ANA_Crew_4

ประสบการณ์สมัครแอร์กับ ANA

รวมประสบการณ์จากรุ่นพี่ๆ ที่เคยสมัครงานพิชิตตำแหน่งลูกเรือ สายการบิน All Nippon Airways (ANA) มาฝาก ซึ่งจริงๆ แล้วข่าวว่ามีลูกเรือคนไทยเยอะอยู่นะ แต่ไม่มาบอกเล่าประสบการณ์กันบ้างเลย ก็เอาเท่าที่หาได้มาพอเป็นไกด์ไลน์นะครับ เริ่มกันด้วย

1. ขั้นตอนการเตรียมตัวและสมัครทางออนไลน์

สายการบิน ANA นี้ มีบริษัทตัวแทนในประเทศไทยที่ทำหน้าที่รับสมัครและคัดเลือกลูกเรือ คือ CrewAsia  ก็ต้องสมัครทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ตามช่วงวันเวลาที่กำหนด (ไม่เปิดก่อนเวลา คือ แบบเป๊ะๆ เลย) กรอกข้อมูลในเว็บเหมือนสายการบินอื่นๆ และมีให้แนบเอกสารประกอบการสมัครด้วย

ขั้นตอนนี้ ละเอียดมากๆ ต้องอ่านดีๆ ว่า ต้องมีแนบเอกสารอะไรบ้าง เราก็ต้องทำการสแกนเอกสารเหล่านั้น ให้เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น *.pdf, *.jpg ก่อน เพื่อส่งเข้าระบบ (อย่าลืมเช็คขนาดไฟล์ด้วย อย่าให้ใหญ่เกินกำหนด และควรตั้งชื่อไฟล์เป็นชื่อ-นามสกุลเราจะดีที่สุด เช่น res_k_porames.pdf, pass_k_porames.pdf, k_porames.jpg เป็นต้น) ต้องแนบเอกสารตามที่เขากำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งในปี 2019 กำหนดไว้มีดังนี้

  • สำเนาพาสปอร์ต (.JPG or .PDF format only)
  • สำเนาผลการทดสอบทางภาษาอังกฤษ TOIEC (.JPG or .PDF format only; only TOEIC Scores will be accepted, TOEFL, IELTS scores are not acceptable)
  • Resume or CV (Current Curriculum Vitae) with a head shot photo (.PDF format only) for Example Click

Please be sure each file is no larger than 2 MB each. Please complete the application within 1 hour of registering or you will be prompted to log back in.Your answers will not be saved until you have clicked on “Preview Application”.

มีผู้สมัครเคยแนบเอกสารผิดไป ไม่ได้เรียกไปรอบ Pre-Screen เลยก็มี หลังจากนั้นก็รอๆๆ ทางสายการบินจะส่งอีเมล์มาเชิญเราไปรอบดูตัว (Pre-Screen) โดยกำหนดวัน/เวลา/สถานที่มาพร้อมสรรพ

สำคัญมาก! ถ้ามีการถอนตัวการสมัครในครั้งนี้ ระบบจะทำการยกเลิกข้อมูลออกไปไม่สามารถสมัครซ้ำได้อีกในรอบนี้ เว้นแต่จะเปลี่ยนไปใช้อีเมล์อื่นในการสมัคร

2. รอบดูตัว (Pre-Screen) :

ในวันนี้จะมีกิจกรรมหลักๆ อยู่ 4 ขั้นตอนดังนี้

  • Checlist : ไปถึงก็จะมีการวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก ตรวจเอกสารต่างๆ ตามปกติ (อย่าลืมเอาตัวจริงไปด้วยนะ พร้อมสำเนาเอกสาร/Resume (พรินท์สีสวยๆ)/ภาพถ่ายเผื่อไปด้วย)
  • English test ทำข้อสอบภาษาอังกฤษ : ข้อสอบก็เหมือนกับ TOIEC มีทั้งพาร์ทการอ่านและการฟัง หลายคนบอกตรงกันว่า ข้อสอบแอบยากกว่า TOIEC นิดหนึ่ง เสียงพูดเร็วรัวกว่า และตัวเลือกของคำตอบ จะมีตัวหลอกเยอะมากกว่าในข้อสอบ TOIEC (อย่าหวั่นนะ เตรียมตัวให้ดีก็แล้วกัน)
  • Present : จากนั้นจะมีผู้บริหาร (หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย) มาแนะนำประวัติของสายการบิน ANA เส้นทางการบิน เงินเดือน/สวัสดิการคร่าวๆ ที่จะได้รับ กำหนดวันฝึกอบรม (Training) ในรอบนี้ รวมถึงการเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตเข้าทำงานในประเทศญี่ปุ่น
  • Group Discussion : กรุ๊ปหนึ่งจะมีประมาณ 10-12 คน ทางสายการบินได้แบ่งกลุ่มเอาไว้เรียบร้อยแล้ว นั่งตามรายชื่อ พอเข้าห้องประชุม ก็จะเจอเก้าอี้จัดที่นั่งล้อมเป็นวงกลมอยู่ ให้แต่ละคนนั่งตามหมายเลขของตัวเองที่เก้าอี้ตามที่กำหนดไว้ สายการบินนี้ดูจะใช้กรรมการค่อนข้างเยอะมากๆ เป็นชาวญี่ปุ่น 5 ท่าน ชาวไทย 1 ท่าน (จากบริษัทตัวแทนในไทย) และ ลูกเรือคนไทยอีก 2 ท่าน

