Ground Services
อาชีพสายงานบริการภาคพื้น
สายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการบินนั้น มีมากมายหลายประเภทงาน นอกเหนือจากงานบนฟ้าที่มี นักบิน หรือกัปตัน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่เรียกกันว่า แอร์โฮสเทส (หญิง) สจ๊วต (ชาย) และเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Control) ที่ได้แนะนำและเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในภาคพื้นดิน (ในอาคารสนามบิน ลานสนามบิน ฯลฯ) ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้การเดินทางทางอากาศเป็นไปอย่างเรียบร้อย ปลอดภัย และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสารทุกคนที่มาใช้บริการ
วันนี้จะมาแนะนำสายอาชีพที่เกี่ยวข้องให้น้องๆ ที่สนใจได้ทราบกันครับ เผื่อว่าไม่มั่นใจในความสวย/หล่อมากนัก แต่ภาษาดี พูดได้หลายภาษา ก็มีทางเลือกสำหรับงานด้านการบินอยู่อีกนะครับ
หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินอาชีพที่เรียกกันว่า “Air Ground” หรือ “แอร์กราวนด์” ซึ่งที่จริงแล้วคำๆ นี้ ไม่ใช่ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการเท่าไหร่ เรียกว่า เป็นแค่คำติดปากที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น ถ้าจะให้ถูกต้อง เราควรเรียกคนที่ทำงานตำแหน่งนี้ว่า Ground Hostess/ Ground Staff/ Guest Service ซึ่งหมายถึง พนักงานภาคพื้นประจำสนามบิน หรือ พนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน นั่นเอง
และในแต่ละสายการบินก็อาจจะมีชื่อเรียกตำแหน่งนี้ที่หลากหลายแตกต่างกันไป เช่น Passenger Service Officer, Customer Service Officer, Check-in staff, Ground Officer, Flight Attendant Ground, Traffic Officer และอื่นๆ
สายงานบริการภาคพื้น (Ground Service)
พนักงานบริการภาคพื้น (Ground Service Officer)
หน้าที่หลักๆ ของพนักงานบริการภาคพื้น (Ground Service Officer) คือ ให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นดิน อำนวยความสะดวก ให้ความดูแลเอาใจใส่ ตั้งแต่ขั้นตอนการ Check-in การตรวจรับบัตรโดยสาร (Boarding Pass) และสัมภาระ ไปจนถึงการนำส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้ตรงตามเที่ยวบิน ถูกจุดหมายปลายทาง รวมไปถึงการรับ-ส่งเครื่องบิน การเดินเอกสารด้านการบิน เป็นต้น โดยตระหนักถึงความปลอดภัยในทุกกระบวนการ
สำหรับในกรณีฉุกเฉิน พนักงานบริการภาคพื้นต้องสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ เช่น กรณีที่เกิดเหตุการณ์เที่ยวบินไม่ปกติล่าช้า ต้องมีการต่อ/เปลี่ยนเครื่องไปยังอีกปลายทางหนึ่ง ต้องประสานงานกับผู้โดยสารในเที่ยวบินนั้น และ ต.ม. (ตรวจคนเข้าเมือง) กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศ หรือภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารให้ได้ถูกต้อง รวดเร็ว และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งกระเป๋าสัมภาระล่าช้าหรือสูญหาย ต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนกติดตามสัมภาระ หรือ Lost & Found หรือกับสถานีต้นทางที่ผู้โดยสารเดินทางมา เป็นต้น
