พันธมิตรสายการบิน (Airline Alliance)

มื่อเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังต่างประเทศ ด้วยสายการบินต่างๆ อาจจะสังเกตเห็นเครื่องบินโดยสารที่พ่นลำตัวด้วยชื่อแปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาว่าเป็นสายการบินใดมาก่อน หรือเห็นเครื่องหมายที่ว่านั้น ปรากฏบนส่วนลำตัวของสายการบินบางสายการบิน อาจเป็นที่ส่วนหัวเครื่องหรือท้ายเครื่องก็มี ทำให้สงสัยว่า ชื่อที่ว่านี้มีความหมายอย่างไร

พันธมิตรสายการบิน คือ การรวมกลุ่มกันระหว่างสายการบินสองราย หรือมากกว่าขึ้นไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ในด้านการดำเนินธุรกิจการบิน เช่น ข้อตกลงการบินโดยใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกัน (หรือบางครั้งอาจไม่ได้ใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกัน แต่สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินกันระหว่างเที่ยวบินในกลุ่มพันธมิตรฯ สองเที่ยวบินหรือมากกว่านั้น) จัดทำรายการโปรโมชั่นสะสมแต้มการบินร่วมกัน การประชาสัมพันธ์ร่วมกันในนามพันธมิตรสายการบิน เป็นต้น พันธมิตรสายการบินที่สำคัญๆ มีอยู่ 3 กลุ่มได้แก่ SkyTeam, Oneworld และ Star Alliance

นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรสายการบินกลุ่มอื่นอีก เช่น Vanilla Alliance ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของสายการบินในประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย U-FLY Alliance และ Value Alliance ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของสายการบินต้นทุนต่ำ รวมถึงพันธมิตรสายการบินขนส่งสินค้า ได้แก่ สกายทีม คาร์โก (SkyTeam Cargo) และ วาว คาร์โก อัลไลแอนซ์ (WOW Cargo Alliance)

สำหรับกลุ่มของสายการบินที่เป็นเครือเดียวกันทั้งหมด หรือใช้ชื่อยี่ห้อเดียวกันอยู่แล้วทั้งหมดตั้งแต่ต้น เช่น Air Asia หรือ Lion Air แม้จะเป็นกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในหลายประเทศ เช่น ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย นั้น ไม่ถือว่าเป็นพันธมิตรสายการบินแต่อย่างใด

Star Alliance

สำหรับคนไทยเราน่าจะคุ้นเคยกับกลุ่ม Star Alliance มากที่สุด โดยเฉพาะท่านที่ใช้บริการของสายการบินไทย มีไมล์สะสมแต้ม (Royal Orchid) จะเห็นว่า สามารถสะสมแต้มได้จากการเดินทางด้วยสายการบินอื่นๆ ในเครือ Star Alliance ได้ เพราะ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของไทยได้ร่วมเป็นหนึ่งในห้าสายการบินผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม Star Alliance ด้วย

และกลุ่ม Star Alliance เป็นพันธมิตรสายการบินกลุ่มแรกของโลก ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 โดยสายการบิน 5 ราย ได้แก่ Lufthansa จากเยอรมนี, Scandinavian Airlines (SAS), Air Canada, United Airlines และการบินไทย (สายการบินที่ร่วมก่อตั้งมี 5 ราย โลโก้จึงเป็นรูปดาว 5 แฉก)


ภาพถ่ายงานเปิดตัว Star Alliance ในปี 1997 (จาก Facebook Star Alliance)

สายการบินพี่เบิ้มใหญ่ของกลุ่ม Star Alliance คือ Lufthansa ของเยอรมนี ทำให้ตอนนี้สำนักงานใหญ่ Star Alliance ยังคงตั้งอยู่ที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมันนี แต่รูปแบบการบริหารก็จะเป็นรูปบริษัทอิสระชัดเจน ไม่ขึ้นกับสายการบินรายใดรายหนึ่ง ปัจจุบัน Star Alliance มีสายการบินสมาชิกทั้งหมด 27 ราย ซึ่งถือว่าเยอะที่สุดในบรรดาพันธมิตรการบินทั้ง 3 กลุ่ม

จากรายชื่อข้างต้นจะเห็นว่า สายการบินในสังกัด Star Alliance นั้นกระจายครอบคลุมทุกทวีปในโลก ตั้งแต่อเมริกาเหนือ-กลาง-ใต้ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ส่วนภูมิภาคที่อาจจะขาดไปก็คือ ตะวันออกกลาง

