Aeroflot plane crash: Russia jet ‘struck by lightning’

สำนักข่าว อาร์ที ของรัสเซีย เผยแพร่คลิปแสดงให้เห็นวินาทีที่เครื่องบินโดยสารของสายการบิน Aeroflot รุ่น Sukhoi Superjet-100 เกิดไฟลุกไหม้ ขณะบินกลับมาลงจอดฉุกเฉินที่ สนามบินนานาชาติเชเรเมเตียโว ในกรุงมอสโก เนื่องจากเครื่องเกิดขัดข้อง หลังขึ้นจากสนามบินได้ประมาณ 30 นาที เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

ในพาดหัวภาษาอังกฤษนั้นได้มาจากสำนักข่าว BBC แต่ภายหลังสำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ รายงานว่า เครื่องยนต์ของเครื่องบินลำนี้ เกิดไฟลุกไหม้บนรันเวย์ หลังลงกระแทกพื้น ไม่ได้ลุกไหม้กลางอากาศ ตามที่มีรายงานในตอนแรกว่า “เกิดฟ้าผ่า” แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ SU-1492 บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือมาทั้งหมด 78 คน กำลังเดินทางจากสนามบิน Sheremetyevo ในกรุงมอสโกไปยังเมือง Murmansk ทางตอนเหนือของรัสเซีย แต่หลังจากขึ้นบินได้ราว 27 นาที นักบินก็ตัดสินใจขอลงจอดฉุกเฉิน และควบคุมเครื่องบินกลับไปที่สนามบินเชเรเมเตียโว โดยที่ไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่ทำให้ต้องลงจอดฉุกเฉินครั้งนี้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 คน ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 2 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 11 คน

ข่าวนี้เขียนขึ้นด้วยความสลดหดหู่นะครับ แต่ต้องนำมาเล่าเพื่อเป็นความรู้สำหรับทุกท่าน จริงๆ แล้วการเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารนั้น มีความปลอดภัยมากกว่าการเดินทางด้วยยานยนต์บนถนนทางบกมากครับ เมื่อเทียบกันทางสถิติที่เกิดขึ้นในแต่ละปี แต่เมื่อการเดินทางบนฟ้าที่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าในแต่ละเที่ยว การเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งจึงมีความเสียหายมากกว่าจนน่าตกใจ อุบัติเหตุครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ที่มีการสูญเสียมากนั้นมีสาเหตุมาจาก “ผู้โดยสาร” เชื่อหรือไม่?

เครื่องบินถูกฟ้าผ่าเสียหายได้หรือไม่?

ผู้โดยสารที่รอดชีวิตมาได้บอกว่า เครื่องบินถูกฟ้าผ่าหลังจากเครื่องทะยานขึ้นได้ไม่นาน และเพียงไม่กี่อึดใจหลังจากนั้นก็เกิดเพลิงลุกไหม้ ขณะที่นายเดนิส เยฟโดคิมอฟ นักบินประจำเครื่อง ให้สัมภาษณ์สื่อรัสเซียว่า สายฟ้าแลบที่เกิดขึ้นรบกวนการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องบิน และหอบังคับการบิน จนทำให้เขาต้องหันไปใช้ระบบฉุกเฉินในการควบคุมเครื่อง

อย่างไรก็ดี ทีมสืบสวนสาเหตุยังไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ ในเรื่องฟ้าผ่า ขณะที่เครื่องบินในยุคปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นให้มีระบบที่ทนต่อการได้รับผลกระทบจากการถูกฟ้าผ่าได้ และสายการบินแอโรฟลอตเองก็ออกมาระบุว่า เครื่องบินลำดังกล่าวต้องกลับมาลงจอดเพราะ “เหตุผลทางเทคนิค”

 
สภาพเครื่องที่ถูกไฟไหม้เสียหายหลังเปลวเพลิงสงบแล้ว

คำถามคือว่า แท้จริงแล้วสายฟ้าแลบ หรือฟ้าผ่า จะมีผลกระทบต่อเครื่องบิน จนถึงขั้นทำให้เครื่องตกได้หรือไม่?

