทั้งๆ ที่เดินทางด้วยสายการบินเดียวกันตลอด และนี่คือเหตุผลว่า “ทำไมเราถึงต้องเลือกที่นั่งที่ดีที่สุดบนเครื่องบินก่อนที่จะเดินทาง”

อย่างไรก็ตามตัวเลข Seat Pitch ในเครื่องบินใหม่ๆ อาจจะแคบลงเล็กน้อย เพราะเทคโนโลยีที่นั่งปัจจุบันสามารถทำให้เบาะบางลงกว่าเดิมมากครับ ตัวเลข Seat Pitch ที่ผมแนะนำว่าสามารถนั่งได้แบบไม่อึดอัดเกินไป สำหรับเที่ยวบินไกลๆ คืออยู่ที่ราวๆ 31″ ขึ้นไปครับ

การเลือกที่นั่งเครื่องบินนั้น สามารถทำได้จากหน้าเว็บไซต์ของสายการบินที่เราเลือกใช้บริการ และยังมีเว็บไซต์ที่ให้บริการแผนผังที่นั่งบนเครื่องบินอีกหลายที่ แต่ที่ใช้ง่ายๆ และสะดวกมากที่ขอแนะนำคือ SeatGuru.com (ของ TripAdvisor) ซึ่งมีทั้งหน้าเว็บไซต์ และมีแอพพลิเคชั่นบนมือถือให้ใช้งานอีกด้วย หรืออย่าง SeatExpert.com ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้ สามารถบอกเราได้ครบ ทั้งแผนผังที่นั่งบนเครื่องบินเกือบทุกแบบ, บอก Seat Pitch และ Seat Width ได้, ระบุ Good Seat, Bad Seat บนเครื่องบินแบบนั้นๆ ได้ รวมถึงมีคอมเมนต์บางอย่างของที่นั่งบางที่ให้เรารู้ล่วงหน้า โดยสามารถค้นหาได้จากหมายเลขเที่ยวบิน และวันที่จะเดินทางได้เลย

ขอยกตัวอย่างเที่ยวบินที่ใช้เครื่องบินแบบ Boeing 747 ด้านล่างนี้ เพื่อใช้ในการเลือกที่นั่งในการเดินทางกับทางสายการบินต่อไปครับ

ผังที่นั่งส่วนหัวเครื่องบินแบบ Boeing 747 (ชั้นล่าง จะมีทั้ง 3 Class)

ผังที่นั่งส่วนท้ายเครื่องบินแบบ Boeing 747 (ชั้นล่าง Economy Class)

ข้อดีของ SeatGuru คือมันจะบอกเราเลยครับ ว่าที่นั่งไหนดี (สีเขียว) ที่นั่งไหนมีหมายเหตุต้องระวัง (สีเหลือง) และที่นั่งไหนไม่ดี (สีแดง) รวมถึงแผนผังที่นั่งของเครื่องบินทั้งลำ ว่าแบ่งที่นั่งออกเป็นกี่แถว แถวละกี่ที่นั่ง ตำแหน่งของห้องน้ำ และ Galley (ส่วนที่ลูกเรือ ต้องใช้เตรียมอาหาร) อยู่ตรงไหน ตำแหน่งของปีกอยู่ตรงไหน และ ตำแหน่งของทางออกฉุกเฉินทั้งหมด (ลูกศรสีแดง) ก็มีบอกเอาไว้ครบถ้วน

ข้อมูลจาก SeatGuru ยังบอกได้อีกครับ ว่าแต่ละที่นั่ง มีหมายเหตุอะไรบ้าง แค่เอาเมาส์ไปวางไว้บนที่นั่งนั้นๆ ก็จะมีข้อมูลบอกครบ เช่นที่นั่ง 35G นี้เป็นที่นั่งสีเหลือง (มีหมายเหตุต้องระวัง) ซึ่งระบุว่าเป็นที่นั่งแบบ Bulkhead หรือว่าที่นั่งแถวหน้าสุดของเซคชั่นนั้นๆ ข้อดีคือ มีพื้นที่วางขาแบบล้นหลาม ไม่มีเบาะอยู่หน้าเรา ข้อเสียคือ ไม่มีพื้นที่เก็บของใต้ที่นั่งด้านหน้า ที่นั่งตัวนี้จะอยู่ใกล้ๆ กับ Galley อาจจะมีเสียงดังจากการเตรียมอาหาร และถ้าใครสังเกตดีๆ จะมีรูปรถเข็นเด็กอยู่หน้าที่นั่งแถวนี้ นั่นแปลว่าเป็นตำแหน่งของที่แขวนเปลเด็ก ซึ่งอาจซวยได้หากเที่ยวบินนั้นมีเด็กเล็กมาด้วยจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงถ้าต้องการจะหลับยาวๆ บนเครื่องบิน

