อยากเป็นแอร์-สจ๊วต (1) : เรซุเม่ต้องเริ่ด!!

ามกันมาเยอะครับ ว่าอยากเป็นแอร์ เป็นสจ๊วตนี่ต้องเตรียมตัวกันยังไง ทำอะไรกันบ้าง เพื่อไม่ให้สับสนก็จะเล่าเป็นตอนๆ จากประสบการณ์ที่เคยทำๆ มานะครับ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ถูกใจกรรมการที่สุดนะครับ

งั้นเรามาเริ่มกันที่ขั้นแรกครับ เรซูเม่ต้องเริ่ด!!

ตั้งชื่อกันแบบนี้ บางคนก็อาจจะงงนะครับว่า เรซูเม่ (Resume) คืออะไร? มันก็คือประวัติส่วนตัวของเรานั่นเองครับ บริษัทต่างๆ ที่รับสมัครงาน ก็ต้องการข้อมูลจุดนี้ไปไว้ใช้เป็นข้อมูลในการคัดเลือกครับ ดังนั้น บางท่านที่ไม่ได้สมัครสายการบิน ลองเอาคำแนะนำเหล่านี้ไปลองใช้กับการสมัครงานอื่นๆ ดูก็ไม่เสียหายนะครับ

สำหรับสายการบินเวลาเปิดรับสมัคร สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เข้ารอบหรือตกรอบเนี่ย ปัจจัยหนึ่งก็คือ ประวัติส่วนตัวครับ บางแห่งอาจจะเรียก เรซูเม่ (Resume’) บางแห่งเรียก CV (Curriculum Vitae) ก็ว่ากันไปตามเค้านะครับ

ที่บอกว่าจะทำให้เข้ารอบหรือตกรอบเนี่ย มันก็มาจากว่า บางสายการบินรอบแรกๆ จะคัดเลือกจากเรซูเม่ และ/หรือรูปถ่ายเป็นหลักก่อนครับ ดังนั้น เจ้ากระดาษบางๆ แผ่นสองแผ่นที่บรรจุข้อมูลส่วนตัวของเรานี่แหละครับ จะเป็นตัวตัดสินอนาคตได้เลยทีเดียว ลองนึกดูสิครับว่า ครั้งหนึ่งๆ ที่มีการเปิดรับลูกเรือ มีผู้สมัครนับพัน นับหมื่น มีเรซูเม่เป็นหมื่นๆ แผ่น ทำอย่างไรให้เรซูเม่ของเราโดดเด่น เด้งโดนตากรรมการ คำตอบก็ไม่ยากครับ

ขั้นแรก ปริ้นท์สีเท่านั้น ชนะขาด : ลองสวมบทบาทเป็นกรรมการคัดเลือกดูสิครับ หากมีเอกสารนับพันๆ กองอยู่ตรงหน้า มีสีขาว สีดำ และสีสันอื่นๆ ปนอยู่ ใครๆ ก็อยากเลือกแบบที่มีสีสันขึ้นมาก่อนครับ เพราะสะดุดตา ดังนั้น เราก็ควรจะปริ้นท์เรซูเม่ของเราแบบสีดีกว่าครับ ที่สำคัญควรลงทุน ไม่ขี้เหนียว ด้วยการไปปริ้นท์สีแบบเลเซอร์ที่ร้านแผ่นละสิบ ยี่สิบบาทครับ ดีกว่าปริ้นท์แบบหมึก เพราะแค่น้ำหยดลงไป ข้อมูลก็กระจาย หายไปกับน้ำได้แล้วครับ ที่สำคัญมันแลดูพรีเมี่ยมมากกว่าเยอะเลย

ขั้นที่สอง ใบเดียวไม่เคยพอ : ก็หมายถึงว่า เวลาปริ้นท์นี่ก็ควรปริ้นท์มาซักสี่ห้าชุดนะครับ เผื่อไว้ กันเหนียว กรณีที่กรรมการอยากได้สองชุดขึ้นมา หรือทำหาย ปลิว ขาด ยับ ก็จะได้หามาเปลี่ยนทัน (อันนี้เคยมาแล้วครับ ตอนสมัครกาตาร์ กรรมการขอให้เขียนเบอร์โทรศัพท์ที่พักในสิงคโปร์ด้วย ปรากฎว่าเขียนผิด ต้องเขียนในเรซูเม่อีกชุดนึงครับ)

ขั้นที่สาม กี่หน้า? : ทราบครับว่าบางท่านข้อมูล ประวัตินี่เยอะเหลือเกิน แต่ก็ไม่ควรจะเป็นเรซูเม่ความยาวประมาณวิทยานิพนธ์หรืออะไร ซักหน้าสองหน้ากำลังพอดีครับ กรณีที่มีสองหน้า ควรเย็บติดกันให้เรียบร้อยด้วย กันพลาดหลุดแยกหายไปแย่นะครับ

ขั้นที่สี่ เลือกข้อมูลที่จำเป็นและดูน่าสนใจ : อันนี้เป็นหัวใจสำคัญเลยทีเดียวครับว่า ในเรซูเม่ของเราควรจะใส่อะไรลงไปบ้าง แน่นอนว่าก็ต้องมี “ชื่อ-นามสกุล ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ข้อมูลในการติดต่อกลับ ส่วนสูง น้ำหนัก อายุ และเพิ่มลูกเล่นให้กรรมการสนใจประวัติของเรา” ด้วยการเน้นให้เห็นว่า ประวัติการศึกษาของเราเน้นด้านไหนมา ทำกิจกรรมอะไรพิเศษระหว่างเรียนมาบ้าง ใช้ทักษะอะไรบ้าง จะทำให้เกิด “มูลค่าเพิ่ม” ในเรซูเม่ของเรามากทีเดียวครับ