เมื่อทุกคนนั่งเรียบร้อย กรรมการก็จะให้คำถามมา 1 คำถาม เพื่อให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ปรึกษาหารือกัน เช่น หัวข้อคำถามว่า “Please give the definition of smile service” ทุกคนก็จะให้ความหมายออกมา ใครมีความเห็นอย่างไรก็ว่าไป จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องให้เหตุผลสนับสนุน (ไม่ใช่ Yes yes, No no นะ) ระหว่างที่ทำกรุ๊ปกันอยู่ กรรมการก็จะยืนดูการให้เหตุผล ความมีภาวะผู้นำต่างๆ จดบันทึก(ให้คะแนนมั๊ง) แล้วก็เดินดูไปรอบๆ วงอย่างทั่วถึง ดังนั้นอย่านิ่งเฉยนะเออ จงแสดงความมั่นใจในตนเองออกมา เดี๋ยวพลาดนะ

หลังจากทำกรุ๊ปเสร็จก็กลับไปรอฟังผลที่บ้านได้เลย ทางสายการบินจะส่งอีเมล์ เพื่อให้มาสัมภาษณ์ในรอบสุดท้าย ถ้าคุณผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของกรรมการ

Tip : สายการบินนี้บอกเลยว่า เขาเน้นความเรียบร้อย สุภาพ และดูเป็นมืออาชีพ การไปรอบ Pre-screen ก็ขอให้ไปแบบเป็นคนที่สุภาพเรียบร้อยเช่นกัน ทั้งสาวๆ หรือหนุ่มๆ ขอให้ดูแลผิวหน้าให้ดี จะได้ไม่ต้องแต่งหน้าหนักๆ เข้มๆ เพราะสายการบินนี้ ชอบคนที่เมคอัพดูเป็นธรรมชาติ ดูสะอาด ผมเผ้าเก็บให้ดี เนี้ยบๆ เรียบร้อย ยิ้มแย้มมีไมตรี

3. Final Interview :

ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ อย่าลืมนำภาพถ่ายเดี่ยวเต็มตัว (Full range photo) มาด้วย 1 ภาพ ส่งให้กรรมการ ภายในห้องสัมภาษณ์จะมีกรรมการทั้งหมด 4 ท่าน เป็นญี่ปุ่น 3 ท่าน มีคนไทยอีก 1 ท่าน และมีเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในคอมพิวเตอร์ ในสิ่งที่เราตอบไปทั้งหมดขณะสัมภาษณ์ ซึ่ง 1 ในนั้นมักจะเป็นกรรมการที่เคยตัดสินเราตอนทำ Group Discussion มาแล้วด้วย

คำถามส่วนใหญ่ในรอบนี้จะดึงมาจาก Resume ของแต่ละคน เช่น…

  • ทำงานมากี่ปีแล้ว ที่นี่ที่แรกเลยใช่มั้ย หรือว่าเรียนจบไปฝึกงานแล้วทำงานต่อเลย ?
  • เคยทำอะไรมาก่อนหน้านี้บ้าง ?
  • ความยากของงานที่ทำอยู่ คืออะไร ? (งานที่เคยทำก่อนหน้านี้)
  • คุณจะทำยังไง ถ้าหากคุณต้องทำงานกับคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ?
  • คุณเคยไปญี่ปุ่นมาบ้างมั้ย ?
  • ทำไมถึงต้องการเป็นลูกเรือที่ ANA ?
  • สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นแอร์คืออะไร?
  • เวลาอยู่บนเครื่องต้องดูแลความปลอดภัย หากมีเหตุฉุกเฉิน ผู้โดยสารตื่นเต้น เราเองก็ตื่นเต้น แต่ผู้โดยสารจะฝากชีวิตไว้กับเรา คิดว่าทำได้มั้ย ?
  • แล้วคิดว่าแอร์ ANA ต้องเป็นยังไง ?
  • ตอนทำงานที่บริษัทใช้ภาษาอะไรในการติดต่อสื่อสารกับคนญี่ปุ่น? (กรณีที่เคยทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น)

