air_hotess_russia

อาชีพในฝันของคนหนุ่มสาว

แอร์โฮสเตส สจ๊วต เป็นอาชีพในฝันของบัณฑิตหนุ่มสาวมาหลายสิบปี หลายคนจบสายศิลป์ คุรุศาสตร์ แต่ไม่อยากเป็นครู จบโบราณคดี จบบัญชี แต่ไม่อยากทำงานประจำเป็นสาวออฟฟิศ บ้างก็ว่า “ถ้าทำงานออฟฟิศแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่จะได้เก็บเงินซื้อบ้านสักที?” หลายคนมองหาอาชีพที่มีภาพพจน์ และค่าตอบแทนดีๆ ถ้าไม่กลัวความสูง ไม่กลัวคนแปลกหน้า หรือไม่กลัวความเหงา (ที่ต้องห่างครอบครัว ไปพำนักในต่างแดน) ก็ลองมาสมัครแอร์โฮสเตส หรือสจ๊วต เลยครับ

ข้อสอบอาจจะไม่ยาก เหมือนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือข้อสอบ กพ. เพื่อเข้ารับราชการ แต่สิ่งที่ทำให้การสอบในอาชีพนี้หิน ดูเคี่ยว ดูยาก ก็คือ “จำนวนผู้สมัคร” มากันเป็นพันหรือหลายพัน แต่รับไม่ถึงสามสิบ กว่าจะเลือกเข้ารอบหนึ่งคน ก็ต้องเฉือนออกกันทีเป็นร้อยๆ คน (โหดสัสจริงๆ ขอบอก)

ตอนที่ผมไปสมัครเป็นลูกเรือของ สายการบินกาตาร์ (Qatar) ที่สิงคโปร์ คนมาสมัครเกือบสามพัน ผมไม่ผ่านรอบแรกด้วยความไมพร้อมหลายอย่าง และตอนมาสมัครเป็นลูกเรือ Emirates ที่ไทยในครั้งถัดมา ยอดผูสมัครเกือบสี่พันคน ด้วยการเตรียมตัวที่พร้อมกว่าทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม และเอกสาร Resume เลยได้ร่วมเข้ารับการคัดเลือก ที่แต่ละรอบที่สอบคัดเลือกนั้นเครียดมาก จากรอบแรกจัดกลุ่มละ 200 คนรวม 19 กลุ่ม ตัดเหลือ 500 คน แล้วแบ่งย่อยกลุ่มละ 100 คน จำนวน 5 กลุ่ม ตัดออกให้เหลือ 100 คน มาสอบภาษาอังกฤษข้อเขียน ทำกิจกรรมกลุ่มละ 10 คน จนเหลือที่ผ่าน 32 คนเท่านั้น โหดไหมล่ะ เครียดที่สุดจากแปดโมงเช้าจนสามทุ่ม เหนื่อยมากครับ

แอร์โฮสเตสในสังคมไทยเข้าข่าย “อาชีพยอดฮิต” ลูกหลานใครสอบติด เจ้าตัวสามารถยืดอก ป่าวประกาศฉลองชีวิตใหม่ได้เลย ค่าตอบแทนสูง (กว่างานประจำ) ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สิทธิพิเศษในการเดินทาง ถ้าคิดถึงเฉพาะค่าตอบแทนล้วนๆ ในระยะสั้น การเป็นแอร์มันเห็นผลชัดจริงๆ

มีพี่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “สมัยสาวๆ เพิ่งจบใหม่ๆ (ต้องขอบอกก่อน นั่นก็ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว) เริ่มต้นจากอาชีพเลขานุการ มาขายตั๋วละครเวที แล้วก็มามั่วเป็นไกด์ทัวร์ ทำงานไม่ได้ตรงกับที่เรียนจบมาเล้ย เพื่อนที่เป็นแอร์ก็แวะเวียนมาหาที่ออฟฟิศ มองไลฟ์สไตล์เพื่อนแล้ว ก็บ้าเห่อตามไปด้วย อาชีพอะไรกัน เดือนหนึ่งทำงานแค่สิบกว่าวัน บินไปเมืองนอก ได้เที่ยวช้อปปิ้ง วันหยุดทีสองสามวันเต็ม มีเวลาไปนวดหน้า โยคะ และอีกสารพัด”

“เพื่อนชวนไปดินเนอร์กัน เพื่อนที่รักก็สั่งอาหารแบบราคาไม่สน แหม! มนุษย์กินเงินเดือนอย่างเรา มันเลยอยากจะเปลี่ยนงานบ้าง เห็นเพื่อนหลายคนโฉบเฉี่ยวไปสอบ ได้เป็นแอร์สมใจกันทุกคน ความสูงเราก็ใช้ได้นี่ แต่หน้าตาจืด “ไม่เป็นไร” เพื่อนว่า ขอให้แต่งหน้าแต่งตัว ผ่านข้อเขียนภาษาอังกฤษ เวลาสัมภาษณ์ก็แสดงให้เขาเห็นว่า “เราเป็นสาวมั่น” ก็พอแล้ว”

