Salary2

ได้เงินเดือนเท่าไหร่?

ใครๆ ก็อยากรู้ว่า “เงินเดือน” เท่าไหร่กันแน่นะ…

าชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า “สจ๊วต และแอร์โฮสเตส” คือหนึ่งในอาชีพในฝันลำดับต้นๆ ของหนุ่ม-สาวทุกคน ด้วยภาพลักษณ์และบุคลิกที่ดูสวยงาม ประกอบกับได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก (ขาเที่ยวจะใฝ่ฝันมากสุด) และที่สำคัญค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตำแหน่งงานทั่วไป การแข่งขันเข้าสู่อาชีพนี้จึงค่อนข้างสูงมาก ซึ่งก็ล้อไปตามมาตรฐานที่แต่ละสายการบินได้กำหนดคุณสมบัติลูกเรือไว้ด้วยเช่นกัน

“เงินเดือนเท่าไหร่?” เป็นคำถามจากหลายๆ คน (รวมทั้งบุพการีกระผมเอง) ที่อยากรู้ว่า อาชีพบนฟากฟ้าของแอร์ – สจ๊วตนี่ได้เงินเดือนกันคนละเท่าไหร่หนอ มันตอบยากครับ เพราะข้อแรกสำคัญมากคือ บริษัทให้เก็บเป็นความลับ เปิดเผยไม่ได้เนื่องจากทุกคนมีรายได้ไม่เท่ากันจริงๆ (ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น การทำงานดีหรือไม่ดี จากการประเมินของหัวหน้าทีม ผู้จัดการ ผู้โดยสารในไฟลท์ต่างๆ ก็จะมีการเพิ่ม/ลดได้ แม้จะไม่มากก็ตาม) ส่วนข้ออื่นๆ ตอบเฉพาะที่เหลือต่อเดือนได้ไหม แหะๆ…

รายได้ต่อเดือนได้จากอะไรบ้าง?

ค่าตอบแทนพนักงานต้อนรับน้องใหม่ป้ายแดงคร่าวๆ จากการสอบถามลูกเรือ 16 สายการบิน ระบุว่ารายรับหลักจะมาจาก

1. เงินเดือน (Basic Salary) ซึ่งแต่ละสายการบินได้รับไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับวิธีการคิดและการจัดการของแต่ละสายการบิน บางบริษัทอาจให้เงินเดือนสูง แต่รายได้กับสวัสดิการด้านอื่นลดลง บางบริษัทให้เงินเดือนต่ำแต่ได้ค่าชั่วโมงบินมากก็มี

2. ค่าบินคิดตามรายชั่วโมง (Flying Hours) (ในแต่ละเดือนแต่ละคนอาจได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตารางบิน ปกติตามกฎนิรภัยการบินจะทำงานไม่เกินเดือนละ 100 ชั่วโมง) ต่อเดือนใครจะได้มากได้น้อยนี่ก็แล้วแต่ดวงล้วนๆ แต่ ณ เวลานี้ สายการบินก็มีกฏให้สามารถ bid เพื่อ Request ไฟลท์ได้ เช่น ขอกรุงเทพ ขอนิวยอร์ค ซึ่งเริ่มมาไม่นานแต่ก็ดีมากๆ เพราะทำให้คนที่อยากกลับบ้าน มีโอกาสได้กลับบ้านมากขึ้น คนที่ไม่เคยไปที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ก็สามารถได้ไป อย่างผมตอนหลังๆ ก็มักจะขอไป NRT (นาริตะ ญี่ปุ่น) เพราะชอบ แล้วก็ขอกลับบ้านบ้างอะไรบ้าง ซึ่งนับว่ากฏนี้เป็นกฎที่ดีมากๆ เลย หวังว่าสายการบินจะไม่ยกเลิกการ bid ไปนะ รวมทั้งลูกเรือยังสามารถแลกเปลี่ยนไฟลท์กันได้ แต่ต้องแจ้งให้บริษัทรับทราบ รวมทั้งจะต้องไม่รบกวนการหยุดพักผ่อนร่างกายของลูกเรือด้วย (ต้องพักผ่อนอย่างน้อย 10 ชั่วโมง ก่อนขึ้นบิน ถ้าใครแอบบิกลับบ้านแล้วกลับมาบินทันที จะถูกลงโทษ ร้ายแรงถึงขั้นให้ออกได้ทีเดียว)

สนามบินนาริตะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

3. ค่าพักค้างต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ (Meal Allowance) ค่าเบี้ยเลี้ยง (อาหาร) ที่จะได้รับต่างกันทุก destination ส่วนมากขึ้นอยู่กับค่าครองชีพของเมืองนั้นๆ เป็นปัจจัยสำคัญ และค่าอาหารที่โรงแรมที่พักด้วย สมมติว่าพักที่ ปารีส แน่นอนก็ได้รับค่าอาหารแพงด้วย เพราะออกไปไหนแต่ละทีแพงมาก แล้วค่าอาหารจะจ่ายเป็นมื้อ เช้า กลางวัน หรือเย็น จะได้คำนวณถูกว่า แลนด์กี่โมง ออกกี่โมง ถ้าบินมากรุงเทพนี่ได้ค่าอาหารน้อยมาก น้อยสุดๆ คือวันละประมาณพันถึงสองพันกว่าบาท แถมใช้เยอะด้วย (เพราะมาที shopping กันกระจาย ลูกเรือต่างชาติจะบ่นกันมากด้วยโดน แพลตินั่ม ประตูน้ำ มาบุญครอง สูบเงินกันมาก ก็เพราะมีชุดเสื้อผ้าสวยๆ ราคาถูกเยอะเลยเหมาๆ กันหนักไปหน่อย)

และ 4. ค่าสวัสดิการ (benefits) เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าซักรีด ค่าภาษา (ซึ่งคนที่มีความสามารถหลายภาษาจะได้เพิ่มในส่วนนี้ด้วย) ฉะนั้น รายได้ของลูกเรือป้ายแดงแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตารางบิน บินมากได้มาก บินน้อยได้น้อย ตารางดีได้เงินมาก ตารางไม่ดีอาจได้เงินน้อยกว่า เช่น ชั่วโมงบินเยอะแต่บินระยะใกล้ (Turn over) ไม่ได้พักค้างคืน (บินไป-กลับ) ก็จะได้เงินน้อยกว่าบินไปแบบพักค้างคืน ถ้าขยันบินหรือตารางบินหลายชั่วโมง ก็จะได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเป็นลำดับ บินกันเป็นยุงร่างกายก็แทบจะสลายเช่นเดียวกันครับ

จากการรวบรวมข้อมูล จากพนักงานต้อนรับที่ทำงานกับสายการบิน สรุปเป็นได้ตัวเลขรายได้คร่าวๆ ดังนี้

ลำดับ สายการบิน เงินเดือนเฉลี่ย ลำดับ สายการบิน เงินเดือนเฉลี่ย
1 Japan Air Line 50,000-80,000+ 2 Thai Smiles 40,000-45,000+
3 Nok Air 50,000-70.000+ 4 การบินไทย TG 50,000-60,000+
5 Thai Lion 50,000-70,000+ 6 Singapore Airline 70,000-100,000+
7 Jet Star 50,000-70,000+ 8 EVA Air 50,000-70,000+
9 Thai Air Asia 65,000-70,000+ 10 Thai Viet Jet 50,000-65,000+
11 Kuwait Air 80,000+ 12 Oman Air 70,000-80,000+
13 บางกอกแอร์เวย์ PG 70,000-100,00+ 14 Qartar Airway 70,000-100,000+
15 Etihad EY 70,000-100,000+ 16 Emirates EK 70,000-110,000+

ทั้ง 16 สายการบิน ส่วนใหญ่ลูกเรือจะทำงานโดยมีสถานีเบสที่ในประเทศไทย ยกเว้น Singapore Airline เบสจะอยู่ที่สิงคโปร์, Thai Viet Jet มีเบสทั้งไทยและเวียดนาม, EVA Air เบสอยู่ที่ไต้หวัน, Kuwait เบสที่คูเวต, Oman เบสที่โอมาน, Qatar เบสที่โดฮา, Emirates เบสที่ดูไบ, Etihad เบสที่อาบูดาบี

ข้อดีของสายการบินที่มีเบสในประเทศไทย คือลูกเรือได้อยู่ใกล้กับครอบครัว คนรัก เงินเดือนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เมื่อเทียบกับงานสำหรับเด็กจบใหม่หรือเพิ่งเริ่มงาน ความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับว่าทำสายการบินไหน บางสายการบินได้ปรับตำแหน่งเร็ว บางสายการบินอาจปรับเลื่อนตำแหน่งช้าหน่อย (บางกอกแอร์เวย์ค่าตอบแทนจะพอๆ กับสายการบินตะวันออกกลางครับ นานๆ รับทีด้วย)