หลังจากที่สัมภาษณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว กรรมการให้อ่าน PA (ประกาศบนเครื่อง = Public announce) เป็นภาษาไทย (มีตัวอย่างพิมพ์ในกระดาษมาให้) เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการสัมภาษณ์ในวันนั้น กลับบ้านรอผลทางอีเมล์ที่ให้ไว้ในตอนสมัคร

Tip : การสัมภาษณ์แน่นอนว่าทุกคนจะมีความตื่นเต้นมาก การฝึกพูดให้คล่องแคล่ว การตอบคำถามฉับพลันทันทีจึงต้องเตรียมตัวมาให้ดี ควรฝึกกับคำถามต่างๆ [ คำถามสำหรับสัมภาษณ์แอร์-สจ๊วต ดูที่นี่ ] ให้ชำนาญ ฝึกพูดหน้ากระจกเงา บันทึกเทปไว้ฟังเพื่อหาข้อผิดพลาด แล้วแก้ไข ทำตัวให้สบายตอบเหมือนอธิบายให้เพื่อนต่างชาติฟัง จะช่วยได้มาก

การฝึกอบรม (Training)

เมื่อผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์แล้ว ก็จะได้รับอีเมล์ในการตรวจทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลที่กำหนด เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไป การตรวจเลือด วัดสายตา ตรวจฟัน ฉีดวัคซีนต่างๆ รวมทั้งยืนยันผลเรื่องรอยแผลเป็นด้วย เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ก็จะเข้าสู่การฝึกอบรมซึ่งประกอบด้วย

  • การเรียนด้านภาษาญี่ปุ่น 3 สัปดาห์ (ใครมีพื้นฐานมาก่อนก็คงเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าไม่มีก็ต้องพยายามอย่างหนักเลยทีเดียว เน้นที่การฟังและพูดสื่อสาร ส่วนการอ่านและเขียนมีเล็กน้อย คงต้องฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง)
  • ฝึกด้านความปลอดภัย (Safe & Security) 2 สัปดาห์ ในการทำงานบนเครื่องบินแบบ/รุ่นต่างๆ ที่ใช้ในบริษัท การปฐมพยาบาล และอื่นๆ
  • ฝึกที่ศูนย์การฝึกลูกเรือ ANA สนามบินฮาเนดะ (6 สัปดาห์) จากนั้นจะฝึกในสถานการณ์จริงกับครูพี่เลี้ยง (ลูกเรือรุ่นพี่) ที่สนามบินนาริตะ อีก 4 เที่ยวบิน เพื่อดูว่า เราต้องทำอะไรบ้างบนเครื่อง ฝึกทำงานจริงเพื่อให้ผ่านการประเมินจบหลักสูต

เทคนิคการทำงานกับชาวญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ควรคำนึงอย่างแรกๆ เลยก็คือ เรื่อง มารยาทและการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีข้อควรปฏิบัติ อย่างเช่น เรื่องของการทำงาน วัฒนธรรมขององค์กร หรือตัวบุคคลเอง ก็จะมีความทุ่มเทกับงานอย่างเต็มที่ และจะเป็นคนที่รักษาเวลา ตรงต่อเวลาอย่างมาก

สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือ มารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นให้ความเคารพผู้อาวุโสและผู้มีประสบการณ์การทำงานที่ยาวนาน การพูดคุยกับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน นอกเหนือจากเรื่องงานจึงเป็นสิ่งที่ควรระวัง ไม่ควรก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวมากนัก ควรคำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ถือว่า เป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมของบริษัทญี่ปุ่น

“คำทักทาย” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก แม้ว่าจะอยู่ในบริษัทเดียวกัน เจอกันอยู่ทุกวัน สนิทสนมกันแค่ไหน เมื่อเจอหน้ากันก็จะต้องทักทายกัน เพราะคนญี่ปุ่นถือว่า “การทักทาย” นั้น เป็นการสื่อสารก้าวแรกที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความประทับใจในตัวเรา และเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ก่อนกลับบ้านทุกครั้ง ต้องกล่าวลาผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานด้วยเสมอ