“ผ่านการคัดเลือกเข้ามา จากคนนอกกลายเป็นคนในวงการแอร์โฮสเตส ต้องเข้าคอร์สฝึกอบรมกันนานเป็นเดือน พอบรรจุทำงานไม่ถึงครึ่งปี เพื่อนสองคนในกลุ่มทนคิดถึงครอบครัวไม่ได้ ขอลาออกง่ายๆ ซะยังงั้น อาจจะเป็นเพราะสายการบินที่สอบผ่าน มันเป็นสายการบินของฮ่องกง นั่นหมายถึงว่า ต้องไปปักหลักอยู่ฮ่องกงที่นั่นเลย บริษัทจ่ายค่าเช่าบ้านให้ไม่เกินจำนวน xxxx เหรียญ ถ้าเกิน (แบบอยากอยู่ดี) ก็ควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มเอง เวลาไปบินเสร็จแต่ละเที่ยว ถ้ามีวันหยุดอย่างน้อยสองวัน ถึงจะบินกลับบ้านที่เมืองไทยได้ เพื่อนๆ ที่มีแฟนหนุ่มหรือลูกน้อยยังเล็ก จะจับไฟลท์กลับบ้านตลอด เป็นสาวน้อยมหัศจรรย์กันเป็นแถว คนอะไรบินไปมาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” พี่แกเล่าตาเป็นประกาย

แล้วเล่าต่อว่า “แรกๆ บินไปเมืองใหม่ๆ ประเทศใหม่ มันก็สุดแสนจะตื่นเต้ลลล… จะอดนอนตาค้างอยู่บนเครื่องก็ไม่เป็นไร ความแปลกใหม่ทำให้เลิกเพลีย อยากไปเห็นซูริค ปารีส นิวยอร์ค ท่องเที่ยวดูโลกแบบไม่ต้องควักเงินจ่ายเอง มันรู้สึกฟินมาก…”

“แม้จะต้องเข็นรถคาร์ทอาหารแสนหนัก เสริฟดริ้งค์ ถามมันซ้ำๆ “coffee or tea” ก็ไม่ว่า ผู้โดยสารบางคน ทำตัวไม่น่ารัก ก็ปั้นยิ้มส่งๆ ไป เมาแล้วโวยวาย ก็เสริฟน้ำให้ดื่มแทน หรือขอนักขอหนาตั้งแต่ไพ่ถึงไม้จิ้มฟัน ถ้าให้ได้ก็ให้กันไป แต่ผู้โดยสารที่ทนไม่ได้คือ พวกหยิ่งนัก ประเภทปากหนัก พูดแล้วไม่พูดด้วย เอ้อ…ช่างมัน ปล่อยวาง เรื่องเล็กน้อย นึกอย่างเดียวพอจบไฟลท์ เราจะได้ไปช้อปปิ้งที่ชองเอลิเซ่ ไปดูหอไอเฟล นอนข้ามวันข้ามคืนให้หายเหนื่อยไปเลย”

“เพราะเป็นสายการบินต่างชาติ แอร์ไทยเลยเป็นคนกลุ่มน้อย ในทุกๆ ไฟลท์ ลูกเรือเปลี่ยนไม่มีซ้ำ จับคนแปลกหน้า 14 คน ต่างชาติต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม มาทำงานร่วมกัน มันจึงมีทั้งเรื่องสนุก เรื่องน่าปลง ปะปนกันไป เข้ากันได้ก็แฮ้ปปี้ คบหาต่อเนื่องเป็นเพื่อนซี้กันยังมี แต่มีบ้างที่พอเห็นหน้าแล้ว ก็ไม่ชอบขี้หน้ากันเสียแล้ว บ้างก็หยิ่งแบบไม่มีเหตุผล หรือหัวหน้าบางคน เห็นเป็นเด็กใหม่ก็ใช้จัง โอ้ย..บรรยากาศเริ่มอึดอัด ทำงานมีแต่ผู้หญิง จุกจิกเหลือเกิน เวลามีปัญหาหนัก ก็ได้แต่จุดธูปภาวนา “ขออย่าได้บินร่วมกันอีกเลย สาธุ” ต้องเข้าใจว่า ผู้หญิงถ้าได้ไม่ชอบขี้หน้ากันนี่จะถึงขั้นไม่เผาผีกันทีเดียวแหละ”

เธอเล่าต่อไปว่า “นี่แค่เพื่อนร่วมงาน ยังปวดหัวขนาดนี้ ไหนจะผู้โดยสารที่ขี้บ่น ขี้ดื่ม ขี้หลี ขี้กวน เฮ้อ! (ถอนหายใจหนึ่งเฮือก) แล้วเรื่องสำคัญที่ยังไม่นับคือ “สุขภาพร่างกายของเราเอง เวลานอนไม่ได้นอน เวลากินกลับต้องทำงาน ถึงเวลาได้นอนกลับหิว” แต่อย่างว่า นี่มันงาน ไม่ใช่แพ็คเก็จทัวร์ ไม่ได้มาฮอลิเดย์ จะบ่นไปทำไมกันนะเรา…