สายการบินการ์ตาร์ หนึ่งในสายการบินตะวันออกกลาง

ส่วนข้อดีของสายการบินในตะวันออกกลาง คือได้ทำงานกับชาวต่างชาติ มีเส้นทางการบินมากมายกระจายไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นลูกเรือเข้าใหม่ หรือทำมานานแล้ว ก็จะได้บินไปทั่วโลกเช่นกัน เงินได้ไม่ต้องเสียภาษี เงินเดือนดีมาก ก้าวหน้าในอาชีพเร็วกว่า จากลูกเรือชั้นประหยัดไปชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่งในเวลาไม่นาน สามารถขึ้นสู่ระดับผู้บริหารได้ในเวลาไม่นานนัก หากมีความสามารถและกระตือรือล้นในการทำงาน

สวัสดิการอื่นๆ มีอีกไหม?

สำหรับผลประโยชน์อื่นๆ เกี่ยวกับตั๋วก็คือ ลูกเรือสามารถซื้อตั๋วได้ในราคา 10% ของราคาตั๋วเต็ม คือจ่าย 10 % เท่านั้น จะซื้อกี่ครั้งก็ได้ แล้วก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นตั๋วของสายการบินที่เราทำงานอยู่อย่างเดียว สามารถซื้อตั๋วสายการบินอื่นได้ด้วยที่เป็นโคชแชร์กับเรา เช่น ซื้อตั๋วการบินไทยได้ ANA ได้ United ได้ แต่ว่าก็ต้องรอให้ผู้โดยสารเขาไปก่อน เราไปทีหลัง เพราะ priority เราต่ำกว่าเขา บินกรุงเทพ-ดูไบ-กรุงเทพ ก็ประมาณ 3,500 บาท เรียกว่ามีวันหยุดก็กลับบ้านกันกระจาย

นอกจากนั้นก็จะมีตั๋ว Annual Leave คือในปีหนึ่งจะได้ตั๋วฟรี เป็นตั๋วจากไหนไปไหนก็ได้ บินกับสายการบินของตัวเอง สำหรับคนในครอบครัวที่เราสามารถซื้อตั๋วให้เขาแบบจ่าย 10 % ได้ก็คือ พ่อ แม่ พี่น้อง เท่านั้นครับ (ปกติ ตอนทำสัญญาเข้าทำงานครั้งแรก บริษัทจะให้ระบุชื่อไว้ด้วยแล้ว) แฟน กิ๊ก หรือ คุณลุง คุณป้านี่ไม่ได้นะครับ แล้วก็ได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น

สำหรับที่พัก ได้พักฟรีครับเขาจัดให้ แล้วก็แชร์ห้องกับเพื่อนๆ ซึ่งเราเลือกเองไม่ได้ เขาจัดให้ บางที่ก็พักแฟลตห้องละสองคน (แยกห้องนอน ห้องน้ำ แต่ห้องครัว โถงรับแขกร่วมกัน) แต่ที่พักก็โอเคนะ คือที่ตะวันออกกลางที่พักแพงมาก เขาให้พักแบบนี้ก็ถือว่าอย่างดีแล้ว ส่วนค่าน้ำค่าไฟฟรี จ่ายเฉพาะค่าอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ เวลาไปทำงานก็มีรถบัสมารับตรงเวลา-ออกตรงเวลาเป๊ะๆ สำหรับเวลาไปบิน ตาม destination นี่ก็พักโรงแรมดีๆ ทั้งนั้น ถ้ายุโรปส่วนมากจะพักโรงแรม Hilton, Marriott และอื่นๆ คือ 4-5 ดาว จะมีหลุดห่วยๆ มาก็มีบ้าง (ในกรณีมีภัยพิบัติฉุกเฉิน การก่อการร้าย) และที่สำคัญดีมากตรงที่ได้ห้องเดี่ยวไม่ต้องไปแชร์กับใครครับ เพราะสืบทราบมาว่ามีบางสายการบินให้แอร์แชร์ห้องกันอยู่ซึ่งไม่เวิร์คเท่าไหร่

ลูกเรือสาวสายการบิน Etihad สายการบินหนึ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่มีฐานการบินที่กรุงอาบูดาบี

ทำไมได้เงินเยอะจัง?