รายละเอียดขั้นตอนทำงาน
งานเริ่มแรกของ Ground Staff (ต่อไปจะเรียก GS) คือ การเข้างานครับ โดยส่วนใหญ่ก็จะเข้างานก่อนเวลาที่เครื่องบินลงประมาณ 2-3 ชม. (โดยประมาณนะครับ) เมื่อมาถึงที่ทำงานเราจะต้อง รีบทำรายชื่อผู้โดยสารที่มาเครื่องบินลำนี้ แล้วส่งให้ การท่าอากาศยาน รับรู้ครับว่า ผู้โดยสารชื่ออะไรบ้างที่จะเดินทางมากับเครื่องบินลำนี้ เมื่อเครื่องบินมาถึงสนามบินใน Gate ที่กำหนด ผู้โดยสารก็ลงจากเครื่องครับ GS ก็ต้องเข้าไปตรวจดูการทำความสะอาดภายในเครื่อง เช่น ปลอกหมอนเปลี่ยนหรือยัง อาหารโหลดมาครบหรือยัง (เพราะเครื่องบินจะจอดอยู่ที่สนามบินแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น แล้วจะบินกลับไปต้นทางเลยครับ โดยรับผู้โดยสารที่กรุงเทพไปด้วยในขากลับ) ดังนั้น GS จะถูกแบ่งออกเป็นคนที่มารับเครื่องขาเข้า และคนที่คอยทำการเช็คอินที่ Check-in Counter ครับ
การเช็คอินผู้โดยสาร ก็ขอเอกสารเดินทางที่สำคัญ เช่น Passport และ ตั๋วโดยสาร ตรวจดูการสำรองตั๋วและที่นั่ง อาหารพิเศษ (บางคนไม่ทานนั่นนี่ และได้จองมาก่อนแล้วในขั้นตอนการจองตั๋ว) วีซ่า ระยะเวลาที่จะพำนักอยู่ที่ปลายทาง ซึ่งต้องสัมพันธ์กันกับอายุของวีซ่าที่ออกให้ วีซ่าก็มีหลายประเภทนะครับ (ซึ่งจะต้องมีการเทรนให้ความรู้ ตอนมาเป็นพนักใหม่) เช็คอิน ให้ที่นั่ง ออกบัตรโดยสาร ติด tag กระเป๋า แจ้งรายละเอียดเที่ยวบินแก่ผู้โดยสาร แต่รายละเอียดของการเช็คอินยังไม่หมดเท่านี้นะครับ ยังจะมีในเรื่องของ ประเภทของผู้โดยสาร การปลอมเอกสารการเดินทาง การสลับตัวของผู้โดยสาร การอัพเกรด การดาวน์เกรด ของผู้โดยสารอีกหลายอย่างครับ
เคาน์เตอร์เช็คอินจะปิดประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเครื่องจะออกครับ (นี่คือเหตุผลที่ต้องไปถึงสนามบินและเช็คอินก่อนเวลามากกว่า 1 ชั่วโมงนั่นเอง) เพราะหลังจากปิดเคาน์เตอร์เช็คอินแล้ว GS จะต้องไปที่ประตูขึ้นเครื่องครับ เพราะจะมีผู้โดยสารไปรอขึ้นเครื่องจำนวนมาก เมื่อไปถึงก็มี GS ส่วนหนึ่งที่ดูแลการทำความสะอาดของเครื่อง อาหารในเครื่องต่างๆ แล้ว GS บางส่วนก็ฉีกบัตรโดยสารที่ประตูขึ้นเครื่อง เพื่อนับจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาแล้วครับ
เวลา 40 – 60 นาทีก่อนเครื่องจะทำการบิน จะให้ นักบิน แอร์ สจ๊วต เข้าไปในเครื่อง เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยก่อน ซึ่งนักบินเค้าก็จะเช็คเรื่องเครื่องยนต์ ล้อ เบรค ระบบไฮโดรลิคต่างๆ ของปีก แพนหาง ส่วนลูกเรือก็จะตรวจสอบเรื่องอาหารเพียงพอกับผู้โดยสารไหม มีปลอกหมอน ผ้าห่ม หูฟัง อะไรต่างๆ ครบไหม ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
