Aviation Change!
Aviation Change!
ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโคโรนาไวรัสในช่วงต้นปี 2019 มีการคาดหมายในเรื่องผลกำไรธุรกิจสายการบินทั่วโลกไว้ดังนี้
- สายการบินในแถบเอเชีย จะได้กำไรประมาณ 90 บาท ต่อผู้โดยสาร 1 คน
- สายการบินในทวีปยุโรป จะได้กำไรประมาณ 150 บาท ต่อผู้โดยสาร 1 คน
- สายการบินของอเมริกัน จะได้กำไรประมาณ 520 บาท ต่อผู้โดยสาร 1 คน
ที่คาดการณ์เช่นนั้นอาจเป็นเพราะ “การบริการที่จัดเต็มกว่าของสายการบินเอเชีย ในเที่ยวบินแบบฟูลเซอร์วิส รวมถึงการมีสายการบินโลว์คอสเป็นจำนวนมาก จะกดค่าเฉลี่ยของกำไรต่อผู้โดยสารให้ต่ำลง” ในขณะที่สายการบินของอเมริกันนั้นได้ชื่อว่า “บริการกันแบบรถโดยสารประจำทาง บขส. (รถบัสสีส้ม) บ้านเรา” คือไม่มีอะไรมากมาย อาหารที่เสิร์ฟก็งั้นๆ ไม่ได้มีพิเศษอะไรแค่ฟาสต์ฟู๊ดธรรมดาๆ ลูกเรือก็ไม่ได้ใส่ใจเหมือนกับลูกเรือทางสายการบินในเอเชียที่ยิ้มแย้มแจ่มใส นอบน้อมเป็นมิตรกว่าในแทบทุกสาย ระยะการบินในอเมริกาก็สั้นๆ มีผู้โดยสารเต็มลำด้วยความนิยมใช้การบินกันมากว่าทางรถยนต์หรือรถไฟ กำไรเลยสูงเอามากๆ
แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาไม่กี่เดือนนี้ ท่ามกลางการล็อกดาวน์ปิดเมือง ปิดประเทศ และงดการบินในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ตัวเลขผลกำไรที่เรียกว่า “ต่ำ” อยู่แล้ว ก็หายวับไปในทันที.. หลายสายการบินถึงกับต้องประกาศปิดตัวลง หรือขอล้มละลายกันไปก็มาก อย่างที่เกิดขึ้นกับ Virgin Australia แล้ว และตอนนี้ Virgin Atlantic กำลังประสบปัญหาอยู่
Richard Branson เจ้าของธุรกิจสายการบิน Vergin และกิจการโรงแรมหลายแห่ง
สายการบิน Air New Zealand แถลงว่า จะลดพนักงานลงทั้งที่ให้บริการบนเครื่องบิน และพนักงานให้บริการภาคพื้นดินประมาณ 30% หรือประมาณ 3,500 คน (เกือบ 1 ใน 3 ของพนักงานที่มีอยู่) เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินเกือบทั้งหมด ส่วน Air Canada จะลดพนักงานประมาณ 15,200 คน และจัดทำแผนเกษียณก่อนอายุงาน (ให้แก่พนักงานระดับผู้จัดการ) ประมาณ 1,300 คน นอกจากนี้ Lufthansa ของเยอรมนี ประกาศลดชั่วโมงทำงานพนักงาน 27,000 คน ส่วนสายการบิน Easy Jet สายการบินโลว์คอสต์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ ประกาศปลดพนักงาน ให้บริการบนเครื่องบิน 4,000 คน ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำของตะวันออกกลางอีกแห่งอย่าง Fly Dubai ประกาศลดเงินเดือนพนักงานนาน 3 เดือน
บ้างก็ประกาศลดจำนวนฟลีต (ฝูงบิน) หรือพยายามโล๊ะเครื่องเก่าๆ ที่กินน้ำมันมากๆ ออกไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา อย่างสายการบิน Singapore Airlines ก็มีข่าวประกาศขายเครื่องรุ่นเก่าออกไป เช่น Boeing 777-200, 300 คงไว้แต่กลุ่มเครื่องใหม่ๆ ไว้ สายการบินไทย (TG) ประเทศไทยเราเองก็ประกาศปลดระวาง Boeing 777-200 จำนวน 6 ลำ (ตั้งแต่ 16 มีนาคม 2563) ที่มีอายุใช้งานเกินกว่า 20 ปี