แต่ถามว่าทำไมได้เงินเยอะจัง? ก็ต้องตอบว่าเราก็ต้องแลกมาด้วยปัจจัยต่างๆ อันได้แก่
  1. ความเสี่ยง เรามีความเสี่ยงในแต่ละครั้งที่ทำงาน วัตถุที่ลอยเหนือพื้นดิน (เท้าพ้นพื้นแล้วเสี่ยงทุกวินาที) สามารถจะตกลงมา หรือมีปัญหาเมื่อไหร่ก็ได้ และเมื่อมีปัญหาหนักๆ ก็ยากจะแก้ไข เพราะงั้นเราก็แบกรับความเสี่ยงในทุกไฟลท์ที่ทำงาน ซึ่งก็เป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ความเสี่ยงนี้ได้บวกเข้าไปในเงินเดือนที่ได้รับ ลืมบอกไปว่าถ้าเสียชีวิตขึ้น คนรับเงินได้เพียงล้านเดียวครับ (เพราะได้เงินเดือนเยอะแล้ว นอกนั้นต้องทำประกันภัยเพิ่มเองครับ)
  2. เสีย Career Path (เส้นทางอาชีพ) ในกรณีที่น้องๆ จบมาด้านภาษา หรือการโรงแรม ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะมาด้านนี้ไม่เสียสายอาชีพที่เรียนมา แต่สำหรับคนที่เรียนฉีกแนวแล้วมาเป็นแอร์ ยกตัวอย่างผมเป็นต้น ที่จบด้านรัฐศาสตร์การต่างประเทศมา หรือบางคนเป็นหมอฟัน หรือว่าเป็นวิศวะกรมา การทำงานในสายการบินนี่นานๆ พอลาออกจะเคว้งคว้าง ว่าช่วงเวลาที่เราทำงานอยู่นั่นเพื่อนๆ ก็เริ่มเติบโต ขยับเป็นเมเนเจอร์แล้ว อะไรแล้ว หลายคนก็แซทเทิลดาวน์ แต่งงานมีสามี สร้างบ้าน มีลูกน่ารักกันแล้วก็มี แล้วเราล่ะ จะไปทำอาชีพอะไรต่อ เพราะงั้นก็ต้องคิดให้รอบคอบมากๆ เพราะว่าประสบการณ์ทำงานกับเวลาเป็นสิ่งที่เอาคืนไม่ได้ แต่ถามว่าเสียใจมั้ย? ก็ไม่เสียใจนะ คิดว่าได้อะไรมากกว่าเสีย แล้วแต่คน ถ้าคนที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้บริหารหรือทำงานที่ยากๆ นี่ก็ต้องคิดดีดีหน่อยครับ
  3. สุขภาพ ที่นี่จะมีบัตร World Wide Alliance สามารถใช้บัตรนี้กับโรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลก ค่ารักษาพยาบาลเบิกได้หมดไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลไหนก็ตามที่มีอยู่ใน List อย่างที่ไทยก็ไปบำรุงราษฎร์ได้ แล้วมาเบิก แต่ในขณะเดียวกัน งานนี้ก็ทำให้มีโรคต่างๆ เกิดขึ้นได้เหมือนกันจากที่ไม่เคยเป็น โรคสุดฮิตคือ โรคปวดหลัง หลายคนไปเอ็กซเรย์กระดูกหลังจากบินเป็นเวลาหลายปีจะพบว่า กระดูกคดเป็นรูปตัว S เลยครับ
  4. ห่างไกลจากคนรัก เพราะเบส อยู่ไกลเมืองไทย (นั่งเครื่องก็ 6 ชั่วโมง) ทำให้ห่างไกลจากครอบครัว และคนที่คุณรัก สำหรับคนที่มีแฟนก็ช่วยบั่นทอนความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี หลายคนคบกันมาเป็นเวลานาน เมื่อแฟนสาวตัดสินใจตามล่าความฝันนั่นก็คือ การเป็นแอร์ โดยสัญญาว่าถึงห่างไกลก็จะรักกัน แต่สุดท้าย รักแท้ก็แพ้ระยะทางครับ เห็นเลิกกันมาหลายคู่แล้ว หลักๆ คือ ชายอยู่ไทยเจอสิ่งยั่วยุเยอะ มีคนเข้ามาบ้างอะไรบ้าง หรือบางครั้งก็ระแวงกันเอง ทะเลาะกันบ่อยๆ จนเลิกรากันไปในที่สุด อะไรแบบนี้ครับ
  5. วิธีการกินการใช้เงินผิดไป นี่คือปัญหาหลักเลย ที่ทำให้ทำไมเราถึงเลิกเป็นแอร์กันได้ยาก สำหรับน้องที่เรียนจบใหม่จะตื่นตาตื่นใจกับเงินเดือนที่ได้ จากที่เคยขอพ่อแม่ กลับหาเงินได้เองหลักแสน เงินแสนในมือได้มาไม่ยาก สามารถซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมได้ทุกเดือนโดยที่ยังมีเงินเหลือ สิ่งเหล่านี้ผ่านไปหลายๆ ปีจะทำให้นิสัยการใช้เงินเปลี่ยนไป มือจะเติบใหญ่ขึ้น กลับมาไทยจะรู้สึกว่า ทุกอย่างถูกจัง คนที่ได้ vacation หลายคนพบว่า พักร้อนที่ไทยสิบวันใช้เงินไปแสนนึง ตกวันละหมื่นบาท ทั้งที่หมื่นนึงนี่ทำงานเป็นเดือน สมัยก่อนกว่าจะได้ ก็เป็นเพราะเราเอาไปเทียบว่า อยู่ประเทศอื่นของแพง กลับมาเลยใช้เงินกระจาย การจะกลับมาใช้ชีวิตปกติก็จะต้องปรับพฤติกรรมกันอย่างมากเลยทีเดียว หลายคนจึงใช้วิธีเป็นหนี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้ เช่น ซื้อบ้านและที่ดิน ทำอพาร์ตเมนต์ หอพัก เป็นต้น เพื่อสะสมทรัพย์ไว้ยามคิดจะเลิกอาชีพนี้ ผมก็เช่นกัน (บุพการีบังคับไว้เลยว่าต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เป็นทุนยามแก่ 555)
  6. งานหนักเยี่ยงกรรมกร แอร์อาหรับ โดยเฉพาะกาตาร์ได้เงินสูงมากก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำงานหนักเยี่ยงกรรมกรเช่นกันครับ อันนี้ถามใครก็ได้ว่างานหนักจริงไหม กล้ามขึ้นไหม คอนเฟิร์มครับ อยู่ๆ ไปก็จะล่ำขึ้นล่ำขึ้น ตัวใหญ่เป็นปกติ ใครผอมนี่คือส่วนน้อยครับ เพราะโด้บข้าวเยอะมาก เพื่อนๆ ในสายการบินนี้เขาคอนเฟิร์มมา