ในบริษัทญี่ปุ่นเอง จะมีคำทักทายที่สื่อถึงวัฒนธรรม เช่น คำว่า “Otsukaresama desu” เป็นคำให้กำลังใจคนทำงานร่วมกัน การทักทายด้วยคำนี้ เป็นการแสดงความขอบคุณอีกฝ่าย ทำนองว่า “ขอบคุณนะที่เหน็ดเหนื่อยในการทำงาน” ใช้ในกรณี ทักทายคนในที่ทำงานระหว่างวัน ใช้ตอนโทรศัพท์ไปหา หรือรับโทรศัพท์จากคนที่ทำงานร่วมกัน แต่จะไม่ใช้พูดกับลูกค้า หรือคนที่เพิ่งคุยกันเป็นครั้งแรก และคำว่า “Otsukaresama deshita” จะใช้พูดหลังเลิกงาน เลิกประชุม หรือก่อนกลับบ้าน

สำหรับการสนทนากับลูกค้าเราจะใช้คำว่า “Itsumo osewani natte orimasu” เมื่อเริ่มบทสนทนากับลูกค้าในที่ประชุม หรือในโทรศัพท์ ก็จะต้องพูดว่า “Itsumo osewani natte orimasu” เป็นคำแรก โดยคำนี้มีความหมายว่า “พวกเราได้รับการดูแลจากท่านอยู่เสมอ” เป็นคำที่แสดงถึงความรู้สึกขอบคุณลูกค้าที่ซื้อสินค้า และใช้บริการจากเราอยู่เสมออีกด้วย

วัฒนธรรมการทำงานบริษัทญี่ปุ่นที่ชัดเจนอีกอย่างก็คือ พนักงานจะไม่ย้ายงานบ่อย บริษัทมีระบบ Training พนักงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพ มีระบบรุ่นพี่คอยสอนงานรุ่นน้อง และยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำงานหลายๆ อย่างที่นอกเหนือจาก Job description เพื่อให้พนักงานได้ฝึกทักษะการทำงานหลายอย่าง จะได้เรียนรู้งานและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่สูงขึ้นและแตกต่างออกไป

เรื่องการตรงต่อเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาเข้างาน หรือไปพบลูกค้า จะต้องไปก่อนเวลานัดหรือไม่ไปสาย เพราะสำหรับคนญี่ปุ่น “เวลา” คือ วินัยเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก พนักงานที่ตั้งใจทำงานไม่มาสาย รักษาเวลาอยู่เสมอจะได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้างาน ส่งผลต่อการเลื่อนตำแหน่งในองค์กรในอนาคตต่อไป แต่ถ้าในกรณีที่เราไปไม่ทันแน่ๆ ก็จะต้องโทรศัพท์หรือสื่อสารแจ้งบริษัทให้ทราบก่อนเสมอ

วัฒนธรรมการโค้งคำนับ คนญี่ปุ่นจะมีการแสดงความเคารพ การทักทาย หรือการบอกลาที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น เช่น คนไทยจะใช้การไหว้ คนฝรั่งจะใช้การจับมือ ซึ่งก็จะแตกต่างกันออกไป โดยการการโค้งคำนับในภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า れい (เร) หรือ おじぎ (โอจิกิ) การโค้งคำนับของคนญี่ปุ่นนั้นจะมีระดับที่แตกต่างกันออกไป (เหมือนการไหว้ของคนไทยที่มีความแตกต่างกัน ในคนที่เสมอกัน ผู้ใหญ่ ผู้มีอายุน้อยกว่า เป็นต้น)

  • การโค้งทักทาย (会釈: เอชาคุ) คือ เป็นการทักทาย กับผู้สนทนาในระดับเดียวกันแบบเป็นกันเอง เช่น เพื่อนร่วมงาน โดยวิธีการคือ ก้มตัวทำมุมประมาณ 15 องศา กับแนวเส้นตรง

  • การโค้งเคารพแบบธรรมดา (敬礼 : เคเร) คือ เป็นการทักทายกับผู้สนทนาต่างระดับจากเดิม อิชิคุ เป็นในระดับพนักงานขายกับลูกค้า หรือผู้ที่อาวุโสกว่า เช่น กับผู้บริหารในบริษัท โดยวิธีการคือ ก้มตัวประมาณ 30 องศา กับแนวเส้นตรง

  • การโค้งเคารพแบบนอบน้อม (最敬礼 : ไซเคเร) คือ แสดงความขอบคุณหรือขอโทษ โดยวิธีการคือ ก้มตัวประมาณ 45 องศา กับแนวเส้นตรง

มีประเด็นสำคัญคือ การขอโทษของเขาต้องโค้ง อย่ายิ้มเด็ดขาด เพราะเคยมีลูกเรือไทยยิ้มขอโทษ แล้วทางครูฝึกที่ญี่ปุ่นเขาบอกว่า “อะไรกัน ทำผิดแล้วยังมายิ้มหน้าระรื่นอีก” เป็นงั้นไป

ขอให้ประสบผลสำเร็จกันทุกคนนะ 😀 🙂 😛 😎

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)