air_hostest_02

ใครคือ แอร์-สจ๊วต ตัวจริง?

โดย : Blue Sapphire 2

ที่มา : คอลัมน์ SIGN ON
จาก : The aerospace magazine, Issue 8 September 2006

“น้องครับ… เรียนจบแล้วอยากเป็นอะไรครับ” ผมถาม

“อยากเป็นแอร์โฮสเตสค่ะ”

น้ำเสียงอันหนักแน่น ประกอบกับแววตาอันมุ่งมั่นตั้งใจ ที่ส่องประกายมา พร้อมรอยยิ้มสวยๆ จากเด็กสาวหลายคนที่พบมา ทำให้ผมเชื่อว่า คำตอบนี้เป็นคำตอบที่อยู่ในใจผู้อ่านหลายๆ คนด้วยเช่นกัน แต่ แอร์-สจ๊วต ตัวจริงนั้นเป็นอย่างไร จะมีซักกี่คนที่เป็นตัวจริง แล้วเราเป็นคนหนึ่งในตัวจริงนั้นหรือเปล่า วันนี้เราจะมาค้นหาแอร์-สจ๊วต “ตัวจริง” กันครับ

แอร์-สจ๊วตตัวจริง จะมีความโดดเด่นในเรื่องของบุคลิกภายใน ภายนอกที่ดูดี และเหมาะสม อีกทั้งต้องมีความรู้เกี่ยวกับงานที่จะทำ

บุคลิกภายนอก (External Personality) บุคลิกภาพ ลักษณะท่าทางภายนอกที่มองเห็นได้ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกคนจะมองเห็นเราจากภายนอกเป็นอันดับแรก ฉะนั้นเราควรจะสร้าง First Impression ให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความประทับใจ และทำให้บุคคลอื่นอยากทำความรู้จักตัวเรา อันจะช่วยเปิดโอกาสให้เราได้แสดงบุคลิกภายในของเราออกมา คนที่จะเป็นแอร์-สจ๊วตไม่จำเป็นต้องสวยเหมือนนางงาม หรือหล่อเทียบเท่านายแบบ แต่ถ้าหน้าตาดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ถือว่าโชคดีไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญไปกว่าหน้าตาดีก็คือ ความสะอาดสะอ้าน (Cleanliness) ไม่มีสิวเกรอะกรังเต็มหน้า รูปร่างอย่าละเลย น้ำหนักกับส่วนสูงต้องสัมพันธ์กัน (ในส่วนนี้ แต่ละสายการบินจะมีมาตรฐานแตกต่างกัน) อย่างไรเสียก็ไม่ควรอ้วนหรือผอมเกินไป ที่สำคัญคือ ต้องดูเป็นคนที่ มีสุขภาพดี (Healthy) เพราะฉะนั้น เราควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีรูปร่างดี และสุขภาพร่างกายแข็งแรง การดูแลตัวเองในเรื่องเหล่านี้ต้องมีความพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป

เรื่องต่อมาคือ สิ่งที่เราสามารถเติมแต่งได้ เช่น การแต่งกาย การแต่งหน้า ถ้าจะเป็นแอร์ต้องแต่งหน้าให้สวยแบบผู้ใหญ่ เพราะกำลังจะก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน ต้องดูภูมิฐานน่าเชื่อถือ และควรดูความต้องการ (Requirement) ของแต่ละสายการบินที่เราจะไปสมัครด้วยว่า ต้องการ Look & Feel แบบไหน เรียบโก้ หรือสวยใสร่าเริง เพื่อเตรียมตัวให้เหมาะกับความต้องการของสายการบินนั้น

สำหรับบุคลิกภาพภายในที่สามารถแสดงออกมาให้เห็น เป็นบุคลิกภายนอกได้คือ ลักษณะท่าทางการวางตัว ความเป็นมิตร มีมนุษยสัมพันธ์ดี อัธยาศัยดี ดูอบอุ่น และที่สำคัญ ต้องยิ้มเก่ง (คงไม่มีสายการบินใดต้องการแอร์หน้าตาบูดบึ้งเหมือนปวดท้องตลอดเวลา) ใครเห็นก็อยากอยู่ใกล้ ลักษณะต่างๆ เหล่านี้จะต้องมาจากบุคลิกภายในที่ดีทั้งสิ้น

บุคลิกภายใน (Internal Personality) แม้บุคลิกภายในบางอย่างจะต้องมองด้วยตาไม่เห็น แต่ก็สามารถรับรู้ได้ด้วยความรู้สึก คนที่เป็นแอร์-สจ๊วตตัวจริง ต้องมองโลกในแง่ดี เพราะเมื่อเรามองอะไรเป็นบวก เราจะกลายเป็นคนจิตใจดี ใจเย็น และรู้จักให้อภัยโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ก็ต้องมีความอ่อนโยน มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้เราก็จะเป็นแอร์-สจ๊วตที่เข้าใจ และรู้ความต้องการของผู้โดยสารแต่ละท่าน ทำให้ผู้โดยสารเกิดความประทับใจในบริการของเรา

ถัดมาก็ต้อง มีความอดทนสูง การที่เราต้องเจอผู้คนหลากหลาย ทั้งผู้โดยสาร ทั้งเพื่อนร่วมงาน ร้อยคนก็ร้อยความต้องการ บางอย่างอาจจะไม่ถูกใจเขา แต่เราต้องอดทน และยอมรับความกดดันต่างๆ เหล่านี้ให้ได้ และด้วยลักษณะของงานซึ่งต้องเจอเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ ตลอดเวลา เราจะต้องเข้ากับคนอื่นได้ง่าย มี Teamwork ที่ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง เป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้งานออกมาราบรื่น