อีกหนึ่งตัวอย่างมาดูกัน ที่นั่ง 42H ของเครื่องบินลำนี้บ้าง อันนี้ระบุว่าเป็นที่นั่งสีแดง (Bad Seat) เลยทีเดียว เพราะว่าเป็นที่นั่งแถวหลังสุดของเซคชั่นนั้นๆ ทำให้เบาะปรับเอนได้น้อยกว่าที่นั่งอื่นๆ แถมมันยังใกล้ห้องน้ำอีก อาจจะมีคนมายืนรอเข้าห้องน้ำเกะกะ และอาจได้กลิ่นจากห้องน้ำ เสียงรบกวนจากเสียงกดชักโครก ยังไม่พอแค่นั้น ใต้ที่นั่งด้านหน้ายังมีกล่องเหล็กที่ไปลดพื้นที่วางขาเข้าไปอีก ถือได้ว่าที่นั่งนี้ห่วยสุดๆ บนเครื่องบินลำนี้เลยครับ แต่คุณอาจจะได้ไปนั่งก็ได้นะ ถ้าไม่ได้ไปเลือกที่นั่งเองก่อนการเดินทาง

อีกหนึ่งข้อมูล ที่เอาไว้เปรียบเทียบระหว่างเครื่องบินแบบต่างๆ ของสายการบินต่างๆ ก็คือระยะ Seat Width และ Seat Pitch ของที่นั่งบนทุกชั้นโดยสารครับ อย่างบน Boeing 747-400 ของการบินไทย ที่นั่ง Economy มี Seat Width 17.7 นิ้ว และ Pitch 34 นิ้ว ซึ่งค่อนข้างกว้างกว่า Airbus 320 ของสายการบินแบบต้นทุนต่ำ ที่มี Seat Width 18 นิ้ว แต่ Pitch แคบเพียง 29 นิ้ว เท่านั้น

แล้วจะเลือกนั่งตรงไหนดี?

ก่อนตอบคำถามนี้ ต้องถามกลับไปก่อนว่า จะเดินทางกันกี่คนครับ เพราะเป็นปัจจัยแรกที่เราควรเอามาพิจารณาในการเลือกที่นั่ง เพื่อให้คณะเดินทางของเราได้นั่งติดกันเสมอ ซึ่งก็ต้องย้อนมาดู Seat Map ของเครื่องบินอีกแหละครับ เพราะเครื่องบินใหญ่ๆ อย่าง Boeing 747-400 หรือ Airbus A380 จะแบ่งแถวที่นั่งออกเป็น 3+4+3 (เช่นเดียวกับแผนผังด้านบน) ถ้าเดินทาง 4 คน ก็เหมาแถวกลางไปเลย เป็นต้น ยิ่งเดินทาง 2 คนขึ้นไป ผมยิ่งแนะนำให้จองที่นั่งล่วงหน้าครับ เพื่อที่จะการันตีได้ว่า คณะของเราจะได้นั่งด้วยกัน

ในการเดินทางคนเดียว บนเครื่องบินแบบที่มีเซคชั่นกลาง และเซคชั่นกลางมีที่นั่ง 3 ตัวติดกัน เช่นแผนผังแบบในรูปด้านบน (ส่วนมากเป็น Boeing B777 กับ B787) ก็ขอแนะนำให้นั่งเซคชั่นกลาง แถว D หรือ F เลยครับ เพราะคุณจะสามารถลุกออกไปห้องน้ำได้ โดยไม่ต้องเรียกให้ใครตื่นมาหลีกทางให้ และหากคุณหลับ คนที่นั่งกลาง (แถว E) ก็อาจจะไม่ได้รบกวนคุณ เพราะเขาสามารถออกได้ทั้งสองทาง นั่นแปลว่าลดโอกาสที่คุณจะโดนเรียกให้ตื่น เพื่อหลบทางให้เขาน้อยลงไปครึ่งนึงเลยทีเดียว เทคนิคนี้นำไปใช้กับการเดินทาง 2 คนได้ด้วยครับ เราก็ยึดแถว D-E หรือ E-F ไว้ แค่นี้ก็ไม่ต้องหลบทางให้คนไม่รู้จักแล้ว

นั่งริมทางเดิน หรือ ริมหน้าต่างดีกว่ากัน?