อาจสงสัยว่า บินได้อยู่ ทำไมถึงปลดระวาง? เครื่องบินโดยสารจะมีค่าใช้จ่ายในดูแล ปรับปรุงให้มีสภาพพร้อมบินรับผู้โดยสารกันทุกระยะ 5-7 ปี เช่น เปลี่ยนเบาะที่นั่ง ระบบความบันเทิง ตกแต่งภายในให้ทันสมัย จึงมีค่าใช้จ่ายสูงมากทีเดียว แล้วใครจะซื้อ? ก็มีบางบริษัทนำไปทำเป็นเครื่องให้เช่าเหมาลำ หรือให้สายการบินเล็กๆ ทุนน้อยเช่าทำการบิน หรือเปลี่ยนไปเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า (Cargo) แทน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลน้อยลง ทำกำไรได้อยู่
Social Distancing บนเครื่องบินที่ทำให้จำนวนที่นั่งลดลง
บริษัทวิเคราะห์ในสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่มีปัญหาโควิด-19 มีที่ว่างในเครื่องบินแต่ละเที่ยวสูงถึง 70% และมีมากขึ้นจนเป็น 0 เมื่อมีการประกาศหยุดบินกันทั่วโลกในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเมษายน และสภาพการณ์เช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อทุกบริษัท ทั้งด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับนักบิน ลูกเรือ หลายพันหรือหลายหมื่นคนในแต่ละบริษัท และยังมีค่าใช้จ่ายประจำในการดูแลรักษาเครื่องบินทุกลำ ให้พร้อมบินเสมอในทุกๆ สัปดาห์ ค่าที่จอดในลานสนามบินต่างๆ (กรณีที่บริษัทไม่ใช่เจ้าของสนามบินเอง)
ตัวอย่างเครื่องบินของ Singapore Airlines ถูกนำไปจอดไว้ระยะยาวที่ลานดินโล่งๆ ในออสเตรเลีย ช่วงโควิด-19 เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศบางสำนักรายงานว่า สนามบินใหญ่ๆ บางแห่งก็เก็บค่าจอดเครื่องบินสูงมากถึงลำละ 400$ (12,000 บาท/ชั่วโมง) ตามขนาดของเครื่องบิน ซึ่งสายการบินแบกรับไม่ไหวแน่ๆ (Singapore Airlines มีสถานีฐานประจำการที่สนามบินชางอี แต่พื้นที่ไม่เพียงพอ จึงต้องนำไปจอดในประเทศอื่น) แม้จะมีค่าจอดที่ถูกกว่านี้ แต่ก็ยังมีค่าดูแลบำรุงรักษาเครื่อง ที่ต้องส่งทีมช่างไปดูแลเป็นประจำให้พร้อมบิน จอดทิ้งจอดขว้างเหมือนรถบัสโดยสารบ้านเราไม่ได้นะ เครื่องที่นำไปจอดบางลำมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
ในภาพจะมีทั้งเครื่องของ Singapore Airlines และ Scoot สีเหลืองๆ
(บริษทลูกต้นทุนต่ำของ SIG) Cr. ภาพประกอบ : FB Steve Strike
ถ้าเจ้า “ไวรัสโคโรนา-19” หายไปก็คงกลับมาเหมือนเดิมแหละ คงจะไม่กล้าที่จะกล่าวเช่นนั้น เพราะกว่าจะหยุดการระบาดได้คงใช้เวลานานกันเป็นปี ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ก็ยังไม่รู้ว่า จะยังมีสายการบินใดสายป่านยาวพอที่จะเอาตัวรอดไปได้บ้าง ผู้คนก็คงได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง หันไปใช้ชีวิตกันในรูปแบบใหม่ (New normal) ซึ่งคงจะประหยัดมัธยัสถ์มากขึ้นแน่ๆ การท่องเที่ยวพักผ่อนอาจจะมีน้อยลง หรือพักผ่อนใกล้ๆ บ้านแทนการเดินทางไกลๆ ในหลายๆ ประเทศที่สั่งห้ามบุคคลสัญชาติอื่นเข้าประเทศ ก็ไม่รู้จะเปิดได้เมื่อไหร่ นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สายการบินจะยังให้บริการในจุดหมายปลายทางที่น้อยลง