30 นาทีก่อนเครื่องออกจึงจะเชิญผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้ GS จะต้องฉีกบัตรโดยสารส่วนหนึ่ง และป้อนลงในเครื่องเพื่อนับจำนวน (หรือแตะบาร์โค๊ดในบัตรเข้ากับเครื่องอ่านนับจำนวน) ผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่อง และที่ยังขาด GS บางส่วนดูแลประสานงานเรื่องกระเป๋าผู้โดยสารที่โหลดขึ้นเครื่อง บางส่วนติดตามผู้โดยสารที่ยังขาดยังมาไม่ถึง Gate เราจะเห็นเขาประกาศเรียก บ้างก็ถือป้ายชื่อและเลขที่เที่ยวบินตระเวนหาผู้โดยสาร เมื่อผู้โดยสารครบแล้ว ก็จะปริ๊นเอกสารรายชื่อผู้โดยสารทั้งลำส่งให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินไปครับ
ยังไม่เสร็จนะ เมื่อเครื่องบินออกไปแล้ว ก็มานั่งคำนวณตรวจสอบเรื่องตั๋วของผู้โดยสารครับ ว่าลืมดึงตั๋วผู้โดยสารมาหรือเปล่า หรืออันไหนที่เป็นอิเล็คโทรนิคเช็คอินผ่านมือถือ คือต้องนับปิดจำนวนตั๋วโดยสารให้ตรงกับจำนวนผู้โดยสารครับ จากนั้นก็ทำเอกสารรายชื่อผู้โดยสารที่ออกไปกับเที่ยวบินนั้น ให้กับการท่าอากาศยานทราบต่อไป ซึ่งทางการท่าฯ ก็จะส่งต่อรายชื่อนี้ไปยังสนามบินปลายทางด้วยครับ
คุณสมบัติและชั่วโมงการทำงาน
สำหรับคุณสมบัติของผู้สนใจที่จะทำงานในสายงานนี้ นอกจากต้องมีจิตสำนึกในการทำงานและให้บริการผู้อื่นแล้ว ยังต้องสามารถทำงานเป็นทีม มีทักษะด้านภาษาก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษควรได้ TOIEC มากกว่า 550 ขึ้นไปครับ สำหรับภาษาที่ 3 ถ้ามี (สำคัญมากนะ เพิ่มโอกาสให้ตัวเองด้วย) ก็จะมีความได้เปรียบเพิ่มโอกาสในการได้งาน และรายได้ที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
การทำงานก็จะทำเป็นกะ ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและปริมาณความหนาแน่นของเที่ยวบิน ปกติแล้วจะทำงาน 3 วันรวด แล้วหยุดพัก 2 วัน แล้วก็กลับมาทำงาน 3 วันรวดใหม่ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยเวลาเข้างานนั้นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นกะ แต่จำนวนชั่วโมงเท่ากันคือ วันละ 12 ชั่วโมง และมีเวลาพักเบรคตามความเหมาะสมของแต่ละส่วนงาน แต่ที่แน่ๆ เวลาเข้างานและวันหยุดจะไม่ตรงกับเวลาออฟฟิศทั่วไปแน่นอน ดังนั้นคนที่ทำงานนี้จึงต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี และจะหยุดไม่ตรงกับคนอื่นเขา รวมทั้งเทศกาลสำคัญๆ เช่น คริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจึน สงกรานต์ ก็จะไม่ได้หยุดกับเขาเพราะเป็นช่วงทำเงินของสายการบิน ใครมีแฟนต้องทำความเข้าใจกันให้ดี อย่างอนนะตัวเอง…
พนักงานคอยระงับเหตุ (Security Officer)
พนักงานคอยระงับเหตุ (Security Officer) เรียกง่ายๆ คือผู้คอยดูแลสอดส่องไม่ให้เกิดปัญหา สำหรับหน้าที่งานของ Security Officer นั้นจะค่อนข้างกว้างมากๆ ในแต่ละวันที่ทำงาน ก็จะได้ไปประจำอยู่แต่ละจุดที่ไม่ซ้ำกันเลย (ถ้ายังนึกไม่ออก ก็ให้ระลึกถึงจ่าแซม ที่เป็นอดีตหน่วยซีลไปช่วยเด็กที่ถ้ำหลวงนะครับ) ยกตัวอย่างเช่น