ส่วนสุดท้ายที่สำคัญคือ ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ รอบคอบ สุขุม มีไหวพริบ แก้ปัญหาต่างๆ ได้ดี และมีความเป็นผู้นำ เพราะเราต้องดูแลชีวิตผู้โดยสารให้ได้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของอาชีพแอร์-สจ๊วต

ความรู้ (Knowledge)
คุณสมบัติข้อสุดท้ายของแอร์-สจ๊วตตัวจริง คือทักษะความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับอาชีพได้แก่

1. ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร อาชีพแอร์-สจ๊วตเป็นอาชีพที่ต้องเจอผู้คนมากมาย หลายชาติ หลายภาษา เพราะฉะนั้นภาษาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้เป็นภาษาสากลในการสื่อสารกับชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นก็ต้องพูดให้คล่อง สำเนียงไม่ชัดไม่เป็นไร แต่ถ้ามั่นใจว่าสำเนียงดี ถูกต้อง ก็จะพูดได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ พูดแล้วผู้ฟังต้องเข้าใจ

ส่วนภาษาไทยก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน หากจะไปเป็นแอร์-สจ๊วตกับสายการบินในประเทศไทย ก็ต้องพูดให้ชัดเจนถูกต้อง สำหรับภาษาที่ 3 4 5 ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากในสายอาชีพนี้ สายการบินหลายสายระบุไว้ชัดเจนว่า หากพูดภาษาที่สามได้ ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ สำหรับความเห็นของผมนั้น ภาษาที่อยากแนะนำให้เรียนเพิ่มเติมเป็นภาษาที่สามคือ จีนแมนดาริน ญี่ปุ่น เกาหลี และฝรั่งเศส

2. ความรู้ในงานแอร์-สจ๊วต เป็นประโยชน์กับตัวเราในหลายๆ ด้าน เพราะหากเรารู้จักลักษณะหน้าที่ ความรับผิดชอบในงานแล้ว เราจะตัดสินใจได้ว่า นี่คืองานที่เราอยากทำจริงหรือไม่ หากมองแต่ภาพสวยหรูภายนอก แต่เมื่อเข้ามาทำแล้วไม่มีความสุขก็เสียเวลาเปล่า นอกจากนี้ ก็จะทำให้เรามีไอเดียในการตอบคำถามกับกรรมการ เวลาสัมภาษณ์คัดเลือกคน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นระหว่างเที่ยวบิน เช่น ตัวเลือกอาหารไม่พอ ผู้โดยสารทะเลาะกัน ผู้โดยสารไม่สบาย ถูกผู้โดยสารลวนลาม เป็นต้น

ความรู้ในสายอาชีพต่างๆ เหล่านี้ ปัจจุบันสามารถอ่านได้ตามเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกเหนือจากความรู้ในอาชีพแอร์-สจ๊วตแล้ว ในเว็บไซต์ยังมีประสบการณ์จากแอร์-สจ๊วตมาเล่าสู่กันฟังอีกด้วย หากมีโอกาสเดินทางทางเครื่องบินก็ลองเข้าไปคุยกับแอร์-สจ๊วตดู ก็จะได้ความรู้ ประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ มาอีกเพียบเลยทีเดียว ยิ่งถ้าไปคุยกับลูกเรือสายการบินต่างชาติก็จะได้ฝึกภาษาไปในตัวอีกด้วย

3. ความรู้ในแวดวงการบิน เกี่ยวกับธุรกิจการบิน เช่น สายการบินใดเปิดจุดบินใหม่ สายการบินใดปิดตัวไปแล้ว สายการบินใดมีปัญหาด้านการเงิน สายการบินใดได้รับเครื่องบินใหม่ หรืออื่นๆ เพื่อเก็บไว้เป็นความรู้รอบตัว ซึ่งก็ต้องอาศัยการติดตามข่าวสารเสมอ เพื่อ Update ข้อมูลตลอดเวลา ซึ่งสามารถหาอ่านได้ตามเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน

และหากเราจะไปสัมภาษณ์แอร์-สจ๊วตสายการบินไหน เราควรจะมีความรู้เกี่ยวกับสายการบินนั้นด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจในสายการบินเขาจริงๆ ข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบ เช่น บริษัทเปิดเมื่อใด ผู้บริหารปัจจุบันคือใคร มีบินไปที่ไหนบ้าง มีเครื่องบินแบบใดบ้าง คู่แข่งหลักเป็นใคร (แต่อย่าไปโจมตีสายการบินคู่แข่งเพื่อเอาใจเขา เพราะจะทำให้ตัวเราดูไม่ดีเองมากกว่า) ซึ่งแน่นอนข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในแต่ละเว็บไซต์ของสายการบิน

เห็นไหมครับว่า มันไม่ง่ายเลยกับการเป็นแอร์-สจ๊วตตัวจริง แต่ก็คงไม่ยากเกินความตั้งใจ และความพยายามของตนเองเช่นกัน ลองศึกษาจุดดี จุดเด่น จุดด้อยของเราเอง เพื่อจะได้ปรับแก้และเสริมให้ถูกจุด หากมีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รับรองว่า นอกจากจะได้ทำงานที่อยากทำแล้ว คุณจะเป็นแอร์-สจ๊วตตัวจริงที่มีคุณภาพอีกคนหนึ่งด้วย

 

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)