เทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วงชั้นที่ 3
6.4 เทคโนโลยีเครือข่ายแลน / 6.4.3 สวิตชิง (switching)
21/26

 

สวิตชิง (switching)

          เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อให้รับส่งข้อมูลระหว่างสถานีได้เร็วยิ่งขึ้น การคัดเลือกชุดข้อมูลที่ส่งมาและส่งต่อไปยังสถานีปลายทางจะกระทำที่ชุมสายกลางที่เรียกว่า สวิตชิง ดังนั้นรูปแบบของเครือข่ายจึงมีลักษณะเป็นรูปดาว


ตัวอย่างผังการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบสวิตชิง

          จากตัวอย่างผังการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบสวิตชิง เมื่อสถานี A ต้องการส่งข้อมูลชุดหนึ่งมาให้สถานี D สถานี A จะส่งข้อมูลชุดนี้มาที่สวิตชิง อุปกรณ์สวิตชิงจะคัดเลือกสัญญาณข้อมูล แล้วส่งสัญญาณข้อมูลนั้นไปยังสถานี D ได้ทันที สถานี D ก็จะรับสัญญาณข้อมูลนั้นได้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสวิตชิงมีหลายแบบ เช่น อีเธอร์เน็ตสวิตช์ และ เอทีเอ็มสวิตช์

            อีเธอร์เน็ตสวิตช์เป็นการสลับสายสัญญาณในเครือข่าย โดยรูปแบบสัญญาณเป็นแบบอีเธอร์เน็ต การสวิตชิงนี้แตกต่างจากแบบฮับ เพราะแบบฮับมีโครงสร้างเหมือนเป็นจุดร่วมของสายสัญญาณที่จะต่อกระจายไปยังทุกสาย แต่สวิตชิงจะเลือกการสลับสัญญาณไปยังตำแหน่งที่ต้องการเท่านั้น อีเธอร์เน็ตสวิตช์จึงมีข้อดีกว่าฮับ เพราะแต่ละสายสัญญาณมีความเป็นอิสระต่อกันมาก ทำให้การรับส่งสัญญาณไม่มีปัญหาเรื่องการชนกันของข้อมูล อีเธอร์เน็ตสวิตช์ยังใช้มาตรฐานความเร็วเหมือนกับอีเธอร์เน็ตธรรมดา คือความเร็วในการรับส่งสัญญาณตั้งแต่ 10 , 100 และ 1,000 ล้านบิตต่อวินาที

            เอทีเอ็มสวิตช์เป็นอุปกรณ์การสลับสายสัญญาณในการรับส่งข้อมูลที่มีการรับส่งกันเป็น ชุดๆ ข้อมูลแต่ละชุดเรียกว่า เซล มีขนาดจำกัด การสวิตชิงแบบเอทีเอ็มทำให้ ข้อมูลจากสถานีหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่งดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

        การที่เอทีเอ็มสวิตช์มีความเร็วในการสลับสัญญาณสูง จึงสามารถประยุกต์งานสมัยใหม่หลายอย่างที่ต้องการความเร็วสูง เช่นการเชื่อมโยงสื่อสารแบบหลายสื่อที่รวมทั้งข้อความ รูปภาพ เสียงและวีดิทัศน์