- NTL ย่อมาจาก Not to land หมายถึงการส่งตัวผู้โดยสารกลับประเทศ เช่น คนต่างชาติที่บินมาถึงไทย แต่ไม่มีวีซ่าเข้าประเทศไทยทั้งๆ ที่เป็นสัญชาติที่ต้องใช้วีซ่า เราก็จะต้องเดินเรื่องส่งเค้าขึ้นเครื่องบินกลับประเทศเค้าไป ไม่ให้เข้าประเทศเรา
- ส่งปืน/รับปืน เมื่อมีผู้โดยสารจะโหลดปืนลงใต้ท้องเครื่องบิน เราก็ต้องเป็นคนจัดการดูแล พาผู้โดยสารไปฝากอาวุธ พกใบอนุญาตมามั้ย แยกลูกปืนออกหรือยัง เบิกปืนในห้องฝากก่อนเวลาเครื่องออก จนนำส่งปืนถึงกล่องเก็บข้างเครื่องบินเลยครับ
- ดูแลพนักงานทำความสะอาด ที่ขึ้นไปทำความสะอาดเครื่องบินว่า เขาทำงานเรียบร้อยดีมั้ย ก่อนขึ้นไปทำความสะอาดบนเครื่องบินพกอะไรขึ้นไปบ้าง และตอนลงมาเอาอะไรลงมาบ้าง ป้องกันการสูญหายของทรัพย์สินและความปลอดภัยของเที่ยวบิน
- เก็บ Airside หมายถึงการดูแลสอดส่องพนักงานข้างเครื่อง ที่ทำหน้าที่ขนส่ง ลำเลียงกระเป๋าขึ้น/ออกจากเครื่อง ป้องกันการสูญหายของทรัพย์สิน และความปลอดภัยของเที่ยวบินเช่นเดียวกัน
- Sorting หมายถึงการดูแลสอดส่องบริเวณสายพานกระเป๋า แยกตามเที่ยวบิน ดูความเรียบร้อยทั่วไป
คุณสมบัติของผู้ที่ทำงานนี้
- สุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ แต่ละวันเข้างานเวลาต่างกัน และต้องเจอผู้โดยสารหลายๆ แบบ ต้องรับมือให้ได้ (อารมณ์คนนี่แปรเปลี่ยน หงุดหงิดได้ และเราต้องเจอพร้อมรับปัญหาได้)
- ภาษาอังกฤษดี สามารถใช้สื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว
- แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ มีทักษะในการเอาตัวรอด เช่น ผู้โดยสารพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยสักคำ เราจะทำยังไง หากตรงนั้นไม่มีใครว่างมาช่วยเลย ถ้าได้ภาษาที่สามด้วยจึงสำคัญมาก และจะได้ค่าจ้างเพิ่มด้วย
ส่วนการทำงานนั้น ปกติจะทำงาน 3 วัน หยุด 3 วัน โดยวันที่ทำก็จะทำวันละ 12 ชั่วโมง มีทั้งเข้างานตี 4 – 4 โมงเย็น และเข้างาน 4 โมงเย็น – ตี 4 (แล้วแต่กฎหมายในแต่ละประเทศ และข้อกำหนดของแต่ละบริษัทด้วยนะครับ อันนี้ยกตัวอย่างบริษัทในไทยบริษัทหนึ่ง)
งานบริการภาคพื้นดินส่วนลานบิน
นอกจากงานบริการภายในตัวอาคารสนามบินแล้ว ยังมีงานบริการในส่วนลานบินอีกหลายงาน ขอยกตัวอย่างของ BSF หรือบริษัท Bangkok Flifht Services ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ สายการบิน Bangkok Airways กับบริษัท Worldwide Flight Services เป็นผู้ให้บริการในสนามบินระดับโลก BFS ได้รับสัมปทาน 20 ปี จากการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการให้บริการภาคพื้น และบริการคลังสินค้าทางอากาศ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเริ่มปฏิบัติการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2549
BFS แบ่งการบริการออกเป็น 3 ส่วนงานบริการด้วยกัน คือ
1. การบริการภาคพื้น (Ground Handling Services)
