Boeing quietly pulls plug on the 747, closing era of jumbo jets.

Boeing 747 เป็นอดีตเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่ Airbus จะผลิตยักษ์ใหญ่รุ่น A380 ออกมาแข่งขันในตลาดเครื่องบินโดยสาร เครื่องบิน Boeing 747 ไม่มีเครื่องต้นแบบมาก่อน ทำการสร้างและส่งมอบขึ้นบินเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1966 โดยสายการบิน Pan Am (Pan American World Airways) สหรัฐอเมริกา เป็นสายการบินแรกที่นำมาให้บริการในเส้นทางนิวยอร์ก-ลอนดอน เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1970

Boeing Company ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อาจต้องปิดสายการผลิตเครื่องบินโดยสารแบบจัมโบ้เจ็ต Boeing 747 ของตัวเองลง หลังจากที่ไม่สามารถหายอดสั่งซื้อเพิ่มได้ เพราะความต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ลดลง และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาแพงกว่าเดิม

ทางโบอิ้งประกาศเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมในปีที่ผ่านมาว่า หากไม่มียอดการสั่งซื้อเพิ่มเติมเข้ามาอย่างเพียงพอ อาจทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลง เพื่อลดความเสี่ยงซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญให้ต้องปิดสายการผลิตของ 747 ลง โดยโบอิ้งปฏิเสธที่จะเพิ่มกำลังการผลิตโบอิ้ง 747 จากเดิม 1 ลำต่อเดือนไปจนถึงสิ้นปี 2019 หลังจากที่คงกำลังการผลิตไว้ตั้งแต่เดือน กันยายน ปี 2015 นับเป็นข่าวร้าย แม้ว่าในวันนี้จะยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการจากโบอิ้ง ที่จะเลิกผลิต “Jumbo Jet 747” ลง หลังครองน่านฟ้ามากว่าครึ่งศตวรรษสำหรับการเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง แบบ 4 เครื่องยนต์

Boeing 747 Lufthansa

สำหรับรุ่นล่าสุดของโบอิ้ง 747 คือ Boeing 747-8 ที่มีการใช้งานในสายการบิน Cathay Pacific, Lufthansa, Air China และอีกหลายๆ สายการบิน ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ ของเครื่องบินโดยสารแบบ 2 ชั้น ที่เริ่มบินครั้งแรกเมื่อปี 1969 ทำให้ก้าวสู่ยุคใหม่ของการเดินทางทางอากาศ ที่มีจำนวนผู้โดยสารมากๆ ในคราวเดียว  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ที่ชื่นชอบในเจ้ายักษ์ใหญ่ 747 หัวโหนกที่มี 2 ชั้นที่ยิ่งใหญ่มาเนิ่นนาน มีความเสียใจที่จะไม่ได้เห็นมันอีก พอๆ กับแฟนของคู่แข่ง Airbus A380 ที่ตะลึงกับข่าวการหยุดผลิตยักษ์ใหญ่จากโรงงานในตูลูส ฝรั่งเศส เช่นเดียวกัน

แม้ว่าความนิยมและชื่นชอบของนักเดินทางที่มีต่อเครื่องบิน Boeing 747 และ Airbus A380 จะยังคงมีอยู่ ด้วยความสะดวกสบายกับความกว้างขวาง มีที่นั่งขนาดใหญ่ แต่สำหรับสายการบินต่างๆ แล้ว ในการบินระยะทางไกลๆ การใช้เครื่องบินขนาดที่เล็กลงกว่า และใช้เครื่องยนต์ยุคใหม่ 2 เครื่องยนต์ จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า และยิ่งมาพบกับสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้อายุของเจ้านกยักษ์นับวันถอยหลังเร็วยิ่งขึ้น เพราะหาลูกค้าสั่งซื้อไม่ได้ ที่เคยสั่งซื้อไว้ก็เปลี่ยนใจขอแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องที่มีขนาดเล็กลง

Airbus A380 and Boeing 747 British Airways

Sash Tusa นักวิเคราะห์จาก Agency Partners กล่าวว่า “มันหมดยุคของเครื่องบินขนาดใหญ่แล้ว จำนวนเส้นทางที่เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารจำนวนมากๆ ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ”

“ราชินีแห่งท้องฟ้า : Queen of the Skies ของ Boeing เปิดตัวครั้งแรกในปี 1970 เป็นการวางเดิมพันครั้งใหญ่ของโบอิ้ง มันเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ มีรูปร่างเอกลักษณ์พิเศษ มีโหนกใหญ่ในส่วนหัว ที่มีบันไดวนขึ้นไปยังเลานจ์ชั้นบนสุดหรูหรา นอกจากนี้ ยังมีรุ่นที่ออกแบบสำหรับการบรรทุกสินค้า (Cargo) ด้วยการมีจมูกบานพับที่เปิดออกเพื่อโหลดสินค้าทุกอย่างเข้าไป ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมัน Boeing 747 ผลิตมาต่อเนื่องด้วยยอดการสั่งซื้อ 1,571 ลำ ในช่วงหลายทศวรรษ – ก่อนที่จะมีเครื่องรุ่นน้องในบรรดาเครื่องบินเจ็ตลำตัวกว้าง Boeing 777x ในยุคหลังๆ