สำหรับสายการบินที่ผมทำงานอยู่นี้ ลูกเรือเข้าใหม่ทุกคนจะต้องเริ่มทำงานจาก GR2 ใน Economy Class โดยมีช่วงเวลาทดลองงาน 6 เดือน หรือที่เรียกว่า Probation Period ครับ เมื่อมีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้นก็จะสามารถสอบเลื่อนเกรดได้ โดยสายการบินเอมิเรสต์ระยะเวลาจาก GR2 เลื่อนไปเป็น Purser สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาเพียง 5 ปีก็มี ซึ่งถ้าเทียบกับสายการบินอื่น การเลื่อนขั้นจนไปถึงระดับ Purser เช่น Singapore Airline (SIA) อาจจะใช้เวลามากถึง 15 ปีเลยก็ได้ หรือแม้แต่สายการบินแห่งชาติ (TG) ของเราเอง การขึ้นต่ำแหน่ง in charge ก็ใช้เวลานานมากกกกกกกก…เหมือน SIA ครับ นอกจากนี้ Emirates ยังเปืดโอกาสให้ลูกเรือที่อยากก้าวหน้าไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น สามารถสมัคร เป็น Senior Flight Purser, Trainer หรือ Cabin Crew Manager ได้ครับ คือถ้าคุณมีความสามารถ โอกาสก็เปิดให้คุณเสมอ (ตอนนี้ผมผ่านมาหลายระดับล่ะ จากลูกเรือ Economy, Business, First class จนถึง Senior Flight Steward เป้าหมาย Purser อยู่ข้างหน้าไม่ไกลต้องพยายามต่อไป…)

ขอบคุณพี่สาวที่แสนดี หัวหน้าที่คอยสอนให้น้องได้พบกับความก้าวหน้าในอาชีพนี้

ถ้าสนใจในอาชีพนี้ก็อ่าน วิธีการเตรียมตัว การสมัคร และสอบสัมภาษณ์ ย้อนหลังในบทความตอนต่างๆ ได้ รวมทั้งดูคลิปวีดิโอต่างๆ ที่ผมได้รวบรวมไว้ให้ได้เลยครับ ขอบคุณที่ติดตามบล็อกนี้ครับ 🙂 😀 😛

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)