บินไปได้สักสองสามปี เพื่อนอีกห้าหกคนเริ่มลาออก บ้างก็ไปแต่งงาน บ้างก็อยากเปลี่ยนแนวอาชีพ เพราะใจไม่อยู่กับงานแล้ว จะทรมานหัวใจไปทำไม ออกมาเริ่มทำอะไรที่มันมีความสุขดีกว่า แม้ค่าตอบแทนไม่สูงก็ไม่เป็นไร ขอให้อยู่ใกล้ครอบครัวก็พอแล้ว ตัวเองก็เห็นลู่ทางเหมาะก็หลังแต่งงานนี่แหละ ผ่อนบ้านหมด เลยได้โอกาสขอลาออกกันสียที บินมาหกปี ไม่เหลือให้บ้าเห่ออะไรอีกแล้ว ลอนดอน มันก็คือ ลอนดอน นิวยอร์คแล้วไง ปารีสเหรอ ซาโยนาระ โตเกียว ❤ คนในเริ่มออก แต่คนนอกยังขยันไปติวเข้มเพื่อสอบเข้า ก็พยายามกันต่อไปนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนด้วยค่ะ แล้วน้องปอยังไม่เบื่ออีกเหรอ กี่ปีแล้วเรา?”

“แปดปีแล้วครับ” ผมตอบ “แต่ยังไม่คิดลาออกครับ ยังทนได้อยู่ ต้องหาเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคตให้พอก่อน ยังสนุกกับงานอยู่ แม้ในช่วงนี้การเติบโตในอาชีพจะไม่แน่นอนนัก บริษัทกำลังปรับลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดกำลังคน (พนักงาน) กันอยู่ ในขณะที่ฝูงบินกลับขยายใหญ่มากขึ้น ซื้อเครื่องบินลำยักษ์ใหญ่มากที่สุดในโลกด้วย ไม่เข้าใจเหมือนกัน”

หลายๆ คนเข้าไปแล้วเบื่อคิดจะลาออก แต่ก็ยังออกไม่ได้เพราะมีความจำเป็น เช่น มีหนี้เพื่อความมั่นคงในชีวิตอย่าง ซื้อบ้าน ซื้อรถให้บุพการี ต้องหาเงินใช้หนี้ส่วนนี้ก่อน และอีกส่วนหนึ่งทำงานลูกเรือมาหลายปีความรู้เดิมที่ร่ำเรียนมาก็ชักจะลืมเลือน จะมาสอบทำงานก็กลัวแข่งขันกับรุ่นน้องๆ ที่จบใหม่ๆ ไม่ได้ บางเงื่อนไขก็ติดที่อายุที่เขารับสมัครนั้นเราผ่านมาแล้ว บ้างก็ Career path (เส้นทางอาชีพ) เรามันคงจะไม่ก้าวหน้า เพราะเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันเขาก็ก้าวไปเป็นหัวหน้างาน ผู้จัดการกันหมดแล้ว เราเพิ่งจะมาเริ่มทำก็คงลำบาก เว้นแต่อาชีพที่เป็นธุรกิจส่วนตัว เป็นนายตนเอง

อย่างบางคนก็ไปเป็น ติวเตอร์ด้านภาษา (ที่ตนเองถนัด) หรือติวเตอร์ด้านการเป็นลูกเรือที่ผ่านมานี่แหละ บางคนก็ทำธุรกิจเกี่ยวข้องเช่น การท่องเที่ยว การทำรีสอร์ต โฮสเทล โรงแรม ในแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากๆ ดังนั้นใครคิดจะทำอาชีพลูกเรือควรวางเส้นทางชีวิตข้างหน้าไว้ด้วยครับ จะได้มีชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า ช่วงทำงานมีรายได้ดีก็สะสมทรัพย์เผื่ออนาคตไว้ด้วย เช่น การมีอสังหาริมทรัพย์ (บ้าน/ที่ดิน) มีเงินฝากที่มั่นคงไว้ด้วย ส่วนผมมองไว้สองทางคือ การเป็นติวเตอร์ด้านภาษา กับทำธุรกิจการท่องเที่ยวของตนเอง ยังไม่คิดลาออกตอนนี้ครับ

(บทความนี้ ขอแค่แชร์ประสบการณ์ ในมุมมองของคนที่เคยอยู่ข้างในเท่านั้นครับ ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอแง่ร้ายของอาชีพนี้เลย เข้าใจตามนี้กันนะครับ สำหรับน้องที่อยากจะทำงานด้านนี้ ก็ดีครับ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตต่างบ้านต่างเมือง น่าสนใจมากๆ เลยครับ สู้ๆ กันนะ 😛 🙂 😉 😎 😀 )

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)