จะตอบยังไงดีเพราะบางคนนั้น “มันเป็นเรื่องตื่นเต้นที่จะได้ชมปุยเมฆขาวๆ หรือทิวทัศน์เบื้องล่างเมื่อเครื่องเริ่มบินขึ้น หรือร่อนลงสนามบินปลายทางในเวลากลางวัน (ส่วนกลางคืนก็ชมแสงไฟไปก็สวยดี) ของแบบนี้ต้องวัดกันที่ความอึดของกระเพาะฉี่เลยครับ” ถ้าคุณเป็นคนเข้าห้องน้ำบ่อยๆ แนะนำให้นั่งริมทางเดินเข้าไว้ จะได้ไม่ไปรบกวนคนอื่นเขามาก แต่ถ้าคุณเป็นคนหลับง่าย และตั้งใจจะนอนอย่างจริงจังบนเที่ยวบินนั้นๆ ก็เลือกที่นั่งริมหน้าต่างจะดีกว่า ส่วนที่นั่งที่ไม่ควรจะไปนั่ง และควรหลีกเลี่ยงที่สุดหากเดินทางคนเดียวคือ “ที่นั่งหลุมดำ” คือไม่ริมทางเดิน และไม่ริมหน้าต่าง ถ้าเลือกได้ หาที่นั่งซักริมหนึ่งจะดีกว่าครับ เพราะเราจะโดนเบียดจากแค่ฝั่งเดียว หากคนข้างๆ เราตัวใหญ่กว่าปกติ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกที่นั่งคือ ให้ล็อกอินเข้าระบบของสายการบินนั้น ไปดูครับว่า เหลือที่ไหนว่างบ้าง หากเป็นเที่ยวบินที่ค่อนข้างเต็ม แนะนำให้ใช้เทคนิคข้างบนที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว แต่ถ้าเที่ยวบินค่อนข้างว่าง จะกลายเป็นคนละเรื่องทันที เพราะผมขอแนะนำให้เลือกที่นั่งโซนว่างๆ ไว้เลยครับ เพราะมีโอกาสอย่างมากที่คุณจะได้ที่นั่งข้างๆ เป็นที่ว่าง ทำให้มีพื้นที่มากขึ้นในการนอนยาวๆ และไม่ไปเบียดกับคนอื่นด้วย

เรื่องขำๆ ของคนอยากนั่งริมหน้าต่าง

เมื่อต้องเดินทางโดยเครื่องบิน เชื่อว่าหลายๆ คนอยากเลือกนั่งตรงที่นั่งริมหน้าต่าง เพราะจะได้ชมทิวทัศน์ท้องฟ้าสวยๆ จากบนฟ้า และได้เห็นวิวของบ้านเมืองที่น่าตื่นตาขณะใกล้ลงจอด ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่น (ในเรื่อง) คนนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเขามีเหตุต้องโดยสารเครื่องบินของสายการบินหนึ่ง และได้ระบุไปตั้งแต่แรกที่เคาท์เตอร์เช็กอินว่า “เขาต้องการที่นั่งริมหน้าต่าง” แต่เมื่อถึงเวลาขึ้นเครื่องจริงๆ เขากลับต้องผิดหวัง เพราะนอกจากจะได้นั่งที่นั่งริมทางเดินแล้ว แถวของเขาก็ไม่ตรงกับหน้าต่างอีกด้วย !!! อ้าว! ไหงเป็นแบบนั้นอ๊ะ…

หลังจากที่ชายหนุ่มพบว่า “ตัวเองผิดหวัง” เขาก็บอกพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือแอร์โฮสเตสไปว่า เขาอยากเห็นวิวนอกหน้าต่าง และอยากเห็นเมฆสวยๆ ลอยผ่านปีกเครื่องบิน ตอนแรกเขาก็คิดว่า น้องแอร์โฮสเตสจะช่วยหาที่นั่งใหม่ให้กับเขา ย้ายเขาไปนั่งริมหน้าต่างดังที่ต้องการ หรือไม่ก็ไปนั่งในแถวที่เห็นหน้าต่างได้ก็ยังดี แต่ว่า… เขาคิดผิด