ส่วนกิจกรรมบางอย่างที่ เอ่อ…ไม่ค่อยได้ใช้ทักษะเกี่ยวกับงานบริการบนเครื่องบินโดยตรง ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ครับ อย่าง เคยเป็นเชียร์เดอร์ ดรัมเมเยอร์มาก่อน หรือเคยเป็นตัวแทนถือพานไหว้ครู เคยประกวดเล่นดนตรี แบบนี้ ก็ตัดออกไปก่อนก็ได้ครับ

ส่วนท่านที่ผ่านการทำงานและเปลี่ยนงานมาอย่างโชกโชน ก็ระบุไปครับ เคยทำงานที่ไหน รับผิดชอบอะไร และใช้ทักษะอะไรบ้าง อยู่ในระดับหัวหน้างานหรือยัง เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ เป็นต้นครับ ส่วนเหตุผลที่ออกจากงาน ไม่ต้องระบุก็ได้ครับ ดูแย่เปล่าๆ เช่น โดนไล่ออก เพราะโกงเงินบริษัท หรือลาออกเพราะเงินเดือนน้อยเกิน อะไรแบบนี้ก็เก็บไว้ส่วนตัวดีกว่าครับ และเช่นเดียวกับข้างต้นครับ ข้อมูลอะไรที่มันดูไม่เกี่ยวข้องมาก ก็ตัดออกไปบ้างครับ

ส่วนสำคัญ บุคคลอ้างอิง References ของเรานี่ก็ควรเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือในระดับหนึ่งครับ อย่างอดีตหัวหน้างาน เจ้าของบริษัท อาจารย์ที่ปรึกษา บุคคลรู้จักที่เคยร่วมงานได้ ทั้งนี้เพราะบางสายการบิน เมื่อเข้ารอบลึกๆ แล้ว อาจจะส่งอีเมล์ หรือโทรศัพท์ไปถามบุคคลอ้างอิงเหล่านี้ด้วยก็ได้นะครับ ว่าผู้สมัครเป็นอย่างไร นิสัยการทำงาน ความรับผิดชอบ เป็นต้นครับ (ใส่ชื่อท่านไปแล้วก็ควรแจ้งและขออนุญาต บอกกล่าวล่วงหน้ากับท่านเหล่านั้นไว้ด้วยนะครับ)

ส่วนข้อมูลในการติดต่อกลับ ก็ควรระบุหมายเลขโทรศัพท์ทั้งเบอร์บ้าน (มั่นใจว่าจะมีคนรับสาย) เบอร์มือถือ (ควรพกติดตัวให้สมชื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสนะครับ) อีเมล์ และที่อยู่ปัจจุบันครับ โดยเฉพาะอีเมล์นี่สำคัญมาก ควรเป็นอีเมล์ที่ดูออกว่าเป็นชื่อและนามสกุลของเรานะครับ พวกอีเมล์ที่ตั้งชื่อบอกใบ้ไม่ได้ว่าเป็นใคร เป็นชื่อเล่นๆ ไม่ควรใช้ในการสมัครงานครับ เพราะเคยอ่านเจอว่า กรรมการคัดเลือกบางท่าน เค้าตัดใบสมัครที่มีอีเมล์แบบเด็กๆ ออกไปเลยก็มีครับ

ขั้นที่ห้า จัดหน้าสวยๆ : ใครจะอยากอ่านกระดาษ A4 ที่มีข้อความยาวเป็นพรืดจนสุดหน้ากระดาษหล่ะครับ ดังนั้น จัดหน้าให้สวยงาม อ่านง่าย มองเห็นข้อมูลได้ชัดเจน จัดวรรคตอนให้อ่านง่าย แบ่งเป็นเรื่องๆ เป็นข้อๆ เรียงลำดับดีๆ นะครับ

ขั้นสุดท้าย : ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ระบุลงไปในเรซูเม่ของเราครับ ว่าถูกต้องทุกตัวอักษรจริงๆ ย้ำครับว่าต้องถูกทุกตัวอักษร เพราะหากหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล์ผิดไปหนึ่งตัว ก็พลาดเลยละครับ กรรมการอุตส่าห์จะอีเมล์หรือโทรศัพท์มาแจ้งข่าวดี กลายเป็นติดต่อไม่ได้ซะอย่างงั้น เสียดายโอกาสมากเลยครับ รวมถึงข้อมูลก็ควรเป็นข้อมูลจริงของเรานะครับ อย่าไปโกหกข้อมูลบางอย่างเลยครับ ถูกจับได้มันจะกลายเป็นผลเสียกับเรามากกว่า เช่น ส่วนสูงไม่ถึง ขอแอบเพิ่มนิดนึง พอไปวัดส่วนสูงจริงๆ ไม่ตรงตามที่ให้มา ตกรอบเลยก็มีครับ!

เอาหล่ะครับ หกขั้นตอนในการผลิตเรซูเม่ให้พร้อมเผชิญหน้า กับกรรมการคัดเลือกก็มีเท่านี้หล่ะครับ เบสิคๆ เลยคือ ข้อมูลต้องครบ ถูกต้อง อ่านง่ายและสะดุดตานะครับ

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)