การบริการภาคพื้น หรือที่เรียกกันว่า Ramp Services นั้นพูดโดยรวมก็คือ การให้บริการทุกขั้นตอนตั้งแต่นำเครื่องเข้าจอด ไปจนกระทั่งการลาก-ดันเครื่องบินกลับเข้าสู่ทางวิ่งเพื่อนำเครื่องบินขึ้น การบริการภาคพื้นนี้ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานประสานกันเป็นอย่างดี เริ่มจาก การให้สัญญาณนำเครื่องเข้าจอดโดยพนักงานรับ – ส่งอากาศยาน
การขนย้ายสิ่งของสัมภาระของผู้โดยสาร ทั้งเที่ยวบินขาเข้าและขาออกโดยพนักงานขนถ่ายสัมภาระ นำกระเป๋าไปยังระบบสายพานภายใต้อาคารผู้โดยสาร เพื่อลำเลียงไปยังจุดรับกระเป๋าโดยพนักงานคัดแยกสัมภาระ และเมื่อผู้โดยสารออกจากเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการทำความสะอาดภายในเครื่องบิน โดยพนักงานทำความสะอาดเครื่องบิน นอกจากนี้ยังมีการบริการเติมน้ำสำหรับใช้บนเครื่องบิน บริการรกำจัดของเสียบนเครื่องบิน และบริการจากหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ อีก เช่น ประสานงานบริการข้างเครื่อง การควบคุมน้ำหนักและจัดระวาง การอำนวยการบิน ตลอดจนการให้บริการรถอุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถดัน-ลากเครื่องบิน รถสายพานลำเลียง
2. การบริการในส่วนของผู้โดยสาร ( Passenger Services Handling)
สำหรับการบริการในส่วนของผู้โดยสารนั้น เริ่มตั้งแต่บริการเช็คอินให้แก่ผู้โดยสารขาออก ไปจนกระทั่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินเลยทีเดียว บริการในส่วนนี้ประกอบด้วย พนักงานประจำเคาเตอร์ เช็คอินผู้โดยสาร มีหน้าที่ในการตรวจเอกสารสำคัญในการเดินทาง ออกบัตรหมายเลขที่นั่ง และดูแลพิมพ์และติดป้ายกระเป๋าแก่ผู้โดยสาร บริการตรวจบัตรหมายเลขที่นั่งก่อนขึ้นเครื่องบิน บริการดูแลลูกค้าพิเศษ (Premium Service) บริการติดตามสัมภาระผู้โดยสาร เมื่อกระเป๋าสูญหาย หรือชำรุด (Baggage Service) และบริการรถเข็นวีลแชร์สำหรับผู้พิการหรือคนชรา หรือคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ
3. บริการในส่วนคลังสินค้า (Cargo Handling Services )
หน่วยงานคลังสินค้า มีหน้าที่จัดเรียงสินค้า หรือพัสดุ ที่ต้องการส่งออกบนแผ่นรอง แล้วคลุมด้วยแผ่นพลาสติก และตาข่าย หรือจัดเรียงใส่ตู้คอนเทนเนอร์ (ULD) ของสายการบินต่างๆ เพื่อการขนส่งทางเครื่องบิน สำหรับสินค้าขาเข้าจะมีพนักงานทำหน้าที่คัดแยกสินค้าต่างๆ ที่นำเข้ามาโดยเครื่องบิน เพื่อจัดเก็บและรอผู้นำเข้ามารับภายในคลังสินค้าของบริษัท ได้จัดแบ่งพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้าให้เหมาะสมกับประเภทของสินค้า เช่น สินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ จะจัดเก็บในห้องเย็นที่แบ่งเป็น 6 ห้อง โดยแต่ละห้องสามารถตั้งอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ห้องจัดเก็บสินค้ามีมูลค่า ห้องจัดเก็บสัตว์ สิ่งมีชีวิต และห้องเก็บสินค้าอันตราย
มีคำถามมาว่า ในส่วนของการสมัครเป็น “พนักงานขับรถ” นั้นยากไหม เริ่มที่ทำงานตำแหน่งอะไร และต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษไหม?