เราจะไม่ได้เห็น “โปรไฟไหม้” ในการเดินทางท่องเที่ยวอีก เพราะสายการบินต้นทุนต่ำก็จะไม่แข่งขันกันด้านราคาไปอีกสักพัก ด้วยมาตรการด้านความปลอดภัยด้านสาธารณสุขที่กำหนดไว้ให้เว้นระยะห่าง จำนวนที่นั่งบนเที่ยวบินแต่ละเที่ยวจะลดลงเหลือไม่ถึง 70% ทำให้ลดราคามากไม่ได้ เพราะไม่ถึงจุดคุ้มทุนในการดำเนินการ รวมทั้งความเข้มงวดในการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ จะมีมากขึ้น ไม่มี Visa Arrival (วีซ่าที่ตรวจลงตราเข้าประเทศที่สนามบินปลายทาง) อีกแล้วนะ ต้องไปขออนุญาตทำวีซ่าที่มีค่าธรรมเนียมหลายร้อย หลายพัน และเงื่อนไขอีกยุบยับที่สถานทูตของประเทศปลายทางก่อนบิน ธุรกิจทำทัวร์ก็พลอยมีปัญหาตามไปด้วยแน่ๆ รวมทั้งโรงแรมที่พักต่างๆ ก็จะประสบปัญหาเดียวกันไปอีกนาน จนกว่าประชาชนทั่วโลกจะมีความเชื่อมั่นว่าปลอดจากโลกระบาดนี้ และเศรษฐกิจดีขึ้นสัมผัสได้ การเดินทางท่องเที่ยวจึงจะกลับมาปกติ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่?
สิ้นสุดยุค “โปรไฟไหม้” ตั๋วเครื่องบิน-ท่องเที่ยวราคาถูก
ในส่วนของสายการบินในตะวันออกกลาง ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่มีสายการบินหลักคือ Etihad ซึ่งมีฐานการบินในอาบูดาบี และ Emirates มีฐานการบินในนครดูไบ เคยประกาศว่าจะเริ่มทำการบินไปยัง อินเดีย ปากีสถาน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นเดือนมิถุนายน ตามนโยบายของรัฐบาล (และการเปิดน่านฟ้าของสนามบินปลายทางด้วย) ในขณะนี้ทั้งสองสายการบินได้ทำการบินเฉพาะเที่ยวบินพิเศษ เพื่อรับ-ส่งคนกลับประเทศต่างๆ เท่านั้น (มาส่งคนไทย รับคนตะวันออกกลางกลับก็มีในสัปดาห์ที่แล้ว)
นับเป็นเวลาอันสำคัญในการซ่อมบำรุงรักษา และปรับปรุงฝูงบินที่มีอยู่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น มีความใหม่ทันสมัยของอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติมในการใช้ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพของยุคปัจจุบัน ทั้งสองสายการบินต่างกล่าวว่า มี “โครงการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” เพื่อตรวจสอบทั้งเครื่องยนต์ กลไกการขึ้นบินและการลงจอด จุดยึดสัมผัสในส่วนต่างๆ รวมทั้งการซักทำความสะอาดเบาะที่นั่งมากกว่า 50,000 ที่นั่งในเครื่องบินทุกแบบที่มีในฝูงบิน
ในน่านฟ้าเหนือศีรษะที่ไม่เคยเบาบางอย่างนี้มาก่อน
สำหรับลูกเรืออย่างพวกเรา (หลายสัญชาติ) ก็ถูกสั่งให้พักงาน (มีเงินเดือน แต่ไม่ได้ค่าชั่วโมงบิน) แต่ต้องเตรียมพร้อมในที่ตั้ง เพื่อให้พร้อมในการทำการบินที่จะมีขึ้นตลอดเวลา ใครที่เคยเข้าไปดูในเว็บ Fligthradar24.com อาจจะเห็นว่า มีสายการบิน Emirates บินอยู่ในน่านฟ้าหลายๆ ลำต่อวัน ซึ่งก็จริงนะครับ แต่เป็นเครื่องบินรับส่งสินค้า (Cargo) ของเราที่ใช้เครื่องบิน Boeing 777 และ Boeing 777-300ER (ที่เป็นเครื่องบินโดยสาร) บินรับส่งอาหาร/เวชภัณฑ์ทางการแพทย์มากกว่า 13,000 ตัน ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา
อนาคตของพวกเราในธุรกิจสายการบินที่ยังอยู่ในช่วง “อัสดง” เราก็คอยความหวังของ “อรุณรุ่ง” ที่สดใสอันจะเกิดขึ้นในไม่ช้า หวังว่า… จะเป็นเช่นนั้นครับ!!!
สถานการณ์การหยุดบินทั่วโลกของสายการบินต่างๆ