A Tribute to the Boeing 747 by Sam Chui

แม้จะมีคู่แข่งจากฝั่งยุโรปอย่าง Airbus A380 ที่สามารถเพิ่มความจุสำหรับนักเดินทางต่อเที่ยวได้มากถึง 853 คน ในปี 2005 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของการบินและอวกาศในยุโรป แต่เมื่อผ่านไปเพียง 2 ปีให้หลัง สายการบินต่างๆ ก็เริ่มเอนเอียงไปทางใช้เครื่องบินที่มีขนาดเล็กลง และประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่าเดิม

ซึ่งทาง Boeing คาดการณ์แนวโน้มได้อย่างถูกต้อง ด้วยการผลิตเครื่องบินแบบเครื่องยนต์คู่อย่าง Boeing 777 และ 787 Dreamliner ด้วยการออกแบบของ Joe Sutter วิศวกรผู้มีชื่อเสียงที่เป็นหัวหน้าโครงการ 747 ดั้งเดิม เป็นการวางแผนและพัฒนาเครื่องบินสี่เครื่องยนต์ที่มีราคาไม่แพงนัก เพื่อขโมยยอดขายจาก Airbus A380 จนทำให้ Airbus เองต้องแก้ลำด้วยโครงการ Airbus A350

แต่ด้วยเรื่องของราคาและงบประมาณทำให้ Boeing 747-8 ไม่ได้รับความนิยม ซึ่ง Richard Aboulafia นักวิเคราะห์จาก Teal Group กล่าวว่า Boeing ต้องขาดทุนประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ต่อเครื่อง ตั้งแต่ปี 2016 จนบริษัทต้องชะลอการผลิตเหลือเพียง 6 ลำต่อปี และเครื่องบินโดยสาร Boeing 747 ลำสุดท้ายที่ถูกสั่งซื้อในปี 2017 สำหรับเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (Air Force One)

Boeing 747 Air Force One (President Airplane)

แม้ว่า Boeing 747 จะลดบทบาทในการเป็นเครื่องบินโดยสารลงไป แต่สำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ของโบอิ้ง จะยังคงอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลาหลายสิบปีหลังจากหยุดการผลิต นั่นหมายความว่า Boeing 747 จะลดลงเพียงการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น

ซึ่งต่างจาก Airbus A380 จากการคาดการณ์ของ Richard Aboulafia บอกว่า “มันจะเป็นเครื่องบินโดยสารที่มีอายุสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ได้ เพราะผมคงต้องตกใจมากถ้ายังมี Airbus A380 ที่ให้บริการอยู่ในปี 2030″ แต่ทาง Airbus ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ “เราจะเห็นเครื่องบิน A380 บินต่อไปอีกเป็นเวลาหลายปี”

แต่จากการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ที่กำลังเร่งพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวให้หยุดยู่กับที่ นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจบอกว่า การเดินทางของผู้คนทั่วโลกคงไม่ฟื้นตัวจนกว่าจะถึงถึงปี 2022 สายการบินที่มีเครื่องบินแบบ B747 อยู่ในฝูงบิน กำลังทำการดัดแปลงจากเครื่องบินโดยสารไปเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า (Cargo) เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งในปัจจุบันนี้ประมาณ 91% ของเครื่องบินแบบ 747s และ 97% ของ A380s ได้จอดอยู่ไม่ได้ทำการบิน

Boeing 747 Qatar Cargo

สายการบิน Air France, Lufthansa และ Qatar Airways เป็น 3 สายการบินที่บอกว่า เครื่องบิน Airbus A380 ของพวกเขาอาจถูกปลดระวางการใช้งานอย่างถาวร หรือกำลังเตรียมพร้อมที่จะทำเช่นนั้น ในขณะที่ Airbus ยังคงมีเครื่องบินอีกเพียง 9 ลำเท่านั้น ที่ยังรอการส่งมอบ แต่หนึ่งใน 9 ลำนั้น ได้ถูกทำสีและตราของสายการบิน Emirates ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครื่องบินแบบ Airbus A380 รายใหญ่ที่สุด ซึ่งกำลังพิจารณาว่า “จะยกเลิกการสั่งซื้อ 5 รายการสุดท้ายหรือไม่” (ยอดสั่งซื้อบางส่วน เคยถูกเปลี่ยนป็น Airbus A350 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า บินได้ไกลกว่า และประหยัดเชื้อเพลิงกว่า)