หลังจากที่แอร์โฮสเตสบอกว่า “รอสักครู่นะคะ” เธอก็หายไปพักหนึ่ง ชายหนุ่มก็คิดว่าเธอคงจะไปจัดการเรื่องที่นั่ง ผลปรากฏว่า เธอเดินย้อนกลับมาที่เดิมพร้อมกระดาษ 1 แผ่นในมือ และจัดการแปะกระดาษแผ่นนั้นเข้ากับผนังเครื่องบินข้างๆ ชายหนุ่มก็งงว่ามันคืออะไร แต่เมื่อเขาเห็นสิ่งที่อยู่ในกระดาษ เขาก็อึ้ง….. แอร์โฮสเตสจัดวิวนอกหน้าต่างให้เขาจริงๆ ด้วยการวาดหน้าต่างลงไปบนกระดาษ มีปุยเมฆสีขาวให้ตามคำขอ แถมยังจัดวิวทะเลให้อีกด้วย โอ้โห สุดยอดไปเลยจริงๆ !


ที่นั่งริมหน้าต่างที่สาวแอร์โฮสเทสจัดให้ผู้โดยสาร
ภาพจาก Twitter @kooo_TmS_suke

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขาจะไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ แต่เขาก็ไม่ได้ถือสาหาความอะไรกับลูกเรือ และมองว่ามันเป็นเรื่องที่ตลกดี คลายเครียดไปได้เหมือนกัน เพราะถ้าหากแอร์โฮสเตสจัดหาที่นั่งให้เขาได้ เธอก็คงทำไปแล้ว และอาจจะรู้สึกลำบากใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ให้ผู้โดยสารเห็นวิวปลอมๆ ไปก็ยังดี โดยผู้โดยสารหนุ่มรายนี้ได้โพสต์แชร์ภาพวิวปลอมๆ ของเขาลงบนทวิตเตอร์ และชาวเน็ตที่ได้อ่านเรื่องราวต่างก็อมยิ้ม นับเป็นเรื่องน่ารักๆ อีกเรื่องบนเครื่องบิน ที่เก็บไว้เล่าได้อีกนานเลยทีเดียว

แต่ถ้าตอนแรกผู้โดยสารหนุ่มรายนี้ “อยากได้ที่นั่งริมทางเดิน แต่ถูกย้ายไปอยู่ริมหน้าต่าง” ลูกเรือจะแก้ปัญหายังไงล่ะเนี่ยยยย…

เครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ๆ ที่เรานั่งกัน สามารถลอยได้ด้วยแรงลมที่ยกอยู่ใต้เครื่อง จากการควบคุมของ flap และเครื่องยนต์บนปีกเครื่องบินครับ ดังนั้นตำแหน่งที่มีความสมดุลย์ที่สุดของตัวเครื่องก็คือ “ตำแหน่งลำตัวเครื่องที่ตรงกับปีกที่สุด” จะให้ความรู้สึกที่สะเทือนและเขย่าน้อยกว่า บริเวณหางเครื่องบินอย่างชัดเจน แถมยังมีความเชื่อว่านั่งบริเวณนี้อุ่นใจที่สุด เพราะเป็นส่วนที่มีโครงสร้างของลำตัวเครื่องบินที่แข็งแรงที่สุด โอกาสรับแรงกระแทกโดยตรงน้อยที่สุดหากเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย ดังนั้นที่นั่งที่ตรงกับปีก เป็นที่นั่งที่ควรให้ความสำคัญในการเลือกเช่นกันครับ

แต่จุดที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งคือ “ส่วนท้ายลำ” เพราะมันจะเสียงดังมาก แล้วก็สั่นอยู่ตลอดเวลาของการเดินทางเลยล่ะครับ หากคุณต้องเดินทางบนเครื่องบินขนาดใหญ่อย่าง Airbus A380 ซึ่งจะมีที่นั่งทั้งหมด 2 ชั้น คือ ด้านบนและด้านล่าง ปกติแล้วแบบนี้ที่นั่งด้านบนจะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะห้องโดยสารจะเล็กกว่าด้านล่าง ทำให้การจัดที่นั่งมีความหนาแน่นต่ำกว่า คือเขาจะจัดที่นั่งแบบ 2-4-2 ส่วนชั้นล่างจะจัดแบบ 3-4-3 นอกจากนั้นข้างบนยังเงียบสงบกว่าชั้นล่างอีกด้วย