ทุกๆ ปี เที่ยวบินพาณิชย์จากสายการบินต่างๆ นับล้านๆ เที่ยวออกเดินทางจากสนามบินต่างๆ ทั่วโลก และการเกิดฟ้าผ่าฟ้าแลบก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

เครื่องบินรุ่นเก่าซึ่งสร้างโดยใช้อะลูมิเนียมเป็นวัสดุ มีความทนทานต่อผลกระทบจากฟ้าผ่า เพราะโครงสร้างเปลือก หรือ “ผิว” ของลำตัวเครื่องบินนั้นจะเป็นตัวกระจายกระแสไฟฟ้าให้ไหลไป โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องบิน และทำให้บินต่อไปได้อย่างปลอดภัย

สำหรับเครื่องบินรุ่นใหม่นั้น สร้างโดยใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบากว่า และมีสภาพการนำไฟฟ้าต่ำกว่า อย่างคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งจำเป็นต้องมีวัสดุอื่นห่อหุ้ม เช่น เหล็กเส้นตาข่ายหรือโลหะบาง นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ต่อเชื่อมกับถังบรรจุเชื้อเพลิงนั้น จะมีวัสดุป้องกันแน่นหนา เพื่อป้องกันการถูกกระทบจากกระแสไฟฟ้าจากภายนอก

ทั้งนี้ “ฟ้าผ่า” สามารถทำให้เกิดความขัดข้องทางเทคนิคได้ และเป็นเหตุให้ต้องลงจอดฉุกเฉิน หรือเปลี่ยนทิศทางการบิน ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกัน แต่อุบัติเหตุเครื่องบินตกที่เกิดจากฟ้าผ่านั้นเกิดขึ้นน้อยมาก และยังไม่มีข้อมูลยืนยันในขณะนี้

สำหรับการเกิดฟ้าผ่านั้น ผู้โดยสารในเครื่องสามารถรับรู้ได้ ทั้งจากเสียงดังจากแรงกระแทกที่เกิดกับตัวเครื่องบิน หรือได้เห็นแสงวาบที่ส่องผ่านเข้ามาภายในห้องโดยสารได้ คงต้องรอการสอบสวนในกรณีนี้ต่อไป

หน้าที่สำคัญของลูกเรือ

บนเครื่องบินโดยสารของทุกสายการบินจะมี “ลูกเรือ” ที่เรียกกันว่า แอร์โฮสเทส (หญิง) และ สจ๊วต (ชาย) ที่จะคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารในทุกเที่ยวบิน หนึ่งในการให้บริการที่สำคัญที่สุดของลูกเรือ คือ การให้ความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารทุกคน เริ่มตั้งแต่คำแนะนำในการนั่งประจำที่ การคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเอนที่นั่ง การพับเก็บถาดวางอาหารหลังพนักพิงเมื่อเครื่องทำการบินขึ้น/ลง การปรับเก้าอี้นั่งให้ตั้งตรงเมื่อเครื่องบินขึ้นหรือลง การใช้หน้ากากอ็อกซิเยน การใช้ชุดชูชีพ ทางออกฉุกเฉินบนเครื่อง สิ่งเหล่านี้ท่านเคยสนใจฟัง/ดูบ้างไหม?