แอร์โฮสเตสของสายการบินในสังกัด Star Alliance ทั้งหมด

ผลประโยชน์ของการเป็นสมาชิกสายการบินในเครือ Star Alliance มีดังนี้

  • เชื่อมต่อไฟลท์ระหว่างสายการบินในกลุ่มได้ง่ายขึ้น (มีการอำนวยความสะดวกในเรื่องจองที่นั่ง การประสานงานล่วงหน้าในการต่อไฟลท์บิน)
  • ใช้บริการเลาจ์ของสายการบินในกลุ่มได้ทุกที่ ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,000 แห่งในสนามบินใหญ่ๆ ทั่วโลก
  • สะสมไมล์ร่วมกันได้เมื่อบินด้วยสายการบินในกลุ่มนี้ (ทันทีที่จอง เพราะข้อมูลลูกค้าจะเชื่อมโยงกันผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกลุ่ม)

ส่วนระดับของการเป็นสมาชิก Star Alliance มี 3 ขั้น คือ สมาชิกธรรมดาทั่วไป (Mileage), Silver และ Gold โดยการอัพเกรดเป็น Silver/Gold ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการสะสมไมล์ของสายการบินที่เราเป็นสมาชิกอยู่นั่นเอง

Oneworld

Oneworld เป็นพันธมิตรสายการบินที่ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่สอง ต่อจาก Star Alliance โดยเริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 1999 ปัจจุบันมีสายการบินสมาชิกจำนวน 15 ราย ถือว่าเล็กที่สุดในบรรดาพันธมิตรทั้ง 3 ค่าย สำนักงานใหญ่ของ Oneworld อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ถึงแม้สายการบินสมาชิกจะน้อยกว่าคู่แข่ง แต่จากรายชื่อจะเห็นว่า มีสายการบินก็ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ-ใต้ ตะวันออกกลาง เอเชีย และออสเตรเลีย ส่วนภูมิภาคที่ยังขาดไปหน่อย คือ แอฟริกา

ระดับสมาชิกของ Oneworld มีด้วยกัน 3 ขั้น คือ Ruby, Sapphire, Emerald โดยเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกระดับ Ruby แล้วค่อยอัพเกรดเป็น Sapphire และ Emerald ตามไมล์สะสม ซึ่งแต่ละระดับก็จะให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันไปมากขึ้นเป็นลำดับ

SkyTeam

SkyTeam เป็นพันธมิตรสายการบินที่ก่อตั้งเป็นลำดับสุดท้ายในปี ค.ศ. 2000 แต่ก็มาแรงจนขึ้นมาเป็นพันธมิตรที่ใหญ่เป็นอันดับสอง โดยมีสายการบินสมาชิก 20 ราย สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

สายการบินสมาชิกของ SkyTeam มีความแข็งแกร่งในภาคพื้นยุโรป และจีน โดยมีสายการบินสมาชิกจากจีนถึง 3 ราย ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ ก็มีกระจายตัวกันทั้งเอเชีย อเมริกาเหนือ-ใต้ และตะวันออกกลาง

ส่วนระดับของสมาชิกก็แบ่งออกเป็น 3 ขั้นเหมือนกับพันธมิตรรายอื่น นั่นคือ ระดับ Standard, Elite, Elite Plus ซึ่งขึ้นกับการสะสมไมล์ในการใช้บริการมากน้อยนั่นเอง

เปรียบเทียบพันธมิตรสายการบินทั้ง 3 กลุ่ม

ถ้าลองเปรียบเทียบข้อมูลขั้นต้นของพันธมิตรสายการบินทั้ง 3 กลุ่ม จะเห็นว่า Star Alliance จะนำหน้าอยู่มากพอสมควร ตามด้วย SkyTeam และ Oneworld

ถึงแม้พันธมิตรสายการบินทั้ง 3 รายจะแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงในการแย่งชิงลูกค้า แต่ในมุมของนักท่องเที่ยว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปอิงกับค่ายใดค่ายหนึ่งชัดเจน เพราะเราสามารถเป็นสมาชิกได้ทั้ง 3 ค่ายพร้อมกันอยู่แล้ว ส่วนจะเน้นค่ายใดค่ายหนึ่งเป็นพิเศษ คงขึ้นกับพฤติกรรมการเดินทางของเราเองว่า ขึ้นสายการบินไหนบ่อยๆ บ้าง (เช่น ถ้าขึ้นการบินไทยบ่อย การเป็นสมาชิก Star Alliance ก็สมเหตุสมผลที่สุด) และถ้าสามารถเดินทางด้วยสายการบินในเครือได้ด้วย ก็จะช่วยให้สะสมไมล์ได้เร็วขึ้น เพราะพันธมิตรทั้งสามกลุ่มต่างก็มีเส้นทางบินครอบคลุมเมืองใหญ่ๆ เกือบทุกทวีปอยู่แล้ว