ที่นั่งตรงตำแหน่งประตูฉุกเฉินบนเครื่องบิน

ที่นั่งกว้างๆ บริเวณประตูฉุกเฉิน

ที่นั่งบริเวณนี้ มักจะสงวนไว้สำหรับคุณผู้ชายที่แข็งแรง และตัวใหญ่ แต่จริงๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นเสมอไปนัก เพราะคุณผู้หญิงก็สามารถนั่งได้เช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องมั่นใจด้วยว่า ใครก็ตามที่นั่งบริเวณนี้จะต้องมีสติ แข็งแรง และสามารถให้ความช่วยเหลือคนอื่นๆ เวลามีเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ด้วย ข้อดีคือ คุณจะมีพื้นที่พักเท้ามากกว่าส่วนอื่นๆ แต่ข้อเสียคือ คุณจะไม่สามารถวางกระเป๋าไว้บริเวณด้านหน้าที่นั่งได้นะ ถ้ากายพร้อม ใจพร้อม ก็เลือกที่นั่งบริเวณนี้ได้เลย

รู้หรือไม่ “ผู้หญิงมีครรภ์” มีข้อกำหนดในการเดินทางด้วยเครื่องบิน

การขึ้นเครื่องบินของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ซึ่งสามารถแบ่งประเภทโดยประมาณได้ 3 แบบคือ

  • อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ : เดินทางได้ปกติ
  • อายุครรภ์ระหว่าง 28-35 สัปดาห์ : ต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบการเดินทาง
  • อายุครรภ์มากกว่า 35 สัปดาห์ : ไม่อนุญาตในการเดินทาง

ทั้งนี้แต่ละสายการบินจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปนะครับ บางสายการบินก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีมาตราการที่เข้มงวดอย่างมาก ทั้งนี่จากข้อกำหนดข้างต้นเป็นเพียงแค่การประมาณการ ดังนั้นผู้โดยสารจึงต้องทำการสอบถามหรือศึกษากับสายการบินที่จะเดินทางด้วยนะครับ

การขอใบรับรองแพทย์นั้นจะระบุว่า สามารถโดยสารทางอากาศได้ หรือ Fit To Fly. โรงพยาบาลทั่วไปจะมีแบบฟอร์มไว้ให้ ในกรณีผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องเดินทางโดยเครื่องบินอยู่แล้ว และใบรับรองแพทย์ต้องมีอายุไม่เกิน 1สัปดาห์ เมื่อถึงวันเดินทางด้วยนะครับ

เพื่อป้องกันการดราม่าในการเดินทาง (บางทีกฎพวกนี้มักจะแตกต่างในแต่ละประเทศด้วย หากเราใช้เที่ยวบินของบริษัทเดียวกันทั้งในขาไปและขากลับ) ให้ถ่ายเอกสารหลักฐานการอนุมัติขึ้นเครื่อง (ระเบียบปฏิบัติของสายการบินนั้น) ไว้ด้วย เผื่อในขากลับมีปัญหาจะได้ใช้ยืนยันว่า ได้รับอนุญาตที่ต้นทางมาแล้วจะดีที่สุดครับ

ถ้าคุณต้องเลือกที่นั่งบนเครื่องบินสายภายในในประเทศ จะเลือกที่นั่งอย่างไรไม่ให้โดนแดด (สมมุติฐานนี้คือ เดินทางขาออกจากกรุงเทพฯ และบินภายในประเทศนะครับ ถ้าต้นทางท่านมาจากสนามบินต่างจังหวัด ก็ดูว่ามาจากภาคใด ก็เลือกตรงข้ามกับที่แนะนำครับ) คำแนะนำในการเลือกที่นั่ง คือ

ขึ้นเหนือ

  • เที่ยวบินเช้า : เลือกที่นั่งฝั่งซ้าย (แถว A, B, C)
  • เที่ยวบินบ่าย-เย็น : เลือกที่นั่งฝั่งขวา (แถว H, J, K)

ล่องใต้

  • เที่ยวบินเช้า : เลือกที่นั่งฝั่งขวา (แถว H, J, K)
  • เที่ยวบินบ่าย-เย็น : เลือกที่นั่งฝั่งซ้าย (แถว A, B, C)

อให้ทุกท่านสนุกกับการเดินทางนะครับ ถ้าใช้บริการสายการบิน Emirates เจอกันก็ทักทายบ้างนะ 🙂 😉 😀 😛

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)