Airbus A380 มีราคาลำละประมาณ 20 พันล้านยูโร (23 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งสร้างผลกำไรเพียง 3 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2015 จากยอดขายเครื่องบินเพียง 251 ลำในช่วงที่ผ่านมา มีคำถามว่า ทำไม Airbus A380 จึงไม่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นเครื่องบินรับส่งสินค้าอย่าง Boeing 747 คำตอบคือ “A380 ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้ามาตั้งแต่ต้น วัสดุในการใช้ทำลำตัวเครื่องบินส่วนใหญ่เป็นแบบคอมโพสิต (Fiber Carbon) ที่มีน้ำหนักเบา เพื่อให้มีพื้นที่บรรจุเก้าอี้โดยสารได้มาก แต่คงไม่สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจากสินค้าได้มาก ทั้งที่มีลำตัวขนาดใหญ่ 2 ชั้นก็ตาม แตกต่างจาก B747 ที่มีอลูมิเนียมเป็นโครงสร้างหลักที่แขงแรงกว่า”

ในขณะที่ทางโบอิ้งได้เตรียมการมานานหลายปี เพื่อยุติการผลิต Boeing 747 และฝ่ายขายของโบอิ้งได้แสดงให้เห็นว่า มีความสนใจของลูกค้าในเครื่องบินแบบ Boeing 777x หากโมเดลดังกล่าวนี้เดินหน้าต่อไป ก็จะหนุนการขายเครื่องบินเครื่องยนต์คู่ที่ใหญ่ที่สุดในสายการผลิตของบริษัทได้

Boeing 747-8 UPS Air Cargo

ลางบอกเหตุว่า โบอิ้งจะยุติเครื่องบินแบบ 747 ซึ่งปรากฏออกมาในเอกสารทางการเงินเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า บริษัทจะยังคง “ประเมินความมีชีวิต (evaluate the viability) ของโครงการ ซึ่งเป็นถ้อยคำมาตรฐานที่ไม่เคยใช้มาก่อน ขณะนี้ ยังคงมีสายการผลิตสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าให่้กับ United Parcel Service Inc. (UPS) จำนวนประมาณ 15 ลำ แต่ด้วยความล่าช้าในการส่งมอบจึงทำให้เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน (มีอัตราการผลิตช้ามากเพียงปีละ 6 ลำเท่านั้น)

ที่มา : https://gulfnews.com/business/aviation/boeing-quietly-pulls-plug-on-the-747-closing-era-of-jumbo-jets-1.1593715150136

สำนักข่าว Bloomberg แจ้งว่ามีแหล่งข่าวภายในเผยว่า Boeing  ตัดสินใจปิดสายการผลิตหลังเครื่องบิน ​Boeing 747 ลำสุดท้ายออกจากโรงงานในเอเวอเรตต์ รัฐวอชิงตัน ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันบริษัทมีออร์เดอร์เหลืออยู่ 15 ลำ เป็นเครื่องบินเวอร์ชันขนส่งสินค้า (Cargo) แบบ 747-8F ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครื่องบิน ​Boeing 747 ไม่ได้รับความนิยมและทยอยถูกปลดระวางออกจากฝูงบินเชิงพาณิชย์ของสายการบินทั่วโลก โดยปัจจุบันนี้ยังคงเหลือสายการบินเพียงไม่กี่แห่งที่ยังใช้งาน Boeing 747 อยู่ และส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าหรือคาร์โก

สำหรับ Boeing แล้ว โควิด-19 ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ซ้ำเติมแผลเก่า หลังมรสุมที่เผชิญระลอกก่อนยังไม่จางหาย จากอุบัติเหตุเครื่องบินสายการบิน Lion Air และ Ethiopian Airlines ที่ตกห่างกันเพียง 5 เดือน ในปี 2018 และ 2019 ซึ่งทำให้อนาคตของฝูงบิน Boeing 737 MAX ดับวูบลง ถูกสั่งให้หยุดบินมานานกว่า 1 ปีแล้ว และยังต้องรอการอนุมัติให้ขึ้นบินจากหน่วยงานการบินพลเรือนของสหรัฐฯ (FAA) และจากทั่วโลก ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน

มีหลายคนถามมาว่า “แล้วเครื่องบินรุ่นเก่าๆ ที่ปลดระวางเหล่านี้ไปอยู่ไหนกันหนอ นอกจากที่เอามาทำเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ อย่างในเมืองไทยบ้านเรา”  คำตอบก็คือ ไปอยู่ที่ป่าช้าสนามบินเก่าๆ ของเอกชน เพื่อทำการถอดชิ้นส่วนบางชิ้นที่ยังใช้การได้ไปเป็นอะไหล่บ้าง นำไปรีไซเคิ้ลในวัสดุที่สามารถทำได้อย่างพวกทองแดง อลูมิเนียม ฯลฯ หรือนำไปใช้เป็นเฟอรฺ์นิเจอร์ตกแต่งสถานที่บ้าง นำไปทำเป็นฉาก (Mock up) สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่อาจใช้ได้หลายครั้งหรือบ้างก็ถูกทำลายด้วยระเบิดในการถ่ายทำ ดูในคลิปด้านล่างนี้ได้

B747 ของ Thai Airways ที่ฝรั่งยังทึ่งในการตกแต่งภายในที่แตกต่าง

การแยกชิ้นส่วนเครื่องบินเก่าไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)