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน เช่น

  • ในสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่าสายการบินรายใหญ่ของสหรัฐ 3 ราย ต่างแยกย้ายกันเข้าสังกัดพันธมิตรที่ต่างกัน เช่น United (Star Alliance), American Airlines (Oneworld), Delta (SkyTeam)
  • สายการบินญี่ปุ่น ก็เข้าสังกัดต่างกัน คือ ANA เข้าสังกัด Star Alliance ส่วน JAL เข้าสังกัด Oneworld
  • สายการบินในอาเซียน ก็มีสังกัดต่างกันชัดเจน เพราะฝั่ง Star Alliance ก็มีสายการบินไทย กับ Singapore Airline, Oneworld มี Malaysia Airline, SkyTeam มี Garuda กับ Vietnam Airlines
  • สายการบินยุโรปแบ่งขั้วกันชัดเจน โดยกลุ่ม Lufthansa/Austria/Swiss อยู่กับ Star Alliance, กลุ่มของ British Airways/Iberia อยู่กับ OneWorld และกลุ่มของ Air France/KLM อยู่กับ SkyTeam

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมก็มีแค่ว่า เมื่อเดินทางด้วยสายการบินใหม่ๆ ควรเช็คข้อมูลดูว่า เป็นสายการบินในสังกัดพันธมิตรกลุ่มใด เผื่อว่าเราเป็นสมาชิกสายการบินที่อยู่ในสังกัดนั้นอยู่ก่อนแล้ว จะได้สะสมไมล์ต่อเนื่องกันไปได้เลย โดยไม่ต้องสมัครสมาชิกใหม่ เพราะข้อมูลลูกค้าจะถูกแชร์ข้ามกันบนเครือข่ายในกลุ่มพันธมิตรด้วยกัน

ยกตัวอย่างเช่น เรามีบัตร Royal Orchid ของสายการบินไทย ต้องการเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะนี้ ทางสายการบินไทยยังไม่ได้เปิดเส้นทางบินไปอเมริกา (ถูกยกเลิกไปเมื่อหลายปีก่อน) เราก็ยังสามารถสะสมไมล์ได้ด้วยการเดินทางกับสายการบินไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น จากญี่ปุ่นเราสามารถเดินทางต่อด้วยสายการบิน ANA หรือ United Airlines ก็สามารถสะสมไมล์ได้เช่นเดิมเพราะอยู่ในกลุ่ม Star Alliance เดียวกัน

สายการบินไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

สายการบินรายใหญ่ๆ ของโลกมักเข้าสังกัดพันธมิตรรายใดรายหนึ่ง แต่ก็ยังมีสายการบินรายใหญ่อีกหลายแห่งที่เลือกจะไม่เข้าสังกัดค่ายใด เพราะตนเองบินครอบคลุมทั่วโลกอยู่แล้ว เช่น

  • Emirates พี่เบิ้มแห่งตะวันออกกลาง ฐานการบินอยู่ที่ดูไบ อาหรับเอมิเรตส์ เลือกไม่เข้าสังกัดพันธมิตรรายใด (บินไปทุกทวีปอยู่แล้ว)
  • Etihad สายการบินคู่แฝดเอมิเรตส์อีกรายจาก UAE มีฐานการบินที่อาบูดาบี ก็ไม่มีสังกัดเช่นกัน
  • Southwest สายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ของอเมริกา เลือกอยู่เป็นเอกเทศไม่ยุ่งกับใครเหมือนกัน

นอกจากนี้ สายการบินบางรายอาจไม่เข้าสังกัดกลุ่มพันธมิตรเต็มตัว แต่อาจมีข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกันได้ในบางส่วน เช่น สายการบิน Bangkok Airways ของไทยก็ไม่ได้มีสังกัด แต่ก็ร่วมแจมบางโครงการของ Oneworld อยู่บ้าง เช่น รับผู้โดยสารจากสายการบินในกลุ่มนี้ไปยังปลายทางของตน โดยมีโปรโมชั่นร่วมกัน หรือการที่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (PG) ร่วมกับสายการบินเอมิเรตส์ (EK) ประกาศความร่วมมือการทำเที่ยวบินร่วม (Codeshare) ในเส้นทางบินภายในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการโดยบางกอกแอร์เวย์ส โดยเที่ยวบินที่ทำการบินร่วมจะเปิดให้ทำการสำรองที่นั่งและเดินทางได้ เป็นต้น

ดังนั้นเราผู้โดยสารที่ต้องเดินทางไปในที่ต่างๆ ควรเช็คข้อมูลให้ละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกสายการบินที่เหมาะสม และสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ส่วนลดพิเศษจากไมล์สะสม ส่วนลดที่พัก และการเช่ารถเดินทาง รวมทั้งส่วนลดเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนลดภัตตาคารหรือห้องอาหารในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)