สาวๆ ลูกเรือ Aeroflot ไม่ใช่ลำที่เกิดอุบัติเหตุนะ

สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินระยะสั้นๆ ลูกเรือมีหน้าที่สาธิตการใช้อุปกรณ์พวกนี้แก่ท่านในทุกเที่ยวบิน ก่อนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนสายการบินระยะทางไกลๆ การแนะนำอาจใช้สื่อวีดิโอผ่านหน้าจอหลังพนักพิง และยังมีเอกสารแนะนำความปลอดภัยสำหรับเครื่องบินแต่ละรุ่น ที่ท่านใช้บริการเป็นแผ่นพับแข็งสอดอยู่ในซองเอกสารหน้าที่นั่งของท่าน เคยหยิบมาอ่านบ้างไหมครับ? สิ่งที่เขาแนะนำมีเหตุผลอะไรไหมที่เราต้องสนใจ…

  • การนั่งประจำที่และคาดเข็มขัดนิรภัย นี่คือสิ่งที่ควรทำครับ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เส้นทางการบินข้างหน้าจะมีอากาศแปรปรวนหรือไม่เพียงใด การนั่งประจำที่คาดเข็มขัดนิรภัยจะช่วยให้ท่านไม่บาดเจ็บ จากการกระแทกเมื่อเครื่องเกิดการตกหลุมอากาศ ไม่ใช่ลุกจากที่นั่งไม่ได้ครับ ถ้าจำเป็นต้องเข้าห้องสุขา หรือเมื่อบินระยะไกลๆ นักบินรายงานสภาพอากาศดี ไม่แปรปรวน ท่านจะลุกขยับยืดเส้นยืดสายบ้างเพื่อความสบายก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อเครื่องจะบินขึ้น หรือร่อนลงสนามบินปลายทางทุกคนต้องนั่งประจำที่และรัดเข็มขัดนิรภัยครับ
    แม้แต่ลูกเรือเองก็ต้องทำอย่างนี้ทุกคน เพราะในระยะ 5 นาทีก่อนการทะยานสู่ระดับเพดานบิน และ 5 นาทีขณะลดเพดานบินลงในสนามบินปลายทางนั้น เป็นช่วงที่ผ่านชั้นบรรยากาศที่มีความกดอากาศแตกต่างกัน ย่อมอาจมีการกระแทกในขณะเปลี่ยนความสูง ทิศทางลมเปลี่ยนเป็นอันตรายได้
  • ทำไมต้องปรับเก้าอี้ให้ตั้งตรง/เก็บถาดอาหารเมื่อบินขึ้นหรือลง คำตอบง่ายๆ ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจะได้ลุกจากที่นั่ง อพยพออกจากเครื่องได้สะดวกไงครับ
  • ทางออกฉุกเฉินอยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อให้ผู้โดยสารทราบว่า หากต้องอพยพจากเครื่องท่านจะออกทางไหนได้บ้างนั่นเอง ต้องออกทางที่ใกล้และปลอดภัยที่สุด ซึ่งลูกเรือจะเป็นผู้บอกคุณเองในขณะนั้นว่าทางไหนปลอดภัย

เมื่อเกิดอุบัติเหตุจงทิ้งสิ่งของทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด

จากรายงานข่าวและการสัมภาษณ์ลูกเรือลำที่เกิดเหตุ Tatyana Kasatkina หนึ่งในพนักงานต้อนรับบนเที่ยวบิน SU-1492 ที่เกิดเหตุ เธอยอมรับว่าในช่วงเวลานั้น “เธอตัดสินใจกระชากคอเสื้อของผู้โดยสาร และจับพวกเขาโยนออกไปทางประตูฉุกเฉิน เนื่องจากต้องทำการอพยพผู้โดยสารลงจากเครื่องบินในเร็วที่สุด และยังพบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังตื่นตระหนก และเป็นห่วงเอื้อมคว้าเอาสัมภาระติดตัวไปด้วย ทั้งที่เป็นกฎสากลที่แจ้งเอาไว้เสมอ เมื่อเครื่องบินจะบินขึ้นทุกครั้งว่า จงทิ้งสัมภาระทุกสิ่งทุกอย่างไว้เพื่อเอาชีวิตรอด เพราะสิ่งของหาใหม่ได้ แต่ชีวิตคุณจะหาใหม่ได้จากไหน”


Tatyana Kasatkina, 34, a stewardess on board the Aeroflot plane SU-1492
ภาพจาก Dailymail.co.uk