ผู้มาสมัครส่วนใหญ่จะเริ่มจากการขับรถรับส่งพนักงาน (ลูกเรือ) ก่อน (จริงๆ แล้วมันง่ายสุด เป็นรถแอร์เย็นสบาย) เมื่อเชี่ยวชาญมากก็ไปขับรถลากจูง (ซึ่งไม่ง่าย แม้ไม่มีผู้โดยสาร มีแต่หีบห่อสินค้า แต่ขับยากต้องระวังอุบัติเหตุมากสุด เพราะมีรถพ่วงต่อท้ายอยู่หลายคัน และดูเหมือนทุกอย่างจะต้องรีบเร่งให้ทันเวลา แต่ก็ต้องปลอดภัยด้วย) เมื่อเก่งขึ้นก็จะไป เป็นพนักงานขับรถเข้าเทียบเครื่องบิน เช่น พนักงานขับรถบริการรถยกสินค้า/อาหาร พนักงานขับรถบันไดเทียบประตูเครื่องบิน (กรณีเครื่องต้องจอดนอกหลุมจอดที่ไม่มีงวงช้าง หรือสนามบินที่ไม่มีสถานีเทียบจอด) และพนักงานขับรถดันเครื่องบิน (Push back)
ใครที่ไปสมัครงานเหล่านี้ ตอนทดสอบการขับรถอย่าไปแสดงความเก๋า โชว์เทพ หรือซิ่งให้เขาเห็นนะครับ เขาต้องการคนแบบว่า “ก่อนขึ้นรถทดสอบ เดินตรวจรอบๆ รถก่อนว่า มีสิ่งผิดปกติหรือไม่ พอขึ้นไปนั่งหลังพวงมาลัยจะขับ ก็ตรวจสอบแผงหน้าปัดก่อนอีกครั้ง พอเริ่มขับให้ขับแบบระมัดระวัง ขับช้าๆ” คือในสนามบินเน้นปลอดภัยครับ มีกฎค่อนข้างเข้มงวด ใช้ความเร็วในระดับหลักสิบ คือ 10-20-30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อความปลอดภัย ถ้าขืนไม่ระวังเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาการเคลมประกันภัยนั้นหลัก 100 ล้านนะครับ ถ้าคุณซิ่ง! มีสิทธิไม่ได้งานแน่นอน (งานพวกนี้ก็ยังต้องการคนใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอยู่นะครับ ไม่ไก่กานะครับ เพราะนักบินที่มาใช้บริการในสนามบินมีหลายสัญชาติ หลายภาษา จำเป็นต้องสื่อสารกันด้วยภาษากลาง)
Pushback งานที่ต้องทำด้วยความระมัดระวังและใส่ใจมากๆ
อยากทำงานแบบพี่ปอ เริ่มต้นยังไง ขอทราบรายละเอียด
ช่วยแนะนำงานนีให้หน่อยค่ะ id line ininnoonen
ขอบคุณนะค่ะ
ไม่สะดวกทางไลน์นะครับ อยู่ไม่เป็นที่ ถึงที่พักคือพักจริงๆ อ่อนล้ามากๆ ครับ (บทความ/เนื้อหาทั้งหมดที่เห็นไม่ใช่ผมว่างนะ เพียงไกด์ให้ผู้ดูแลระบบช่วย edit ให้ครับ ลำพังผมแค่ทำงานก็ร่างสลายล่ะ นานๆ ได้พักทีถึงจะมีไฟล์มาอ่านมาตอบครับ)
อ่าน ศึกษา และตัดสินใจก่อนว่า ใช่เราไหม? ความชอบกับความจริงต้องพิสูจน์พอสมควร
เริ่มอย่างไร? https://www.krumontree.com/crew/crew-career-start/
คำถาม/คำตอบของอาชีพ https://www.krumontree.com/crew/flight-attendant-qa/
การทดสอบทางภาษา https://www.krumontree.com/crew/language-test/
ลองฝึกตอบคำถามเหล่านี้ดูบ้าง? https://www.krumontree.com/crew/interview-questions/
แล้วก็อ่านประสบการณ์การรับลูเลือสายการบินต่างๆ เป็นแนวทาง https://www.krumontree.com/crew/category/lifestyle/
ขอให้โชคดี
ทำงานพวกนี้เค้าเน้นหน้าตามั้ยคะ เช่น มีสิว สามารถทำงานนี้ได้ไหมคะ
จะบอกว่าไม่เน้น ก็ดูกระไรอยู่นะ
อย่างเราเดินทางบนเครื่องจะสายการบินใดก็ตาม สิ่งที่เราคาดหวังกับ “พนักงานต้อนรับ” บนเครื่องคืออย่างไรล่ะ
เราคงอยากเ็นหน้าตาที่สดใส เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งมิตรไมตรี ซึ่งก็คงรวมไปทั้งหน้าตาดีด้วย ความสูงและน้ำหนักที่เหมาะสม (BMI) ซึ่งเน้นกันมาก
การมีสิวก็รักษาให้หายได้ ทุกคนมีโอกาสมีได้จากความเครียด การพลั้งเผลอไม่ดูแลอย่างเพียงพอ แต่เราก็ต้องดูแลให้หายไปโดยเร็ว ตัวผมก็มีบ้างในบางครั้ง เมื่อกลับไทยสิ่งที่ต้องทำเสมอคือแต่งทรงผม นวดหน้า ดูแลผิวพรรณ และขาดไม่ได้คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ร่างกายต้องฟิตแอนด์เฟิร์มจริงๆ
ข้อห้ามหลักในการสัมภาษณ์เลยคือ ไม่สัก (Tattoo) ตามตัวที่เห็นได้นอกร่มผ้า ไม่สวมเหล็กดัดฟัน (ถ้ามันเก ไม่สวย ต้องทำมาก่อนสมัครงาน) ไม่สวมแว่นสายตา (ใส่คอนแทกเลนส์ได้ แต่ไม่เป็นแบบสีๆ หรือบิ๊กอาย) การแต่งตัวหุ่นดี สมาร์ท เป็นมิตรครับ
ที่เหลือก็ความพร้อมในการบริการ การตัดสินใจ ทำงานเป็นทีม ภาษาอังกฤษดี ถ้ามีภาษาที่สามด้วยก็ได้เปรียบสุดๆ
คำตอบนี้ คือ ไปรักษาให้หายดีเสียก่อน ถ้ายังมีผิวขรุขระอยู่บ้าง ก็หัดแต่งหน้ากลบเกลื่อนให้เป็น เท่านั้นครับ
ขอสอบถามค่ะ ว่าพนักงานที่เป็นGround มีการเลื่อนขั้นมั้ยคะ แล้วเลื่อนยังไงหรอคะ
การทำงานทุกตำแหน่งก็มีความก้าวหน้าเหมือนๆ กันครับ เพียงแต่มันไม่ได้เป็นระดับแบบลูกเรือชั้นประหยัด ธุรกิจ ชั้นหนึ่ง ไปจนถึงเพอร์เซอร์
เป็นการเลื่อนระดับเงินเดือน ขยับขึ้นจากพนักงานทั่วไปเป็นผู้ชำนาญ รองหัวหน้า หัวหน้า ไปจนถึงระดับผู้จัดการในแต่ละส่วนงาน บอกละเอียดไม่ได้ เพราะแต่ละบริษัทก็ไม่เหมือนกันครับ
คงต้องเข้าไปดูรายละเอียดในแต่ละบริษัทดูเองนะครับ เพราะการทำงานกราวน์นี่บางที สายการบินก็ไม่ได้ดำเนินการเอง แต่จ้างบริษัทที่เป็น Outsource มาทำหน้าที่แทน อย่าง Wing Span ที่ทำเอาท์ซอร์สให้กับสายการบินต่างๆ ในหลายๆ สนามบินในไทยเป็นต้น
ขอบคุณค่ะพี่ปอ ได้ข้อมูลทำงานเยอะเลยค่ะ
ขั้นตอนการดูแลที่ boarding gate สำหรับ SSR เช่นคนท้องมีขั้นตอนยังไงบ้างคะ
ยิ่งรู้ลึกยิ่งชอบครับ สำหรับผมคือประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายที่สุด ตอนนี้ผมทำLoader ของAOTGA ภูเก็ตครับ เพิ่งทำงานได้2เดือนครับ
Sorting Aircraft ทำหน้าที่อะไรบ้างคะ