แอร์โฮสเตสสาวเล่าสาว ช่วงเวลาที่เครื่องบินทำการลงจอดฉุกเฉิน ทุกอย่างค่อนข้างตื่นตระหนก ผู้โดยสารเริ่มกรีดร้อง เสียสติ เมื่อเห็นเปลวไฟลุกโชนอยู่ด้านนอกเครื่องบิน แต่ทันทีที่เครื่องบินจอดนิ่งสนิทแล้ว ด้วยสัญชาตญาณและทักษะที่เธอได้ฝึกฝนมา เธอใช้เท้าแตะปุ่มฉุกเฉินและเปิดประตูฉุกเฉินออก และสั่งให้ผู้โดยสารรีบลงจากเครื่องบินให้เร็วที่สุด

ภายในเครื่องบินนั้นมีกลุ่มควันดำปกคลุมไปทั่ว ก่อนที่ทุกคนจะรีบตื่นตัวอพยพ แม้ทุกคนจะตื่นตระหนกอยู่ก็ตาม เธอมองเห็นผู้โดยสารคนหนึ่งโทรศัพท์พูดคุยกับปลายสายไปด้วยว่า “เครื่องบินไฟไหม้ใหญ่เลย เครื่องบินเพิ่งตกเมื่อกี้!” และเธอจึงช่วยเหลือผู้โดยสารลงจากเครื่องบินให้ได้มากที่สุด แม้จะต้องคว้าคอเสื้อผ้าเขาและจับโยนลงไป

แทธยานา ยังบอกว่า แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจริงเช่นนี้ เธอยังเห็นผู้โดยสารบางคนยังเป็นห่วงในกระเป๋าของตัวเอง พยายามจะเปิดช่องสัมภาระเพื่อคว้านำติดตัวไปด้วย ทำให้ระบบการอพยพต้องติดขัด และส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในการช่วยชีวิตในพื้นที่จำกัด ในทุกๆ เที่ยวบินมักบอกอยู่เสมอว่า “หากเกิดเหตุฉุกเฉินควรทิ้งสัมภาระและอพยพออกจากตัวเครื่องทันที” แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ใส่ใจกับข้อความดังกล่าว

ขณะที่ผู้โดยสารส่วนหนึ่งที่รอดชีวิต ต่างก็ให้การยกย่องและขอบคุณแอร์โฮสเตสสาว และลูกเรือที่ช่วยชีวิตพวกเขาอย่างสุดความสามารถ หลายคนยอมรับว่า “สติแตก” มากตอนที่เกิดเหตุ แต่พวกลูกเรือก็เข้ามาเรียกสติของพวกเขาให้กลับคืนมา และเริ่มรู้ตัวว่าจะต้องหนีตายออกไปจากจุดนี้ให้ได้


เพลิงโหมท้ายเครื่องบินลุกโชนดูน่ากลัวมากครับ

จะรอดอีกหลายชีวิต ถ้ายอมทิ้งสิ่งของเสียบ้าง

จากรายงานข่าวบอกว่า มีผู้โดยสารตอนหลังเครื่องหลายคนเสียชีวิต เพราะมีชายคนหนึ่ง (ในข่าวจากเดลิเมล์ของอังกฤษบอกว่า อ้วนมีน้ำหนักมาก คลิกอ่านที่ข่าวต้นทางได้ที่นี่) พยายามเปิดตู้เก็บสัมภาระเหนือศรีษะของเขา เพื่อเอากระเป๋าเป้ออกมาให้ได้ และยืนขวางทางเพื่อจะเอาเป้ขึ้นสะพายหลัง เมื่อเครื่องบินลงจอดฉุกเฉิน ทุกคนมีเวลาจำกัดอย่างมาก ในการที่จะหนีให้พ้นจากเครื่องบิน โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฟไหม้เครื่องยนต์ เพราะจากสถิติพบว่า “ผู้โดยสารส่วนมากไม่ได้เสียชีวิตจากแรงกระแทกในการลงจอดฉุกเฉิน แต่เสียชีวิตจากการสำลักควัน และความล่าช้าในการอพยพมากกว่า”

การฝึกการอพยพในเครื่องบินพาณิชย์ ลูกเรือจะถูกฝึกให้สามารถอพยพผู้โดยสารในเครื่องบินทั้งลำได้ ภายในระยะเวลา 90 วินาทีครับ ย้ำนะครับว่า “ทั้งลำ ภายใน 90 วินาทีเท่านั้น” โดยมีเงื่อนไขของแต่ละเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไป เพราะในสถานการณ์จริง อาจมีทางออกฉุกเฉินเหลือเพียงไม่กี่ประตูเท่านั้น ที่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ต้องมีคำถามแน่ๆ ว่า ทำไมต้อง 90 วินาที?

ก็เพราะ เวลา 90 วินาที หรือ หนึ่งนาทีครึ่ง เป็นระยะเวลาที่คนยังสามารถกลั้นหายใจได้อยู่ โดยไม่สูดเอาควันไฟเข้าไปในปอด ซึ่งหากผู้โดยสารทุกคนให้ความร่วมมือในระยะเวลาที่จำกัดนี้ ก็อาจทำให้มีจำนวนผู้รอดชีวิตมากขึ้น หรือโชคดีอาจจะไม่มีใครต้องเสียชีวิตเลยก็ได้

อยากให้ดูวิดีโอสาธิตการฝึกอพยพผู้โดยสารนี้ เป็นจำลองการอพยพผู้โดยสารจำนวน 873 คน จากเครื่องบินแบบ Airbus A380 เครื่องบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเงื่อนไขคือ ทางออกฉุกเฉิน 8 ประตูจากทั้งหมด 16 ประตู จะถูกปิดไว้ และไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าประตูไหนถูกปิดบ้าง ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จในระยะเวลาเพียง 78 วินาที และ มีคนบาดเจ็บจากการอพยพเพียงแค่คนเดียว แต่ถ้าสังเกตให้ดี นี่คือกรณีที่ทุกคนให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดีนะครับ ถ้ามีสักคนขวางทางเดินเพราะห่วงสัมภาระจะเป็นเช่นไร

และนี่คืออีกหนึ่งในเหตุผลที่ลูกเรือต้องบังคับไม่ให้วางกระเป๋าบนตัก เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน มีแรงกระแทก กระเป๋าเหล่านี้อาจกระเด็นกระดอนมากีดขวางทางเดิน ที่จำเป็นต่อการอพยพเมื่อเกิดเหตุนั่นเอง ลูกเรือทำหน้าที่เพราะหวังดีกับทุกคนครับ ไม่มีลูกเรือคนไหนอยากจะเรื่องเยอะกับผู้โดยสารให้โดนชักสีหน้าใส่กันเล่นๆ คงเข้าใจกันบ้างนะครับ


ทางเดินในเครื่องบินทั้งแบบลำตัวกว้าง/ลำตัวแคบต่างก็มีทางเดินแคบๆ แบบนี้เหมือนกัน

ต้องเข้าใจว่า “ช่องทางเดิน” บนเครื่องบินโดยสารนั้นแคบมาก เดินสวนกันแบบสบายๆ ไม่ได้ ต้องมีอีกฝ่ายที่ต้องทำตัวลีบเพื่อให้เดินผ่านได้ ถ้ามีใครสักคนมัวแต่พะวงกับสัมภาระในกล่องเหนือศีรษะ ย่อมจะขวางทางเดินออกปิดโอกาสในการรอดตายของอีกหลายๆ คนแน่นอน ยิ่งเกิดสภาวะไฟไหม้ที่มีควันมากมาย ก็ย่อมกระทบต่อเวลา 90 วินาทีแห่งโอกาสรอดนั้นลงเรื่อยๆ คุณอาจจะรอด แต่คนข้างหลังคุณล่ะ!

 😎  อยากให้อ่านเพิ่มเติม “Plane crash” ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2559 ครับ

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)